Mango Zero

ลงขัน มิวสิค เฟส คอนเสิร์ตที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ดนตรีไม่ได้เท่ากับของฟรี’

จบลงไปแล้วสำหรับเทศกาลดนตรีลงขัน มิวสิค เฟสคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนผลงานศิลปินไทย ในคอนเสปต์ที่ให้คนได้เข้าฟรี แต่ถ้ารู้สึกดีต้องหย่อนตังค์ โดยในงานนอกจากจะคับคั่งไปด้วยนักร้องกว่า 10 วงแล้ว ยังมีศิลปินวาดภาพมาจัดแสดงผลงาน และให้ผู้เข้าร่วมได้หย่อนเงินลงขันด้วย

“ลงขัน มิวสิค เฟส” คืองานอะไร?

 

บรรยากาศภายในงาน

เมื่อเข้ามาในงาน ก็จะพบกับบูธขายของที่ระลึก ได้แก่ ถุงผ้า ที่จ่ายเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่พอใจ

นอกจากนี้สำหรับคนที่มาเข้าร่วม 500 คนแรก ทีมงานยังได้เตรียมผ้าสกรีนลายน่ารักๆ เป็นของที่ระลึกสำหรับงานลงขัน ซึ่งให้กันฟรีๆ ไปเลย จะนำไปผูกข้อมือ ผูกผม หรือจะผูกติดกับกระเป๋าก็น่ารักดี

บูธอาหารก็มีหลากหลาย ทั้งหมี่เย็น (ซัดไป 2 ถ้วย) ฮอตดอก ปลาหมึกทอด โกยซีหมี่ รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มากันอย่างเนืองแน่นทั้งน้ำอัดลม น้ำโซดา และเบียร์ U สปอนเซอร์รายใหญ่ของงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ราคาเป็นกันเองมากๆ ถ้าเทียบกับคอนเสิร์ตอื่นๆ

กิมมิคอีกอย่างของงานคงจะหนีไม่พ้น ตู้วาดรูป ที่เลียนแบบมาจากไอเดีย ตู้สติกเกอร์สมัยเด็ก โดยทีมงานได้จัดให้ภายในตู้มีศิลปินวาดรูป(ที่วาดได้ไวโคตรและสวยโคตร) ศิลปินจะทำหน้าที่วาดคนที่ยืนรอคิวจากในตู้ และเมื่อวาดเสร็จก็หย่อนเงินได้ตามชอบใจ 

ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือโซนการแสดงจากศิลปิน ที่จัดแสงสีเสียงมาอย่างดี บวกกับสถานที่จัดงานที่เป็นสไตล์ตึกร้าง พอมีควันและแสงสีเข้าไป ยิ่งได้บรรยากาศที่โคตรชิล

 

สิ่งที่ ‘ลงขัน มิวสิค เฟส’ สร้างขึ้น และหวังว่าจะเกิดกับวงการเพลงไทยในอนาคต

1.ศิลปินไทยได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากในวันงาน ว่าผู้เข้าร่วมชมเต็มใจและตั้งใจนำเงินมาลงขันให้กับศิลปินทุกวง โดยอาจจะไม่ได้เป็นเงินจำนวนมากมาย แต่เมื่อรวมใจกันหลายๆ คนก็เกิดเป็นทั้งจำนวนเงินและคุณค่าทางจิตใจที่มากมายมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการชี้ช่องทางให้กับผู้ร่วมงาน ว่าสามารถอุดหนุนศิลปินผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ทั้งการซื้อแผ่นเพลงจากร้านน้องท่าพระจันทร์(ที่มาจัดในงาน) หรือจะซื้อเพลงจาก itunes ก็เป็นได้

2.ขยับขยายฐานแฟนเพลงให้ศิลปินไทยมากขึ้น

งาน ลงขัน เป็นงานที่มีศิลปินในกระแสน้อยมาก ทำให้การฟังคอนเสิร์ตครั้งนี้ เป็นการเปิดโลกแบบหนึ่ง จากที่อาจรู้จักแค่ Ten to Twelve ก็ได้รู้จักวงนอกกระแสเพิ่มขึ้นอีกหลายวง นับเป็นปรากฏการณ์ที่คงทำให้ศิลปินไทยอบอุ่นใจได้ไม่น้อย : )

3.ผลักดันให้วงดนตรีนอกกระแส หวนเข้ามาในกระแส

เราเชื่อว่าดนตรีนอกกระแส ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็น ‘ดนตรีนอกกระแส’ แต่เป็นเพราะความเข้าไม่ถึงคนฟังส่วนใหญ่ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ช่องทางการโปรโมตที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก หรือจะเป็นผู้ฟังเองที่ไม่เปิดใจรับฟังเพราะติดอยู่กับคำว่านอกกระแสซึ่งเป็นคำที่ดูไกลตัว ดังนั้นเราคิดว่ายิ่งมีงานสำหรับนักดนตรีมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นการโปรโมตให้ทั้งศิลปินและคนฟังได้มาเจอกันมากขึ้น

4.ทำให้งานดนตรีเป็นเหมือนงานเลี้ยงรวมรุ่นของกลุ่มผู้ฟัง

ข้อนี้เราไม่แน่ใจว่าทางผู้จัดตั้งใจไว้ไหม แต่จากการได้เข้าร่วมงานแล้ว เรารู้สึกถึงความใกล้ชิดที่ศิลปินมีให้กับแฟนเพลง ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ร้องและผู้ฟัง มันใกล้กันมากๆ เราสามารถเดินไปทักพี่พุฒิ-ภูมิจิต ว่า “เห้ยพี่ หนูชอบพี่มาก เซลฟี่หน่อยคะ” (แล้วพี่เขาก็สามารถใช้เราให้ถ่ายรูปให้ได้ #แฉ) เราเชื่อว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีของวงการเพลงไทย และเป็นบรรยากาศที่ดีมากสำหรับงานคอนเสิร์ต

5.เป็นแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาจัดงานเพื่อศิลปินไทยมากขึ้น

เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและจริงใจ ในการสร้าง ‘ลงขัน มิวสิค เฟส’ คอนเสิร์ตที่ทุกคนร่วมใจกันลงขันเพื่อให้เกิดงานขึ้น ทั้งจากผู้จัดเองที่ทุ่มเทเต็มที่ให้กับทุกรายละเอียดในงาน นักดนตรีและศิลปินวาดภาพที่มาร่วมแบบที่ไม่มีค่าตัว ร้านค้าที่มาร่วมออกบูธ รวมไปถึงผู้เข้าชมเองที่มาด้วยใจจริงๆ เลยคิดว่างานที่ดีแบบนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนลุกขึ้นมาสนับสนุนศิลปินเพิ่มขึ้นไม่ช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง

 

ติดตามเทศกาลดนตรีดีๆ แบบนี้ได้ที่ Long Khan ลงขัน