category [Covid-19 Phenomena] New Normal ในมุมของสังคม ที่เปลี่ยนไปหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


: 18 พฤษภาคม 2563

หลังผ่านวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่เราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ‘การเปลี่ยนแปลงทางสังคม’ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหรือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป 

และถ้าดูในประเทศไทยแล้ว เราจะสามารถบอกได้ว่าจะมีอะไรบ้างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนกลายมาเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล

ใกล้..เกินกว่าที่จะพูดคำใดๆ ออกไป เมื่อการเดินทางที่เปลี่ยนไปเพราะ COVID-19 

ในช่วง Quarantine แม้จะกักตัวอยู่บ้าน แต่ยังไงก็ต้องมีเหตุให้ออกจากบ้านกันอยู่ดี แม้จะมั่นใจได้ว่าปลายทางที่เราไปนั้นปลอดภัย แต่ระหว่างทางที่นอกจากต้องพบเจอกับคนแปลกหน้าแล้ว ยังไม่รู้ว่าบริการขนส่งที่เราใช้มีความอนามัยหรือไม่นี่สิที่น่าเป็นห่วง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น นอกจากจะทำให้พฤติกรรมการดูแลตัวเองเมื่อต้องออกนอกบ้านของเราเปลี่ยนไปแล้ว ขนส่งสาธารณะต่างๆ ก็มีมาตรการการให้บริการที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกัน

รถโดยสารประจำทาง

สำหรับรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ทางขสมก. ได้ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะใช้บริการรถโดยสาร
  • ไม่นั่งบนเบาะที่ติดสติ๊กเกอร์ ข้อความ “งดนั่งชิด โควิด ป้องกันได้”
  • ให้ผู้ใช้บริการยืนบนพื้นรถในตำแหน่งที่กำหนดไว้  ซึ่งมีระยะห่างกัน ประมาณ 1 เมตร

โดยจะให้ผู้ใช้บริการ สามารถยืนบนพื้นรถได้เพียง 10 คนเท่านั้น หากมีผู้ใช้บริการครบจำนวนตามกำหนดแล้ว จะมีป้ายข้อความ”ขออภัย รถเต็มแล้ว”  ติดที่กระจกรถด้านหน้า

รถไฟฟ้า BTS

สำหรับรถไฟฟ้า BTS นอกจากจะเพิ่มมาตรการทำความสะอาดในทุกสถานีด้วยการเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นในขบวนรถไฟฟ้า และเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมแล้ว ยังมีมาตรการปฎิบัติสำหรับผู้เข้าใช้บริการ ดังนี้

  • ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง
  • วัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง หากพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาขึ้นไป ไม่อนุญาตให้เข้าระบบรุถไฟฟ้า
  • มีแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการในทุกสถานี
  • มีการติดสติ้กเกอร์เพื่อบอกตำแหน่ง Social Distancing ขณะยืนรอรถไฟฟ้า
  • เพิ่มความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า-เย็น เพื่อลดความหนาแน่นในการโดยสาร

รถไฟฟ้า MRT

ทางด้านของรถไฟฟ้า MRT ก็มีมาตรการที่เข้มงวดในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเช่นเดียวกัน

  • ผู้ที่จะเข้าใช้บริการระบบรถไฟฟ้า ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนทุกครั้ง
  • มีการติดสติ้กเกอร์เพื่อแสดงถึงระยะห่าง 1 เมตร บริเวณจุดรอขบวนรถไฟฟ้า
  • สำหรับในขบวน มีการติดสติ้กเกอร์ให้นั่งแบบเว้น 1 ที่นั่ง เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
  • กรณีที่มีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น จะขอความร่วมมือให้รอใช้บริการในขบวนถัดไป

สำหรับมาตรการรักษาความสะอาดภายในสถานีนั้น ก็ได้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อเหรียญโดยสารก่อนนำมาใช้อีกครั้ง และยังมีแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการในทุกสถานีอีกด้วย

Taxi

สำหรับรถแท็กซี่ นอกจากจะเป็นมาตรการของอู่รถแต่ละเจ้าที่มีการฆ่าเชื้อ ติดสติ้กเกอร์ยืนยันความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ผู้ขับรถสวมหน้ากากอนามัย และมีแอลกอฮอล์ล้างมือติดรถแล้ว

ทางกรมการขนส่งก็มีการจัดกิจกรรม Taxi Thai Safety Covid 19 เช่นเดียวกัน ด้วยการฉีดพ่นฆ่าเชื้อและกลิ่นในรถแท็กซี่ พร้อมทั้งยังมอบถุงซิปล็อคที่บรรจุอุปกรณ์ฆ่าเชื้ออย่างแอลกอฮอล์นานาชนิดอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางกองทัพอากาศ ก็มอบอุปกรณ์ป้องกันให้อู่แท็กซี่หลายที่ เรียกว่า “Taxi Bulkhead Barrier” สามารถป้องกันระหว่างห้องพักผู้โดยสาร และส่วนของคนขับ เป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

แม้มีความจำเป็นที่ต้องออกจากบ้านในช่วงกักตัว ก็สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ ด้วยการปฎิบัติตามมาตรการของแต่ละที่อย่างเคร่งครัด เปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอก และอยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร และยังคงรักษาสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นส่วนสำคัญในการกำจัดเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ไปจากประเทศ

ที่มา: ryt9, BTSSkyTrain,Mcot.net

วิถีชีวิตใหม่ในพื้นที่สาธารณะหลังยุคโควิดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

พื้นที่สาธารณะได้รับผลกระทบอย่างสูงมากๆ หลังจากที่เกิดโควิดโจมตีเนื่องจากว่าเป็นจุดที่มีกลุ่มคนไปรวมตัวกัน หนาแน่นบ้าง เบาบางบ้างขึ้นอยู่กับหน้าที่ของพื้นที่สาธารณะเหล่านั้น ซึ่งในหลายประเทศก็มีการ ‘จำกัด’ และ ‘วางกฎเกณฑ์’ สำหรับการใช้พื้นที่สาธารณะใหม่หมด ทั้งใช้คนและใช้เทคโนโลยีในการควบคุมคนในพื้นที่สาธารณะ

ตัวอย่างเช่น  สิงคโปร์ใช้หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายสุนัข (ที่เอาจริงๆ ก็ไม่ค่อยคล้ายเท่าไหร่) ชื่อ Spot ที่พัฒนาโดย Boston Dynimics ใช้เดินไปทั่วบริเวณสวนสาธารณะเพื่อตรวจตรา เก็บข้อมูลจำนวนคนที่เข้าใช้สวนสาธารณะ และค่อยเตือนเรื่องการเว้นระยะห่าง ซึ่งความที่เป็นหนุ่นยนต์หมา แทนที่จะเป็นคนก็ทำให้ชาวสิงคโปร์รู้สึกสนใจ และอุ่นใจในระดับหนึ่ง

ขณะที่จีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ใช้โดรนลาดตระเวนลงพื้นที่สาธารณะเพื่อเเตือนให้ประชาชนที่ไม่สวมหน้ากาก ให้กลับเข้าบ้าน และล้างมือ ใครไม่ใส่หน้ากากจะโดนโดรนไล่กลับบ้าน! รวมถึงยังใช้โดรนที่เดิมที่ใช้ในการเกษตรมาดัดแปลงเป็นโดรนที่พ่นยาฆ่าเชื้อในที่สาธารณะแทน

ในเมืองไทยเองก็มีพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก หากไม่นับระบบขนส่งสาธารณะเราจะมีพื้นที่สาธารณะหลายแห่งที่ต้องสร้างมาตรการการดูแลความปลอดภัยใหม่ โดยหากอ้างอิงจากประกาศปิดพื้นที่สาธารณะของหน่วยรัฐ จะมีถึง 34 แห่ง อาทิ ตลาดทุกประเภท, ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีก, ร้านอาหาร, สวนสาธารณะ, อาคารสำนักงาน ฯลฯ

ซึ่งจากนี้ไปมาตรการดูแลควบคุมพื้นที่สาธารณะจะเข้มข้นขึ้น โดยมาตรการที่พื้นที่สาธารณะเอามาใช้อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ความเหมือนกันที่ต้องนำมาใช้มีทั้ง บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย , ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่, มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการทั่วพื้นที่ ไปจนถึงควบคุมระยะห่าง

แต่บางสถานที่ที่ต้องลองรับคนจำนวนมากบ่อยๆ อย่างอาคารสำนักงาน หรือห้างร้านก็จะมีมาตรการแบบเข้มข้นอีกขึ้นเพื่อดูแลความปลอดภัยของคนทุกฝ่าย อะไรที่ไม่เคยทำไม่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ระบุมาตรการในการเข้าใช้พื้นที่ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจไม่คุ้นชินได้แก่

  • การจำกัดนวนคนเข้าใช้บริการในพื้นที่ อย่างเช่นเซ็นทรัล มีการกำหนดว่าไม่เกิน 1 คน ต่อ 5 ตารางเมตร สำหรับร้านค้า และพื้นที่ส่วนกลาง ลิฟต์ – บันไดเลื่อน – ห้องน้ำ ต้องรักษาระยะห่าง 1.5-2 เมตร ทุกจุด
  • การคัดกรองลูกค้าที่เข้มงวด ใครที่มีอาการป่วย หรืออุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาจะถูกการปฏิเสธการให้บริการ
  • พนักงานเดลิเวอร์รี่ที่เคยเข้า – ออก อย่างสะดวกก็จะโดนคัดกรองที่เข้มงวดเช่นกัน
  • มีสัญลักษณ์การเว้นระยะห่างในทุกจุดที่จะเกิดความเสี่ยง เช่นการรอคิวจ่ายเงิน, บันไดเลื่อน หรือลิฟต์
  • พนักงานในศูนย์การค้าของเซ็นทรัล จะต้องมีการทำ Safety Tracking เพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพของพนักงาน
  • ทำความสะอาดจุดที่สัมผัสบ่อยๆ ซึ่งเซ็นทรัล มีมาตรการทำความสะอาดทุก 30 นาที
  • ห้องลองเสื้อมีการควบคุมเรื่องความสะอาด
  • ลดการใช้เงินสด เน้นการจ่ายด้วย Online Payment
  • ข้อสำคัญคือไม่ใส่หน้ากากห้ามเข้า และถ้าจำเป็นต้องเข้าจะมีหน้ากากอนามัยขาย

สำหรับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อย่างเช่นสวนสาธารณะก็มีกฎที่มาควบคุม ซึ่งเป็นความปกติใหม่ที่ผู้เข้าใจบริการต้องทำความเข้าใจอย่างมาก โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ และการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ สวนสาธารณะในเมืองไทย มีข้อบังคับนอกจากห้ามเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกันอย่างฟุตบอล หรือบาสเก็ตบอลแล้ว การวิ่ง ก็ต้องใส่หน้ากาก หากไม่ใส่…ขออนุญาตเชิญออก

แน่นอนว่าวิถีชีวิตใหม่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อคดาว บางครั้งคนอาจจะไม่ชินกับความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เคยทำได้ วันนี้อาจทำได้แต่ไม่เต็มที่ หรือสิ่งที่เคยทำได้ในพื้นที่สาธารณะ วันนี้อาจจะไม่ได้อีกแล้ว

ก็คงต้องทำความเข้าใจ และใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะกับความปกติใหม่ไปด้วยกัน

ปลอดภัยเมื่อไร้เงินสด เทรนด์การโอนจ่ายที่ถ่ายโอนมาสู่การเป็น Cashless Society มากขึ้น 

คำว่า สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ไม่ใช่คำใหม่ในโลกสมัยใหม่ เราได้ยินมันมาสักพักใหญ่ๆ แล้วเนอะ แต่พอโลกต้องเผชิญหน้ากับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้มนุษย์ทุกหมู่เหล่าต้องปรับตัวมาใช้ชีวิต ‘ปกติใหม่’ แบบโดนบังคับ เราก็ยิ่งได้ยินมันบ่อยกว่าเดิม ด้วยหลายคนเชื่อว่า มันก็คือหนึ่งในหลายๆ ความปกติใหม่นี่แหละ

อธิบายเร็วๆ ก่อนว่าสังคมไร้เงินสดคือ สังคมที่คนหันมาใช้การจ่ายเงินด้วยระบบ E-Payment แทนแบงค์และเหรียญฯ ไม่ว่าจะเป็นการโอนผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร, สแกน QR Code, จ่ายผ่าน E-Wallet, โอนผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือตัดบัตรเครดิต/เดบิต ฯลฯ

ในโลกที่การซื้อขายขยับขยายมายังออนไลน์มากขึ้น (แอปฯ ขายของ, ไลฟ์ของพ่อค้าแม่ขาย, พรีออเดอร์ของจากต่างประเทศ เป็นต้น) การชำระค่าใช้จ่ายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ย่อมตอบโจทย์ผู้ซื้อผู้ขายมากกว่าเงินสด F ปุ๊บก็โอนปั๊บ รุ่งขึ้นก็รอรับของได้เลย

แม้ข้อเสียของมันก็มี (หลายคนบอกว่าทำให้คนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเพราะความง่ายของมันนี่แหละ) แต่ข้อดีก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะในยุคโควิด การงดใช้เงินสด ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มากๆ เพราะทั้งแบงค์และเหรียญที่เราใช้ ผ่านการส่งต่อจากมือสู่มือไม่รู้กี่มือ เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคดีๆ นี่เอง แถมเจ้าโควิดยังมีชีวิตอยู่บนธนบัตรได้ถึง 9 วันด้วย

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงออกแถลงว่า ขอให้หลีกเลี่ยงการหยิบจับสัมผัสธนบัตรและเหรียญเพื่อซื้อสินค้าในช่วงนี้ เพราะมันถูกเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว อาจมีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียติดอยู่เป็นเวลาหลายวัน จะเซฟกว่าถ้าเปลี่ยนไปใช้การจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตหรือระบบออนไลน์ไปก่อน

ห้างใหญ่อย่างแม็คโคร ก็ส่งเสริมการงดใช้เงินสด ด้วยการรองรับการชำระเงินผ่าน E-Payment ทั้ง QR Code จาก Mobile Banking ของธนาคาร และ E-Wallet หรือร้านค้าเล็กๆ ที่เคยรับแต่เงินสด ก็เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่าน E-Payment ได้แล้ว เป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

มองกว้างขึ้นมาในระดับโลก ชาติในยุโรปอย่างสวีเดน เป็นประเทศแรกที่เข้าสู่ Cashless Society แบบเต็มตัว ธนาคารในประเทศเขาไม่รับฝากเงินสดแล้วนะ (ใครจะฝากต้องเสียค่าธรรมเนียม) หรือที่จีน ก็รณรงค์ให้คนชำระเงินผ่าน Alipay หรือ WeChat Pay เพื่อเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรคบนเงินสด

อะ มองกลับมาที่ไทย คำว่าสังคมไร้เงินสดมันใกล้ตัวเราอย่างสุดๆ แล้วล่ะ แม้ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรที่จะเทิร์นไปสู่รูปแบบนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนสวีเดน แต่ที่แน่ๆ เราคงจะไม่ใช่สังคมแห่งเงินสดที่เต็มรูปแบบเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว

ข้อมูลจาก TMB 

คำถามข้อนี้มีมูลค่า 5,000 บาท! รัฐสวัสดิการและมาตรการเยียวยา กับเครื่องหมายคำถามตัวหนาจากสังคม 

ในช่วงที่โควิดระบาดจนบาดเจ็บไปตามๆ กันเพราะสตุ้งสตางค์มีแต่จางลงทุกวันๆ มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล แก่คนทำอาชีพอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว หรือคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ด้วยเงินสนับสนุนคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เลยกลายเป็นเหมือนของขวัญจากฟากฟ้า ส่งมาเยียวยาในช่วงเวลาที่ลำบากจนอยากร้องไห้

แต่แล้ว ฝันนั้นก็สลายไปในพริบตา (ร้องเป็นเพลงเลย) เมื่อทำอาชีพอิสระอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นเกษตรกรซะงั้น!

เรื่องนี้เป็นกระแสยกใหญ่อยู่พักหนึ่งเพราะหลายคนที่ลงทะเบียนบนเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เพื่อยืนยันสิทธิ์ว่าตัวเองมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาทุกประการ แต่กลับถูกระบบของเว็บไซต์ตรวจสอบว่ามีอาชีพเกษตรกร

ทั้งที่จริงๆ ไม่ได้ทำอาชีพนี้ซะหน่อย และเกษตรกรก็จะขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกปี จึงถูกคัดกรองว่าไม่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงิน

แม้ภายหลัง จะมีการแก้ไขที่หลังบ้านของระบบ และมีมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะตามมา แต่เคสนี้ก็ทำให้เกิดการถกเถียงในปัญหาเชิงโครงสร้าง ถึงคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ซึ่งควรมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงเวลาที่ประชาชนในรัฐอยู่ในสภาวะยากลำบาก

แต่สวัสดิการของรัฐไทย กลับช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากได้ไม่ทั่วถึง ทั้งในกรณีเงินเยียวยา 5,000 หรือกรณีการตรวจหาเชื้อโควิดที่มีราคาแพงเกิน จนทำให้หลายคนไม่สามารถไปใช้บริการตรวจได้เพราะจ่ายไม่ไหว เลยต้องใช้ชีวิตไปตามปกติจนไปแพร่โรคให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ตัดภาพกลับมาที่คำว่า รัฐสวัสดิการ หรือ Welfare State ราชบัณฑิตยสภา ให้นิยามไว้ว่า “รัฐหรือประเทศที่รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนในประเทศอย่างจริงจังและเป็นระบบ

โดยให้ประชาชนได้รับบริการด้านต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย การคมนาคมขนส่ง ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นบริการแบบให้เปล่าหรือคิดค่าบริการในอัตราต่ำ”

เมื่อตรวจสอบตามนิยามนี้ เครื่องหมายคำถามตัวหนาๆ จึงเกิดขึ้นในสังคม ว่าตกลงแล้วเรา-ในฐานะประชาชน ได้รับบริการที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่าง ‘ทั่วถึง’ และ ‘เท่าเทียม’ แล้วหรือยัง? ยิ่งท่อนสุดท้ายที่บอกว่า บริการนี้จะถูกคิดค่าบริการในอัตราต่ำ

แล้วค่าตรวจโควิดราคาหลายพันบาท ถือเป็นอัตราที่ต่ำแล้วเหรอ? อะ แล้วเงินภาษีที่ฉันเสียไป มันถูกแปรสภาพไปเป็นสวัสดิการที่ฉันควรได้รับมากน้อยแค่ไหนนะ? หรือการจะได้เงินเยียวยา 5,000 บาท ทำไมมันยากมันเย็นอย่างนี้ ตรวจแล้วตรวจเล่า

คำตอบคืออะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน (อ้าว) แต่หลังผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ หลายคนคงคาดหวังจะเห็นบทบาทที่มากขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการ ในการเข้ามาช่วยเหลือให้ประชาชนตาดำๆ อย่างเรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ

…หวังเล็กๆ อะนะ

เมื่อการกักตัว ปลุกความเป็นเชฟในตัวคุณ 

การกักตัวอยู่บ้านนานๆ ทำให้หลายคนเริ่มค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ไม่ว่าจะเป็นร้อง เต้น เล่นตลก ไปจนถึงการทำอาหาร บางคนเอาจริงเอาจังถึงขั้นผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของกินกันเลย ของกินฮิตๆ ช่วงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น บราวนี่ คุกกี้ และอีกสารพัดเมนูคาวหวาน จนเกิดเป็นประโยคขำๆ ว่า

“คนไทยมี 60 ล้านคน ทำบราวนี่ไปแล้ว 40 ล้านคน อีก 20 ล้านคนกินบราวนี่” 

อีกหนึ่งไอเทมยอดฮิตที่มีกันแทบทุกบ้าน อย่างหม้อทอดไร้น้ำมัน ที่แม้จะมีมานานแล้ว แต่ขายดิบขายดีสุดๆ ในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนอยู่บ้านหันมาทำอาหารกันมากขึ้น การทอดแบบไร้น้ำมันตอบโจทย์คนรักของทอดแต่ก็กลัวเสียสุขภาพ ไปจนถึงราคาที่เอื้อมถึงได้ในราคาหลักพัน

จนมีคอนเทนต์แนะนำเมนูจากหม้อทอดไร้น้ำมัน ไปจนถึง ‘สมาคมเราจะผอมด้วยเมนูหม้อทอดไร้น้ำมัน’ คอมมูนิตี้ในเฟซบุ๊กที่สมาชิกจะมาแบ่งปันเมนูและประสบการณ์จากการใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน ซึ่งมีสมาชิกกว่า 3 แสนคนแล้ว

หลักการของหม้อทอดไร้น้ำมันใช้ระบบลมร้อนและการย่าง ไม่ต้องเติมน้ำมัน แถมยังรีดน้ำมันส่วนเกินออกจากอาหารได้อีก เพียงแค่ใส่อาหารที่ต้องการทอดลงไป ตั้งเวลาและปรับอุณหภูมิ ก็ได้กินเมนูอร่อยๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องอมน้ำมันแล้ว

ความน่าสนใจคือจากนี้ไปหม้อทอดไร้น้ำมัน (หรือหม้อทอดลมร้อน) จะกลายเป็นสินค้าที่เกือบทุกบ้านตรงมี เหมือนกับไมโครเวฟที่ทำได้สำเร็จเมื่อนานมาแล้ว เพราะอันที่จริงหม้อทอดไร้น้ำมัน เริ่มกลับมาบุกตลาดเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ทว่ายังไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง กระทั่งมาถึงยุคนี้

เมื่อการทำอาหารได้เองเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่สามารถโพสต์บอกได้ผ่านโลกออนไลน์ พฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านของคนรุ่นโควิดก็มีโอกาสเปลี่ยนไปเช่นกัน

การกินอาหารที่ทำเอง อาจจะมีความน่าเล่าเรื่องลงในโซเชียลมีเดยมากกว่าการออกไปกินข้าวนอกบ้านก็เป็นได้

โควิดอาจผ่านพ้นไป แต่สุขภาพกายและใจยังต้องรักษาให้ดี (กว่าเดิม) 

Covid-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ คนหันมาใส่ใจ ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น เพราะเพียงแค่มีอาการไม่สบายเล็กน้อยก็ทำให้เป็นกังวลแล้ว ช่วงที่ Covid-19 ระบาดหนักมาก ตื่นมาแต่ละวันก็อดคิดไม่ได้ว่า ‘นี่เราติด(เชื้อ)หรือยัง?’ เจลล้างมือแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยก็กลายเป็นของที่ต้องพกติดตัว 

ข้อมูลจาก The Lancet ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีโรคหัวใจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต  

นอกจากนี้ ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 138 เคส ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ระบุว่า ผู้ป่วยอาการหนักระยะวิกฤติมักจะเป็น

  • โรคความดันโลหิตสูง 58%
  • โรคเบาหวาน 22%
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ 25%
  • โรคหลอดเลือดสมอง 17%

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ผู้เสียชีวิตมักมีโรคประจำตัว โดยโรคที่พบมากที่สุด คือเบาหวาน

แม้การแพร่ระบาดจะผ่านพ้นไป แต่คาดว่าผู้คนจะยังคงใส่ใจและดูแลสุขภาพและสุขอนามัยมากกว่าก่อนหน้านี้ ทั้งการออกกำลังกาย การกินอาหาร ไปจนถึงการรักษาระยะห่างทางสังคม 

นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าเดือน มี.ค. 2563 มีผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มากถึง 600 สาย ในขณะที่ เดือน ม.ค.-ก.พ.มีเพียง 20-40 สาย โดยส่วนใหญ่มีความเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์ Covid-19

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้แจงว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีความเครียดเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติมาก

ดังนั้น รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงไว้ก่อนดีที่สุด ไม่ว่าจะเจอเชื้ออะไร อย่างน้อยร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง

ความเหงาเป็นขั้วบวกขั้วลบ หนุ่มสาวได้กลับพบกันในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก

เมื่อทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติ แต่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการพูดคุยสื่อสาร แชร์ความรู้สึกร่วมกัน กลายเป็นว่าในยุคโควิด-19 นี้ ส่งผลให้ฟีเจอร์กลุ่มเฟซบุ๊กต่าง ๆ ที่เคยร้างไป กลับมาได้รับความนิยมในเมืองไทยอีกครั้ง

ตั้งแต่เริ่มจากกลุ่มรับฝากร้านจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแชร์ Connection สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเล็ก ๆ ของศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัย เริ่มขยายไปเป็นกลุ่มหาคู่ กลุ่มชุมชนหม้อทอดน้ำมันสำหรับคนชอบทำอาหาร กลุ่ม Nintendo swicth สำหรับเหล่านักเที่ยวเกาะ Animal crossing กลุ่มรวมคนออกกำลังกาย กลุ่มคนปลูกต้นไม้ และกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมายที่คนเข้ามาแชร์ความสนใจร่วมกันอย่างคึกคัก

ด้านเฟซบุ๊ก ประเทศไทยเองก็ออกมายืนยันกระแสความคึกคักนี้ ด้วยตัวเลขสถิติการใช้งานของคนไทยพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการรวมตัวกันมากขึ้น ในกลุ่มชุมชนของเฟซบุ๊ก ตั้งแต่กลุ่มการเลี้ยงลูก ไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มด้านเทคโนโลยีคราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) กลุ่มด้านการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย

ในปัจจุบันมีผู้คนกว่า 45 ล้านคน เป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ บนเฟซบุ๊กและมีกลุ่มต่างๆ บนเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 6 ล้านกลุ่ม ที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

กักตัวเป็นเหตุ ให้เกิดเทรนด์ Little Forest ริมระเบียงบ้าน 

สิ่งที่เป็นเทรนด์ยอดฮิตอีกอย่างในช่วงกักตัวก็คือ เทรนด์ปลูกผักสวนครัวและปลูกต้นไม้แต่งบ้านกันนั่นเอง เพราะกักตัวเป็นเหตุ ให้ประชาชนหลายคนแห่ออกมาซื้อช้าวของกักตุนกันไว้ที่บ้านจนมีราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับภาวะเครียดที่ต้องอยู่บ้านออกไปไหนไม่ได้

การปลูกผักเองที่บ้าน จึงเป็นกิจกรรมที่ลงตัวและตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะสามารถปลูกผักเก็บไว้รับประทานเอง แถมลุกขึ้นมาปลูกผักสวนผัว

ก็นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายระหว่างวันได้ เรียกได้ว่า วิน-วิน มีวัตถุดิบเก็บไว้ทำกับข้าวกินแถมยังอารมณ์แจ่มใสขึ้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐในแต่ละจังหวัดเองก็ออกมาผลักดันเรื่องนี้ไม่น้อย มีการแจกเซ็ทปลูกผักไว้ทานที่บ้านด้วยก็มี

นอกจากเทรนด์ปลูกผักไว้ทำกับข้าวทานเองแล้ว เทรนด์ปลูกต้นไม้ตกแต่งบ้านเอง ก็เป็นกระแสไม่แพ้กัน เห็นได้ชัดจากเดี๋ยวนี้เริ่มมีร้านค้าขายต้นไม้ออนไลน์ ชนิดปลูกง่าย ปลูกในคอนโดมิเนียมหรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัดได้กันมากขึ้น แถมยังมีดีไซน์กระถางที่น่ารัก ถูกใจคนชอบแต่งบ้านยิ่งนัก

รวมไปถึงตั้งแต่มาตรการปลดล็อคพื้นที่ตลาดที่ผ่านมานี้ ตลาดต้นไม้ ณ ตลาดนัดจตุจักร ก็กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่กลับมาคึกคักมากกว่าเดิมอีกด้วย การได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มบรรยากาศผ่อนคลายในบ้าน ก็อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในอนาคตมากขึ้น

ตู้ปันสุข ที่ไม่สุข ?

ตู้ปันสุข แต่เดิมแล้วมาจากไอเดียของ โครงการ ‘The Little Free Pantry’ ของ Jessica McClard โดยโครงการนี้ต้องการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนโดยการแบ่งปันของต่าง ๆ ในชุมชน ผ่านการติดตั้งตู้สำหรับรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำ ยา

นอกจากนั้นแล้วผู้คนที่ขาดแคลนก็สามารถมาหยิบสิ่งของบริจาคได้ตามที่ต้องการ และโครงการนี้เองก็ได้กลายมาเป็นไอเดียของ ‘ตู้ปันสุข’ ในประเทศไทย ซึ่งหากคิดดูแล้ว ตู้ปันสุขถือว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก แต่พอมาใช้งานที่ประเทศไทยแล้วกลับกลายเป็น “ตู้ปันสุข ที่ไม่สุข” ขึ้นมาซะงั้น

สรุปข้อถกเถียงของ ‘ตู้ปันสุข’

  • คนไทยไม่มีน้ำใจ หยิบของบริจาคมากเกินพอดี : ประเด็นแรกที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างก็คือ เหตุการณ์แย่งชิงของหลังจากมีการนำของบริจาคใส่ในตู้ ซึงก็มีเสียงวิจารณ์จากชาวเน็ตว่า คนที่มีหยิบของบริจาคมากเกินความพอดี เป็นคนไม่มีน้ำใจและไม่มีจริยธรรม และสิ่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนไม่มีน้ำใจ
  • ตู้ปันสุขแสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาล : หลังจากนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ต โดยพูดถึงเหตุการณ์แย่งชิงของบริจาค โดยถือว่าตู้ปันสุขเหล่านี้นี่เองที่สะท้อนถึงการทำงานของรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้ประชาชนต้องหันมาช่วยเหลือกันเอง และการที่รัฐบาลไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการแย่งชิงสิ่งที่บริจาคเกิดขึ้น และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย
  • ตู้ปันสุข สุขของใคร : ประเด็นสุดท้ายที่มีการออกมาถกเถียงนั้นพูดถึงประเด็นของ ‘ไอเดีย’ ของตู้ปันสุข ซึ่งมาจากไอเดียที่ว่า “Take what you need. Give what you can” ที่แปลความหมายได้ว่า “หยิบได้อะไรก็ได้ที่คุณต้องการ และให้ได้เท่าที่คุณสามารถทำได้” มีชาวเน็ตพูดกันว่า หากมีการหยิบของบริจาคมากเกินไปนั่นอาจหมายความว่า เขาคนนั้นอาจจะยากลำบากจริง ๆ ก็ได้ และหากใครไม่พอใจที่จะบริจาค หรือไม่ชอบที่เห็นคนมาหยิบของมาเกินพอดี ก็ไม่ต้องบริจาค เพราะไอเดียของการบริจาคคือ ‘การให้’

สุดท้ายแล้วประเด็นของ ‘ตู้ปันสุข’ จะจบลงเช่นไร เราก็ไม่สามารถทราบได้ และการกระทำแบบไหนผิดหรือถูก แท้จริงแล้วเราอาจไม่ใช่คนตัดสิน แต่การช่วยเหลือผู้คนยามยากลำบากก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมที่เจริญแล้วควรทำ

ถ้าอย่างนั้นการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ควรจะมีรูปแบบอย่างไร โมเดลตู้ปันสุขจะถูกพัฒนาไปแบบไหนให้เหมาะกับสภาพสังคมของไทย ต้องมาดูกันหลังจากนี้

กักตัวจนเฉา เพราะความเหงาเป็นเหตุ กิจกรรมทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วง Quarantine 

เมื่อกิจกรรมนอกบ้านหลายอย่างต้องงด (ในที่นี่ไม่ได้แปลว่าทำได้) ด้วยสถานการณ์ของ COVID-19 แต่ไม่ได้แปลว่าการสังสรรค์ หรือความสนุกที่เคยทำจะหายไป แค่เพียงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบสักนิดหน่อยเท่านั้น มาดูกันว่า เมื่อต้อง Quarantine  มีกิจกรรมทางสังคมใดบ้างที่เปลี่ยนไป

Party from Home

อยู่คนละบ้านก็ไม่เป็นไร ตั้งวง Drink From Home ก็ได้ นั่งอยู่ในจอโปรแกรมเดียวกัน คนจอขวาอยู่ทะเล จอซ้ายจะไปภูเขา เพื่อนอีกคนทะลุออกไปนอกโลกก็ไม่มีใครว่า กินเสร็จก็แยกย้ายแบบสองก้าวถึงเตียงนอน ไม่เสี่ยงอันตรายใดๆ

นอกจากการทำเครื่องดื่มหกใส่แล็ปท็อป ที่สำคัญการ Party from Home ยังเพิ่มโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนเก่ามากกว่าตอนปกติ เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เพียงเปิดโปรแกรม ส่งลิงก์ให้เข้าร่วม ก็เริ่มต้นได้ทันที

ดูหนังกับเพื่อน

โรงหนังไม่เปิดก็ยังสามารถดูหนังหรือซีรีย์ร่วมกับเพื่อนได้ เพียงโหลดส่วนขยาย Netflix Partyใน Google Chrome ก็สามารถเพิ่มอรรถรสในการดูไปพร้อมกับชาวแก็งค์ ทั้งยังสามารถเปิดห้องแชทเม้าท์ตัวละครกันได้แบบเรียลไทม์ แต่ระวังแชทเพลินจนลืมดูหนังกันด้วยนะ

แปลงร่างเป็นพ่อครัว นักพฤกษศาตร์ และผู้เชี่ยวชาญซีรีส์นานาชาติ

ถึงแม้ว่าจะเหงา แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการทำกิจกรรมที่เคยตั้งใจว่าจะทำ แต่ไม่มีเวลาทำสักที ทั้งการทำขนมหวานสูตรใช้แค่แช่ช่องฟรีซ ไปจนถึงผสมแป้งสร้างลวดลายเฉพาะ หรือหากกลัวเหงาก็หาต้นไม้มาพูดคุยและดูแล มีต้นไม้ตั้งแต่ไซส์สำหรับประดับโต๊ะ ไปจนถึงเติบโตได้เรื่อยๆ ชนิดที่เตรียมซื้อที่ดินสร้างป่าเป็นของตัวเองหลังจบการกักตัว หรือจะเข้าถึงแก่นแท้ของมนุษย์ด้วยการไล่ดูหนัง การ์ตูน และซีรีส์ทุกประเภท

สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นกิจกรรมเดี่ยว แต่ก็มีคอมมูนิตี้สำหรับแลกเปลี่ยนเรื่องราวและทริกเด็ดๆ มากมายตามแต่ละแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดีย ทั้งเพจเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่กรุ๊ปไลน์ก็ตามที เผลอๆ อาจคึกคักกว่าตอนไม่กักตัวด้วยนะ

เปิดตลาด

หลังจากเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านกันไปแล้วจากข้อข้างบน จะยลโฉมผลงานชิ้นเอกของเราอยู่คนเดียว ก็คงน่าเสียดายแย่ นำไปสร้างรายได้ด้วยการเปิดร้านออนไลน์ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายขนมหวาน คุ้กกี้ บราวนี่ (ที่มีประมาณแปดพันล้านสูตร แล้วแต่เจ้า) น้ำพริก สปาเกตตี้ ถ้ากลัวเหงาก็หาซื้อต้นไม้มาประดับห้องกันได้ หลายคนถือโอกาสนี้ขายสินค้ารีโนเวท หรือจะเปลี่ยนฝ่ายเป็นลูกค้าเองก็มี

มีร้านค้าแล้ว แต่ยังไม่มีตลาดจะทำอย่างไร? ไม่ต้องกังวลไปคนดี เพราะตอนนี้มหาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ต่างก็เปิด “มาร์เก็ตเพลส” เป็นพื้นที่สำหรับฝากสินค้าและบริการ

ความยิ่งใหญ่ก็มีตั้งแต่หน้ากากอนามัย อาหาร ลามไปถึงที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่เครื่องบินส่วนตัวก็ยังมี เรียกได้ว่าถ้าไม่ซื้อ เข้าไปอ่านข้อความฝากขาย ก็เพลิดเพลินคลายเหงาได้ไม่น้อย

การกักตัวอาจทำให้เกิดความเครียดและอาจกลายเป็นซึมเศร้าได้ หากเหงาก็อย่าลืมทักทายเพื่อนฝูง หรือทำตามกิจกรรมที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แม้จะดูแปลกๆ และไม่คุ้นเคยในตอนแรก แต่หลังจากปรับตัวได้แล้ว จะพบว่าว่าสนุกสนานและเพลิดเพลินเหมือนกับตอนก่อนหน้านี้ ต่างกันแค่เพียงมีความปลอดภัยกว่า เท่านั้นเอง

 

Writer Profile : MangoZero Team
Blog : MangoZero Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[Covid-19 Phenomena] 12 New Normal ในมุมเศรษฐกิจ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save