category รู้จักกับ 12 หนัง 12 อารมณ์ที่พลาดไม่ได้ก่อนรับชมในเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง”

Writer : Hanachan

: 7 กรกฏาคม 2565

รู้จักกับ 12 หนัง 12 อารมณ์ที่พลาดไม่ได้ก่อนรับชมในเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” 

หนังกลางแปลง ถือเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในทุกวันนี้ธุรกิจหนังกลางแปลงนั้นซบเซาอย่างมากทั้งจากเศรษฐกิจและทางเลือกที่มากขึ้นของคนดู

แต่ล่าสุดเรียกว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และใช้หนังกลางแปลงเป็นพื้นที่กระจายความเท่าเทียม ให้คนทุกชนชั้นได้มาเสพศิลป์ ไม่เหมือนหนังในโรงที่จำกัดเพียงคนบางกลุ่ม

โดยล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการฯ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ (Thai Film Archive) และเบ็ตเตอร์ บางกอก (Better Bangkok) ได้จัดเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ขึ้นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากประชาชน

และก่อนจะไปชมภาพยนตร์จริงกัน วันนี้ Mango Zero เลยมาเรียกน้ำย่อยทุกคนด้วยการพารู้จักหนังแนะนำในเทศกาลแห่งเดือนกรกฎาคมที่ไม่ควรพลาด! เพื่อฉลองด้วยความบันเทิง พร้อมซึมซับความหลัง เพราะภาพยนตร์คือประวัติศาสตร์ที่คุ้มค่าต่อการเก็บเกี่ยว

2499 อันธพาลครองเมือง (2540)

ประเดิมวันแรกกับหนังสายบวกแห่งยุค “2449 อันธพาลครองเมือง” ที่นำตำนานการเขม่นกันระหว่างนักเลงหัวโจกชื่อเสียงโด่งดังในยุคก่อน อย่าง “แดง ไบเล่ย์” นักเลงแห่งฝั่งพระนคร กับ “ปุ๊ ระเบิดขวด” นักเลงแห่งฝั่งธนบุรี มาทำเป็นหนังจริง ซึ่งก็ได้พระเอกสายนุ่มมม อย่าง “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” มารับบทเป็น แดง ไบเล่ และพระเอกหนังยุคเก่าอย่าง “ต๊อก สุภกรณ์” มารับบทเป็น ปุ๊ ระเบิดขวด 

ซึ่งสถานที่จัดงานอย่าง ลานคนเมือง ก็สุดจะเข้า เหมือนเราได้ย้อนไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ เพราะตั้งอยู่ตรงเขตพระนครพอดี! โดยจะมีการพูดคุยก่อนฉายหนังกับผู้กำกับ “อุ๋ย นนทรีย์” และ “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” ที่รับบทเป็นแดง ไบเล่ ของเรานั่นเอง ใครสนใจรีบเตรียมตัวกันเลย เพราะหนังฉายวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ในงานอาจจะได้ฟังวลีเด็ด “เป็นเมียพี่ต้องอดทน!!” อีกครั้งจากพี่ติ๊กเองก็ได้นะ

วันที่ฉาย: 7 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ลานคนเมือง 

 

เวลาในขวดแก้ว (2534)

ถัดมาที่หนังปี 2534 ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาทั้งทางครอบครัว ความรัก การเรียน และสภาวะทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีการสอดแทรกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2518 เข้ามาด้วย และได้นักแสดงที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง เจี๊ยบ ปวีณา ชารีฟสกุล, แอน วาสนา พูนผล, จรัล มโนเพ็ชร และคนอื่น ๆ อีกมากมายมาร่วมแสดง

หนังเรื่องนี้การันตีความน่าดูด้วยรางวัลสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม จากวงบัตเตอร์ฟลาย รวมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 อีกด้วย

วันที่ฉาย: 8 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ลานคนเมือง 

 

แม่นาคพระโขนง (2502)

ขาดไม่ได้กับตำนานผีขึ้นหิ้งเรื่องหนึ่งของไทยอย่าง “แม่นาคพระโขนง” ที่ได้ดัดแปลงมาเป็นหนัง นิทาน บทละครร้องมากมาย แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นเวอร์ชันที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก กับบทแม่นาคที่แสดงโดย “ปรียา รุ่งเรือง” ฉายานางเอกอกเขาพระวิหาร ซึ่งความหลอนในตอนนั้นก็กวาดรายได้มาถึง 1 ล้าน นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียว 

โดยจะฉายที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งตรงข้ามกับความเก่าของหนังเรื่องนี้ อาจจะเพื่อลดความน่ากลัววว~ ระหว่างดูลง หรืออาจจะเป็นความตรงข้ามที่เข้ากัน ก็ต้องลองไปสัมผัสกันดู

วันที่ฉาย: 9 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ทรู ดิจิทัล พาร์ค (TDPK)

 

RRR (2565)

หนังสายบู๊จากอินเดียเรื่องใหม่ล่าสุด ของ 2 มหาบุรุษนักสู้ชีวิต ที่ต้องผ่าฟันปัญหาในสภาวะการอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้ครบรสทั้งความเท่ มันส์ ฉากแอคชั่นแบบจัดเต็ม และขาดไม่ได้ที่จะเหนือกฎเกณฑ์ตามสไตล์อินเดีย! นอกจากนี้เรายังจะได้เห็นนางเอกจากเรื่อง “คังคุไบ” มาร่วมแสดงในเรื่องนี้ด้วย

วันที่ฉาย: 14 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ศูนย์เยาวชนคลองเตย

 

4KINGS (2564)

หนังสายบวกอีกเรื่องแต่ทันสมัยกว่า 2499  กับชีวิต 6 นักเลงในยุค 90 ซึ่งถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของผู้กำกับ พุฒิพงษ์ นาคทอง ที่พร้อมให้ทุกคนได้รับรู้ชีวิต และเหตุแห่งเส้นทางนักสู้ของตัวละครแต่ละตัวกัน

ซึ่งมีนักแสดงนำอย่าง เป้ อารักษ์, จ๋าย ไททศมิตร, โจ๊ก อัครินทร์, ทู สิราษฎร์, ณัฏฐ์ กิจจริต, ภูมิ รังษีธนานนท์, บิ๊ก D Gerrard, และเนโกะ เนรัญชรา ที่ก่อนการฉายหนังในวันที่ 14 นี้ จะมีการพูดคุยกับผู้กำกับ และ “เป้ อารักษ์” นักแสดง/ศิลปินหนุ่มเสียงดีอีกด้วย

วันที่ฉาย: 14 กรกฎาคม 2565

สถานที่: สวนรถไฟ

 

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)

เรื่องราวของ “แผน” (รับบทโดย ต๊อก สุภกรณ์) หนุ่มต่างจังหวัดกับความรักที่มีต่อหญิงสาวและการร้องเพลง แต่กลับต้องเจอกับจุดพลิกผันเมื่อต้องไปเกณฑ์ทหาร เป็นหนังจากฝีมือผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง กับผลงานอื่น ๆ อย่าง เรื่องตลก 69 และ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล

ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ได้รับความเห็นจากคนดูหลายที่ว่า หนังได้สะท้อนปัญหาทางชนชั้น ปัญหาทางสังคม และการกระจุกตัวของความเจริญที่มีอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน จนยากจะแก้ไขได้

วันที่ฉาย: 15 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ศูนย์เยาวชนคลองเตย

 

หมานคร (2547)

นี่ไม่ใช่ “มหานคร” แต่เป็น “หมานคร” !! เรื่องราวของหนุ่มต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในโรงงานปลากระป๋องที่กรุงเทพฯ แต่วันดีคืนดีดันเผลอตัดนิ้วตัวเองใส่ลงไป การตามหานิ้วที่หายไปจึงเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการพบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ทำให้เขาตกหลุมรัก

แค่ได้อ่านเรื่องย่อก็รู้แล้วว่าต้องเป็นหนังรสจัดจ้าน แบบโรแมนติกคอมเมดี้ บวกความคัลท์ไทย ๆ กับเรื่องราวความรักร่วมสมัยในเมืองหลวง และยังเป็นผลงานจากผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่เคยกำกับหนังเรื่องดังอย่าง เป็นชู้กับผี (2549) และอินทรีแดง (2553)

วันที่ฉาย: 21 กรกฎาคม 2565

สถานที่: สวนเบญจกิติ

 

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

มาถึงหนังเลื่องชื่อลือชาของไทย ที่ไม่ว่าใครถามว่าจะดูหนังผีเรื่องอะไรดี เราก็ต้องถามกลับไปว่า “ดูชัตเตอร์ยัง?” เพราะเรื่องนี้ความหลอนมาแบบสิบเต็มสิบไม่หัก กับผีหญิงสาวที่โผล่มาทุกรูปถ่าย บวกกับการปรากฎตัวในแต่ละทีที่ทำเอาหลอนขนหัวลุกกันไปหมด 

สำหรับใครที่เคยดูแล้วก็ไปซ้ำความหลอนกันได้ หรือใครที่ยังไม่ดูก็มาสัมผัสประสบการณ์ท่ามกลางตลาดบางแคภิรมย์กันไปเลย (แต่อย่าลืมชวนเพื่อนไปด้วย เตือนแล้วนะ~)

วันที่ฉาย: 22 กรกฎาคม 2565

สถานที่: ตลาดบางแคภิรมย์

 

รักแห่งสยาม (2550)

ผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบ ทั้งสุขและเศร้า เหงาและสมหวัง ของตัวละครหลักอย่าง “มิว” “โต้ง” “หญิง” และ ”โดนัท”

ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมาะกับการดูกลางสยามสแควร์มาก เพราะชื่อ “รักแห่งสยาม” นั้น ผู้กำกับตั้งใจมีความหมายโยงถึง “สยามแสควร์” เพราะเปรียบเหมือนสถานที่แห่งความทรงจำของใครหลายคน บางคนอาจพบรักกันที่สยาม และก็อาจเป็นสถานที่ยุติความรักเช่นเดียวกัน 

วันที่ฉาย: 28 กรกฎาคม 2565

สถานที่: Block I สยามสแควร์

 

สยามสแควร์ (2527)

เก่าลงมาอีกหน่อยกับเรื่องราวความรักเช่นเดียวกัน แต่เป็นในยุคกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นสยามสแควร์ที่นอกจากเรื่องรัก ก็ยังเกี่ยวกับการทำตามความฝันและสิ่งที่หลงใหล บวกกับบรรยากาศ ที่จะได้เสพแฟชั่นการแต่งกายแบบคูล ๆ ยุคเก่าในหนัง และสถานที่ก็ยังเป็นสยามสแควร์ เรียกว่าสมกับชื่อหนังมาก ๆ เหมาะไปย้อนความหลังกับบรรยากาศอิ่มเอมใจกลางเมือง

วันที่ฉาย: 30 กรกฎาคม 2565

สถานที่: Block I สยามสแควร์

 

พี่นาค (2562)

หนังผีสองเรื่องคงไม่พอ มาต่อกันที่ “พี่นาค” ภาพยนตร์ที่นำความฮาและความสยองมาผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว กับเรื่องราวของ โหน่ง (รับบทโดย ออกัส วชิรวิชญ์) ที่ต้องไปบวชเพื่อชะล้างความซวยจากเบญจเพศ แต่กลับต้องเจอกับคำร่ำลือที่ว่า คนที่มาบวชเป็นนาคต้องตายตอนอยู่ที่วัดทุกคน! เรื่องอาจจะดูหลอน แต่รับรองว่าไม่ลืมฮา เพราะยังมีมุกแทรกมาให้ขำได้ตลอดแน่นอน

วันที่ฉาย: 29 กรกฎาคม 2565

สถานที่: สวน 60 พรรษาฯ (เคหะร่มเกล้า)

 

School Town King (2563)

ส่งท้ายเทศกาลด้วยเรื่อง School Town King เป็นหนังนอกกระแสมาแรงที่เคยถูกพูดถึงอยู่ช่วงหนึ่ง โดยเป็นภาพยนตร์ชีวิตของเด็กวัยรุ่นธรรมดาอย่าง “บุ๊ค ธนายุทธ” และ “นน นนทวัฒน์” ในชุมชุนคลองเตย กับเส้นทางการไล่ล่าความฝันจนได้เป็นแรปเปอร์ ผ่านการเล่าสไตล์สารคดี ถ่ายทอดปัญหาของวัยรุ่นทั้ง 2 ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่ตัวเองต้องเผชิญ จนได้มาเป็นแรปเปอร์ชื่อ Elevenfinger และ Crazy Kids ในทุกวันนี้

และก่อนเริ่มฉายหนังนั้นมีการพูดคุยกับผู้กำกับ “เบสท์ วรรจธนภูมิ” ผ่านเรื่องราวและแรงบันดาลใจในการทำหนังน้ำดีเรื่องนี้ขึ้นมา

วันที่ฉาย: 31 กรกฎาคม 2565

สถานที่: สวนครูองุ่น 

Writer Profile : Hanachan
ฮานะจังมีความสุขกับการดูซีรีส์เกาหลีและท่องเที่ยวไปวันๆ Green tea lover / Japanese food forever ♡
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[NEWS] สายแชร์คิดหนัก! กฎใหม่ NETFLIX ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ต้องจ่ายเพิ่ม

[NEWS] เริ่มแล้ว! นิทรรศการแอนิเมชั่นจิบลิที่ใหญ่ที่สุด THE WORLD OF STUDIO GHIBLI'S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 เปิดให้เข้าชม 1 ก.ค.


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save