Mango Zero

วิวัฒนาการเอ็นทรานซ์… 60 ปีที่ผ่านมานักเรียนไทยผ่านอะไรกันมาบ้าง ?

เป็นเวลากว่า 60 ปีที่ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้คัดเลือกนักเรียนมัธยมให้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจากรุ่นสู่รุ่น

จากยุค Entrance สู่ ยุค TCAS ในปีนี้ นักเรียนไทยต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง Mangozero ขอพาทุกคนย้อนไทม์ไลน์ ดูวิวัฒนาการการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศเราว่าเป็นมาอย่างไร ใครทันยุคไหนกันบ้าง มาแชร์ประสบการณ์กันตรงนี้ได้เลย

ระบบ Entrance ยุคแรก ปี 2504 – 2542

ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคแรก ๆ นั้น เป็นการสอบเข้าแบบที่ยังไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลเป็นทางการ แต่เกิดจากความร่วมมือกันของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในยุคนั้นจัดสอบขึ้นมากันเอง เพื่อแก้ปัญหาที่นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายสมัครสอบแต่ละที่หลายครั้ง โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน

รูปแบบการสอบยุคนี้ เปิดให้นักเรียนเลือกคณะที่สนใจเข้าศึกษาได้ 4 อันดับ (ภายหลังปี 2516 เปลี่ยนเป็น 6 อันดับ) จากนั้นก็เข้าสอบเอ็นทรานซ์ 

โดยใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ไม่ต้องใช้เกรดเฉลี่ยในโรงเรียนและสามารถสอบเทียบได้ หากมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นการสอบแบบครั้งเดียว หากไม่ติดต้องรอสอบใหม่ปีหน้าเลยทีเดียว

ระบบ Entrance ยุคใหม่ ปี 2542-2548

ยุคต่อมาได้ปรับรูปแบบการสอบใหม่ โดยเปิดให้สอบเอ็นทรานซ์ได้ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนตุลาคม และเดือนมีนาคม เพื่อให้เด็กได้รู้คะแนนสอบตัวเองก่อน และสามารถเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดของตัวเองมายื่นได้ สามารถเลือกยื่นคณะได้ 4 อันดับ 

รวมถึงสัดส่วนคะแนนที่เปลี่ยนไปจากเดิมใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ในยุคนี้ได้มีการเพิ่มวิธิคิดสัดส่วนคะแนนใหม่ โดยใช้เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) มาร่วมคิดคะแนนด้วย ประมาณ 10%

ระบบ Admission : O-NET, A-NET ปี 2549-2552

หลังปี 2548 มาก็ได้มีการยกเลิกระบบเอ็นทรานซ์ เข้าสู่ยุค ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาŽ หรือว่า แอดมิชชั่น (Admission) แทน ในยุคนี้ได้มีการเพิ่มรูปแบบข้อสอบแบบใหม่ขึ้นมาในชื่อ O-NET และ A-NET เข้ามาเป็น 1 ในสัดส่วนการคิดคะแนนในยุคนี้

ซึ่งสัดส่วนคะแนนนั้น จะประกอบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) 30% รวมกับคะแนน O-NET และ A-NET

โดยการสอบ O-NET จะเป็นการสอบขั้นพื้นฐานทั่วไป 8 วิชาสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย  สอบได้เพียงครั่งเดียวเท่านั้น

ส่วน A-NET นั้นจะเป็นข้อสอบเสริมที่จะมีความยากขึ้นกว่า O-NET เน้นไปที่ด้านการคิดวิเคราะห์มากขึ้นอีก 5 วิชา แต่ A-NET นั้นจะสามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้งและเลือกครั้งที่ดีที่สุดได้ 

ระบบ Admission : GAT/PAT ปี 2553- 2560

หลังจากถูกตั้งคำถามในเรื่องมาตรฐานของข้อสอบ A-NET ที่ทำให้หลายมหาวิทยาลัยหันมาเปิดรับตรงมากขึ้น ก็ได้มีการยกเลิกการสอบไป และปรับมาใช้ข้อสอบแบบใหม่ซึ่งเป็นการสอบวิชาความถนัดในด้านต่าง ๆ หรือที่คุ้นหูกันว่า GAT/PAT

โดย GAT จะเป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป ส่วน PAT จะเป็นการทดสอบความถนัดทางด้านวิชาชีพ เปิดให้สอบได้ 2 – 3 ครั้งแล้วแต่ปี 

ซึ่งสัดส่วนคะแนนในยุคนี้ยังคงมีคะแนน O-NET มาคิด 30% รวมกับ GPAX 20% และคะแนน GAT/PAT ครั้งที่ดีที่สุดประมาณ 50 % ซึ่งแล้วแต่คณะ แล้วแต่มหาวิทยาลัยจะกำหนด

ต่อมาในปี 2555 ทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ให้ความเห็นว่าการสอบ GAT/PAT นั้นไม่ตอบโจทย์การคัดเลือกนักเรียกจริง ๆ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดสอบ 7 วิชาสามัญ รวมถึงระบบ ‘เคลียริงเฮาส์’ เพิ่มเข้ามาในปีนี้ เพื่อลดปัญหาเด็ก ๆ สอบติดแต่กั๊กที่เรียนกัน

กระทั่งปี 2558 ได้มีการปรับลดวิชาในข้อสอบ O-NET ลงจาก 8 วิชาเหลือ 5 วิชา โดยตัดวิชาศิลปะ, พลศึกษา, สุขศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยีออก

แต่พอในปี 2559 แม้จะลดวิชา O-NET ลงไปแล้ว แต่ก็ได้เพิ่มการสอบจาก “7 วิชาสามัญ” เป็น “9 วิชาสามัญ” แทน โดยได้มีการเพิ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กสายศิลป์เพิ่ม  

ระบบ TCAS ปี 2561-2564

มาถึงระบบล่าสุดที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ได้มีการเลิกใช้คำว่า “Admission” เปลี่ยนมาเรียกว่าระบบ  Thai University Central Admission System หรือ TCAS แทน ซึ่งรูปแบบการสอบในยุคนี้ ได้เลื่อนการสอบทั้งหมดมาสอบช่วงหลังจบ ม.6 ทั้งหมด และลดการสอบทั้งหมดเหลือเพียงอย่างละครั้งเดียว 

โดยมีการเปิดรับสมัครทั้งหมด 5 รอบ ได้แก่

กระทั่งปี 2564 ได้ยุบรอบการคัดเลือกเหลือ 4 รอบ โดยมีเกณฑ์รอบรับตรงร่วมและรอบแอดมิชชันเหมือนเดิม แต่เปิดให้ยื่นคะแนนพร้อมกัน 

นักเรียนสามารถเลือกได้สูงสุด 10 อันดับ มีการประกาศผล 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสละสิทธิ์ และมีการประมวลผลเรียกตัวสำรอง ให้มีสิทธิเข้าศึกษาได้

ที่มา : webythebrian, matichon, camphub, sangfans