สามเดือนก่อนเราคงทราบข่าวกันดีว่าทีมงาน The Momentum ชุดเดิม นำทีมโดย เคน นครินทร์ พร้อมทั้งทีมงานทั้งหมดได้ลาออกจากบริษัทมาเปิดสำนักข่าวใหม่ ที่เราได้ยินเพียงแค่ชื่อใหม่ว่า The Standard ซึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน เว็บไซต์ The Standard ก็ได้เปิดตัวพร้อมทั้งจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการโดยคณะบรรณาธิการทั้ง 7 คน วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (โหน่ง) – Chief Executive Officer นิติพัฒน์ สุขสวย (ปิงปอง) – Managing Director นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (เคน) – Editor-in-Chief เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ (จิมมี่) – Editor-in-Chief ภูมิชาย บุญสินสุข (บิ๊กบุญ) – Editor-in-Chief วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม (ตุ๊ก) – Editor-in-Chief ยศยอด คลังสมบัติ (โจ) – Editor ส่วนสาระสำคัญในงานนี้จะมีอะไรบ้างเราสรุปมาให้แล้วดังนี้ ภายใต้คำว่า The Standard จะมีสื่ออะไรบ้าง วงศ์ทนงเล่าว่า ก่อนหน้านั้นเรามีสื่อหลายหัวในบริษัทเก่า พอก่อตั้งบริษัทใหม่ด้วยเงินทุนและจำนวนคนทำกว่า 80 คนทำให้เราออกแบบบริษัทที่พอเหมาะกับการทำงานได้คล่องขึ้น และมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น กว่าที่ผ่านมาการมีหลายแบรน์แม้จะได้รับความสนใจ มีคนจดจำ แต่โดยรวมมันค่อนข้างกระจัดกระจาย พอมาตั้งต้นทำใหม่วงศ์ทนง จึงมีความคิดว่าจะทำบริษัทแบบ One Brand One Standard หมายถึงมีหลายมีเดียภายใต้แบรนด์เดียวคือ The Standard โดยสื่อที่จะออกมาภายใต้แบนด์ The Satndard จะมีทั้งเว็บไซต์ข่าว, ฟรีก็อปปี้, พ็อคเก็ตบุ๊ค และพอดแคสต์ซึ่งเป็นสื่อน้องใหม่สุด ซึ่งทุกสื่อจะมีคอนเทนท์ที่เกื้อหนุนกัน และรับชม รับฟังได้ทุกช่องทาง ไม่ได้ยึดติดแฟลตฟอร์ม แต่อยู่ที่ว่าจะกระจายไปอย่างไรโดยทำงานร่วมกันกับทุกมีเดีย ใครเป็นนายทุน นายทุนหลักของ The Standard คือ ‘คุณวินิจ เลิศรัตนชัย’ ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับทางวงศ์ทนง และนิติพัฒน์ มาเกือบ 20 ปี โดยวงศ์ทนง เล่าว่าการเจรจาระหว่างเขากับหุ้นส่วนคนใหม่เริ่มต้นง่าย อย่างตรงไปตรงมา หลังจากตกลงร่วมกันว่าจะทำบริษัทสื่อใหม่ภายใต้การนำทีมของวงศ์ทนง เขาก็บอกว่าขอให้ทางฝั่งวงศ์ทนง ถือหุ้นเยอะสุด แม้ทางคุณวินิจ จะออกเงินมากสุดก็ตาม ดังนั้นหุ้น 100% กระจายออกเป็น 4 ทางที่เป็นผู้ถือหุ้นได้แก่ วงศ์ทนง 25% นิติพัฒน์ 20% วินิจ 45% และบริษัทเดย์อาฟเตอร์เดย์ 10% โดยบริษัทเดย์อาฟเตอร์เดย์ นั้นคือกลุ่มผู้ถือหุ้น a day เดิมที่มีจำนวน 400 คน ทางวงศ์ทนง ได้ทำจดหมายแจ้งไปแล้วว่าจะมีใครที่จะถือหุ้นกับบริษัทใหม่ต่อบ้าง ซึ่งสรุปว่ามีเพียง 10% ที่ขอถอนหุ้น นอกนั้นขอถือหุ้น The Standard ต่อ มีการยืนยันว่าไม่มีกลุ่มการเมืองมาถือหุ้นอย่างมีที่มีข่าว และเงินทุนที่มาจากทางคุณวินิจ วงศ์ทนงยืนยันว่าไม่มีกลุ่มการเมืองหรือแบรนด์ใดๆ เป็นหุ้นในเงินก้อนนั้นเด็ดขาด ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า The Standard เป็นสื่อที่ไม่โดนแทรกแซงอย่างแท้จริง บุคลิกของ The Standard จะทำเป็นแบบไหน คาแรคเตอร์ของ The Standard อาจมันไม่ได้ต่างจากเดิมเพราะก็ยังเป็นกลุ่มเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือการเล่นใหญ่มากขึ้น ในเว็บไซต์ทุกข่าวจะถูกนำเสนอภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ข่าวนี้ให้อะไร และคนอ่านได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้’ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่รอบด้าน และมองถึงคุณค่าของสิ่งที่ควรจะเป็นข่าว ซึ่งบรรณาธิการทุกคนเลือกมาให้เสพโดยมั่นใจว่าข่าวนั้นมีคุณค่า สำหรับข่าวบันเทิง ก็จะมองเรื่องที่ไกลตัวมากกว่าความบันเทิงในประเทศ แต่จะพูดถึงเรื่องบันเทิงจากต่างประเทศ โดยวิเคราะห์ข่าว มองหาแง่มุมที่เป็นประโยชน์แล้วเล่าออกมาในแบบที่สนุก มีประโยชน์ ในบรรทัดฐานของ The Standard ส่วนของฟรีก็อปปี้ จะถูกทำออกมาเป็นรายสัปดาห์ซึ่งจะเริ่มแจกในเดือนกรกฎาคม เป็นนิตยสารข่าวที่เน้นการวิเคราะห์ และให้ความรู้ จะไม่ใช้ฟรีก็อปปี้ที่อ่านแล้วทิ้ง แต่อ่านแล้วจะต้องอยากเก็บเพราะทั้งคุณภาพ และงานผลิตดีจนไม่คิดว่าเป็นของฟรี สำหรับพอดแคสต์ ถือเป็นสื่อใหม่ที่ไม่มีโมเดลในการทำธุรกิจมารองรับ แต่จะเป็นสื่อที่ใหม่ และน่าสนใจ แม้ต้องใช้เวลา แต่มั่นใจว่าไม่นานคนจะเข้าใจถึงการรับสื่อด้วยการฟังผ่านพอดแคสต์ ด้านหนังสือเล่ม หรือพ็อคเกตบุ๊ค จะเป็นหนึ่งในสื่อที่ทำต่อเนื่อง แต่กระบวนการผลิตจะมีการคิด และเน้นมากขึ้นว่าทำให้ใคร และใครคือผู้อ่าน โดยรูปแบบจะต่างจาก a book ที่ภูมิชาย เคยเป็นบรรณาธิการบริหาร The Standard จะให้อะไรแก่ประชาชน The Standard อยากเป็นสื่อที่มีคุณภาพในการให้ความรู้ ความคิด ความเข้าใจแก่ประชาชน ทุกคนทำงานสื่อภายใต้ความคิดที่ว่าพวกเราก็เป็นประชาชนส่วนหนึ่ง ทีมงานรู้ว่าประชาชนคิดอะไร อึดอัดขัดข้องใจเรื่องอะไร พวกเขาจะนำเสนอสิ่งนั้น เป็นปากเป็นเสียงของคนธรรมดาทั่วไป ถ่ายทอดชีวิต และความคิดของคนที่เขาไม่ได้รับโอกาสที่อาจขาดทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่ง The Standard จะมาทำหน้าที่ในสิ่งนั้นแทนประชาชน ตามสโลแกนของเว็บที่ว่า ‘Stand up for the People’ นั้นไม่ได้สื่อถึงนัยยะทางการเมือง แต่คำๆ นี้หมายถึงการเป็นสื่อที่ยืดหยัดกับคนอ่านหรือประชาชนในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แฟชั่น บันเทิง ท่องเที่ยว อาหาร และอื่นๆ ภายใต้การนำเสนอที่ดี มีประโยชน์ และคนอ่านได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจจากสิ่งที่นำเสนอออกไป ถึงจะโดนโจมตีว่าเป็นสื่อเลือกข้างมาก่อนตั้งแต่บ้านเก่า พอมาเปิดบ้านใหม่ก็ยังโดนโจมตีอยู่ แต่คณะบรรณาธิการยืนยันว่าข้างที่พวกเขาเลือกจะนำเสนอคือข้างที่อยู่ฝั่งประชาชนทั้งสองฝ่าย เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความเห็น และไม่จำเป็นต้องไปสนับสนุนข้างใด The Standard ไม่ได้สร้างมาตรฐานให้กับวงการสื่อ แต่คำว่า The Standard หมายถึงการสร้างมาตรฐานให้การทำงานสื่อของตัวเอง และใช้มาตรฐานนั้นในการตรวจสอบการทำงานของตัวเอง ดังนั้นถ้าจะวิจารณ์ The Standard ก็ยินดีมากๆ จะได้เห็นอะไรบ้างในปีนี้ หลังจากเว็บไซต์กรกฎาคมจะเปิดตัวแมกกาซีน แจกฟรีรายสัปดาห์ โดยสามารถหาอ่านได้ตามจุดแจกที่รถไฟฟ้าออกทุกวันจันทร์ สิงหาคม เปิดตัว PodCast ซึ่งจะมีรายการหลายแบบมาให้รับชม บาง Content ไม่สามารถเขียน หรือเล่าเป็นวิดีโอได้น่าสนใจเท่ากับการฟัง ก็จะถูกนำมาบรรจุในพอดแคสต์ มีรายการที่เป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ทั้งสารคดี รายการทำอาหาร รายการข่าว ซึ่งถ่ายทำใหม่แต่ตัดต่อใหม่เรียบเรียงใหม่เพื่อให้เหมาะกับการอ่านบนออนไลน์อยู่ในเว็บไซต์ซึ่งต้องติดตามชม พ็อคเก็ตบุ๊คยังไม่มีกำหนดที่แน่นอน แต่ภายในปีนี้จะได้เห็น ในวันที่สื่อทุกเจ้าต้องปรับตัวกันอย่างหนักเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาทางโลกออนไลน์ The Standard ก็เรียกได้ว่าเป็นสื่อยุคใหม่อีกหนึ่งเจ้าที่น่าจับตามองมากๆ เราอาจจะได้เห็นมาตรฐานใหม่การทำสื่อเร็วๆ นี้