ว่าด้วยเรื่องเกลือ เกลือ.. ก่อนเคยมีค่ากว่าทองคำ สู่ความเจ็บช้ำของชาวกาชา

Writer : bobbidi boo

: 14 มีนาคม 2566

เกลือ คืออะไร ผิดหวัง เสียใจ ทำไมต้องเกลือ ?

รู้หรือไม่!? “เกลือสารปรุงรสเม็ดจิ๋วคู่ครัวเคียงน้ำตาล หรือความเค็มปนขมติดใจยามกดกาชา เป็นเรื่องราวยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิด 

นับตั้งแต่ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 8,000 ปีก่อนที่มนุษย์นำเกลือมาใช้เกลือก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต ผูกพันอยู่กับชีวิต ทั้งเรื่องอาหารการกิน ไปจนกระทั่งถึงเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างน่าอัศจรรย์

มาย้อนชมวิวัฒนการถอยหลังของคำว่าเกลือตั้งแต่วันที่หายากดั่งทองในเหมือง จนเทคโนโลยีก้าวหน้า กลับกลายเป็นคำเปรียบเปรยสถานการณ์ผิดหวัง หัวร้อน ชอกช้ำระกำใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวกาชาสายสุ่มทุกผู้ทุกคน

หล่อเลี้ยงชีวิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  

ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณชาวอียิปต์ใช้ประโยชน์จากเกลือมากมาย เช่น การทำอาหาร การถนอมอาหาร เก็บเสบียง การทำยารักษาโรค ใช้ทำความสะอาดแทนผงซักฟอก ยาสีฟัน แม้กระทั่งเรื่องความเชื่อทางศาสนาอย่างการทำมัมมี่ ก็จำเป็นจะต้องใช้เกลือจำนวนมากในการล้างทำความสะอาด และรักษาสภาพของศพ

เกลือ = เงินเดือน !? 

ช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวกรีกนิยมใช้เกลือแลกทาส โดยทาสที่มีร่างกายแข็งแรงกำยำใช้งานได้ดีก็ต้องใช้เกลือปริมาณมากแลกมา ส่วนทาสซูบผอมก็ใช้เกลือปริมาณน้อยกว่า เป็นที่มาของสำนวน worth his salt หมายถึงว่าคุ้มค่าเกลือที่เสียไป

ต่อเนื่องมาในสมัยโรมันทหารในกองทัพจะได้รับเกลือเป็นเบี้ยเลี้ยงรายเดือน บ้างก็ว่าให้เป็นเงินนำไปซื้อเป็นเกลืออีกที แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่ว่าเกลือเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆในสมัยนั้น

สันนิษฐานว่า Salary (เงินเดือน) มีรากศัพท์มาจากคำว่า Salarium ที่มาจากคำว่า Sal ที่แปลว่าเกลือในภาษาละตินนี่แหละ

อำนาจชนวนสงครามและต้นเหตุแห่งสันติภาพ 

ด้วยความมีค่าของเกลือทำให้ในยุคหนึ่ง เกลือมีบทบาทในระดับชาติ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง เป็นชนวนสงครามและเป็นจุดเริ่มต้นสู่เสรีภาพในบางประเทศ เช่น

สัตยาเคราะห์เกลือ หรือ Salt March ช่วงปี 1930 เกิดขึ้นจากการที่อินเดียยังอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ และเกลือถูกสงวนไว้ให้กับกิจการของอังกฤษเท่านั้น ห้ามอินเดียจำหน่าย หรือผลิตเกลือเอง ทำให้ชาวอินเดียต้องจ่ายค่าเกลือแพงกว่าปกติ

มหาตมะ คานธีจึงเริ่มออกเดินเท้าประท้วงว่าภาษีเกลือนั้นกดขี่ชาวอินเดีย ส่งผลให้ชาวอินเดียหลายร้อยคนมาเข้าร่วมกับคานธี หลังข่าวการกักขังคานธีจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ชาวอินเดียอีกนับหมื่นเข้าร่วมสัตยาเคราะห์เกลือ จนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษไปทั่วโลก กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลให้อินเดียได้รับอิสรภาพในเวลาต่อมา

ในฝรั่งเศสยังเคยมี ภาษีเกลือ กาแบลล์ (gabelle) ที่เก็บกับประชาชน ไม่ว่าจะรวยจนก็ต้องจ่ายภาษีเกลือ 1.66 เปอร์เซ็นเท่ากันหมด เมื่อต้องนำไปใช้เพื่อทำสงครามสู้รบก็ต้องเก็บภาษีมากขึ้น จนกลายเป็นรายได้หลักของราชสำนักในช่วงยุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตลอดการเก็บภาษีเกลือก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คับแค้นใจของประชาชน จนเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส รัฐสภาก็ได้ยกเลิกภาษีเกลือ และเรียกว่าเป็นภาษีชั่วร้ายแทน

สถานการณ์สุดเกลือ!

ในยุคปัจจุบันที่เกลือไม่ได้ผลิตยากเย็นขนาดนั้น หาได้ง่ายทั่วไป ใครๆ ก็มีเกลือไว้ในครอบครองได้ คำว่าเกลือ จึงกลายเป็นคำเปรียบเปรยสิ่งไร้ค่าไม่มีราคา อย่างสำนวนที่ว่าอย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือที่หมายถึงอย่าลดตัวลงไปทะเลาะเบาะแว้งหรือมีเรื่องกับสิ่งที่ต้อยต่ำกว่า

หมุนตู้กาชา กดสุ่ม item อ้าว..“เกลือ” 

ว่าง่ายๆ คือ การสุ่มได้ของที่ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ไม่เป็นที่ต้องการจนนทำให้รู้สึกหงุดหงิดคาดหวังไว้ว่าลงทุนไปจะได้ตามนี้แต่กลับได้แบบนั้นแทนรู้ตัวอีกทีก็ลงไปเป็นหมื่นซะแล้ว

หลายๆ คนคุ้นเคยกับคำว่าเกลือจากเกมเป็นอย่างแรก เช่น Granblue Fantasy เกมแกงบูดในตำนานที่ขึ้นชื่อด้านความเกลืออันดับต้นๆเมื่อได้ของที่ไม่ต้องการก็นำไปย่อยเป็นผงขาวๆที่ดูละม้ายคล้ายเกลือ

ว่ากันว่าคำว่าเกลือนั้น มีต้นตอมาจากคำว่า “Salty” แต่บ้านเรานำมาใช้ในหลากหลายแนวทางไปอีก บางคนก็ตีความว่าเกมงก ตู้งก เค็มขี้เหนียวไม่ยอมปล่อยสิ่งที่ต้องการมาง่ายๆ หรือบางทีก็เปรียบว่าเจ็บปวดเหมือนเอาเกลือมาถูแผลไปอี๊กก

เล่นเกมแล้วหัวร้อน ตะโกนว่า “Salty”  

สายเกมเมอร์ต้องเคยเห็นคำนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตามช่องแชทหรือได้ยินผ่านหู โดยคำว่า Salty เป็นคำสแลงที่หมายถึง หงุดหงิด, อารมณ์เสีย หรือว่าหัวร้อน ไม่ได้หมายถึงพลาดหวัง ผิดหวัง ไม่ได้สิ่งที่ต้องการโดยตรงอย่างที่เข้าใจกัน แต่กรณีสุ่มกาชาแล้วหวืด จะตะโกนว่า “Salty” ด้วยความโมโหกรณีนี้ก็ใช้ได้อยู่นะ

ไปงานจับมือ นี่หรือคือชิโอะไทโอ” 

ในวงการไอดอลเองก็มีศัพท์เกลือๆ ให้เห็นอยู่เหมือนกันอย่างชิโอะไทโอ” (塩対応) ชิโอะ = เกลือเมมเบอร์ที่เย็นชาหรือเซอวิสไม่เก่งในงานจับมือมักจะถามคำตอบคำ

ตรงข้ามกับคามิไทโอเทพเจ้าแห่งงานจับมือยิ้มแย้มสดใสเซอวิสเก่งคุยเก่งบ้างก็พ่วงสกิลยอดนักตกใช่ว่าความเกลือนี้จะมีแต่ข้อเสียนะเพราะเสน่ห์ความน่ารักแบบเกลือๆนี่แหละที่ชวนให้หลายคนอยากเข้าไปท้าทายอำนาจความเค็มจนโดนตกกันมานักต่อนักแล้ว

พูดกี่ทีก็เค็มเจ็บจี๊ดดด ว่าแต่ใครมีสถานการณ์เกลือๆ อะไรที่เคยเจอก็มาแชร์กันได้นะ!

อ้างอิงจาก

Writer Profile : bobbidi boo
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save