ภาพ : YouTube สิ่งที่ทำให้การ์ตูนเรื่องหนึ่งติดอยู่ในความทรงจำของเราๆ ได้ นอกจากความสนุกของเนื้อเรื่องและเหล่าตัวละครแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็คือ เพลงประกอบอนิเมะ หรือ อนิซอง (อนิเมะ+ซอง) ที่ทำให้เรายังระลึกถึงความสนุกสนานตอนได้ดูการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ได้ทุกครั้ง และนี่ก็คือ 5 ตัวท็อป จากบรรดาตำนานอีกมากมายนับไม่ถ้วนนั้น มิสึกิ อิจิโร ภาพ : wikipedia 1 ในชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ผู้ที่ยกระดับเพลงประกอบอนิเมะให้ขึ้นมามีศักดิ์ศรีและยอดขายเทียบเท่าเพลงกระแสหลัก จนได้รับฉายา “ราชาแห่งอนิซอง” ซึ่งเมื่อรวมกับภาพลักษณ์สุดเท่ คนก็พร้อมใจกันเรียกเขาว่า “ลูกพี่” (Anisong + King = Aniki ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าลูกพี่) มิสึกิเดบิวต์เข้าวงการด้วยผลงานบัลลาด แต่กระแสเงียบจนต้องทำงานพิเศษอื่นๆ หาเลี้ยงชีพ กระทั่งผู้กำกับคนหนึ่งติดใจเสียงของเขาขณะมาคัดตัวนักแสดง ก็ชวนเขามาร้องเพลงประกอบอนิเมะเรื่อง Genshi Shonen Ryu ซึ่งไม่ค่อยมีใครอยากทำ เพราะมองว่าเป็นเพลงเด็กๆ ที่ร้องไปก็ไม่ดัง 40 ปีผ่านไปหลังตอบตกลงในวันนั้น มิสึกิก็ได้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบทั้งอนิเมะและไลฟ์แอคชันดังๆ มากมาย รวมไปถึงบรรดาคาเมนไรเดอร์ ขบวนการห้าสี และอุลตราแมน รวมๆ แล้วเกิน 1,000 บทเพลง แต่ที่เป็นตำนานและทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คงจะเป็น Mazinger Z ซึ่งคอการ์ตูนทุกมุมโลกสามารถตะโกน “เซด!” ตอบรับเสียงทรงพลังของเขาพร้อมๆ กันได้ ในปี 2000 มิสึกิรวมบรรดาศิลปินอนิซองตัวเอ้มาก่อตั้งเป็นวง JAM Project (Japan Anisong Maker) เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณของอนิซองต่อไป และวงนี้ก็ได้ทำเพลงประกอบอนิเมะดังๆ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ครัชเกียร์, ซูเปอร์โรบอตวอร์ รวมไปถึง “เดอะ ฮีโร่” เพลงเปิดของวันพันช์แมนด้วย โฮริเอะ มิตสึโกะ ภาพ : la-donna เมื่อมีราชาก็ต้องมี “ราชินีแห่งอนิซอง” และผู้ที่ได้ครองตำแหน่งนี้ก็คือ โฮริเอะ มิตสึโกะ ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบอนิเมะอีกกว่า 1,000 บทเพลงเช่นเดียวกัน โฮริเอะเข้าประกวดร้องเพลงในรายการโทรทัศน์ และได้เป็นนักร้องประสานเสียงตามรายการต่างๆ ก่อนจะเดบิวต์เป็นศิลปินตั้งแต่อายุ 12 ด้วยเพลงประกอบอนิเมะเรื่อง Judo Boy และก็ได้รับโอกาสทำเพลงแนวช้าๆ สบายๆ ของอีกหลายเรื่อง แต่ผลงานที่ทำให้เธอมีชื่อเสียง และกลายเป็นนักร้องเพลงอนิเมะแนวหน้าก็คือเพลงประกอบ แคนดี้แคนดี้ สาวน้อยจอมแก่น นั่นเอง นอกจากบทบาทในฐานะนักร้องเพลงประกอบแล้ว โฮริเอะยังเป็นนักพากย์ที่ฝากผลงานไว้ในการ์ตูนยุคคลาสสิกหลายๆ เรื่อง ทั้งในเซนต์เซย์ยา, ดรากอนบอล ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือบท เซเลอร์ กาแล็กเซีย ในเรื่องเซเลอร์มูน ซาซากิ อิซาโอะ ภาพ : Alchetron นักร้องมากผลงานและความสามารถ เจ้าของเพลงฮิตในความทรงจำของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะบรรดาเพลงประกอบอนิเมะคลาสสิกอย่าง รถด่วนอวกาศ 999, เรือรบอวกาศยามาโตะ, ขบวนการโกเรนเจอร์ เขาจึงถูกจัดให้เป็น 1 ใน 4 จตุรเทพแห่งวงการอนิซอง ร่วมกับมิสึกิ อิจิโร, โฮริเอะ มิตสึโกะ และ โอสึกิ คุมิโกะ เจ้าของเพลงโดราเอมอนฉบับดั้งเดิม ซาซากิเดบิวต์เข้าวงการด้วยเพลงคัฟเวอร์ภาษาญี่ปุ่นของราชาร็อกแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ ด้วยน้ำเสียงและลุคทำให้ค่ายเพลงโปรโมทเขาไปในทางนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1972 เขาก็ได้รับงานพากย์อนิเมะชิ้นแรก ในเรื่อง นินจาอวกาศกัตช่าแมน และเขาก็ได้รับทั้งงานพากย์และร้องเพลงอนิเมะต่อมาอีกมากมายนับแต่นั้น หลังแต่งงานเขาก็หายหน้าไปจากวงการพักหนึ่ง จนในปี 1998 เขาก็กลับมาร้องเพลงอนิเมะในรอบสิบกว่าปี และยังคงมีบทบาทในวงการอยู่จนปัจจุบัน สมาพันธ์แอนิเมชันญี่ปุ่นมอบรางวัลความสำเร็จด้านเพลงให้เขาในงานโตเกียว อนิเมะ อวอร์ด ปี 2015 ฟุคุยามะ โยชิกิ ภาพ : ASIANWINDS แม้จะมีผลงานเพลงอนิเมะมากมาย แต่ผลงานที่โดดเด่นและทำให้ผู้คนจดจำ ฟุคุยามะ โยชิกิ ได้มากที่สุดก็คือการเป็นเสียงร้องเพลงของ เนกกิ บาซาร่า ตัวละครนักร้องนำและมือกีตาร์ของวง Fire Bomber ในอนิเมะเรื่อง Macross 7 ฟุคุยามะสนใจเรื่องของดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่แค่การร้องเพลง แต่เขายังเล่นเครื่องดนตรีได้อีกหลากหลายชนิด เขาร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมามากมาย ก็คือวงฮาร์ดร็อก HUMMING BIRD ซึ่งฟุคุยามะตั้งขึ้นกับเพื่อนอีกคนในปี 1988 ก่อนที่อีกหลายปีต่อมาเขาจะได้รับการแนะนำให้เข้ามาทำเพลงให้กับมาครอส ฟุคุยามะเข้าร่วมกับ JAM Project ในปี 2003 และได้ทำเพลงประกอบอนิเมะ ทั้งในนามของ JAM และผลงานเดี่ยวอีกมากมาย เช่นเพลงประกอบเรื่อง โอเวอร์แมน คิงไกเนอร์, นิวเก็ตเตอร์โรโบ, นักรบเหล็กเทวะ ฯลฯ คาเงยามะ ฮิโรโนบุ ภาพ : Dragonball wiki ถ้าพูดถึงเพลงประกอบอนิเมะที่โด่งดังที่สุด ร้องตามกันได้มากที่สุด ถึงจะร้องไม่ได้ก็ยังดำน้ำกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็คงจะหนีไม่พ้น “ชาาาาาาาาาาาาาาลา เฮดชาลา” เพลงประกอบดรากอนบอลนั่นเอง และผู้ที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงนี้ก็คือ คาเงยามะ ฮิโรโนบุ “เจ้าชายแห่งอนิซอง” เส้นทางสายดนตรีของคาเงยามะเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ในปี 1973 เขาตั้งวงร็อกชื่อ LAZY กับเพื่อนๆ ในโรงเรียน เข้าประกวดและเล่นในเทศกาลต่างๆ จนได้ออกซิงเกิลและแสดงคอนเสิร์ตมากมาย ก่อนจะแยกตัวกันไปเพราะความต่างทางแนวดนตรีในปี 1981 (กลับมารวมกันอีกครั้งตั้งแต่ปี 1998) ในช่วงที่แยกกันไป คาเงยามะเดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยวในนาม KAGE เพลงประกอบขบวนการนักสู้สายฟ้าเชนจ์แมนที่เขาร้องได้รับความนิยมมาก จึงได้โอกาสทำเพลงอนิเมะและขบวนการต่างๆ ต่อมาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1989 ที่เขาได้รับเลือกมาร้องเพลง CHA-LA HEAD-CHA-LA ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก และทำให้หลายๆ คนเรียกเขาว่า “มิสเตอร์ดรากอนบอลแซด” จนทุกวันนี้ คาเงยามะเป็นหนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของวง JAM Project และรับตำแหน่งหัวหน้าวงแทนมิสึกิ อิจิโร มาจนถึงปัจจุบัน โดยต้นสังกัดของ JAM ก็คือ Lantis ซึ่งมีอิโนะอุเอะ ชุนจิ เพื่อนของคาเงยามะ อดีตมือคีย์บอร์ดวง LAZY เป็นประธานบริษัทนั่นเอง ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าเพลงของพวกเขานั้นได้ฟังเมื่อไหร่ก็รู้สึกฮึกเหิม และชวนให้นึกย้อนวัยกลับไปเป็นสมัยเด็กๆ ที่ยังมีพลังงานไม่สิ้นสุดได้เสมอเลยล่ะ อ้อ ถ้าใครจำได้ทุกเพลงนี่ คุณก็เรียกได้ว่าแก่แล้วนะ..