ของหวาน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว ในแต่ละวัน แต่ละมื้อ จะต้องเติมของหวาน ด้วยการหาขนม ชานม ไอศครีม รับประทาน เข้าร่างกายสักหน่อย แต่ก็อาจะตามมาด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับพลังงานมากเกินไป ครั้นจะไม่กิน งด ละ เลิก ก็ทำไม่ได้เพราะเป็นความสุขเล็ก ๆ ของชีวิต วันนี้แมงโก้เลยจะพาไปดูกันว่า ถ้าเราจะกินของหวานทั้งทีแล้ว ควรจะกินตอนไหนดีให้อ้วนน้อยที่สุด หรือ ไม่ให้ได้รับพลังงานที่มากเกินไป ระหว่าง กินก่อนมื้ออาหาร หรือ หลังมื้ออาหาร โดยปกติแล้วหลาย ๆ คนคงจะคุ้นชินกับการกินของหวานหลังมื้ออาหารอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะกินอาหารในมื้อนั้นจนอิ่มแล้วก็ตาม ก็ยังรู้สึกอยากกินของหวานตบท้ายเพิ่มอยู่ดี โดยนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อเรากินอาหารที่มีรสชาติคาวไปสักพัก เซนเซอร์ในสมองเราจะเริ่มรู้สึกเบื่อกับรสชาติคาว จึงสั่งการให้เราอิ่ม แต่เมื่อเราเห็นหรือนึกถึงของหวานซึ่งเป็นรสชาติที่แตกต่างออกไป เซนเซอร์ในสมองจะปิดความรู้สึกอิ่ม ทำให้เรากินของหวานได้เพิ่มอีก นำมาซึ่งพลังงานที่มากเกินไป กลับกัน การกินของหวานก่อนมื้ออาหารจะช่วยให้เราอ้วนน้อยกว่า หรือลดน้ำหนักได้ในบางรายอีกด้วย โดยงานวิจัยใน Journal of Experimental Psychology: Applied พบว่า คนส่วนใหญ่เมื่อเลือกรับประทานอะไรที่ตนเองรับรู้อยู่แล้วว่ามีแคลอรี่สูงไปแล้ว ก็จะเลือกของที่มีแคลอรี่ต่ำลงในมื้อเดียวกัน โดยในการทดลองนี้ได้ทำการศึกษาจากเจ้าหน้าที่ คณะอาจารย์ และนักศึกษา รวม 134 คน ที่รับประทานอาหารกลางวันในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โดยมีตัวเลือกของอาหารคาว และของหวานที่หลากหลาย ปรากฏว่า 70% ของคนที่เลือกรับประทานของหวานอย่าง ชีสเค้ก ก่อน มีแนวโน้มว่าจะเลือกอาหารจานหลักที่แคลอรี่ต่ำ (อกไก่และสลัด แทนที่จะเป็นปลาทอดและเฟรนช์ฟราย) นอกจากนี้การกินของหวานก่อนอาหารจะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคลายเครียด ชื่อ ซีโรโทนีน ออกมา ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และหิวน้อยลงอีกด้วย