เรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ระหว่าง BTS และ กทม. เลยก็ว่าได้ สำหรับกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทางกทม.ต่อสัญญาเพิ่ม 30 ปี จากที่จะหมดอายุในปี 2572 จะกลายเป็นปี 2602 ซึ่งนายสุรพงศ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับราคาค่าโดยสายไว้ว่า “ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว กับ MRT สายสีน้ำเงิน มีค่าเฉลี่ยค่าโดยสารใกล้เคียงกัน โดยสายสีเขียวมี 59 สถานี เก็บไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ส่วนสายสีน้ำเงินมี 38 สถานี เก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่ที่ต่างกันคือภาระต้นทุน ที่แตกต่างกันมาก โดยสายสีเขียวบีทีเอสต้องรับชำระหนี้ค่างานโยธาแทน กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่สายสีน้ำเงินไม่มีต้นทุนเพราะรัฐออกค่างานโยธาให้ทั้งหมด” นอกจากเรื่องค่าโดยสารแล้ว BTS ยังต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับทาง กทม. ทุกปี รวมเกิน 2 แสนล้านบาท และเมื่อรวมหนี้ต่างๆกับวงเงิน ทำให้ค่าต่อสัมปทานสายสีเขียวจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท และถ้าผลตอบแทนเกิน 9.60% ทาง BTS ต้องแบ่งรายได้ให้กับทาง กทม. เพิ่มอีกด้วย ซึ่งทาง กทม. ได้เคยประเมินไว้ว่าไม่มีภาคเอกชนสนใจ ทำให้ทาง กทม. ต้องเร่งดำเนินการหาข้อสรุปเรื่องการต่ออายุสัมปทานให้เสร็จ เพราะในเดือนธันวาคม ทาง BTS จะเปิดเดินรถเพิ่มขึ้นอีก 7 สถานี ทำให้สายสีเขียวจะเป็นสายที่เชื่อมการเดินระหว่างจังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพ และ สมุทรปราการ และถ้าไม่มีการต่อสัมปทาน จะทำให้ กทม. จะมีภาระที่ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ และทำให้ทาง BTS ต้องเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง โดยที่ราคาค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 158 บาท แต่ถ้ามีการต่ออายุสัมปทานจะทำให้สามารถเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสายนั่นเอง ที่มา : Mono29 News