category คู่มือ “จรรยาบรรณสื่อ” ขั้นพื้นฐาน จ.บ.ส. 101 แชร์ไปให้ถึงนักข่าว


: 9 กรกฏาคม 2561

สื่อมวลชนคือกระบอกเสียงของประชาชนที่ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงด้วยจรรยาบรรณที่มี แต่ในยุคที่ใครได้ข่าวก่อนคือผู้ชนะในสมรภูมิข่าว 

ทำให้ได้เห็นว่าบางสื่อทำหน้าที่เกินขอบเขตความรับผิดชอบ จนทำให้เกิดคำวิพากวิจารณ์ว่า ​”จรรยาบรรณ” หายไปไหน

เราขอรวบรวมจรรยาบรรณสื่อมวลชนที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแบบฉบับย่อมาให้ดูกัน

เที่ยงธรรมและใช้ความจริงในการรายงานข่าว

ตามหลักการคุณสมบัติข่าวที่ดี จะต้องมีข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวชิ้นนั้น โดยนักข่าวต้องไม่ใช้อคติและความรู้สึกส่วนตัว มีความเที่ยงธรรม สมดุล

กรณีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องให้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจง และแสดงข้อเท็จจริง ไม่ว่านักข่าวจะเห็นตรงกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ก็ตาม เพื่อความเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพสังคมให้ชัดเจน

ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น เปิดเผยภาพเสียชีวิต , ระบุชื่อบุคคล

ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้การโพสต์ภาพนั้น เกิดความรวดเร็วจนลืมเซนเซอร์รูปที่ไม่ควรนำเสนอออกไป ทำให้นักข่าวถูกท้วงติงจากสังคมว่า ทำหน้าที่ล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

ซึ่งนักข่าวควรใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรอง ชั่งน้ำหนักความเหมาะสมขณะปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า การเสนอข่าวและภาพเปลือยของผู้ตาย หรือการระบุชื่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติมิตรทำให้เสียความเป็นส่วนตัวได้

รวมถึงการให้ข้อมูลที่เป็นความลับที่ไม่ควรเปิดเผยออกไปของเจ้าหน้าที่ขณะที่ทำงานอยู่ ก็เป็นสิ่งต้องห้ามที่นักข่าวไม่ควรทำเช่นกันเพราะอาจจะกระทบการทำงานของผู้เกี่ยวข้องด้วย

ใช้แหล่งข่าวปิด กรณีข่าวสืบสวน เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว

กรณีที่เป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน นักข่าวอาจต้องใช้แหล่งข่าวปิดซึ่งไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ เพราะอาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของแหล่งข่าวและครอบครัว หากนักข่าวละเมิดสิทธิของเขาในการป้องกันตัวเองเท่ากับทำผิดหน้าที่

ขณะเดียวกันการใช้แหล่งข่าวปิดมากจนเกินไปอาจถูกตั้งข้อสังเกตหรือวิพากษ์วิจารณ์จากคนอ่านได้ ว่าอาจนำไปสู่การบิดเบือน หรือทำให้การนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

เพราะคนอ่านไม่แน่ใจว่า แหล่งข่าวนั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ทางทีดีควรหาแหล่งที่มาจากทั้งสองฝ่ายเพื่อให้นำหนักข่าวเป็นกลางมากที่สุด 

การรับของขวัญจากแหล่งข่าว

แม้ว่าการรับของขวัญจากแหล่งข่าวจะเป็นสิ่งที่นักข่าวส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรม แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่า ของขวัญมีมูลค่าเท่าใดควรปฏิเสธ กรณีเป็นของขวัญที่มีค่าเล็กน้อย สามารถรับได้ เพราะการปฏิเสธอาจทำให้ผู้ให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ

แต่ถ้าเป็นของขวัญที่มีราคาสูง ควรส่งคืนทันที พร้อมอธิบายถึงหลักปฏิบัติและนโยบายของบริษัทอย่างสุภาพ อย่างไรก็ตาม นักข่าวต้องใช้วิจารณญาณ และสามัญสำนึกของการเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อสังคมมากกว่าหวังประโยชน์ส่วนตัว

ไม่แสดงตัวเป็นนักข่าวเพื่อใช้อภิสิทธิ์ หลีกเลี่ยงความผิด

การแสดงตัวเป็นนักข่าว เพื่อใช้อภิสิทธิ์ในการได้รับบริการสาธารณะก่อนบุคคลอื่นๆ หรือการใช้ความเป็นนักข่าวอวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่ชอบธรรม ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักจริยธรรม

ส่วนการไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าว ขณะกำลังทำข่าวจะเป็นข้อยกเว้น ในกรณีรวบรวมข้อมูล ทำข่าวเชิงสืบสอบ สอบสวน เนื่องจากการเปิดเผยตัวต่อแหล่งข่าวอาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ หรืออาจเกิดอันตรายได้ แต่ตามหลักจริยธรรมในการทำข่าวแล้วไม่ว่านักข่าวจะกำลังทำข่าวลักษณะใดก็ตาม

นักข่าวต้องแนะนำตัวเองและแจ้งถึงวัตถุประสงค์ ของการสัมภาษณ์ให้แหล่งข่าวทราบ ไม่ควรทำให้แหล่งข่าวประหลาดใจว่า ทำไมคำพูดของเขาจึงไปปรากฏเป็นข่าวได้ 

การขัดกันในด้านผลประโยชน์ สิทธิพิเศษและผลประโยชน์ทับซ้อน

ปัญหาการทำข่าวโดยมีการแอบแฝงในเรื่องผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน มักจะถูกท้วงติงจากสังคมเรื่องความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของนักข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการรับเชิญไปทำข่าวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศตามคำเชิญของแหล่งข่าว กรณีรายงานข่าวหรือบทความที่มาจากการได้รับเชิญจากแหล่งข่าว

เมื่อรายงานข่าวควรระบุให้ชัดเจนไว้ท้ายบทความ หรือรายงานชิ้นนั้นว่า ข้อมูลมาจากที่ใด และใครเป็นผู้จัดการในการเดินทางครั้งนั้น

ใช้ความสงสาร หรือเห็นอกเห็นใจในการนำเสนอข่าว

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่กระทบต่อจริยธรรมในการสื่อข่าวและเขียนข่าว คือ ความอึดอัดใจของนักข่าวกับแหล่งข่าวที่สนิทสนมหรือใกล้ชิด และนักข่าวถูกขอร้องให้ปกปิดหรือไม่ให้ระบุชื่อแหล่งข่าว ญาติมิตร หรือเพื่อนพ้องที่ตกเป็นข่าวเนื่องจากตายโดยผิดธรรมชาติ หรือขอให้ปิดข่าว

เพราะกลัวว่าจะทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยนักข่าวเองก็รู้สึกอึดอัด และเกิดความขัดแย้งต่อภาระหน้าที่ ขณะเดียวกันก็กลัวว่าหากไม่กระทำตามที่แหล่งข่าวขอร้อง

ต่อไปอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือในครั้งต่อไปอีก แนวทางแก้ไขคือ นักข่าวควรปรึกษากับบรรณาธิการ เพื่อให้นักข่าวคนอื่นทำข่าวนั้นแทน

นำเสนอข้อมูลที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติเศรษฐกิจ

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ..2540  เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าตรวจสอบเอกสารราชการได้ แต่ข้อมูลความลับของราชการ หากเปิดเผยอาจมีผลต่อความมั่นคงของชาติได้

หรือการรู้ข้อมูลการลดค่าเงินบาท และนำไปเผยแพร่ก่อนประกาศกระทรวงการคลัง  ทำให้มีการใช้ข้อมูลภายในไปเป็นประโยชน์ในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

เสนอข่าวที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

สถาบันกษัตริย์สำหรับประเทศไทยเป็นสถาบันสูงสุดที่ผู้คนให้การเคารพเทิดทูน การเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในวงกว้าง

การเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ระมัดระวัง ไม่เพียงมีผลให้ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความแตกแยกของคนในชาติด้วย

ที่มา : bangkokbiznews

Writer Profile : หญิงเกศ
สตรีผู้หลงใหลในการกิน อินกับการเดินทาง หลงทางในตัวหนังสือ(นิยาย) ทำปากจือเวลาถ่ายรูป
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save