ไขข้อสงสัย ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร มีอำนาจถึงแค่ไหน?

Writer : Rinrin

: 1 กรกฏาคม 2565

ไขข้อสงสัย ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร มีอำนาจถึงแค่ไหน?

เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่กรุงเทพมหานครได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ ซึ่งคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และระหว่างทางการทำงานที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้ว่าฯ ได้เริ่มทำตามนโยบายที่ได้วางไว้บ้างแล้ว

อย่างล่าสุดคือเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย ‘สร้างสรรค์ดี’ แต่คำถามที่อาจผุดขึ้นมาหากขยับไปนโยบายที่สเกลใหญ่กว่านี้อย่าง การแก้ปัญหารถติด หรือค่าโดยสารรถไฟฟ้า ผู้ว่าฯ จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงไหม

วันนี้เลยจะชวนมาทำความเข้าใจกันว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน และสามารถทำอะไรได้บ้าง นโยบายทั้งหลายที่ประกาศออกมาจะทำได้จริงมั้ยนะ? ผ่านข้อมูลฉบับย่อยง่าย อ่านแล้วเข้าใจการทำงานของท่านผู้ว่าฯ (ที่เราเลือกมา) มากขึ้นอย่างแน่นอน

1. ออกนโยบาย เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ

ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย การเลือกตั้งทางการเมืองย่อมมาพร้อมกับการขายนโยบายของพรรคหรือตนเอง ผู้ว่าฯ กทม.ก็เช่นกัน การกำหนดนโยบายเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด 

ตัวอย่างคือ นโยบาย 214 ข้อของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งนโยบายที่เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ก็ครอบคลุมถึง 29 ข้อการบริหารของกทม. ตามพ.ร.บ. จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ ที่มีตั้งแต่การดูแลพื้นที่สาธารณะ การรักษาความสะอาด การควบคุมสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงการบริหารระบบผังเมือง 

แต่คำถามที่ว่านโยบายแต่ละข้อจะทำสำเร็จมั้ยนั้น กุญแจสำคัญในตอนนี้คือ “อำนาจและฝีมือการประสานงาน” ของผู้ว่า เพราะผู้ว่าไม่ได้มีอำนาจ 100% ในทุกเรื่อง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ฟุตบาท ที่เราเดินอยู่ทุกวันนั้น อยู่ในการดูแลของ ‘กทม.’ แต่หากเป็นป้ายรถเมล์ที่อยู่บนฟุตบาทละก็ จะอยู่ในการดูแลของ ‘กรมขนส่งทางบก’ ซึ่งหากผู้ว่าฯ อยากจะปรับปรุงทั้งทางเท้าและจัดการตำแหน่งป้ายรถเมล์ใหม่ ก็ต้องอาศัยทั้งอำนาจของตนและการประสานงานกับกรมขนส่งทางบกด้วย

2. ประสานงานกับบริษัทเอกชน หรืออื่น ๆ ในการปรับปรุงพัฒนาระบบโครงสร้างต่าง ๆ 

อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วด้านบน การประสานงานถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพ และหากจะให้ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัดอีกอัน ก็ต้องเป็นข่าวล่าสุดของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มีแผนปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 25-30 บาท ต่อ 8 สถานี แน่นอนว่าผู้ว่าฯ จะต้องประสานงานและหารือกับหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ผู้ได้สัมปทาน BTS และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อผลักดันแผนงานนี้ให้สำเร็จ

3. แต่งตั้งหรือถอดถอน รองผู้ว่าฯ เลขานุการ และตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ 

การแต่งตั้งหรือถอดถอนตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ นั้นอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างล่าสุด หลังจากผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็ได้แต่งตั้งรองผู้ว่ากทม. จำนวน 4 คน คณะที่ปรึกษา เลขานุการ รองเลขานุการ และโฆษกกรุงเทพมหานคร รวมแล้วทั้งหมด 18 คนนั่นเอง

4. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย 

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ในตอนนี้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องบริหารงานหลายอย่างตามที่ได้รับมอบหมายมา หรือหากจะกระทำการอื่น ๆ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี เช่น การยุบสภากรุงเทพมหานคร จะต้องยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก่อน เป็นต้น

5. บริหารงบประมาณ(บางส่วน) ของกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าจะไม่สามารถจัดการกับงบประมาณแต่ละปีได้อย่างเต็มมือ ตัวอย่างงบประมาณทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร ปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 79,000 ล้านบาท แต่เกือบ 90̥% ของงบทั้งหมดถูกนำไปใช้ประจำหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเหลืองบเพียงประมาณ 10% ให้กับผู้ว่าฯ เพื่อใช้ทำตามนโยบายที่ได้วางแผนไว้

6. บริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย

นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การบริหารงานอื่น ๆ ตามปกติก็เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ เช่นเดียวกัน ได้แก่ การสั่งการ อนุญาต อนุมัติงานต่าง ๆ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร การวางระเบียบงานของกรุงเทพมหานคร และการรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 

 

จะเห็นได้ว่า อำนาจของผู้ว่าฯ นั้นไม่สามารถบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตัวเองในทันที หรือบางอย่างที่คนกทม. อยากให้พัฒนาก็อาจไม่สามารถทำได้ เช่นคำกล่าวผ่านหูที่ว่า “ผมไม่มีอำนาจในส่วนนี้” แต่ถึงอย่างนั้น ความใฝ่ฝันของชาวกทม. กับกรุงเทพในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นก็เป็นจริงได้ หากผู้ว่าฯ มีความสามารถ รวมถึงมีกุญแจสำคัญที่ได้กล่าวไปอย่าง การประสานงานกับหน่วยที่มีอำนาจต่าง ๆ

และหากจะฝันไกลไปอีกนิด การลดอำนาจส่วนกลางลง เพื่อเพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ ให้เต็มรูปแบบขึ้น ก็เป็นข้อเสนอของประชาชนส่วนหนึ่งที่มีในตอนนี้แล้ว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง นโยบายที่เป็นเพียงคำพูด จะเป็นความจริงได้เร็วมากขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพมหานครก็จะไม่เป็นเพียงความฝันอีกต่อไป 

 

ขอบคุณที่มาจาก ฐานเศรษฐกิจ, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528, The101.world

[Covid-19 Phenomena] New Normal ในมุมการทำงาน ที่เปลี่ยนไปหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save