Mango Zero

บทสรุปงาน ‘TechJam 2019 by KBTG’ เวทีที่สุดยอดคนพันธุ์ Deep สายเทคโนโลยีและการออกแบบต่างรอคอย

จบกันไปแล้วกับปีที่ 3 ของการแข่งขัน ‘TechJam 2019 by KBTG’ เวทีการแข่งขันระดับประเทศที่เฟ้นหาสุดยอดคนพันธุ์ Deep ในวงการเทคโนโลยีและการออกแบบ ทั้งการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล และการดีไซน์

เวทีที่เกิดจากความตั้งใจของ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group) บริษัทพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทย ที่อยากเปิดโอกาสให้สุดยอดฝีมือสายเทคโนโลยีและการออกแบบในไทยได้มีพื้นที่โชว์ของกันมากขึ้น 

ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง Community พัฒนาวงการเทคโนโลยีในไทยให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนในวงการและคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

หลังจากที่เริ่มแข่งขันกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 นี้ เราก็ได้ 3 ทีมชนะเลิศกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากผู้เข้าสมัครแข่งขันกว่า 1,750 คน ซึ่งการแข่งขันในปีนี้ จะมีรายละเอียดและความพิเศษมากขึ้นอย่างไร เราสรุปมาให้คุณแล้วที่นี่

 

ความสำเร็จของ TechJam เวทีเพื่อสายเทคโนโลยีในเมืองไทย

ไม่บ่อยนักที่เมืองไทยเราจะมีเวทีการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อคนวงการเทคโนโลยีและการออกแบบโดยเฉพาะ จึงทำให้ TechJam เป็นเวทีใหญ่ประจำปีที่ทุกคนต่างรอคอย


[คุณจรัสศรี พหลโยธิน Managing Director, Kasikorn Technology Groups Secretariat พูดถึงวิสัยทัศน์ของเวที ‘TechJam 2019 by KBTG]

 

TechJam ถือเป็นเวทีแรกนับตั้งแต่ปี 2017 ที่จัดการแข่งขันขึ้นเพื่อปลุกปั้นบุคลากรสายเทคโนโลยีในประเทศไทย ด้วยเจตจำนงค์ของ KBTG ที่มองเห็นศักยภาพของคนไทยและอยากจะสร้างเครือข่ายคนสายเทคให้ได้รู้จักกันเพื่อสร้างเมืองไทยให้เป็น Technology Hub ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ชนะในการแข่งขันนี้จะได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาทพร้อมทริปดูงานที่เมือง Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา อาณาจักรที่รวมบริษัทไอทีสำคัญๆระดับโลกไว้ที่นี่

จาก 3 ปีที่ผ่านมาเวทีนี้จำนวนผู้เข้าร่วมสมัครที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกปีและศักยภาพของผู้เข้าแข่งที่พัฒนาขึ้นในทุกปี ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของเวทีนี้ รวมถึงการเติบโตของวงการเทคโนโลยีไทยในอนาคตอีกด้วย

 

“Deep Jam” รู้ลึก รู้จริง อย่างสุดยอดคนพันธุ์ Deep 

ธีมการแข่งขันของ ‘TechJam 2019 by KBTG’ ในปีนี้ มาในคอนเซ็ป “Deep Jam” รู้ลึก รู้จริง อย่างสุดยอดคนพันธุ์ Deep โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ “Deep Code” สุดยอดฝีมือด้าน Programming ผู้รักการตีโจทย์สุดยากด้วยการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาและนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง, “Deep Data” สุดยอดฝีมือด้าน Data Science ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจทุกรูปแบบในปัจจุบัน และ “Deep Design” สุดยอดฝีมือด้าน UX/UI Design ผู้รักการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบอย่างมีความคิดสร้างสรรค์

ซึ่งในปีนี้ยังคงเปิดกว้างให้คนทั่วไปมีสิทธิเข้าร่วมแข่งขัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา มนุษย์ออฟฟิศ หรือฟรีแลนซ์ ทำงานในสายอาชีพไหน เรียนจบอะไรมาสามารถลงสมัครได้ ขอแค่พกความมั่นใจและทำการบ้านมาอย่างรู้ลึก รู้จริง ก็มีสิทธิ์ที่จะชนะได้ จึงทำให้ในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 3 ด้านรวม 1,750 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นเท่าตัว โดยระหว่างการแข่งขันก็ได้คัดเลือกผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ แบ่งออกเป็น

บทสรุปการแข่งขัน ‘TechJam 2019 by KBTG’

 

สำหรับโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในปีนี้นั้น มีการพัฒนาให้เข้มข้นขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการจำลองโจทย์ให้ใกล้เคียงสถานการณ์การทำงานจริงยิ่งขึ้น ซึ่งแต่ละ Deep ก็จะมีความยากง่ายท้าทายแตกต่างกันไป อย่างเช่น

 

 

โฉมหน้าผู้ชนะเลิศในปีนี้

หลังจากที่มีการแข่งขันรอบ Final มาตลอดทั้ง 2 วัน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะเลิศใน TechJam ประจำปี 2019 ทั้ง 3 สาขาที่สามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันทีมอื่นๆมาได้อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อได้พูดคุยกับพวกเขาแล้วก็ได้รับรู้ถึง Passion ของแต่ละคนที่มีต่อสายงานตัวเองจริงๆ

Deep Code : “พล สุรกิจโกศล” และ “เอกลักษณ์ ลีละศรชัย” สองหนุ่ม Software Engineer รุ่นใหม่ทีม FM and Pol 

“การแข่ง Algorithm แบบนี้มันหายากในไทย ส่วนมากก็จะเป็น Hackathon มากกว่า ก็เลยสนใจที่เข้าร่วมมากๆ”

สองหนุ่มผู้มี Passion ในด้าน Deep Code อย่างชัดเจน สมัครเข้าแข่งขัน TechJam ทุกปี ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาจนกระทั่งเรียนจบแล้วก็ยังกลับไปฝึกฝีมือ เพื่อกลับมาประลองอีกครั้ง จนในครั้งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

ทีมนี้เป็นทีมที่ฟอร์มการแข่งขันโดดเด่นมาตลอดทั้งวัน มีการวางแผนอย่างดี ตีโจทย์ปัญหาได้แตกฉานและชัดเจนกว่าทุกทีม ทั้งด้านโจทย์อัลกอริทึ่มและ Software Management จึงเฉือนชนะมาได้อย่างน่าชื่นชม

Deep Data : “วัชรินทร์ เหลืองวัฒนากิจ” และ “เอมฤดี จงทวีสถาพร” คู่หู Data Science ทีม Alannkuma

สำหรับการแข่งขันฝั่ง Deep Data ผู้ชนะในปีนี้เป็นทีม Data Science ที่มีศักยภาพแข็งแกร่งสมศักดิ์ศรีดีกรีรองชนะเลิศ อันดับ 1 จาก TechJam ปี 2018 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้นำคอมเมนท์ต่างๆในการแข่งขันครั้งที่แล้วมาพัฒนา ด้วยความละเอียดในการวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าประทับใจ ในที่สุดปีนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศไปครอง 

“ผมลงมาตั้งแต่ปีแรก ปีนี้เป็นปีที่ 3 แต่ละครั้งที่เข้ามาแข่งก็ได้เจอโจทย์แปลกใหม่เรื่อยๆ ต้องขอบคุณที่เวทีนี้เป็นตัวกระตุ้นให้พัฒนาตัวเองมาถึงจุดนี้” 

“ปกติเป็น Data Science ในวงการเทลโก้ ข้อมูลที่เคยเห็นก็จะต่างจากฝั่งธนาคาร ซึ่งในแต่ละ Industry ก็จะมีความสนุกของข้อมูลอยู่ ที่ไทยยังไม่เคยมีการแข่งขันที่สร้างโมเดลจริงจังแบบนี้ มันเลยเห็นความสนุกของโจทย์ในการทำโมเดลด้วยขอบคุณที่จัดมาเป็นปีที่ 3 แล้ว”  ทั้งสองกล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อรูปแบบการแข่งขัน

Deep Design : “ธนนท์ วงศ์ประยูร” และ”ตฤณ นิลกรณ์” สองหนุ่มดีไซนเนอร์ทีม GTBK

ในขณะที่ผู้ชนะเลิศในสาย Deep Design ที่แม้จะเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีนี้เป็นครั้งแรก แต่ด้วยประสบการณ์และความชำนาญในด้านดีไซน์ที่มี ก็ทำให้เขาสามารถตีโจทย์จากการสัมภาษณ์ User หยิบ เห็น pain point ของ GenZ มาดีไซน์เป็นเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างชาญฉลาด ด้วยความโดดเด่นของไอเดียมีสามารถนำมาต่อยอดประยุกต์ใช้กับฟีเจอร์ในแอพต่างๆของ KBank ได้ เช่น K Market หรือแพลตฟอร์มร้านค้าอื่นๆในตลาดได้ จึงทำให้ผลงานของเขาโดนใจกรรมการเป็นอย่างมาก 

“เวทีนี้เป็นเวทีที่ผมได้มีโอกาสแข่งขันในด้านดีไซน์จริงๆ ก็เลยสนใจสมัครเข้ามา ในรอบ Final ก็สนุกกับการสัมภาษณ์มากๆ เรื่องที่น่าสนใจคือ Gen Z สามารถโพสท์คลิป/VDO/ดู Live ยาวๆได้ แต่กลับรู้สึกว่าการให้ดาว ให้คะแนนรีวิว เป็นเรื่องที่เสียเวลา เลยอยากหยิบ pain ponit ตรงนี้มาทำให้การรีวิวสนุกขึ้น ทำให้คนอยากรีวิวกันมากขึ้น”

 

เสียงจากคณะกรรมการ ‘TechJam 2019 by KBTG’ 

ปีนี้ TechJam มีการพัฒนารูปแบบโจทย์การแข่งขันหลายส่วนให้ใกล้เคียงการทำงานจริงมากขึ้น รวมถึงหัวหน้าคณะกรรมการชุดใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมในปีนี้ เห็นตรงกันถึงความสำเร็จของเวทีนี้จากจำนวนผู้สมัครสนใจเข้าร่วมสมัครและศักยภาพผู้เข้าแข่งขันที่พัฒนาขึ้นทุกปี มองเห็นความเป็นไปได้ของวงการเทคโนโลยีในเมืองไทยที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

คุณอาภาพงศ์ หัวหน้ากรรมการฝั่ง Deep Code เล่าว่าการแข่งขันในปีนี้ โฟกัสไปที่ทักษะการเป็น Software Developer ที่ดี เช่น เขียนโค้ดได้ดี Maintain ได้ แก้ไขง่าย รวมถึงสถานการณ์จริง เช่น เวลาเรากำลังทำงานอยู่ อยู่ดีๆทางลูกค้าขอเปลี่ยน Requirement ถ้าหากว่าเราเขียนโปรแกรมไว้ไม่ดี ถึงเวลาต้องแก้ ก็จะเจอปัญหาต้องเริ่มใหม่หมด โจทย์ปีนี้จึงมีความยากและเข้มข้นขึ้น

ซึ่งปกติฝั่ง Code จะมีชื่อเสียงเรื่องเด็กที่มาแข่งเป็นเด็กชั้นมัธยม คนจะรู้สึกว่าเอามาใช้งานจริงไม่ได้หรอก เขียนไม่ได้หรอก ผมติดใจเรื่องนี้เลยอยากปรับการแข่งขันให้รอบด้านขึ้น มันใหม่มาก แต่พอเอามาใช้ก็ถือว่าไปต่อได้ ศาสตร์ซอฟท์แวร์มันกว้างมาก เราพัฒนาไปได้ไกลมาก ปีหน้าอาจจะขยายไปให้มากกว่านี้อีก

ส่วนดร. ภควัต หัวหน้ากรรมการฝั่ง Deep Data เล่าความรู้สึกว่า การแข่งครั้งนี้ประสบความสำเร็จในแง่ศักยภาพของผู้เข้าแข่งขัน อาจจะด้วยกระแส Data Science ที่กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนฝึกฝนมาในระยะเวลาที่ค้นคว้ามาอย่างเต็มที่แล้ว อยู่ในจุดที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทำโมเดลจริงจังแล้วเลยได้เห็นฝีมือคนเก่งๆเยอะมาก

จริงๆที่ 1 กับที่ 2 เฉือนชนะคะแนนที่ใกล้กันมาก มาตัดกันนิดเดียวที่เรื่องของ Presentaion กับ Insight ที่หามาได้คมกว่า ในระหว่างการแข่งขันเองก็ได้เห็นเทคนิคเจ๋งๆของแต่ละทีม ที่น่าสนใจและยังรู้สึกอยากนำไปปรับใช้กับทีมด้วย

คุณสรรพวิชญ์ หัวหน้ากรรมการฝั่ง Deep Design เพิ่มเติมอีกว่า พอมาในรอบ Final จริงๆมีทีมที่ทำให้ตัดสินใจมากอยู่หลายทีม ถ้านับเป็นคะแนนคือห่างกันแค่ 0.5 คะแนนก็มี ประทับใจความสามารถของผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมที่สามารถดึงข้อมูลจาก User แล้วมานำเสนอให้คณะกรรมการได้อย่างน่าสนใจ คิดว่าประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ก็ต้องรอติดตามกันดูว่า TechJam ปีหน้าจะดุเดือดกว่านี้แค่ไหน ติดตามรายละเอียดได้ที่ FB Page: https://www.facebook.com/KBTGlive/