บอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ : เปิดเบื้องหลัง 'บัลลังก์เมฆ 2019' ปรากฏการณ์ครั้งใหม่แห่งตำนานละครเวทีไทย

Writer : Sam Ponsan

: 21 มิถุนายน 2562

ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีความบันเทิงให้เสพเยอะมาก โดยเฉพาะละครหลังข่าว ที่มีให้ชมทุกวันจันทร์ ยันอาทิตย์ แต่ในบรรดาละครหลากหลายเรื่อง มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ถูกนำมาตีความและแสดงใหม่ในรูปแบบ ‘ละครเวที’ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘บัลลังก์เมฆ’ ละครเวทีที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเพียงเพราะความไม่เข้าใจกัน

ที่ผ่านมาบัลลังก์เมฆ ถูกสร้างเป็นละครหลังข่าว 2 ครั้งคือปี 2536 และ 2558  ส่วนละครเวที ถูกสร้างขึ้นมา 2 ครั้งคือปี 2544 และปี 2550 (รีสเตจ) โดยมี ‘บอย – ถกลเกีียรติ วีรวรรณ’ ที่รับหน้าที่เป็นผู้กำกับที่เปลี่ยนจากละครหลังข่าว ให้กลายเป็นละครเวทีที่มีความอลังการงานสร้างจนเกิดวลี ‘เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์’ ขึ้นมา

บัลลังก์เมฆจึงถูกยกให้เป็นหนึ่งในละครเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนคนที่ไปดูละครเวทีเรื่องนี้จดจำได้แม่นทั้งสองเวอร์ชั่น ล่าสุดปี 2019 บัลลังก์เมฆ กลับมาอีกครั้งในรูปแบบละครเวทีเหมือนเดิม และไม่ใช่การรีสเตจ แต่เป็นการปรับใหม่เพื่อให้เขากับยุคสมัยทั้งเหตุการณ์ และเบื้องหลังของตัวละคร

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของ ‘บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล  2019’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้และผู้กำกับจะเล่าให้ฟัง

บัลลังก์เมฆยุคใหม่เปลี่ยนไปราวกับคนละเรื่อง

บัลลังก์เมฆ ปี 2544 และ ปี 2550 นั้นถือว่าเป็นบัลลังก์เมฆเวอร์ชั่นคลาสสิกที่นำแสดงโดย ‘นก – สินจัย เปล่งพานิช’  ทั้งสองครั้งไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนบทหรือโครงสร้างภายในมากนัก แต่บัลลังก์เมฆ ครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ผู้กำกับละครเวทีบอกว่าต่างกันราวกับคนละเรื่อง

ความแตกต่างจากเวอร์ชั่นก่อนคือปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวละครให้ตรงกับความคิด ทัศนะคติ และนิสัยของคนในยุคนี้ ไม่ใช่แค่สร้างมิติให้กับตัวละครเท่านั้น แต่ยังทำให้คนดูยุคนี้ถูกจริตกับละครเวทีสมัยใหม่มากขึ้น เนื่องจากหากเล่าเรื่องแบบเดิมผู้ชมจะไม่มีความรู้สึกอินไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แม้ตอนจบของเรื่องไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นการเคารพต้นฉบับ แต่เรื่องราวระหว่างทางที่เป็นรายละเอียดหรือจุดเปลี่ยนบางอย่างนั้นมีการใส่สิ่งที่ถูกเสริมเข้าไปเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกขึ้น ร่วมสมัยขึ้น

มิติตัวละครที่เพิ่มเข้ามา

สำหรับมิติของตัวละครที่ถูกเพิ่มเข้าไปก็คือการนำตัวละครแต่ละตัวไปตีความใหม่ว่าหากตัวเอกคนนั้นนมาอยู่ในยุคสมัยนี้เขาควรจะเป็นคนแบบใหม่ อาทิเช่น เกื้อ (ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ) คนขับรถที่เป็นอดีตสามีของ ปานรุ้ง (สุธาสินี พุทธินันทน์) แต่เดิมมีความเป็นคนใจดี คิดดี ยอมทุกอย่างอย่างง่ายดายแม้ว่าจะต้องโดนพรากลูกไป

แต่ในเกื้อ 2019 จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมิติของตัวละครให้เป็นคนยุคนี้ โดยผู้กำกับ ได้คุยกับทางนักแสดงเพื่อปรับสร้างมิติใหม่ของตัวละครไปด้วยกันว่าเกื้อ คนใหม่ต้องเป็นอย่างไร และคุณบอย ก็ชวนนักแสดงคิดว่า ถ้าเป็นเขาเองหากมีคนมาพรากลูกไปจะยอมไหม… คำตอบก็คือ “ผมไม่ยอม”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้มที่ทั้งผู้กำกับและนักแสดงทำการบ้านร่วมกันว่าแล้วถ้าไม่ยอม (แต่ต้องยอมในภายหลัง) ตัวละครจะทำอย่างไร ซึ่งการใส่ตัวตนของนักแสดงลงไปทำให้ตัวละครมีมิติมากขึ้นราวกับเป็นคนละคน แม้จุดจบจะเหมือนกันก็ตาม  แต่ระหว่างกว่าจะมาถึงนั้นมีรายละเอียดที่คนยุคนี้ไปดูแล้วจะอิน

‘ปานรุ้ง’ แม่ยุคใหม่ที่เข้าใจลูกกว่าเดิม

ปานรุ้ง คือนักแสดงหลักของบัลลังก์เมฆ เธอเป็นสาวชั้นสูงที่ตกอับเพราะเลือกสามีผิด เธอจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีกลับมา และดูแลลูกทั้ง 4 คนให้ดีที่สุด ปานรุ้ง เวอร์ชั่นก่อนเป็นคนที่ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก และชอบบังคับลูกให้เดินตามทางของตัวเองจนทำให้เกิดโศกนาฎกรรมกับครอบครัวของปานรุ้ง

แต่ปานรุ้ง ยุคนี้ถูกตีความใหม่ให้เป็นแม่ยุคใหม่ที่มีความเข้าใจลูกมากขึ้น และมีความประนีประนอมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงกับแม่ยุคใหม่ ที่เข้าใจลูกมากขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าแม่อย่างปานรุ้ง มาเกิดในยุคนี้ แล้วมาเจอกับตัวละครลูกๆ ในยุคนี้ที่ต่างคนต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองในความเป็นจริง ลูกจะต้องเตลิดไปมากกว่านี้ ดังนั้นปานรุ้ง จึงถูกปรับคาแรคเตอร์ใหม่

เหล่าลูกๆ ตัวแทนของเด็กยุค Me Too Generation

ตัวละครที่รับบทลูกๆ ของปานรุ้ง นั้นมีอยู่ 4 คนคือ ‘ปรก’ (วราวุธ โพธิ์ยิ้ม) ‘ปานเทพ’ (ชินวุฒ อินทรคูสิน) ‘ปานวาด’ (ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ) และ ‘ปกรณ์’ (พันวา พรหมเทพ) ทุกคนถูกสร้างมิติของตัวละครลงไปใหม่หมด โดยดูจากพฤติกรรมของเด็กยุคนี้เป็นไอเดียว่าคนรุ่นนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อมั่นตัวเอง คิดเร็วทำเร็ว สมกับที่เป็นเด็กยุค Me Too Generation

ระหว่างที่ซ้อมและปรับบท คุณบอย ก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักแสดงเพื่อปรับคาแรคเตอร์ให้เข้ากับบท คุณบอยบอกว่านักแสดงรุ่นใหม่มาแชร์ไอเดียว่าควรจะทำแบบไหนเพื่อให้คนดูเชื่อว่าคุนรุ่นใหม่ หรือคนยุคนี้มีความคิดอย่างไร เมื่อคิดแล้วการกระทำพวกเขาต้องสื่อสารออกมาอย่างไร ซึ่งผู้กำกับก็ให้โอกาสนักแสดงรุ่นใหม่ปรับเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของตัวเองที่พวกเขาตีความบทบาทใหม่ได้เอง

ด้วยเหตุผลก็คือ นักแสดงรู้พฤติกรรมของวัยรุ่นดีที่สุด ไม่ใช่ผู้กำกับที่จะไปบอกว่าต้องทำแบบไหน ผู้กำกับมีหน้าที่แค่ประคองพาเขาไปให้ถึงจุดที่บทกำหนด แต่ระหว่างทางคนตีความคือนักแสดง

ความเล่นใหญ่ไม่ใช่การแสดง แต่เป็นการส่งความรู้สึก

อาจจะเคยได้ยินวลีว่า ‘เล่นใหญ่รัชดาลัย เธียเตอร์’ กันอยู่บ่อยๆ ทำให้คนที่ไม่เคยดูละครเวทีเข้าใจว่าละครเวทีต้องเล่นให้เวอร์ ดูยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วหากได้มาชมจริงๆ จะสัมผัสได้ว่านักแสดงไม่ได้เล่นใหญ่ แต่ความรู้สึกที่มันท่วมท้นแล้วนักแสดงก็ส่งออกมาให้ถึงผู้ชม

ละครเวทีแม้จะมีวิชวลสวย เสียงกระหึ่มเพื่อสื่อถึงอารมณ์ แต่ถ้าการแสดงไปไม่ถึง คนดูก็ไม่มีส่วนร่วมด้วย  การแสดงของนักแสดงละครเวทีคือการส่งความรู้สึกนั้นออกไปให้ถึงคนดูไม่ว่าจะนั่งแถวหน้าสุด หรือแถวหลังสุด สิ่งที่เห็นจึงไม่ใช่การเล่นใหญ่ แต่เป็นการส่งความรู้สึกที่ใหญ่ออกไป

สำหรับคนที่อยากไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของ ‘บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล 2019’ สามารซื้อบัตรได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ http://bit.ly/BunlangMakeMG บัตรราคา 500 บาท เริ่มแสดง 26 มิถุนายน – 21 กรกฎาคม 2019 นี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save