Mango Zero

เยอรมนี ออกกฎหมายแชร์ข่าวปลอมใน facebook ไม่ลบปรับอ่วม 5 แสนยูโร

เฟซบุ๊คคือสังคมออนไลน์ที่ใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวชั้นดีได้ แต่ความที่การกดแชร์นั้นทำได้ง่ายเกินไปบางทีก็อาจจะตกเป็นเหยื่อข่าวลืออย่างไม่รู้ตัว ซึ่งข่าวลือเป็นปัญหาที่สังคมออนไลน์ทีไ่หนในโลกก็เจอ และเยอรมนีกำลังจะเอาจริงกับการจัดการข่าวลือเหล่านี้ 

‘โทมัส ออปเปอร์มันน์’ สมาชิกพรรค SPD หรือพรรคสังคมประชาธิไตย เสนอไปทางประธานรัฐสภาเยอรมนี ว่าควรมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการแชร์ข่าวปลอมในเฟซบุ๊ค โดยกฎหมายนี้จะควบคุมและบังคับให้ผู้แชร์ข่าวลือต้องลบข่าวออกจากเฟซบุ๊คภายใน 24 ชั่วโมงทันทีหากมีการพิสูจน์ว่าข่าวที่แชร์นั้นไม่เป็นจริง ออฟเปอร์มันน์ ให้เหตุผลว่าเฟซบุ๊ค ไม่สามารถจัดการเรื่องข่าวลือได้ด้วยตัวเอง เขาเลยคิดว่าควรจะมีกฎหมายสักอย่างที่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยรัฐบาลควรมีสำนักงานที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้คอยเฝ้าระวังจับตาตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานตลอดทั้งปี

ออฟเปอร์มันน์ ให้สัมภาษณ์กับ Deutsche Welle เว็บไซต์ข่าวของเยอรมนี เพิ่มเติมว่า ความเป็นจริงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อข่าวลือ หรือได้รับข้อความว่าร้าย ใส่ร้าย ควรจะมีที่ให้เขาสามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือซึ่งจริงๆ แล้วควรจะมีสำนักใหญ่ของเฟซบุ๊คในเยอรมนี หรือหน่วยงานใดสักหน่วยงานที่คอยจัดการปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ไม่มี ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีโดยแผนที่เขาเสนอก็คืออาจจะให้มีการออกกฎหมายนี้อย่างเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ภายในต้นปีหน้าก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ หลังคริสต์มาส ควรจะมีการเสนอเข้าสภาได้แล้ว ส่วนบทลงโทษความผิดนี้คือ หากไม่ลบข่าวออกใน 24 ชั่วโมงจะต้องโดนปรับสูงกว่า 18 ล้านบาท

Thomas Oppermann

ขณะเดียวกัน สมาคมสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเยอรมัน หรือ BDZV (Germany’s federal association of newspaper publishers) กลับเห็นต่างในการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการเผยแพร่ข่าวลือบนเฟซบุ๊ค สมาคมฯ ให้ความเห็นว่า เฟซบุ๊คไม่ใช่สำนักข่าว เฟซบุ๊คไม่ได้เขียนข่าวขึ้นมาเอง แต่คนต่างหากที่ใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ค เป็นเครื่องมือสร้างข่าว หากจะควบคุมจริง มันก็เหมือนกับออกกฎหมายควบคุมไม่ให้คนพูดอะไรที่ไร้สาระ หรือกระจายความข่าวลือผ่านโทรศัพท์สิถ้าอย่างนั้น ในความเป็นจริงสิ่งที่ควรจะทำเพื่อต่อต้านข่าวลือไม่ใช่การลบออก มันง่ายกว่านั้นมากคือเอาความจริงไปโต้แย้งต่างหากคือสิ่งง่ายๆ ที่ควรทำ เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือใหม่ที่ง่ายมากในการชี้แจง

อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ยังไม่ถูกพิจารณา ส่วนเฟซบุ๊ค ก็มีนโยบายในการจัดการปัญหาข่าวลือเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังสู้กันอย่างดุเดือด เฟซบุ๊คโดนโจมตีว่าเป็นข่องทางที่ต่างฝ่ายต่างก็ใช้เฟซบุ๊คเป็นพื้นที่ในการสาดข่าวลือใส่กัน จนเกิดความไม่พอใจแก่กองเชียร์ทั้งสองฝ่าย เฟซบุ๊ค จึงต้องประกาศปรับตัวด้วยการเพิ่มฟังชั่นรายงานข่าวลือไว้ในปุ่มรีพอร์ต ซึ่งในอนาคตน่าจะสามารถใช้ได้ทั่วโลก

ส่วนในบ้านเราก็จะได้เห็นคนแชร์ข่าวลือจำพวก “สิ่งที่คุณกำลังจะเห็นต่อจากนี้ทำให้คุณต้องอึ้ง…” “สึนามิจะเข้าอ่าวไทย…” “พระธาตุศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ ต้องแชร์…” หรือ “สูตรรักษามะเร็งที่องค์การอนามัยโลกไม่ได้บอก ต้องแชร์…” กันต่อไปโดยที่เราเองก็ทำอะไรไม่ได้ และเลื่อนฟีดผ่านไปอย่างเงียบๆ

ที่มา – NakedSecurity