จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การดำเนินชีวิตที่เคยมีมาตลอดเปลี่ยนอย่างฉับพลัน เมื่อการเดินไปซื้อของหน้าปากซอยต้องเตรียมตัวมากกว่าที่เคย แผนที่เที่ยวถูกพับไปอย่างไร้กำหนด ในวันที่แอลกฮอล์ล้างมือสำคัญกว่าลิปสติก โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเราด้วยคำว่า New Normal แต่ถึงแม้จะต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน การทำงานก็ยังต้องดำเนินต่อไป ครึ่งปีแรกของ 2020 จึงเกิดการ Prototype หรือทดลองทำงาน(แบบจริงจัง)จากที่บ้านกันถ้วนหน้า เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคของการทำงานจากที่บ้านอย่างแท้จริง (Work From Home Era) เกิดเป็นการประชุม นัดพบลูกค้า คิด เขียน แก้แบบ หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นห่างจากเตียงนอนของเพียงคุณไม่กี่เมตร และเมื่อสถานที่เปลี่ยน รูปแบบการทำงานเปลี่ยน ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อการทำงานที่เหมาะสมมากขึ้น บางเจ้าต้องลดทอนบางส่วนของตัวเองเพื่อรักษาส่วนสำคัญ ขณะที่บางเจ้าก็ได้พัฒนาขีดความสามารถของคนในบริษัทมากขึ้น ซึ่ง New Normal หรือความปกติใหม่ในมุมมองการทำงานจากที่บ้านแบบใหม่นั้น Mango Zero ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง และโอกาสที่เป็นไปได้ในความเห็นของพวกเรา ทั้งรูปแบบชั่วคราวและถาวร ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน เมื่อออฟฟิศแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ Social Distancing ก่อนที่โควิดจะระบาด บริษัทรุ่นใหม่ หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงานเป็นคนรุ่นใหม่ ต่างก็มีวิธีคิดในการออกแบบออฟฟิศที่เน้นพื้นที่ส่วนกลาง ไม่มีคอกกั้น ทุกคนทำงานได้อย่างเสรี นั่งทำงานที่ไหนก็ได้ กระทั่งโควิด 19 มาถึง และเราต้องใส่ใจกันเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และระยะห่างทางสังคมที่มากขึ้น นั่นทำให้ออฟฟิศแบบ Open Space ในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ในหลายประเทศที่เกิดการระบาดอย่างเช่นจีน เกาหลี ออสเตรเลีย อิตาลี หรือญี่ปุ่น ที่เกิดการระบาดของไวรัสนี้ และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งต่างก็ต้องปรับผังออฟฟิสกันยกใหญ่ และมองถึงการปรับออฟฟิศในอนาคตให้สอดคล้องในเรื่องของ ความสะดวกในการทำงานที่ทุกคนพร้อมจะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ทันที การเว้นระยะห่างทางสังคม และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดการสัมผัสกันมากขึ้น หลายเว็บไซต์จากต่างประเทศได้พูดถึงวิถีชีวิตและการปรับตัวของออฟฟิศยุคใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของโควิดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อมูลการเปลี่ยนของออฟฟิศที่ตรงกันได้คือ การเว้นระยะห่างภายในออฟฟิศ เว้นพื้นที่กันให้มากขึ้นเพื่อลดการสัมผัสกันโดยไม่จำเป็น อุปกรณ์ที่ต้องจับร่วมกันเป็นประตู หรือลูกบิดจะได้รับการทำความสะอาดบ่อยขึ้น ตรวจวัดอุณหภูมิและเช็คสุขภาพของพนักงาน ใครที่ไข้สูงเกิน 37.5 จะถูกเชิญให้กลับไปทำงานที่บ้าน เปลี่ยนออฟฟิศเป็นรูปแบบปิด มีฉากกั้นเหมือนกันออฟฟิศยุคเก่า เปิดพื้นที่ส่วนกลางให้กว้างขึ้น เช่นทางเดิน หรือประตู กว้างขึ้นเพื่อง่ายในการสัญจรในออฟฟิศ มีเครื่องหมายเตือนให้เว้นระยะห่างในจุดเสี่ยง หรือพื้นที่ส่วนกลาง เช่นลิฟต์ ครัว ประตูทางเข้าออก ลดการทำกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้ระบบหมุนเวียนอากาศภายในปลอดโปร่ง มีการทำความสะอาดทุก 3 ชั่วโมง (แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบริษัท) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้ลดการสัมผัสกัน เช่นการลดการใช้เอกสารกระดาษ โดยรวมแล้วสิ่งที่ออฟฟิศเริ่มคิดและเปลี่ยนกันนั้น เป้าหมายและจุดประสงค์ตรงกันคือ ลดการใกล้ชิดกัน แต่ยังคงทำงานได้ร่วมกันได้เหมือนเดิม ที่น่าสนใจกว่าการออกแบบออฟฟิศคือ บางบริษัทอาจจะไม่มีออฟฟิศจริงจัง หรือลดขนาดของออฟฟิศลงแล้วให้พนักงานทำงานที่บ้านแทน เนื่องจากหลายบริษัทก็ให้ความสำคัญกับการทำงานที่บ้านของพนักงานมากกว่า ตัวอย่างเช่นทวิตเตอร์ที่เพิ่งประกาศไปว่าอนุญาตให้พนักงานทั้ง 35 สาขาทั่วโลกทำงานที่บ้านไปตลอด และจะเข้าออฟฟิศได้ก็เจอเมื่อจำเป็น ไม่ใช่ว่าจบโควิดแล้วทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมเนื่องจากทุกคนพิสูจน์แล้วว่าอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ทวิตเตอร์หมายความว่า ‘ตลอดไป’ นั่นหมายถึงสำหรับทวิตเตอร์เขามองว่าออฟฟิศ อาจไม่ใช้พื้นที่ทำงานอีกต่อไป อาจจะเป็นแค่สถานที่คุยงานเท่านั้น และแน่นอนว่าบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งก็อาจจะเดินเลยตามทวิตเตอร์ ในส่วนของ Matthew Prince CEO ของ Cloudflare ที่แสดงทัศนะว่าหลายบริษัทจะเริ่มให้อิสระในการทำงานกับพนักงานมากกว่าในอดีต รวมถึงให้อิสระว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิสเพื่อทำงานก็ได้ ซึ่งก็ทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าออฟฟิศได้เช่นกัน ถ้าอย่างนั้นอนาคตจากนี้ไปออฟฟิศสำหรับคนทำงาน มีไว้เพื่ออะไร? วิบากกรรมของมนุษย์เงินเดือนหลังโควิด เสี่ยงตกงาน และรายได้ไม่เท่าเดิม โควิดทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก สถิตล่าสุดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ระบุว่ามีคนตกงานทั่วโลก 195 ล้านคน ส่วนอีก 3,300 ล้านคน ได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (เช่นลดเงินเดือน, ลดวันทำงาน, ให้หยุดงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง) หลังจากที่เกิดการล็อคดาวน์ นับว่าเป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับคนทำงานนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการว่างงานจะเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง Guy Ryder ผู้อำนวยการ ILO บอกว่าอยู่กับครึ่งปีหลังสองปัจจัยนี้จะเป็นอย่างไรระหว่าง เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน และ มาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อภาคธุรกิจ ในส่วนของอาชีพที่มีความเสี่ยงแน่ๆ เพราะวิกฤติโควิด อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนมาป้องกันก็คือ อาชีพเกี่ยวข้องกับการค้าปลีก (พนักงานห้าง พนักงานขาย ฯลฯ) อาชีพเกี่ยวกับการบริการ (งานโรงแรม ร้านอาหาร) อาชีพเกี่ยวกับการผลิตที่มีความเสี่ยงเชิงลบต่อสภาพเศรษฐกิจ หรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (พนักงานโรงงานผลิตรถยนต์, อุปกรณ์ไอที, อุปกรณ์ไฟฟ้า) อาชีพเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง (ผู้รับเหมา, คนงานก่อสร้าง, พนักงานขายบ้านและคอนโด หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง) อาชีพเกี่ยวกับการเดินทาง (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, กัปตันเครื่องบิน ) อาชีพเกี่ยวกับวงการบันเทิงหรือความบันเทิง (กองถ่ายหนัง, นักดนตรี, นักแสดง,) อาชีพเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร ในส่วนของเมืองไทยมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนที่ตกงานราว 7.13 ล้านคนภายในมิถุนายน จากจำนวนแรงงานในประกันสังคมทั้งหมด 38 ล้านคน ซึ่งเป็นการประเมินของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งอาชีพที่ตกงานหรือเสี่ยงตกงานหลังจากนี้ได้แก่ พนักงานศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน ร้านอาหาร 2.5 แสนคน สิ่งทอ 2 แสนคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน ธุรกิจบันเทิง 6 หมื่นคน สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน ส่วนอาชีพที่เสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบจากนี้ก็ตรงกับที่ ILO ประเมินไว้ทั้ง สายยานยนต์ และ สายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทว่าอาชีพที่ได้รับความนิยม และมีโอกาสเติบโตมากที่สุดในช่วงวิกฤติโควิดก็คือ ‘เกษตรกร’ เพราะอาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษยชาติ และนี่อาจจะเป็นโอกาสที่สร้างการเติบโต และสร้างงานให้คนที่กำลังมองหาโอกาสในวิกฤติก็ได้ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือตอนนี้ลูกจ้างหลายคนถูกลดเงินเดือนลง ซึ่งมีทั้งชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น กับลดเงินเดือนแบบถาวร มีโอกาสสูงเช่นกันที่โครงสร้างของเงินเดือนในหลายอุตสาหกรรมที่เคยฟู่ฟ่ารุ่งเรือง อย่างเช่น เอเจนซีโฆษณา หรือพนักงานฝั่งอสังหาริมทรัพย์ จะถูกปรับโครงสร้างเงินเดือนน้อยลงกว่าในอดีตเพื่อสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจก็เป็นได้ ที่ผ่านมาเมืองไทยเคยมีสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการขอลดเงินเดือนพนักงานในเกือบทุกบริษัทมาแล้วเมื่อปี 2540 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็ใช้เวลากว่า 2 ปีสถานการณ์ถึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้นครั้งนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่า…เรื่องลดเงินเดือนอาจไม่ได้จบแค่ภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปีนี่สิ ถ้าอย่างนั้นเตรียมรับมือกับพายุรายจ่ายที่ถาโถมไว้หรือยัง? Work From Home Era เมื่อพื้นที่ทำงานและพักผ่อน ต้องอยู่ในที่เดียวกัน เพราะการกักตัวมักไม่เลือกอาชีพ เมื่อต้อง Quarantone องค์กรทุกภาคส่วนจึงต้องปรับตัวในการ Work From Home กันถ้วนหน้า หากเป็นพนักงานออฟฟิศ มาดูกันว่าในยุคที่ต้อง Work From Home มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง เปลี่ยนการสแกนนิ้ว เป็น Morning Con-Call หรือ Check-in ในแอปฯ ไม่ต้องกลัวรถติดแล้วสแกนนิ้วเกินเวลา ขอแค่ตื่นเพื่อเข้าร่วม Morning Con-Call ให้ทันก็พอ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมักได้ยินเสียงเพื่อนร่วมงานแหบสเน่ห์กว่าที่เคย (เพราะเพิ่งตื่น) ยิ่งถ้าประชุมอยู่แล้วเจ้านายขอเปิดกล้องกระทันหัน เรียกได้ว่าตื่นเต้นกันแต่เช้าเลยทีเดียว ในกรณีที่บางบริษัทเก็บข้อมูลการเข้าทำงานด้วยการเช็คอินในแอปพลิเคชันเฉพาะ ก็ดีหน่อยเพราะไม่ต้องเปิดหน้า แต่บางเจ้าก็มีตรวจเข้าทำงานในแอปพลิเคชันอินเทอร์นอลให้รู้สึกอึดอัดกันอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็ชิน ปัจจัยที่ห้า คือสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากเป็นเมื่อก่อน คุยงานแต่ละครั้งก็แค่เรียกเข้าห้องประชุมแล้วแจกแจงงานก็แยกย้ายไปทำงานต่อได้ แต่เมื่อต้อง Work From Home การนัดคุยงานหรือประชุมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต้องผ่านทาง Conference Call (หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า Con-Call) เท่านั้น ทีนี้ความยากก็ไม่ใช่แค่การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ แต่ยังรวมไปถึงตัวกลางในการสื่อสารอย่าง “สัญญาณอินเทอร์เน็ต” อีกด้วย บางครั้งประชุมในเรื่องยากๆ ยังไม่พอ ระหว่างคุยดันเกิดเสียงกระตุก เสียงหายตอนอีกฝ่ายกำลังพูดคำสำคัญ หรือภาพไม่มา แต่เสียงนำหน้าไป 15 วินาทีแล้วก็มี ยังไม่รวมถึงการส่งไฟล์ที่ต้องเผื่อเวลาส่งอีกสิบนาที ไม่อย่างนั้นอาจเกินเดดไลน์ที่กำหนดไว้อีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สำคัญมากสำหรับการ Work From Home เลยทีเดียว ใกล้ที่ทำงานมากกว่าเดิม “ใกล้..เกินกว่าที่จะพูดคำใดๆ ออกไป” หลายคนคิดว่า เมื่อ Work From Home นั้นดี เมื่อที่ทำงานและบ้านคือที่เดียวกัน! อาจฟังดูเหมือนสะดวกสบายและประหยัดค่าเดินทาง แต่ความจริงแล้ว ก็ต้องแลกมากับความเบื่อที่ต้องอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ ด้วยเช่นกัน ลองจินตนาการถึงทุกเช้าที่ตื่นมา ก้าวออกจากเตียง เดินเพียงสองสามก้าวก็ถึงที่ทำงาน คุณเริ่มรู้สึกหดหู่ เพราะเป็นที่เดียวกับที่คุณถกเถียงกับลูกค้าตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่งทำงานได้สักพัก ก็ลุกไปกินข้าวกลางวันที่ห้องกินข้าว (ซึ่งอยู่ห่างจากห้องทำงานไม่เกินห้าก้าว) ก่อนจะกลับมาทำงานจนถึงเวลาเลิก อาบน้ำ แล้วเข้าห้องนอน ซึ่งหากคุณไม่ได้ออกกำลังกายเลย แปลว่าหนึ่งวันเราอาจเดินไม่ถึง 500 เมตรด้วยซ้ำ! หากเป็นแบบนี้บ่อยๆ อาจเครียดโดยไม่รู้ตัว และทำห้สุขภาพแย่ทั้งกายและใจได้ วิธีการแก้คือ ลองเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานบ่อยๆ วันนี้ตื่นมาก็ทำบนเตียงเลย (เหมาะสำหรับวันที่งานน้อยมากๆ) วันต่อมาอาจเปลี่ยนไปนั่งที่สวนหน้าบ้าน หรือห้องนั่งเล่นบ้างก็ได้ ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายทดแทนที่นั่งทำงานนานๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นกล้ามเนื้ออาจฝ่อโดยไม่รู้ตัวได้ บริหารเวลาผิดชีวิตเปลี่ยน นอกจากจะต้องอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ ตลอดเวลาแล้ว อีกหนึ่งสื่งที่ต้องปรับตัวและท้าทายความมีวินัยของเราอย่างมาก นั่นคือ “การบริหารเวลา” เมื่อสถานที่ทำงาน และสถานที่พักผ่อนคือที่เดียวกัน จะทำอย่างไรให้งานเสร็จโดยที่เราไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่น หรือบางครั้งก็ต้องเจอกับเจ้านายไม่เข้าใจ เพราะรู้ว่าคุณต้องอยู่กับงานตลอดเวลา กลายเป็นทักมาคุยเรื่องงานโดยไม่สนใจเวลา และนั่นอาจหมายถึงสี่ทุ่ม หรือแม้แต่วันอาทิตย์เช้าก็ตาม ดังนั้นต้องตั้งเวลาในการทำงานอย่างเข้มงวด จัดการงานทุกอย่างให้เสร็จภายในเวลาทำงาน ไม่ทำอย่างอื่นแม้จะใช้เวลาเพียงไม่นาน หรือไม่ทำงานแบบสะเปะสะปะ เพราะนั่นจะทำให้เราเคยตัวกับการใช้ชีวิตแบบเบลอๆ รวมไปถึงการตกลงกับเจ้านายถึงช่วงเวลาการทำงานที่ชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันทั้งสองฝ่ายนั่นเอง เมื่อต้อง Work From Home กันทั่วโลก วิธีการทำงานก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว Work from home ส่งผลให้เปลี่ยนวิธีการทำงานกันใหม่ในหลายองค์กรอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว จากอดีตที่เราเน้นการทำงานแบบ Physical office ที่ทำงานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมพนักงานไว้ในตึกจำนวนมาก ๆ แต่พอเจอโควิด-19 เข้าไป รูปแบบการทำงานจึงกลายเป็น Virtual office แทน เราเริ่มคุ้นเคยกับวิธีทำงานแบบที่ทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้ามานั่งแออัดกันในห้องประชุม แต่สามารถคุยกันผ่านแพลตฟอร์มประชุมทางไกล (Video Conference) วิธีการประชุมก็เปลี่ยนไป มี Agenda และบทสรุปชัดเจนขึ้น เพื่อให้ทุกคนนำไปทำงานต่อกันได้ครบถ้วน ส่วนงานเอกสารที่ปกติบางที่ต้องพิมพ์งานออกมาส่งเป็นแผ่น ๆ ก็มีแพลตฟอร์มทำเอกสารออนไลน์เข้ามาช่วยให้ทำงานร่วมกันได้แบบเรียลไทม์ มีการใช้แพลตฟอร์มช่วยในการแชร์ไฟล์งานร่วมกันอย่าง One Drive, Google Drive, Dropbox หรือ icloud ฝั่งบริหารเองก็มีแอพลิเคชั่นที่เข้ามาช่วยในการบริหารโครงการ วางแผนงานและติดตามงานลูกน้องให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ได้ผ่าน Asana, Trello, Basecamp หรือ Origami CRM ที่เป็นที่นิยม รวมถึงเริ่มมีระบบ ERP สำหรับใช้เข้าถึงข้อมูลฝั่งบัญชีและการเซ็นเอกสารให้ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดต่างก็เข้ามาช่วยให้การทำงานต้องทุกคนมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใยบางองค์กรนี่อาจไม่ใช่เป็นเพียงกลยุทธ์รับมือโควิด-19 เท่านั้น แต่อาจเป็น New Normal หรืออีกหนึ่ง Future Trend Work Lifestyle ในอนาคตก็เป็นได้ การวัดผลการทำงานเองก็เปลี่ยนจากวัดเวลาเดินทางมาเข้างานที่ออฟฟิศ เป็นวัดจากประสิทธิภาพของผลงานมากขึ้น เห็นได้จากบริษัททวิตเตอร์เอง ก็ไฟเขียวให้พนักงานยังคงทำงาน work from home กันต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด แม้ว่าโควิด-19 จะหายไปแล้วก็ตาม และยังมีอีกหลายบริษัทในต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะ work from home กันต่อเรื่อย ๆ เช่นกัน ที่มา : brandinside, manager online ปฏิวัติระบบการศึกษาสู่การเรียน – การสอบบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ แม้ว่าระบบการเรียนแบบ E-Learning จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทั่วโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นจุดกระตุ้นให้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาต้องปรับรูปแบบ เมื่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดในระหว่างภาคเรียน แต่การเรียนการสอนยังต้องดำเนินไป หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยจึงต้องปรับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในทันที การเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นวิถีปกติที่หลายโรงเรียนเริ่มคุ้นเคยกันแล้ว แต่การต้องปรับรูปแบบมาเรียนออนไลน์ในทันที โดยไม่ได้มีเวลาวางแผนล่วงหน้าย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ อาจทำให้ได้เห็นความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาได้ชัดเจนขึ้น บางสถาบันก็สามารถปรับตัวเริ่มเรียนออนไลน์ในได้ทันที รวมไปถึงมีการวางแผนจัดสอบออนไลน์ได้ด้วย ขณะที่บางสถาบันก็ไม่สามารถส่งเสริมการเรียนได้เต็มที่ ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์สำหรับใช้เรียนออนไลน์ รัฐบาลไทยเองก็เริ่มมีการจัดช่องทีวีดิจิตอลเพื่อการศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงของเด็ก ๆ ในการเดินทางที่อาจต้องพบเจอผู้คน หรืออยู่รวมกันเป็นหมู่มากถ้าต้องมาโรงเรียน และแก้ปัญหาสำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่นี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับรูปแบบการเรียน ภาคการศึกษาจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูก Disrupt จากวิกฤติโควิด ฉะนั้นนี่คือโจทย์สำคัญสำหรับภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ที่จะต้องมีแผนปรับแนวคิดบริหารระบบการศึกษาใหม่ โดยต้องคำนึงถึงแนวทางการแก้ปัญหาเมื่อต้องเจอกับวิกฤตในคราวหน้า จะทำอย่างไรเพื่อให้ในเด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาได้เต็มที่ รวมไปถึงภาคธุรกิจที่ในอนาคตเราคงเห็นเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เหมาะสมมากขึ้น สำหรับนักเรียนในทุกชั้นเรียน ตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงปริญญาตรี รูปแบบการเรียนการสอนก็มีความต้องการปฎิสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียนที่แตกต่างกันไป ที่มา : brandinside, thanachart เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป พนักงานคนเดิม จึงต้องเพิ่มสกิลให้ตัวเอง เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ลดการพบเจอกัน รูปแบบการทำงานก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับเหล่าคนทำงานที่ต้องปรับตัวเช่นกัน แม้จะอยู่บ้าน แต่งานต้องดำเนินต่อไป และต้องได้คุณภาพด้วย พนักงานจึงต้องมีทักษะในการทำงานและสื่อสารออนไลน์มากขึ้น พนักงานในหลายองค์กรอาจจะยังไม่ชิน ก็ทำงานแบบมีอะไรก็เดินไปคุยได้เลยมาตั้งนาน อยู่ๆ จะต้องมาทำงานผ่านสื่อกลางอย่างอินเทอร์เน็ต ทั้งพูดคุย ส่งไฟล์ ไปจนถึงประชุม การทำงานแบบออนไลน์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เราแค่ไม่คุ้นชิน ซึ่งจริงๆ แล้วมีเทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยให้เราทำงานได้ง่าย แถมยังมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องออกไปไหนเลย เพียงแต่เราต้องฝึกฝน ไม่ใช่แค่ใช้ในช่วงนี้ แต่ถ้ามีทักษะเหล่านี้ติดตัวแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์ไหนก็ขัดขวางการทำงานของเราไม่ได้ ทักษะการใช้แอปพลิเคชันประชุมออนไลน์ มีให้เลือกมากมายเช่น Zoom, Google Hangout, Skype, Line เลือกใช้ได้ตามรูปแบบขององค์กรและการประชุม วิธีใช้งานก็ง่าย แทบไม่ต่างจากการโทรหาใครต่อใครในชีวิตประจำวันเลย ทักษะการส่งงานออนไลน์ จากเดิมที่ยังใช้การส่งงานแบบเป็นเอกสาร ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากอีเมล์แล้วยังมีตัวช่วยอื่นๆ มากมาย เช่น Google Drive ที่ไม่ใช่แค่ส่งงาน อัปโหลดไฟล์ แต่ผู้ใช้ยังสามารถพิมพ์งานพร้อมกันได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องมาเจอกัน ทักษะการ ไลฟ์-สตรีมมิ่ง หรือการถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ ความเจ๋งคือแค่มีโทรศัพท์ก็ทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สร้างคอนเทนต์หรือรายการขึ้นมาได้ แบบไม่ต้องมีกองโปรดักชั่นใหญ่โตเลย ซึ่งออนไลน์แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ก็มีฟีเจอร์นี้กันแล้ว ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดสดแบบเชิญคนอื่นมาร่วมด้วยได้ โดยใช้โปรแกรมเป็นตัวช่วย อย่าง OBS เพียงแค่ศึกษาวิธีใช้งานสั้นๆ ง่ายๆ ก็สามารถสร้างรายการได้ แม้จะอยู่กันคนละที่ก็ตาม ทักษะการทำการตลาดออนไลน์ เพราะการซื้อขายไม่จำกัดสถานที่อีกต่อไป ยิ่งช่วงที่คนออกไปซื้อ-ขายของได้น้อยลง แต่การช้อปปิ้งมันอยู่ในสายเลือด ร้านค้าออนไลน์จึงได้รับความนิยมมากขึ้น สังเกตได้จากคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่สมาชิกต่างออกมารับบทเป็นทั้งคนขายและคนซื้อกันเพียบ ตั้งแต่ของกิน ของใช้ ไปจนถึงที่อยู่อาศัยก็มี สรุปอาชีพสุดร่วงหลังโควิด ยังจำกันได้ไหมการปิดเมืองหรือการล็อกดาวน์ในวันนั้นส่งผลกระทบอะไรบ้าง สิ่งหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักเลยก็คือ อาชีพหลากหลายอาชีพต้องได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลง หรือแม้กระทั่งบางอาชีพต้องถูกไล่ออก ซึ่งอาชีพเหล่านี้ก็คือ พนักงานในสถานบริการ : เนื่องจากได้รับผลกระทบผลกระทบจากการสั่งปิดสถานบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, สปา, ร้านนวด เป็นต้น ทำให้ทำงานสายอาชีพนี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น : การประกาศเคอร์ฟิวทำให้การรายได้ที่ได้จากการค้าของลดลง ช่างตัดผม : เพราะได้รับผลกระทบจากแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทำให้ผู้คนไม่กล้าที่จะตัดผม หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่น เซลส์แมน : เนื่องจากรายได้ที่ลดลง และมีการสนับสนุนให้ทำงานในรูปแบบของ Work from home มากขึ้น ทำให้โอกาศในการพบกับลูกค้าลดน้อยลง มัคคุเทศก์ : การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก ผู้คนไม่กล้าเดินทาง ทำให้อาชีพนี้มีความเสี่ยงสูงในการตกงาน คนขับรถแท๊กซี่ / วินมอเตอร์ไซค์ : คนออกจากบ้านน้อยลง มีการทำงานแบบ Work from home มากขึ้น และผู้คนเริ่มไม่อยากใช้การขนส่งร่วมกับผู้อื่น ทำให้คนขับรถแท๊กซี่หรือวินมอเตอร์ไซต์มีรายได้ลดลง คนทำงานกองถ่าย : การประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ทำให้การถ่ายทำเป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนคนทำงานซึ่งอาจส่งผลกระทบตอนอาชีพของคนทำงานกองถ่ายในระยะยาว นักร้องนักดนตรี : เนื่องจากสถานบันเทิงและอีเวนต์ปิด ทำให้ไม่สามารถหารายได้จากการแสดงหรือขึนโชว์ได้ พนักงานสายการบิน : เพราะการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก สายการบินต้องลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานสายการบินถูกลดเงินเดือนหรือมีความเสี่ยงในการถูกไล่ออกจากงาน สรุปอาชีพสุดรุ่งหลังโควิด แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้หลาย ๆ อาชีพต้องได้รับผลกระทบ แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสที่ทำให้หลาย ๆ อาชีพกลายเป็นอาชีพสุดรุ่งหลังโควิดซึ่งก็คือ อาชีพด้านสุขอนามัย : เพราะการเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ธุรด้านการผลิตหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขอนามัยจึงมีความต้องการมากขึ้น อาชีพด้าน Online Delivery : การที่ต้องทำงานอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้อาชีพด้านการขนส่งอาหารแบบ Online Delivery แบบที่ต้องการมากขึ้นและรายได้เองก็เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย อาชีพด้านประกันชีวิต : หลังจากมีการระบาดของเชื้อไวรัส อาชีพด้านการขายประกันชีวิตก็รุ่งขึ้น เพราะผู้คนสนใจในการซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง และในอนาคตเองอาชีพด้านประกันชีวิตน่าสนใจมากยิ่งคน เพราะผู้คนเริ่มตระหนักถึงสุขภาพของตัวเองมากกว่าเก่า อาชีพด้าน Streaming : การที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้อาชีพด้านการ Streaming เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะการทำ Video Streaming ถือว่าเป็นการให้ความบันเทิงแก่ผู้คนไม่กี่อย่างที่คนสามารถทำได้ในช่วงกักตัว อาชีพด้านสุขภาพ : หลังจากที่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจปัญหาด้านสุขภาพกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วอาชีพด้านสุขภาพจะแรงหลังจากการระบาดลดลง ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น อาชีพเกี่ยวกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค : อาชีพด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคถือเป็นอาชีพที่มั่นคงในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพราะผู้คนต้องการบริโภคสินค้า หรือกักตุนสินค้าในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพราะฉะนั้นแล้วอาชีพการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจึงถือได้ว่าเป็นอาชีพที่สำคัญเช่นเดียวกัน อาชีพขายของออนไลน์ : เนื่องจากการกักตัว ทำให้ผู้คนไม่สามารถไปซื้อสินค้าได้ตามปกติ การซื้อของออนไลน์จึงได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้อาชีพด้านการขายของออนไลน์มีรายได้มากขึ้นนั่นเอง