category คนแบบนี้ต้องเจอดี! วิธีรับมือเมื่อเราโดน “โกงบัตรคอนเสิร์ต”

Writer : uss

: 17 กุมภาพันธ์ 2566

อย่างที่เราทุกคนรู้กัน..ในยุคนี้อะไรก็เกิดการโกงกันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะยืมเงิน เข้ารับบริการ หรือคอลเซ็นเตอร์ แต่ที่เราเห็นบ่อยๆ เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ คงหนีไม่พ้นการโดน “โกงบัตรคอนเสิร์ต” ที่ไม่ใช่แค่วงการติ่งเกาหลีเท่านั้น เพราะคอนเสิร์ตไทย ญี่ปุ่น หรือสากลต่างก็มีคนโกงกันนับไม่ถ้วน

เมื่อศิลปินที่เรารักจัดคอนเสิร์ตทั้งที แฟนคลับต่างก็ตั้งตารอที่จะแย่งชิงบัตรคอนเสิร์ตเข้ามาไว้ในครอบครอง โดยใครที่โชคดีก็ถือว่าดีไป แต่..สำหรับคนที่กดไม่ทันนี่สิ! แย่แล้ว~ เพราะจะต้องมานั่งไล่หาคนปล่อยขายบัตรอีกต่างหาก 

และไอตอนที่มานั่งหานี่แหล่ะช่วงนาทีชีวิต จะต้องมาวัดดวงกันว่าจะโดนโกงมั้ย? 

ด้วยความหวังดีจาก Mango Zero ห่วงใยว่าทุกคนจะโดนโกงบัตร เลยมาแนะนำวิธีรับมือ ข้อควรรู้ รูปแบบการโกง ไปจนถึงคำพูดต่างๆ เรียกได้ว่าครอบคลุม! จัดเต็ม! ไม่หลงประเด็นแน่นอน! 

7 เช็กลิสต์ควรระวังก่อนซื้อ!

เริ่มแรกขอมาแนะนำเช็กลิสต์ข้อควรระวังก่อนการซื้อบัตรต่อจากคนอื่น เพื่อป้องกันตัวเราจากการโดนโกง เพราะส่วนใหญ่ผู้โกงมักจะแฝงตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่มของแฟนคลับศิลปินที่กำลังจะจัดคอนเสิร์ตผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ คอยดูว่ามีใครต้องการซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือไม่? 

✅ เข้าเว็บ > เช็กประวัติผู้ขายผ่านทาง www.blacklistseller.com

ช่องทางหลักซึ่งเป็นเว็บไซต์เอาไว้เช็กรายชื่อมิจฉาชีพเบื้องต้น เพื่อป้องกันตัวเราในระดับหนึ่ง

✅ ค้นหา > ประวัติการโกงผ่าน Google/ Twitter > #ชื่องาน หรือ #ชื่อคอน ตามด้วยคำว่า “โกง”

การค้นหาผ่านแท็กเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แนะนำ เพราะบางครั้งพวกแฟนคลับด้วยกันก็จะมาเตือนไม่ให้เราซื้อขายกับบุคคลนี้ 

✅ ส่อง > หน้าไทม์ไลน์ดูความน่าเชื่อถือของแอคเคาท์

หลายเคสที่โดนโกงมักจะลืมตรวจสอบว่าแอคเคาท์ที่มาขายเป็นแอคจริงไหม ? เพราะส่วนใหญ่เป็นแอคหลุมหรือไม่ก็แอคปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อโกงเท่านั้น 

✅ ไม่จ่าย > ราคาบัตรที่ถูกหรือแพงเกินไป

อย่าให้ราคามาดึงดูดจิตใจเราได้! บางครั้งราคาบัตรที่ถูกเกินไปก็สามารถล่อเราให้กดโอนได้ไวเหมือนกัน จนลืมตรวจสอบว่าคนขายเขาจะโกงเราหรือเปล่า ในทางกลับกันด้วยความใจร้อนที่ยังไม่มีบัตรคอนเสิร์ต ทำให้หลายคนยอมจ่ายราคาแพงเพียงแค่ได้มีบัตรนั้นมาไว้ในครอบครอง 

✅ ไม่โอน > ผ่านบัญชี E-Wallet

การโอนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E Wallet ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมโกงกัน เนื่องจากเราจะไม่รู้ว่าเงินถูกโอนไปที่ใด และเมื่อผู้ที่ต้องการซื้อบัตรโอนเงินไป คนร้ายก็จะหายตัวไปในทันที ตอนนั้นถึงจะเริ่มรู้ตัวว่า “ถูกหลอกแล้ว” 

✅ ขอ > บัตรประชาชน หลักฐานต่างๆ หรือวิดีโอคอลก่อนซื้อ

เบื้องต้นคงพอรู้กันว่าเวลาจะซื้อบัตรคอนเสิร์ต ควรขอให้คนขายถ่ายรูปบัตรคู่กับบัตรประชาชนส่งมาให้เราดูด้วย แต่! นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสุดท้ายอาจจะเป็นบัตรปลอม หรือบัตรคนอื่นได้ ทางที่ดีควรมีการพูดคุยผ่านวิดีโอคอล เพื่อตรวจสอบว่าคนขายเป็นคนเดียวกันกับบัตรประชาชนที่ส่งมาให้หรือไม่ 

✅ เงื่อนไข >  บัตรคอนเสิร์ตของแต่ละงาน เช่น ห้ามขายต่อ ห้ามขายบัตรอัพ หรือหลักฐานการซื้อบัตรต่างๆ

สุดท้ายการอ่านเงื่อนไขบัตรคอนเสิร์ตของแต่ละงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบางงานอาจจะมีกฎข้อบังคับว่าห้ามขายบัตรอัพ หรือขายบัตรต่อให้คนอื่น ซึ่งพอเราไม่ได้รับรู้ข้อมูลตรงนี้เลยเสียตังให้โจรโดยที่ไม่รู้ตัว และยังไม่ได้แตะบัตรคอนแม้แต่เสี้ยวเดียว

พฤติกรรมแบบนี้โดนโกงแน่

ถ้าพูดถึงสเต็ปวิธีการโกงจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเยอะแยะมากมาย หลายๆ เคสก็มีพฤติกรรมคล้ายกัน แต่..ส่วนใหญ่ที่หลายคนยังคงโดนโกงกันอยู่ อาจเป็นเพราะความร้อนรนในจิตใจอยากได้บัตรคอนเสิร์ตนั้นมาไว้ติดตัวให้ไวที่สุด กลัวว่าจะพลาดคอนเสิร์ต หรืออยากไปดูมากกกกกจนลืมสังเกตพฤติกรรมกลโกงของคนขายบัตร

ซึ่งเราก็ได้รวบรวม 6 พฤติกรรมเบื้องต้นที่สื่อให้เห็นชัดเจนเลยว่า เรา โดน โกง แล้ว นะ !

☠️ โอนเสร็จแล้วหายไม่ตอบ

การกระทำง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ ถ้าใครที่โอนเงินจ่ายค่าบัตรให้เรียบร้อยแล้วอีกฝ่ายอยู่ดีๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ จงโปรดรู้เอาไว้ว่าคุณถูกโกงเรียบร้อยแล้ว

☠️ นัดรับหน้างานแต่..ไม่มา

อีกหนึ่งวิธีสำหรับคนที่อยากได้บัตรจากมือคนขายเป็นๆ เพราะไม่ชอบให้ส่งผ่านบริการอื่นมาอาจจะกลัวหล่นหาย หรือถึงล่าช้า แต่..หารู้ไม่คนจะโกงก็โกงอยู่วันยันค่ำ จึงทำให้วิธีนัดรับหน้างานคนขายสามารถหายแว๊บไปกับตา ราวกับธานอสดีดนิ้วเลยก็ว่าได้ 

☠️ ขอมัดจำทำทีว่าจะขาย

บางครั้งคนขายก็มักจะอาศัยเก็บเล็กผสมน้อย เน้นหลอกทีละน้อยๆ แต่หลอกหลายคน ทำให้เลือกใช้วิธีการมัดจำทำทีว่าจะขายแน่นอน เพียงแค่โอนมัดจำมาให้ก่อนครึ่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่เราโอนไปแน่นอนว่าก็หายวาร์ปไปเลยสิจ๊ะ 

☠️ ขายบัตรซ้อนคนอื่น

อย่างที่บอกไปในข้อเมื่อกี้บางที บัตร 1 ใบ คนที่โกงสามารถนำบัตรใบเดียวไปหลอกขายคนอื่นได้อีกนับไม่ถ้วน ทำให้บัตรที่เราเสียตังซื้อไปทับซ้อนกับคนอื่นอีกหลายคน จนในที่สุดก็ไม่มีใครได้บัตรนั้นมาไว้ครอบครอง 

☠️ ถามไม่ตอบ บล็อคหนีหาย

พฤติกรรมนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราโอนเงินไปแล้วเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับฟีดแบ็ค หรือการส่งบัตรมาจากผู้ขาย เพราะเขาจะอาศัยวิธีการไม่ตอบคำถามเรา หรือนานๆ ครั้งตอบที ไปจนถึงบล็อคหนีหายไปเลย 

☠️ ลบโพสที่ขาย/แอคเคาท์

นี่คือวิธีที่ชัดยิ่งกว่าชัด! การลบโพสที่ขายและแอคเคาท์ออกไปนับว่าเป็นพฤติกรรมที่ชัดเจนที่สุดเพื่อลบล้างตัวตนที่หลอกคนอื่น ซึ่งคนที่โกงเราอาจจะลบไปเพื่อสร้างแอคเคาท์ใหม่มาหลอกคนอื่นได้อีกครั้ง 

คำพูดเสี่ยงกลโกง

ว่ากันว่าคำหวานมักจะหลอกล่อให้เชื่อได้เสมอ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะมีลูกเล่นคำพูดที่แตกต่างกันไป อาจจะมาในรูปแบบตอบไว พิมน่ารัก ให้เราตายใจว่าเอ้อดูเป็นมิตรดีนะ ไม่น่าโกงหรอก แต่ที่ไหนได้เป็นมิจ ฉา ชีพ ต่างหาก 

ยกตัวอย่างคำพูดที่เสี่ยงเข้าข่ายกลโกง 

  • เรากดบัตรมาได้เกิน > แล้วจะกดมาทำไม ? ก็กดแค่ของตัวเองสิว๊อยยยย
  • เพื่อนเทเราพอดี > ทั้งๆ ที่เพิ่งกดบัตรได้เมื่อชั่วโมงก่อน
  • ขอคนพร้อมโอนนะ > เพราะใกล้จะหมดเวลาจ่ายเงิน ไม่โอนจ้ารอบัตรหลุดก็ได้ 
  • กดมาขายต่อให้ Follower เท่านั้น > อยากซื้อบัตรก็ต้องกดฟอลก่อน
  • เสนอราคาหลังไมค์ได้เลย > ทำให้เกิดการแย่งชิง และโก่งราคาของแฟนคลับเกิดขึ้น
  • ขอคนใจถึง > เป็นการตั้งธงไว้เลยว่าฉันจะขายแพง ซึ่งในแชทก็มักจะมีเหล่าแฟนคลับใจปล้ำเสนอราคาบัตรในเรทที่สูงเกินไปมากกกก

หลังจากโดนโกงแล้วต้องทำยังไง?

แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวล ถ้าใครหลบหลีกก็แล้ว! ป้องกันก็แล้ว! ก็ยังไม่วายที่จะพลาดท่าโดนโกงเสียเข้าจนได้ ก็มาแวะอ่านตรงนี้กันได้เลยสำหรับวิธีการรับมือหลังจากโดนโกงแล้วต้องทำยังไงต่อ…

  • รวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วน

ตั้งแต่ข้อมูลการโพสขาย แชทข้อความที่พูดคุยกัน ไปจนถึงเลขบัญชีของผู้โกง หรือหลักฐานการโอนต่างๆ แคปไว้ให้หมดเลยอย่าพลาดแม้แต่จุดเดียว 

  • รวมตัวผู้เสียหายที่โดนโกงเจ้าเดียวกัน

บางครั้งการไปแจ้งความ หรือเรียกร้องค่าเสียหายเพียงคนเดียว มักทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะฉะนั้นการรวมตัวผู้เสียหายมักเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้หน่วยงานราชการรับฟัง และเร่งแก้ไขปัญหาให้เราเร็วขึ้น 

  • ไปสน.แจ้งความให้เร็วที่สุด

เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพลอยนวลอยุ่สุขสบายเกินไป เมื่อเรารวบรวมหลักฐานต่างๆ อะไรเรียบร้อยแล้วก็ควรรีบเข้าไปแจ้งความที่สน. ให้ไวที่สุด โดยเราต้องยืนยันแจ้งความดำเนินคดีฉ้อโกงเท่านั้น ห้ามลงบันทึกประจำวันเฉยๆ เพราะเราจะได้ใบที่มีตราครุฑเพื่อนำไปยื่นกับธนาคารต่อ 

  • นำใบจากตำรวจไปยื่นกับธนาคารบัญชีของผู้โกง

เมื่อเราได้ใบจากตำรวจเป็นที่เรียบร้อย ให้นำใบนั้นไปยื่นกับธนาคารเจ้าของบัญชีผู้ที่โกงเพื่อดำเนินการอายัติบัตร และส่งหลักฐานการเดินทางของเงินในบัญชีให้ตำรวจได้

  • ระหว่างรอดำเนินการ รวมกลุ่มสืบเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อนได้

เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ระหว่างที่เรารอดำเนินการจากทางตำรวจ สามารถรวมกลุ่มผู้เสียหายสืบเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อนได้ว่าคนที่โกงเราเนี่ยได้ไปโกงคนอื่นอีกบ้างไหม หรือรวมจากข้อมูลของผู้เสียหายคนอื่นจะได้มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้น 

สำหรับใครที่ไม่อยากไปสน. เพราะยังไม่มีเวลาสะดวกไปก็สามารถแจ้งความได้ที่หน่วยงานอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านทางออนไลน์ หรือช่องทางศาลยุติธรรมผ่านแอป COJ connect ได้เลย 

ที่มา : The Matter, lemon8, กองปราบปราม

Writer Profile : uss
ชอบฟังเพลงพอๆ กับชอบนอนหลับ :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
Bangkok Idol Festival: Guide Book [Violet Wink]

Bangkok Idol Festival: Guide Book [Violet Wink]


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save