Mango Zero

รู้จักกับพลังของ ‘ดอกเบี้ย’ 3 ประเภทหลัก และแบบไหนควรจัดการให้ไวถ้ามีหนี้หลายก้อน

หากพูดถึง ‘ดอกเบี้ย’ เราทุกคนล้วนมีสวนดอกเบี้ยเป็นของตัวเองทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีสวนดอกเบี้ยประเภทไหน และดอกเบี้ยแต่ละสวนนั้นก็มีพลังทำลายล้างกระเป๋าสตางค์ของเราที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ หากมีเงินเหลือ ก็ควรจะเอาเงินก้อนนั้นไปจัดการดอกเบี้ยให้จบก่อนจะคิดทำอย่างอื่น  

แต่…ดอกเบี้ยแบบไหน ที่มีพลังทำลายล้างสูงที่สุดหากคุณมีหนี้ที่อยู่หลายก้อน เราจะพาไปทำความรู้จักกับดอกเบี้ย 3 ประเภทที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ จะได้รู้ว่าแบบไหนควรจัดการก่อน ยิ่งคนที่คิดจะลงทุน ลองมาพิจารณาพลังของดอกเบี้ยกันก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกทีว่าจะทำยังไงต่อดีกับเงินก้อนที่มีอยู่

ด้วยคำแนะนำจาก ‘วีระพล บดีรัฐ’ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล (K-Expert) ธนาคารกสิกรไทย คุณจะได้เข้าใจว่าเงินก้อนที่มีอยู่ จะจัดการหนี้ หรือเอาไปลงทุนเพื่อเอาเงินมาจัดการหนี้ทีหลัง

**การลงทุนในที่นี้เราขอเปรียบเทียบการลงทุน 1 ปีกับดอกเบี้ยของหนี้ 1 ปีนะจ๊ะ

หนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด : รู้ง่าย ได้ไว แต่ดอกโหด

บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด เป็นกลุ่มหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด ประมาณ 18-28% ต่อปี (ตามประกาศของแบงค์ชาติ) ซึ่งถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่พลังทำลายล้างสูงมาก แลกกับการที่ได้เงินมาใช้ง่ายๆ ไวๆ ยิ่งปล่อยไว้หรือไม่จัดการโดยไวดอกเบี้ยจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะคนที่ชอบจ่ายรายเดือนแบบขั้นต่ำที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 0% ด้วยยิ่งเจอดอกเบี้ยประเภทนี้กัดกร่อน ถามว่าดอกเบี้ยประเภทนี้เยอะแค่ไหน เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ขอเทียบระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยหนี้ประเภทนี้คือ…

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยหนี้ประเภทนี้เป็นแบบลดต้น ลดดอก สามารถโปะหนี้ได้ตลอด ดังนั้นถ้ามีเงินเหลือจริงๆ แล้วอยากจะปลดหนี้ให้หายไปสักก้อนหนึ่ง แนะนำให้มองที่หนี้กลุ่มนี้ก่อน แต่ถ้าคิดว่าจะเอาเงินก้อนไปลงทุน

ก็ลองพิจารณาดูก่อนว่าลงทุนไปแล้วมันมากกว่าดอกเบี้ยต่อปีที่ต้องเสียให้ธนาคารไหม ถ้าไม่…ก็เอาเงินมาโปะหนี้เพื่อลดดอกเบี้ยก่อนเถอะ และในความเป็นจริงการลงทุน 100 บาท แล้วได้ผลตอบแทนกลับมาที่มากกว่าดอกเบี้ยก็คงไม่มีแน่นอน

หนี้บ้านและคอนโด : หนี้ก้อนใหญ่ยาวไป ยาวปายยยย 

หนี้บ้าน หนี้คอนโด เป็นหนี้ที่ก้อนใหญ่มหาศาลมากที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนยอมเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งบ้านในฝัน และดอกเบี้ยของการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็มหาศาลไม่แพ้กัน กว่าจะผ่อนจนจบ ถ้ามีโปะ มีการรีไฟแนนซ์ ทำสัญญาใหม่ ก็อาจจะทำให้เราจ่ายหนี้หมดได้ไวกว่าเดิมอย่างน้อย  7 – 10 ปี แต่ถ้าจ่ายไปเรื่อยๆ ไม่โปะ ไม่มีรีไฟแนนซ์ ไม่ทำอะไรกับยอดหนี้เลย ก็อาจจะใช้เวลานานถึง 27 ปีกว่าจะจ่ายจนหมด

จะเห็นได้ว่าหนี้ประเภทกู้ซื้อที่อยู่อาศัย เป็นแบบลดต้นลดดอกเหมือนกันกับกลุ่มบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลนั่นแหละ เพียงแต่ว่าหนี้บ้านเป็นหนี้ที่ก้อนใหญ่มหาศาล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยไม่คงที่ (ดอกเบี้ยบ้านจะเป็นแบบลอยตัวขึ้นอยู่กับการกำหนดของแบงก์ชาติ) ถ้าช่วงปีแรกๆ โปะให้เงินต้นลดให้เยอะที่สุด เพื่อที่อนาคตพอโปรโมทชั่นดอกเบี้ยคงที่หมดลงดอกเบี้ยเราจะลดไปมากเลยทีเดียว 

สมมติคนที่มีเงินก้อนนึง และมีหนี้คอนโดอยู่ 3 ล้านบาท ผ่อนมาเดือบจะครบ 3 ปี และกำลังจะเข้าช่วงดอกเบี้ยลอยตัว สมมติว่าค่าเฉลี่ยราว 6-7% การเอาเงินก้อนนึงที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรดี ระหว่างลงทุนกับโปะหนี้บ้าน แต่ถ้าเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนแล้วมีโอกาสสร้างกำไรได้ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยก็สามารถเลือกเอาเงินเหลือไปลงทุนได้ 

ทางที่ดีแนะนำให้ลองคำนวณเทียบเป็นจำนวนดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ใน 1 ปี จากการโปะหนี้ กับผลตอบแทนที่จะได้ใน 1 ปีจากการลงทุนอีกสักครั้งหนึ่งด้วยจำนวนเงินก้อนเดียวกัน ถ้าอันไหนเยอะกว่าก็จัดอันนั้นไปเลย 

หนี้กู้ซื้อรถ : สะดวก สบาย แต่ขายไม่ได้ราคา

รถเป็นเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ จ่ายเท่ากันทุกปีจนครบงวดที่กำหนด การโปะหนี้รถจึงไม่ได้เป็นผลเท่าไหร่ แม้จะปิดหนี้ไปเลยแต่ดอกเบี้ยก็หายไปไม่มาก เนื่องจากว่าดอกเบี้ยในการซื้อรถนั้นถูกคำนวนไว้ตั้งแต่แรกตามจำนวนงวดที่เราทำสัญญาเพื่อผ่อนจ่ายแล้ว  แต่ไม่ได้มากอะไร

ดังนั้นถ้าเลือกได้ ระหว่างเงินเอาไปลงทุนก่อนเพื่อให้ได้ผลมากที่สุดใน 1 ปีเพื่อเอากำไรไปต่อยอด กับเอาเงินก้อนไปปิดรถ การเอาไปลงทุนอาจจะดีกว่าแต่ถ้าไม่ได้มองเรื่องผลตอบแทน แต่มองเรื่องความสบายใจที่ปลดภาระหนี้ได้ มีเงินเก็บเหลือ

การปิดหนี้เลยก็ทำให้สบายใจมากกว่า ทว่าหากไม่มีภาระ และการผ่อนรถจนครบงวดไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนอะไร และเอาเงินไปลงทุนจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เรามีเงินเก็บ ก็เอาไปลงทุนเถอะ