ในยุคที่หลายคนเริ่มนิยามคำว่า Blogger เป็นอาชีพ จึงเริ่มมีบางท่านมองหาช่องทางในการทำอาชีพนี้ ซึ่งกำแพงแรกที่ต้องเจอคือใช้พื้นที่ไหนเขียน Blog ดีหล่ะ ในเมื่อไม่ได้มีความรู้ในเรื่อง technical มากนัก จะลุยเขียนเว็บเองก็คงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้เขียน Blog กัน สมัยนี้มีทางเลือกมากมายในการเขียน Blog แค่สมัครสมาชิกก็สามารถใช้งานได้ทันที ที่สำคัญคือฟรีด้วย แต่ถ้าอยากได้ชื่อ Domain เป็นของตัวเองก็ต้องเข้าไปจ่ายเงินอีกที เอาเป็นว่าขอให้มีระบบสำหรับเขียนก่อน ทางเลือกมากมายที่ว่าก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ลองมาดูว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับงานของเรามากที่สุด storylog.co storylog.co เป็นพื้นที่สำหรับเขียน Blog ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก และมีคนดังๆ หลายคนเลือกใช้ เป็นเว็บที่เน้นเล่าเรื่องง่ายๆ เขียนเร็วๆ สามารถเขียนบนสมาร์ทโฟนได้สบายมาก ใช้งานง่ายมาก เรียกว่าใครใช้ Microsoft Word ได้ ก็ใช้ storylog ได้แบบชิวๆ ด้านในเว็บของ storylog.co เองก็จะมี Community เล็กๆ สามารถกด Follow เพื่อติดตามบทความของคนที่เราชอบได้ และสามารถไปแสดงความคิดเห็นในบทความของคนอื่นได้ ข้อดี : ใช้งานง่ายมาก ง่ายตั้งแต่การสมัครยันเขียนเลยทีเดียว เว็บไซต์สวยงาม สบายตา ตัวหนังสืออ่านง่าย เขียนบนสมาร์ทโฟนได้ แถมยังมีแอพให้ใช้งานทั้ง iOS และ Android ผู้พัฒนาเป็นคนไทย เมื่อมีข้อสงสัยหรืออยากแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ทันที ข้อเสีย : เครื่องมือการใช้งานน้อยมาก อัพรูปภาพได้แค่รูปเดียวคือรูป Cover ของบทความเท่านั้น จัดหน้าตาได้ไม่เยอะมากนัก ทำให้บทความยังไม่มีความโดดเด่น Website : https://storylog.co iOS : https://itunes.apple.com/th/app/storylog/id932674646?l=th&mt=8 Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=co.storylog.storylog&hl=th WordPress.com wordpress.com พื้นที่สำหรับการทำเว็บไซต์ฟรี โดยระบบข้างหลังบ้านจะใช้เป็น WordPress สำหรับมือใหม่อาจจะต้องเรียนรู้การใช้งานเว็บไซต์เล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับซับซ้อนมากนัก ระบบค่อนข้างเสถียรและ SEO ค่อนข้างดี โดยเราจะใช้พื้นที่ฟรีบน WordPress.com ที่เค้าตั้งค่ามาให้ทุกอย่างแล้วสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากสมัคร โดยชื่อเว็บไซต์จะเป็นชื่อที่เราต้องการ ตามด้วย .wordpress.com เช่น Nokkaew.wordpress.com ถ้าเราต้องการชื่อ Domain เป็นของตัวเอง หรือติดตั้ง Plugin เพื่อเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เพิ่ม ก็ต้องจ่ายตังเล็กน้อยเป็นรายปี ข้อดี : ได้ใช้งานระบบเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมระดับโลก SEO ค่อนข้างดี ติดหน้าแรกบน Google ได้ง่าย ระบบเบื้องต้นให้มาค่อนข้างครบ มีผู้ใช้งานเยอะมาก เมื่อติดปัญหาสามารถค้นหาทางแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ข้อเสีย : มีอาการโหลดช้าบ้างเป็นบางครั้ง สำหรับผู้ที่อยาก Advance ต้องจ่ายเงินถึงทำได้ แนะนำโหลด WordPress.org มาติดตั้งบน Server เช่าดีกว่า ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สักพักหนึ่งถึงจะใช้งานได้คล่อง Website : wordpress.com Bloggang.com Bloggang.com ระบบเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับใช้งานเป็น Blog โดยเฉพาะ ซึ่งคนทำก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทีมงาน pantip.com นั่นเอง ระบบอาจจะดูเก่าไปบ้างเพราะก็ทำมานานมากแล้ว (แต่เห็นว่าแอบซุ่มทำ Version ใหม่อยู่นะ) แต่ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่นะ ระบบข้างในจะค่อนข้างเป็นสังคมของ Blogger อย่างชัดเจน แต่ละบทความสมาชิกข้างในจะเข้ามาเห็น และผู้เขียนแต่ละคนก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียนท่านอื่นอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นเพื่อนบ้านกัน ข้อดี : มีสังคมจากผู้ใช้งาน Bloggang.com ด้วยกัน มีโอกาสที่ pantip.com จะนำไปโปรโมทด้วย ข้อเสีย : ระบบค่อนข้างเก่าแล้ว ใช้งานค่อนข้างยาก Website : Bloggang.com Blogger.com Blogger.com พื้นที่สำหรับเขียน Blog จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเขียนบน Blogger.com บทความของคุณจะมี SEO ที่ดี๊ดี ติดอยู่หน้าแรกง่ายและไวมาก ใช้ง่านได้ค่อนข้างครบ ระบบฝากรูปดีมากๆ (ก็แหงละ ระดับ Google นี่นะ) ข้อดี : SEO ดีงามมาก ระบบหลังบ้านค่อนข้างครบและดีมากๆ หน้าแสดงผลสวยงามแบบไม่ต้องจัดอะไรมาก ข้อเสีย : ระบบไม่มีอะไรให้ใช้แบบ Advance มากนัก Website : Blogger.com medium.com medium.com ระบบเว็บไซต์สำหรับเขียน Blog ที่เน้นเร็ว และง่าย สมัครแล้วสามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเรียนรู้เยอะ ผู้ก่อตั้งคือ Evan Williams ผู้สร้าง Twitter นั่นเอง ซึ่งยังคงคอนเซปต์ความเร็วและความง่ายเช่นเดิม ข้อดี : ระบบใช้งานง่าย เครื่องมือพื้นฐานค่อนข้างครบ เว็บไซต์โหลดเร็วมาก ใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้สะดวกดี เขียนแบบเร็วๆ ได้สบาย มีระบบ Community ภายในเว็บไซต์ ข้อเสีย : ไม่สามารถปรับหน้าตาได้มากนัก บทความอาจจะขาดความโดดเด่นไปบ้าง Website : medium.com Facebook.com facebook.com เดี๋ยวนี้ fanpage เป็นช่องทางการสื่อสารที่ขาดไม่ได้เลย หลายคนเข้าเว็บไซต์ผ่านทาง fanpage แทบทั้งนั้น และทุกวันนี้แค่มี fanpage อย่างเดียวก็ทำอะไรหลายอย่างได้แล้วนะครับ เพราะพี่แกก็รองรับทั้งอัลบั้มภาพ โพสต์ข้อความ รวมไปถึงวิดีโอ fanpage จึงเป็นช่องทางที่สื่อสารง่าย และทุกคนก็คงใช้เป็นกันอยู่แล้วหล่ะ ข้อดี : ระบบใช้งานง่าย รองรับครบทุก Media ในปัจจุบัน รวมถึง Live ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จัดการผ่านแอพได้สะดวกมาก เป็นสื่อที่คนไทยเข้าถึงมากที่สุด ข้อเสีย : โพสต์และวิดีโอต่างๆ แทบจะไม่ติดอยู่บน Google Feed เคลื่อนเร็ว และค้นหาโพสต์เก่าๆ ได้ยาก Website : facebook.com Facebook Notes Facebook Notes เป็นฟีเจอร์ของ facebook ที่ดีมากๆ แต่หลายคนยังไม่ทราบ ระบบของ Facebook Note จะคล้ายกับเป็นโพสต์แบบ Advance สามารถใส่ข้อความตัวหนาตัวเอียง ใส่ภาพ ฝังลิงค์ได้ และใช้งานง่ายมากๆ สำหรับ Notes จะเป็นเหมือนกับไดอารี่ส่วนตัวมากกว่า เพราะบทความจะผูกกับ Account ของเราเท่านั้น คนที่เห็นจึงมักจะเป็นเพื่อนเราซะส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถตั้งค่า Privacy ได้ว่าอยากจะให้ใครเห็นบ้าง คล้ายกับโพสต์บน Facebook เลย ข้อดี : ระบบใช้งานง่าย และสวยงาม สามารถดึงรูปมาจากอัลบั้มบน Facebook ได้เลย ข้อเสีย : โพสต์และวิดีโอต่างๆ แทบจะไม่ติดอยู่บน Google Notes จะติดอยู่กับ Account ของเรา คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเจอจะเป็นเฉพาะเพื่อนหรือผู้ที่ติดตามเราเท่านั้น Website : Facebook Notes สรุปการเลือกใช้งาน ทุกวันนี้เครื่องมือมีเยอะมาก และเมื่อเราเลือกไปแล้วเราจะติดอยู่กับ Platform นั้นไปอีกยาว จึงควรคิดให้ดีก่อนเลือกสักตัวมาใช้ ควรคำนึงถึง SEO ด้วย ไม่เช่นนั้นบทความเราจะไม่มีคนเห็น หรือจะมีคนเห็นแค่ช่วงเดียวแล้วหายไป ควรมีเพื่อนๆ รอบตัวที่ใช้เครื่องมือตัวเดียวกัน จะได้มีคนที่เราสามารถปรึกษาได้ด้วย