Mango Zero

พาชมก่อนใคร! ห้อง ทดสอบความอึด ถึก ทนของมือถือ (Testing Lab) จากสำนักงานใหญ่ Huawei ประเทศจีน ทดสอบทุกมิติของมือถือก่อนผลิตจริง

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า Drop Test กันเป็นอย่างดีเวลามีมือถือรุ่นใหม่ออกวางสู่ตลาด บริษัทหลายเจ้าก็มักจะออกมาเคลมว่าของตัวเองทนอย่างนั้นแข็งแรงอย่างนี้ และคงมีเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เห็นขั้นตอนการทดสอบอุปกรณ์ด้วยตาตัวเอง

ทีมงาน Mango Zero ได้รับเชิญจาก Huawei ให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ที่เสิ่นเจิ้นประเทศจีน เรียกว่าเป็นการชมอย่างหมดเปลือกเพราะเราได้เห็นขั้นตอนมากมายกว่าจะมาเป็นมือถือและอุปกรณ์ต่างๆ ของบริษัท แต่ในบทความนี้ของเรา จะขอพาทุกคนไปดูห้องปฏิบัติการทดสอบอุปกรณ์ หรือที่ทางหัวเหว่ยเรียกว่า Testing Lab กันก่อน

มาดูกันว่า เมื่อมือถือรุ่นใหม่ถูกดีไซน์ออกมาแล้ว จะต้องผ่านขั้นตอนทดสอบอะไรบ้างก่อนนำไปผลิตออกขายจริง

*ซึ่งจริงๆ ขั้นตอนมีเยอะมากๆ เกินกว่าจะนับไหว ในที่นี้จึงขอยกเป็นตัวอย่างมาให้ได้ชมกันเพียงขั้นตอนหลักๆ ก่อนนะคะ

 

1. ทดสอบการตก

ในขั้นตอนนี้มือถือหัวเหว่ยจะถูกทำให้ตกด้วยเครื่องจักรซ้ำๆ โดยเปลี่ยนมุมของโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการทดสอบความคงทนหากเครื่องตก

 

2. ทดสอบแรงกด (การนั่งทับ)

ในขั้นนี้มือถือจะถูกเครื่องจักรกดลงมาด้วยน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ประมาน 2,000 ครั้ง

 

3. ทดสอบความคงทนของเครื่อง

ขั้นนี้เครื่องจักรจะบิดเครื่องมือถือไปทางซ้ายและขวา เป็นจำนวนหลายๆ ครั้ง เพื่อทดสอบความคงทนของชิ้นส่วนต่างๆ ในมือถือ ว่าหากเกิดการบิดงอแล้วจะไม่ได้หลุดออกจากกันหรือเกิดปัญหาอะไรระหว่างใช้งาน

 

4. ทดสอบการใช้งานหัวต่อ

มีเครื่องทดสอบการใช้งานของหัวต่อชนิดต่างๆ ด้วย เป็นการทดสอบการใช้งานทั่วไปของหัว USB, Type C และช่องหูฟัง โดยจะทดสอบการถอดเข้าออกซ้ำๆ ประมาณ 10,000 ครั้ง

 

5. ทดสอบความคงทนของหัวต่อ

เป็นการทดสอบความคงทนในการใช้งานแบบไม่ปกติ คือจะมีเครื่องจักรมาดันๆ ส่วนของหูต่อ เสมือนเวลาเราเสียบไม่ดี หรือว่าดึงออกแบบไม่ระวังนั่นเอง ซึ่งก็จะดันซ้ำไปซ้ำมาไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้ง

6. ทดสอบความคงทนของสาย

ขั้นนี้เราจะได้เห็นสายชาร์จถูกทารุณในรูปแบบต่างๆ แต่ถ้าสายชาร์จพูดได้ ก็คงบอกว่า ‘ไม่ต้องห่วง น้องโอเคคค’

 

7. ทดสอบปุ่มการใช้งาน

เช่น ปุ่มปรับเสียง ปุ่มพาวเวอร์ โดยมาตรฐานจะต้องทดสอบผ่านที่ 50,000ครั้ง แต่เวลาทดสอบจริงก็จะทดสอบไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าจะทนได้กี่ครั้ง (แต่เจ้าหน้าที่แอบบอกมาว่า ณ ตอนนี้ก็ยังไม่พังนะจ๊ะ เป็นแบบ unlimit ไปเลย)

 

8. ทดสอบที่อุณหภูมิต่างๆ

เครื่องหัวเหว่ยเองจะทนความร้อนและความเย็นได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -20 ถึง 50 อาศาเซลเซียส แต่ในเครื่องทดสอบเหล่านี้จะมีการทดสอบหลายแบบมาก ทั้งการเปลี่ยนอุณหภูมิจากร้อนไปเย็นหรือเย็นไปร้อนอย่างรวดเร็วในเวลาห้าวินาที ที่อุณหภูมิ 80 องศา ไปยัง -40 องศา สลับกันไปมารวมกัน 48 ชั่วโมง เป็นต้น

 

และนอกจากที่กล่าวมานี้ยังมีการทดสอบความคงทนของตัวชาร์จ และสีที่เคลือบตัวเครื่อง หรือหน้าจออีกด้วย ถือว่ากว่าจะไปสู่ขั้นตอนผลิตจริงได้นั้น มือถือหนึ่งรุ่นต้องผ่านด่านขั้นตอนต่างๆ มามากจริงๆ

สำหรับบทความต่อไป เราจะพาไปชมส่วนต่างๆ ของสำนักใหญ่หัวเหว่ยเพิ่มเติมกันต่อ ยังไงรออ่านกันก่อนเด้อออ