พุทธิพงษ์ – ถาวร 2 รัฐมนตรี ไม่พ้นสถานภาพ ส.ส. ด้านไพบูลย์ ชี้ยังไม่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล


: 2 มีนาคม 2564

 

เมื่อวานนี้ (1 มีนาคม 2564) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายกฎหมายกล่าวยืนยันว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายถาวร เสนเนียม แม้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี แต่ยังไม่สิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 

ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ด้วยไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6)

นายไพบูลย์ ให้เหตุผลประกอบว่า ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 ข้อที่ 5 กำหนดว่า

“ในคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง”

ดังนั้น จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 4 คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี ด้วยอัตราโทษตามคำพิพากษาข้างต้นเกินกว่า 3 ปี ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างอุทธรณ์ แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4

นายไพบูลย์กล่าวว่า ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ความว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 4 เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน 

ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทง ก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยที่ 4 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

นายไพบูลย์กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 คดีระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง กับ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ปรากฎในหน้าที่ 6 ว่า

“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาให้จำคุกผู้ถูกร้องไว้นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562เป็นต้นไป ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6)”

ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ย่อมมีผลผูกพัน กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์

“แต่ปรากฏว่า ในกรณีของนายพุทธิพงษ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของนายนวัธ เตาะเจริญสุข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์”

ฉะนั้นตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2562 จึงมีผลผูกพันให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และไม่มีเหตุสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(6) รวมถึงนายถาวรด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

TAG :
Writer Profile : Jiratchaya Laosakul
The Zero Junior #6 ผู้คลั่งรักเกิร์ลกรุ๊ป ชอบอ่านมังงะ เวลาว่างดูอนิเมะ เป็นเด็กวารสารที่ชื่นชอบงานเขียนและมีความฝันว่าอยากจะเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองในสักวัน
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save