BTS ทวงหนี้ กทม. 8,899 ล้านบาท ค่าเดินรถไฟฟ้าสีเขียว

Writer : Bestps

: 2 กุมภาพันธ์ 2564

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเผยว่าได้ทำหนังสือส่งถึงกรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด

ระบุว่า บริษัทได้ทวงถามบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ  ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 8,899,338,642.45 บาท  ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ตามที่บริษัทเรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้บริษัทฯ มีความมั่นใจได้เลยว่า บริษัทฯจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตจากกรุงเทพธนาคมหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของกรุงเทพธนาคม ทั้งจำนวนหรือทยอยชำระภายใต้กำหนดเวลาใดและด้วยเงื่อนไขเช่นใด

ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า ทั้งกรุงเทพธนาคมและกทม.ต่างตระหนักเป็นอย่างดีมาระยะหนึ่งแล้ว หลักการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ให้กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการ  นับตั้งแต่การปิดให้บริการ การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบัน ได้อาศัยการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน  อยู่ที่ 15 บาท สำหรับการใช้บริการ ตลอดส่วนต่อขยายที่ 1 และไม่เรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน  สำหรับการใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ  แต่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับจากค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนั้นและต้นทุนค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ทำให้เกิดผลขาดทุนแก่ กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่กับบริษัทได้และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงขั้นไม่สามารถให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อีกต่อไปในระยะเวลาไม่นาน  เพราะบริษัทคงไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปอีกได้

นอกจากนี้การที่กรุงเทพธนาคมและกทม.ตัดสินใจไม่เรียกเก็บค่าโดยสารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีความหวังว่าการแก้ไขปัญหาการให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ  แต่ใช้การแก้ไขสัญญาเพื่อให้การบริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนทั้งในส่วนหลัก คือ ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ถือเป็นโครงข่ายเดียวกันจนเกิดผลดีแก่ประชาชน เพราะทำให้ค่าโดยสารที่เรียกเก็บตลอดสายลดลงได้เป็นจำนวนพอสมควรและให้บริษัทเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการ ในระยะยาวแทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เอาจาก กรุงเทพธนาคม และกทม.ในร่างสัญญาการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งได้มีการเจรจาสำเร็จไปแล้ว ตั้งแต่ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (“คำสั่ง คสช.ฯ”) จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยเร็วนั้น ก็ยิ่งทำให้ กรุงเทพธนาคม และ กทม. สร้างหนี้สินกับบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่บริษัทฯบริษัทฯ ทราบจากข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่การที่บริษัทฯ ไม่ทราบเลยว่าคณะรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะพิจารณาให้แล้วเสร็จเป็นประการหนึ่งประการใดเมื่อใด ซึ่งทั้ง กรุงเทพธนาคม และ กทม. ก็ไม่สามารถที่จะให้ความกระจ่างแก่บริษัท ได้นั้น ทำให้บริษัทฯ ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ลำบากมากที่เป็นอยู่นี้ต่อเนื่องออกไปอีกบริษัทฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนประมาณกว่า 101,700 ราย และมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ

การที่ กรุงเทพธนาคม และ กทม.ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ ได้ ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวนถึงกว่า 8,899,338,642.45 บาทนั้น ย่อมจะสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทฯ รวมทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของ บริษัทฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งการที่บริษัทฯ ยินยอมตกลงตามหลักการของร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ก็เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะหยุดการที่ กรุงเทพธนาคม และ กทม. จะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบันต่อไปโดยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทฯ และแม้ว่าภายใต้ร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น บริษัทฯ จะไม่ได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนทันที แต่หากผลประกอบการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไปในระยะยาวดีขึ้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการและเป็นผู้ให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเองก็จะมีโอกาสได้หนี้ที่ค้างชำระนี้คืนได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการในการแก้ไขหนี้ที่แม้จะมีความเสี่ยงกับบริษัทฯ บ้าง แต่ก็ทำให้บริษัทฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก

ดังนั้น เมื่อไม่มีความแน่นอนการดำเนินการตามร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใด จึงไม่เป็นธรรมกับบริษัทฯ หากกรุงเทพธนาคมและ กทม. จะอาศัยการที่บริษัทฯ ไม่ต้องการให้เกิด ความเดือดร้อนแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากการหยุดให้บริการการเดินรถทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มาเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ที่ค้างให้แก่บริษัทฯ และกลับจะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไป โดยไม่มีมาตรการในการจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่และที่จะเกิดขึ้นใหม่มาทำความตกลงกับบริษัทฯ ให้ชัดเจน ตามที่พอจะอนุมานได้จากหนังสือยอมรับสภาพหนี้แต่ไม่มีข้อเสนอใดๆ ของกรุงเทพธนาคม (ตามหนังสือที่อ้างถึง 2)

ดังนั้นได้เรียนชี้แจงมาข้างต้นแล้วนั้นว่า บริษัทฯ มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของ บริษัทฯ ที่จะต้องทำการบริหารจัดการหนี้ที่ กรุงเทพธนาคมและ กทม. ค้างชำระแก่บริษัทฯ และมีแนวทางที่ชัดเจนหากมีการที่จะต้องให้มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทฯ จึงขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด คือหนี้ค่าจ้างค้างชำระถึงวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768,979,836.13 บาท ภายใน 60 วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญาของบริษัทฯ เอากับ กรุงเทพธนาคม และ กทม.ต่อไป

ที่มา ฐาน เศรษฐกิจ

Writer Profile : Bestps
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

สรุปผลโหวต 7 มติแก้รัฐธรรมนูญ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save