เสียงรถไอติมมาแล้ว เหมือนช่วงเวลาแห่งความสุขกำลังเริ่มขึ้น เราก็จะรีบวิ่งไปขอเงินแม่ ออกไปซื้อไอติมกิน นับเป็นช่วงเวลาในวัยเด็กที่ทุกคนเคยผ่านมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไอติม Wall , Nestle , หรือ จะไอติมตักแบบไผ่ทอง แล้วรู้รึไม่ว่า ไอศกรีมรถซาเล้งแบรนด์แรกของไทยที่ขับเข้ามาขายความสุขคือแบรนด์อะไร ไปหาคำตอบกันเถอะ ไอศกรีม กับ คนไทย คนไทยรู้จักไอศกรีม เริ่มต้นมาจากสมัยรัชกาลที่ 4 คาบเกี่ยวรัชกาลที่ 5 โดยเข้ามาทางประเทศสิงคโปร์ โดยการนำน้ำแข็งเข้ามาก่อนที่จะนำไอศกรีมเข้ามา ซึ่งสร้างความปรหลาดให้กับสังคมไทยในยุคนั้นมาก ไอศกรีมในยุคนั้นจำหน่ายเฉพาะ “น้ำแข็งที่ใส่น้ำหวาน” ต่อมาพัฒนาเป็นไอติมหลอด โดยการนำน้ำหวานลงไปในหลอดผสมหลากหลายรสชาติ หลากหลายสีสัน ทั้งสีแดง สีส้ม สีเขียว สีดำ สีชา หรือ ผลไม้ลงไปปั่นจนแข็ง ยังไม่มีนมหรือครีมผสม สร้างความแปลกใหม่และดึงดูดไม่น้อยในยุคนั้น ไอศกรีมตรา “เป็ด” บริษัทป๊อป ผู้ผลิตไอศกรีมตรา “เป็ด” ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของประเทศไทย ได้สั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมจากต่างประเทศ ผลิตไอศกรีมได้ครั้งละมาก ๆ เน้นความสะอาดและคุณภาพ ทำให้ไอศกรีมตราเป็ด เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว โดยยุคแรก ๆ ยังเป็นไอติมหวานเย็น ต่อมาจึงมีการดัดแปลงรสชาติใหม่ ๆ เป็น เป็นรสระกำ เฉาก๊วย ลอดช่อง โอเลี้ยง ข้าวเหนียวแดง ถั่วดำ และอื่นๆ พร้อมกับนำสูตรใส่นมจากต่างประเทศมาใส่ถ้วย ทำให้เนื้อไอศกรีมละเอียดและเนียนคนจึงนิยมกินไอศกรีมใส่นมหรือครีมกันมาก ก๊าบๆ ไอศกรีมเป็ดมาแล้ว ถ่ายเมื่อปีค.ศ.1963 (พ.ศ.๒๕๐๖) ไอศกรีมตราเป็ด (เครื่องหมายแบรนด์เป็น เป็ดโดนัลดั๊ก) เป็นไอศกรีมแบรนด์แรกที่ขายโดย รถสามล้อหรือซาเล้ง คนขายจะมี Duck Call เอาไว้เรียกลูกค้า เสียงดังคล้ายเป็ด นับแต่นั้นมารถสามล้อถีบจึงกลายเป็น สัญลักษณ์และกลยุทธ์ในการขายไอศกรีม หลากหลายยี่ห้อในอดีตและปัจจุบัน เช่น ไอติมโฟร์โมสต์ ครีโม วอลล์ เนสเล่ เป็นต้น กลยุทธ์ไอศกรีมป๊อป ใช้วิธีการสลักคำว่า “ฟรี” บนไม้ ใครเจอคำนี้ นำมาแลกฟรี 1 แท่ง กลยุทธ์ทางการตลาดนี้ได้ผลดีมาก ซาเล้งขายไอติมซึ่งขายไอศกรีม ทั้งแบบแท่งและถ้วยครองตลาดอยู่นาน ซึ่งตอนนั้นร้านขายไอศกรีมยังไม่มีใครทำ จนเมื่อปี 2520 วงการไอศกรีมมีการแข่งขันสูงมากขึ้น “ศาลาโฟร์โมสต์” เกิดขึ้น เป็นที่นิยมของวัยรุ่น หลังจากนั้นการนำเข้าลิขสิทธิ์แบรนด์ไอศกรีมจากต่างประเทศก็เข้ามาเมืองไทย เช่น สเวนเซ่นส์ , บาสกิ้น รอบบิ้น และ แดรี่ควีน เป็นต้น ขอขอบคุณภาพ Image Source L_: สรรพสิริ วิริยศิริ, Thailand Image Source R(1963): Roger Viollet, France