6 วิธี สังเกตและเอาตัวรอดจากทางเท้ากรุงเทพฯ ช่วงหน้าฝน

Writer : minn.una

: 17 พฤษภาคม 2562

เริ่มเข้าสู่ช่วงหน้าฝนกันแล้วจ้า แม้ในตอนนี้อากาศบางวันจะยังร้อนอบอ้าวอยู่บ้าง แต่ก็มีฝนตกลงมาคลายร้อนให้เราอยู่เป็นระยะ สำหรับชาวกรุงเทพฯ หน้าฝนแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องดีๆ ของทุกคนเท่าไรนัก นั่นก็เพราะว่าเป็นช่วงที่พ่วงมาทั้งปัญหารถติด ถนนเฉอะแฉะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเดินเท้าที่กลายเป็นเรื่องยากกว่าเดิม

การเดินบนทางเท้ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะหน้าฝนแบบนี้ก็เหมือนกับการเล่นเกม Minesweeper คนเดินต้องมีทักษะการหลบหลีกให้ดี เพราะในเช้าของวันสุดเร่งรีบ การเจอกับระเบิดต้อนรับวันใหม่คงไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ (หรือแม้แต่ในตอนหลักเลิกงานก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน) วันนี้ Mango Zero เลยขอแชร์ 6 เทคนิค ที่จะทำให้ทุกคนรู้เท่าทัน และใช้ทางเท้ากรุงเทพฯ ในช่วงหน้าฝนนี้อย่างปลอดภัย

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ระวังจุดที่เปียกอยู่แล้ว

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน สิ่งแรกที่ต้องสังเกตเมื่อต้องเดินบนทางเท้ากรุงเทพฯ ก็คือ จุดที่เรากำลังจะเดินเหยียบนั้นมีรอยเปียกน้ำหรือรอยเลอะมาก่อนหรือไม่ ถ้ามีก็แปลว่าจุดนั้นไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

พื้นดูหลวมๆ เหยียบแล้วเปียกโชกแน่นอน

อิฐตัวหนอนที่ดูโคลงเคลง ไม่แน่นไปกับพื้น แน่นอนว่าในช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ แบบนี้ นี่คือจุดเสี่ยงต่อการเกิดน้ำขังที่สุด ดังนั้นถ้ามองเห็นว่าก้อนอิฐตัวหนอนตรงหน้าดูไม่แข็งแรง มีแววว่าจะขยับเขยื้อนเมื่อโดนเหยียบก็อยู่ห่างๆ ไว้ดีกว่า

ใกล้ร้านอาหารริมทาง มีน้ำแน่ๆ

หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีสิ่งปลูกสร้างประเภทหนึ่งที่เป็นที่มาของกับระเบิดน้ำขังนั่นก็คือเหล่าร้านอาหารริมทาง (ที่กินพื้นที่ไปจนเกือบหมดทั้งทางเท้า) บริเวณนี้ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ฝนตกหรือไม่ตกก็ค่อนข้างมีความเสี่ยงที่จะเดินแล้วถูกกับระเบิด นั่นก็เพราะว่าน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ อย่างการทำอาหาร ล้างผัก ล้างจานต่างๆ จะถูกปล่อยลงแถวๆ ทางเท้าใกล้ๆ นี่แหละ หลีกเลี่ยงไว้จะดีที่สุด

มองหาสัญลักษณ์จากผู้หวังดี

ก่อนจะเดินเหยียบไปบนทางเท้า ลองใช้สายตาสอดส่อง สังเกตสักนิดว่ามีผู้หวังดี ทำสัญลักษณ์จุดที่มีกับระเบิดไว้บ้างหรือเปล่า ซึ่งถ้ามีก็นับว่าเป็นโชคดีของเรา ช่วยลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเป้าหมายของกับระเบิดกลางกรุงไปได้อีก (นิดนึง)

มองคนข้างหน้า หาคนเดินนำ

ต่อมาคือเราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด (ของคนอื่น) ใช้สายตามุ่งไปข้างหน้า มองดูคนที่เค้าเดินไปก่อนว่าเหยียบตรงไหนปลอดภัย เหยียบตรงไหนไม่รอด แล้วก็ถือโอกาสนั้นเจริญรอยตามเค้าซะเลย!

พลาดไปแล้ว อย่าลืมบอกคนอื่น

เมื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นแล้ว สุดท้ายเราต้องรู้รักเรียนรู้จากความผิดพลาด (ของตัวเอง) แม้ว่าทำทุกทางแล้วสุดท้ายเรายังคงไม่รอดพ้นจากกับระเบิดทางเท้าเหล่านี้ หนทางสุดท้ายก็คือการบอกต่อคนอื่นไม่ให้เดินมาเหยียบจุดเดียวกับเรา อย่างน้อยการทำความดีครั้งนี้อาจจะช่วยให้ครั้งต่อไปเราไม่ต้องเดินเจอกับระเบิดอีก (มันถึงขั้นต้องพึ่งบุญบาปกันแล้ว!)

FYI การดูแลทางเท้ากรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

  • ปี 2560 มีการร้องเรียนปัญหาทางเท้าผ่านช่องทางสายด่วนกทม. 1555 กว่า 1,191 ครั้ง
  • ปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม มีการร้องเรียนถึงปัญหาทางเท้าแล้วกว่า 750 ครั้ง
  • ปี 2561 มีการอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุง-ซ่อมแซมผิวจราจรและทางเท้าทั่วกรุงเทพฯ รวมกว่า 416 ล้านบาท 
  • ปี 2562 มีการอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุง-ซ่อมแซมทางเท้าบริเวณห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ฯ ไปแล้ว รวมกว่า 61 ล้านบาท

 

ที่มา : กทม., ข่าวสด, ไทยรัฐ

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save