category ทำหนังยังไงให้รอดจากกองเซ็นเซอร์

Writer : incwaran

: 10 มีนาคม 2564

ก่อนที่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทยได้ ต้องผ่าน “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์” หรือ กองเซ็นเซอร์ ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาพยนตร์ และกำหนดประเภทของภาพยนตร์ที่จะฉายสู่สาธารณะ หรือเรตของภาพยนตร์ที่เราเห็นกัน

ซึ่งส่วนหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ไม่ให้โดนเซ็นเซอร์หรือห้ามฉายจากกองเซ็นเซอร์ ต้องทำยังไงไปดูกัน

พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2551 ด้วยมาตรา 25 กำหนดอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ว่า “ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้”

โดยประเภทของภาพยนตร์ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว จะแบ่งเป็น 7 ประเภท

  1. ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
  2. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
  3. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
  4. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
  5. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
  6. ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
  7. ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ห้ามนำศาสนามาล้อเล่น

แค่พูดถึงเรื่องศาสนาก็สุ่มเสี่ยงแล้ว ยิ่งนำศาสนามาเล่าในมุมอื่นยิ่งมีโอกาสจะไปขัดต่อศีลธรรมอันดีตามที่กองเซ็นเซอร์กำหนดไว้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นในภาพยนตร์ไทยหลาย ๆ เรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน ตัดเนื้อหา หรือห้ามฉายไปเลย เช่น ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์2.2’ ที่ห้ามเข้าฉายเพราะไม่ผ่านเซ็นเซอร์ ด้วยฉากพระเคาะโลงศพและร้องไห้ แม้ว่าผู้สร้างจะมั่นใจว่าคนดูจะมีวิจารณญาณในการรับชมก็ตาม

‘นาคปรก’ นำเสนอเรื่องของโจรที่แฝงตัวเป็นพระ ตามคำโปรย ‘ใช้ร่มเงาศาสนา ปิดบังโฉมหน้าอาชญากร’ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อให้ได้เข้าฉาย เพราะเกรงว่าจะเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของพระสงฆ์

ฉากโป๊เปลือยแบบไหนก็ไม่ปล่อยผ่าน

แม้เรื่องเพศจะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะการนำเสนอในภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ฉากโป๊เปลือย แต่ยังรวมถึงเรื่องเพศ ที่นำเสนออย่างไม่เหมาะสม (ในเกณฑ์ของกองเซ็นเซอร์) ไปในเชิงชี้นำ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี 

เรื่อง ‘Insect In The Backyard’ ก็ห้ามฉายในไทย ด้วยเหตุผลว่า ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เนื่องจากนำเสนอเรื่องของรักร่วมเพศ การขายบริการ ฉากที่มีการร่วมรักกัน แต่ภายหลังได้มีการตัดฉากที่เห็นของลับในฉากร่วมรักออก คนไทยจึงได้มีโอกาสดูเรื่องนี้ในโรงหนังอิสระ

ห้ามพาดพิงถึงการเมืองแบบโจ่งแจ้ง

ดูซีรีส์การเมืองและสังคมของต่างประเทศสุดเข้มข้น แต่ก็ยังไม่เคยได้เห็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอแง่มุมเรื่องการเมืองที่เจ็บจี๊ดได้ขนาดนั้น อาจเป็นเพราะว่าไปจะไปขัดต่อความมั่นคงของรัฐ 

จากเรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (Shakespeare Must Die) ที่มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีการนำภาพเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมาใช้  ก็โดนห้ามฉายไปตามระเบียบ เพราะ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ’

‘ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก’ ที่แม้จะไม่ได้ถูกห้ามฉาย แต่ทางผู้สร้างก็ตัดสินใจไม่เข้าฉาย ป้องกันปัญหารวมถึงดราม่าที่อาจะเกิดขึ้นหลังจากมีการฉายไปแล้ว เนื่องจากเนื้อเรื่องมีเนื้อหาละเอียดอ่อนต่อสถานการณ์ในภาคใต้ กว่า 7 ปีผ่านไป ปิตุภูมิคัมแบ็คในชื่อใหม่ ‘ราชิดา’ 

ห้ามพาดพิงถึงสถาบัน

เป็นอันรู้กันว่าสถาบันอะไรที่ไม่ควรกล่าวถึงในภาพยนตร์ เห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอประเด็นความขัดแย้งในสังคมไทย และมีฉากที่แสดงสัญลักษณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เลยไปขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อตัดฉากดังกล่าวออกจึงได้เข้าฉายอีกครั้ง

เซ็นเซอร์ตัวเอง

จากตัวอย่างภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ และถูกห้ามไม่ให้เข้าฉาย ก็คงจะพอจับทางได้ว่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหว หรือไปกระทบภาพลักษณ์ของใคร ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้ไปต่อ อีกวิธีที่จะทำให้ได้เข้าฉาย ก็อาจจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองไปเลยทั้งเรื่อง ประเด็นที่อยากนำเสนอให้คนในสังคมได้คิด แต่ติดที่จะโดนเซ็นเซอร์แน่ๆ ก็คงต้องตัดอกตัดใจเซ็นเซอร์ตัวเองไปก่อน

เก็บไอเดียใส่กล่อง แล้วไปมองหนังต่างประเทศ

หรือวิธีที่เหนื่อย(ใจ) น้อยที่สุดในการทำหนัง ก็คือการคือพับเก็บพล็อตเรื่องเด็ด ๆ ที่อยากทำ เอาไว้เงียบ ๆ คนเดียว แล้วก็ไปดูหนังต่างประเทศที่นำเสนอประเด็นทางสังคมได้อย่างเข้มข้น ด้วยความหวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้ดูหนังแบบนั้นในประเทศไทยบ้าง..

ที่มา

pptvhd36

thairath

gqthailand

isranews

thairath

[NEWS] เริ่มแล้ว! นิทรรศการแอนิเมชั่นจิบลิที่ใหญ่ที่สุด THE WORLD OF STUDIO GHIBLI'S ANIMATION EXHIBITION BANGKOK 2023 เปิดให้เข้าชม 1 ก.ค.


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save