หากพูดถึงการนับถอยหลังข้ามปีหรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ ผู้คนต่างต้องนึกถึงการปาร์ตี้ิสังสรรค์กับคนที่รัก การกลับบ้านไปพบปะญาติพี่น้องบรรยากาศรายล้อมไปด้วยไฟประดับมากมาย พร้อมทั้งเสียงดนตรีบรรเลง ไปจนเสียงพลุที่จุดเพื่อฉลองการก้าวข้ามไปสู่ปีต่อไป
การเฉลิมฉลองปีใหม่เป็นประเพณีที่ได้รับการยอมรับของคนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และเมื่อ 153 ปีก่อนคริสตกาล วุฒิสภาโรมันได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่เจนัส เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น วันที่ 1 มกราคมจึงกลายเป็นวันขึ้นปีใหม่สากล และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
การนับถอยหลังข้ามปีหรือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในแต่ละประเทศทั่วโลกก็ถูกหล่อหลอมเชื่อมโยงด้วยความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีความคิดเห็นจากคนต่างแดนที่มองแล้วรู้สึกแปลกใหม่จากประเพณีท้องถิ่นตัวเอง
หากย้อนกลับมาดูประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยเราก็คงเป็นการไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผู้ใหญ่ในบ้าน ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ข้ามปี สังสรรค์ปาร์ตี้หรือการไปเที่ยวกับครอบครัวก็คงเป็นการนับถอยหลังข้ามปีที่คนไทยเรารู้จักและเคยชินอยู่แล้ว
วันนี้ Mango Zero จะชวนทุกคนไปรู้จักกับ 5 ความเชื่อสุดพิสดารจากต่างแดนกับการนับถอยหลังข้ามปี จะแปลก และพิสดารแค่ไหนไปดูกันเลย !
แลกหมัดก่อนข้ามปี ซัดให้หายข้องใจฉบับชาวเปรู
มวยไม่จำกัดรุ่น ซัดกันให้หายข้องใจ แลกหมัดก่อนข้ามปีใหม่ฉบับชาวเปรู ประเพณีที่ตั้งใจมาต่อยกันให้หายข้องใจ ก่อนรับวันขึ้นปีใหม่แบบแฮปปี้
เมื่อสันติไม่ใช่ทางออก ก็ต้องสวนด้วยหมัดเพื่องัดความสมานฉันท์ออกมา “Takanakuy” (ทาคานากุย) ประเพณีสุดแปลกที่คนเปรูจะมารวมตัวกันอย่างนัดหมาย ในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เพื่อหยุมหัวกันก่อนข้ามปีใหม่
การต่อยกันของคนเปรู ไม่ได้สร้างมาเพื่อต่อยเอามันส์เพียงอย่างเดียวนะ แต่ประเพณีเขาสร้างมาให้คนที่ผิดใจกัน ไม่เข้าใจกัน สะสางปัญหาที่ข้องใจให้หมดไปให้เหลือแต่รอยยิ้มและความรู้สึกดีๆ ให้กัน
กิจกรรมนี้ไม่มีกำหนดว่าใครน้ำหนักน้อย น้ำหนักมาก เด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชราก็มีสิทธิ์ในกิจกรรมนี้ทั้งสิ้น โดยจะมีกรรมการคอยตัดสิน และประกาศผู้ชนะ บรรยกาศรอบๆ มีเสียงเชียร์ขอบข้างเวที คล้ายกับเวทีมวยย่อมๆ ไม่มีผิด
ปัญหาส่วนใหญ่ที่นัดมาต่อยเคลียร์กันมักจะเป็นเรื่องที่ดิน ขโมยวัวควาย เรื่องปัญหาส่วนตัว รวมไปถึงเรื่องความรัก โดยทางเทศกาลจะจับคนเกลียดมาต่อยกันในเปรู ถือเป็นทางเลือกของกระบวนการยุติธรรมในชุมชน และนับเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกัน
ที่มา sanook
สเปนกินองุ่น 12 ลูกเพื่อรับความโชคดีตลอดปี
ก่อนข้ามปีชาวสเปนจะมีประเพณีที่ทำต่อๆ กันม่ คือกินองุ่นทีละลูกจนครบ 12 ลูกภายใน 1 นาที เพราะเชื่อว่าองุ่นแต่ลูกแทนการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน
หากใครทานไม่ทัน สะดุด ติดคอ ลำดับองุ่นที่ทานไม่ทันหรือติดขัดนั้นคือลำดับเดือนที่จะเผชิญเคราะห์ ดังนั้นก่อนร่วมกิจกรรมนี้หลายคนจึงต้องฝึกซ้อมการทานองุ่นกันมาก่อน รวมถึงการเลือกองุ่นสำหรับทานด้วย เช่น องุ่นไร้เมล็ด องุ่นลูกเล็ก หรือบางคนอาจจะปอกเปลือกองุ่นออกก่อนด้วย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเพณีการทานองุ่น 12 ลูกยังคงได้รับความนิยมในประเทศสเปน แต่ทั้งนี้โดยปกติชาวสเปนจะไม่สนับสนุนให้เด็กเล็กและผู้สูงอายุร่วมประเพณีนี้ เพราะอาจจะทำให้ลูกองุ่นติดคอได้ หากขาดความระมัดระวัง
ที่มา Rimping Supermarket
จานเก่าไม่ใช้ ปาใส่บ้านเพื่อนที่เดนมาร์ก
จานชามแตกอยู่หน้าบ้านมากเท่าไหร่ ความโชคดีที่มีในปีใหม่ก็จะมากขึ้นเท่านั้น
ชาวเดนนิชมักจะนิยมเอาจานชามที่เก็บสะสมมาแรมปีมาเขวี้ยงใส่หน้าบ้านเพื่อน แต่การทำสิ่งนี้ไม่ได้มีการจงใจจะหาเรื่องแต่อย่างใด
การปาจานใส่หน้าบ้านเพื่อน เป็นความเชื่อว่าจะสามารถช่วยปัดเป่าวิญญาณร้ายออกไปได้ และจะทำให้พบกับความสุขสมหวัง ถ้าบ้านไหนมีเศษจานเยอะถือว่าเป็นที่รักของเพื่อนบ้านและมีมิตรสหายคบหาด้วยมากมาย
ที่มา scholarship
ชาวสวิสอยากได้โชคต้องทิ้งไอศกรีมลงพื้นตอนเที่ยงคืน
การเฉลิมฉลองปีใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์มีความเชื่อว่าหากว่าอยากได้โชคลาภและความมั่งคั่งในปีใหม่ต้องทิ้งไอศกรีมลงบนพื้นในเวลาเที่ยงคืน
ที่มา knowledgeportal
ชาวชิลีฉลองปีใหม่กับคนตายที่สุสาน
การฉลองปีใหม่ของชาวชิลีนอกจากจะฉลองกับคนเป็นแล้ว ทางนั้นเขายังร่วมกันฉลองปีใหม่ให้กับคนที่ตายไปเเล้ว
โดยชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่สุสานเพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่กับคนในครอบครัวหรือคนรักที่เสียชีวิตไปเเล้ว โดยมีความเชื่อว่า ทุกปีใหม่วิญญาณของพวกเขาจะกลับมาเยือนอีกครั้ง
ที่มา หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว-ชัชพล