เป็นยุคที่สื่อบันเทิงถูกเปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ จากรายการทีวีบนจอโทรทัศน์ก็หันมาไลฟ์ลงเฟซบุ๊ก พฤติกรรมการเสพสื่อของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ความบันเทิงหนึ่งที่อยู่คู่คนไทยมาตลอดหลายสิบปีและยังจะไม่หนีหายไปไหนก็คือ ละครเวทีในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ ‘ละคอนถาปัด จุฬาฯ’ ที่ยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ นับจากเรื่องแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 เราอยากพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับละคอนถาปัดให้มากกว่าเดิม และรู้ที่มาที่ไปของเอกลักษณ์ที่ส่งผ่านจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง รวมถึงตอบข้อสงสัยว่าทำไมละครสถาปัตย์จุฬาฯ ถึงเป็นหนึ่งในละครเวทีระดับนักศึกษาที่น่าสนใจ และมีผู้ติดตามอันดับต้นๆ ของประเทศในทุกปี จากซ้ายไปขวา 1.พี่ป้อม-นฤพ (รุ่นพี่) 2.หมู-นางสาวศิริรักษ์ (ผู้กำกับฝ่ายโปรดักชั่น) 3.เจน-เจนจิรา (ฝ่ายพีอาร์) 4.อาจารย์เซฟ-ศุภวัฒน์ (รุ่นพี่) ในบทสัมภาษณ์นี้ เราได้พูดคุยระหว่าง ‘ศิษย์เก่า’ ที่ผ่านการทำละครมาแล้ว กับ ‘รุ่นปัจจุบัน’ ที่กำลังเจริญรอยตามรุ่นพี่ไปติดๆ มาฟังเรื่องราวจากปากเด็กถาปัตย์เองว่าวันนี้กับวันนั้นเมื่อสามสิบปีก่อน ละคอนถาปัดได้ก้าวกระโดดและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จุดเริ่มต้นของละคอนถาปัด พี่เซฟ : เมื่อก่อนมันไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทีวีก็มีไม่กี่ช่อง โรงหนังก็น้อย มันไม่มีอะไรให้ทำก็เลยมานั่งรวมๆ กันอยู่ที่คณะ รุ่นพี่เขาก็คงจะแบบเออหาเรื่องทำ แล้วด้วยความที่เด็กสถาปัตย์มันชอบอะไรใหม่ๆ ตอนแรกเขาก็เริ่มทำเป็นคอนเสิร์ตลูกทุ่งสถาปัตย์ก่อน แล้วก็มีพี่ตู้ จรัสพงษ์ สุรัสวดี (ซูโม่ตู้) เนี่ยแหละที่เขาเห็นจากเมืองนอกมาว่ามันมีละครเวที เขาก็เลยเอาเข้ามาเล่นที่คณะสถาปัตย์ ก็ใช้ใต้ถุนเป็นเวทีสร้างเป็นอารีน่าให้คนชม คือดัดแปลงสถานที่ให้กลายเป็นโรงละครเวทีแบบจริงจังขึ้นมาเลย พี่ป้อม : ทีนี้พอรุ่นพี่เขาอยากทำ เขาก็ใช้วิธีว่าไปลงเรียนอักษรฯ บ้าง เรียนกับอาจารย์การแสดง ก็ครูพักลักจำเอา แล้วอยู่มาวันนึงกลุ่มพี่ตู้ก็ไปปรึกษาอาจารย์จากอักษรว่าอยากทำละคร อาจารย์ก็บอกว่าพวกเธอทำละครไม่ได้หรอก พวกเธอโปรเจคเสียงไม่เป็น ละครเรื่องแรกๆ ของถาปัดเลยเป็นการจำลองสถานการณ์ที่ป้ายรถเมล์ ชื่อ ‘คอยรถเมล์’ (พ.ศ.2517) ที่ไม่ต้องพูด นักแสดงทุกคนจะยืนเงียบๆ มีเหตุการณ์เกิดที่ป้ายรถเมล์ไม่มีใครคุยกันก็เลยไม่ต้องโปรเจคเสียง คงคล้ายๆ Mr. Bean ที่ไม่ได้พูดแต่ก็ว่าตลกด้วย เอกลักษณ์ของละคอนถาปัดที่ต่างจากคณะอักษรหรือนิเทศ พี่ป้อม : อย่างแรกคือพื้นฐานการทำละครของสถาปัตย์มันไม่เหมือนกับละคร academic อย่างที่อักษรฯ อย่างที่นิเทศทำกัน มันเกิดจากการดีไซน์ บางทีเราก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นละครเสียทีเดียวหรอก เรียกว่าเป็นคอมมาดี้โชว์ละกัน เราแค่อยากปล่อยมุกเราอยากปล่อยของ เราอยากดีไซน์นู่นดีไซน์นี่ บางเรื่องก็ไม่มีเหตุผลเลย อย่างที่สองก็คือ ‘การโกง’ เพราะละคอนถาปัดจะมีพี่มาช่วยเยอะมาก ต่างกับอักษรหรือนิเทศที่ทุกคนพยายามทำกันเอง แต่ละครสถาปัตย์แม่งโคตรขี้โกง เพราะวัฒนธรรมหลักๆ มันไม่ใช่ละคร ละครเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นสำหรับน้องๆ ยุคที่ยังมี passion ก็มีไอเดียก็ทำ น้องๆ เป็นคนขึ้นต้นเป็นคนเอาวัตถุดิบมากองไว้ ไอ้พวกพี่เก่าด้วยความที่ทำมาเยอะทำมาบ่อยมันก็อยากกลับมาช่วย พอทุกคนมาอยู่ด้วยกันมันเลยเกิดบรรยากาศของครีเอทีฟ ช่วยกันนั่งดูแล้วโยนไอเดียกัน ซึ่งจริงๆ แล้วละคอนถาปัดก็ยังเรียกให้รุ่นพี่มาช่วยเล่นได้ด้วยนะ ระดับตัวแม่เข้าวงการแล้วเขาก็กลับมาช่วยทำละครเหมือนกัน นิยามความเป็นเด็กสถาปัตย์ น้องหมู : ถ้าเป็นยุคเราเด็กสถาปัตย์แทบจะไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นมาก เรื่องเทสต์ด้านศิลปะอาจจะดีหน่อยแบบว่าได้เรียนมา หรือว่าได้ดูอะไรสวยๆ มา แต่ว่าพอมันมีอินสตาแกรมมีเฟซบุ๊ก เด็กศิลปกรรมเด็กสถาปัตย์ที่เหมือนคูลๆ ชิคๆ เนี่ย มันก็โดนเผยแพร่ออกไป แล้วคนอื่นก็เป็นคล้ายๆ เรา เด็กนิเทศก็มีที่แบบคูลๆ ตอนนี้มันเลยคล้ายกัน พี่ป้อม : กวนตีน เป็นคนกวนตีน พี่เซฟ : ในยุคเมื่อก่อน เด็กสถาปัตย์จะพยายามทำตัวเอง หรือสร้างตัวเองให้แตกต่าง มันเลยกลายเป็นเอกลักษณ์บางอย่างของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือข้อดีของการเป็นสถาปนิก ถึงแม้ตอนนี้จะมีสื่ออะไรเยอะก็ตามแต่ถ้าคนมีความคิดนี้อยู่มันจะดิ้นออกไปได้ ถ้ามองภาพรวมแล้วเขาทำอย่างนี้กันอยู่เราลองทำอย่างอื่นไหม แต่ว่าตอนนี้คนโดยทั่วไปไม่กล้าออกจากเซฟโซน คืออยู่อย่างนี้ก็ดีแล้วไม่รู้จะออกไปทำไมไม่มีแรงบันดาลใจที่จะออกไป ยกตัวอย่างเพลงเฉลียงในยุคนั้นที่อยู่ดีๆ ก็เล่นเพลงไข่เจียว ซึ่งยุคนั้นมันไม่มีใครเอาไข่เจียวมาทำเพลงอะ แม้แต่ในเพลงก็พูดเรื่องทำไข่เจียว ในขณะที่คนอื่นทำเพลงรักกันอยู่ คือมันแตกต่าง เด็กปี 1 ที่เข้ามาใหม่จะได้เจอกิจกรรมอะไรบ้างในคณะสถาปัตย์ พี่เซฟ : ในคณะมันมีกิจกรรมเยอะมาก มีค่ายอาสามีกีฬารักบี้ ซึ่งละครก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับคณะตั้งแต่รุ่นพี่ๆ พวกซูโม่, พี่ตา ปัญญา, พี่ตู้ หรือว่าพี่คนอื่นๆ ที่เขาออกไปทำยุทธการขยับเหงือก ก็เป็นพี่คณะทั้งนั้นเลย หรือว่าสัญญา คุณากร ก็คือคนเหล่านี้ก็เกิดมาจากละครของคณะ แล้วก็เหมือนกับเมื่อก่อนความบันเทิงมันมีให้เลือกไม่เยอะ ละครเวทีมันเป็นอย่างนึงที่มันแปลกใหม่ เขาก็เลยทำชื่อเสียงกันมา ทีนี้พอคนที่รู้จักสถาปัตย์ จุฬาฯ ก็รู้จักเพราะพี่เหล่านี้เขาช่วยสร้างชื่อเสียงมาด้วย คิดว่าเด็กๆ ที่เข้ามาเนี่ยความคาดหวังหนึ่งก็คืออยากจะเล่นละครหรือว่าเข้ามาทำเบื้องหลังละคร พอได้เป็นรุ่นพี่ปี 3 ก็จะเป็นเฮดหลักของละคร เฮดหลักก็จะแคสติ้งนักแสดงใหม่เข้ามาซึ่งเป็นเด็กปีหนึ่งเข้ามา พวกพี่ปีสี่ปีห้าและพี่เก่าๆ ที่เขาจะมีประสบการณ์สูงในการคิดบทในการเจาะมุก เขาก็จะกลับมาช่วยดูตอนที่ซ้อมก็จะเป็นกิจกรรมที่ตั้งแต่เข้ามาเนี่ยจะได้เจอ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความชอบไหม ถ้าไม่ชอบก็ไม่เล่นต่อก็ได้ คือทุกอย่างมันคือความสมัครใจถ้าชอบก็เล่นต่อไป ถึงทุกวันนี้ละคอนถาปัดกลายเป็นประเพณีไปแล้ว พี่เซฟ : ส่วนตัวไม่อยากให้ใช้คำว่าประเพณี เพราะอย่างที่เล่ามาเมื่อก่อนเขาก็ทำอย่างอื่นมาก่อนถึงค่อยมาเป็นละคร แสดงว่ามันไม่ได้แปลว่าต้องเป็นอันนี้ สมมติว่าคนรุ่นใหม่ถนัดเต้น cover นะก็เต้น cover โชว์ไปเลย ซึ่งมันก็ท้าทายความคิดความสร้างสรรค์นะ การคิดงานแบบสถาปัตย์มันเกี่ยวโยงกับการทำละครยังไง? น้องหมู : อย่างตอนคิดแบบงานใช่ไหมคะ มันก็เริ่มจากการวิเคราะห์สิ่งที่เรามีก่อน เหมือนเริ่มจากตึกที่จะสร้างให้คนใช้ ซึ่งกับละครเราก็เริ่มเหมือนกันคืออย่างแรกเราหาที่แสดงก่อน แล้วก็ดราฟต์ฉากขึ้นมาสำหรับสถานที่นั้นๆ ซึ่งปีนี้ก็คือที่หอประชุมจุฬาฯ สถานที่ก็ถือเป็นเงื่อนไขนึงในการคิดฉาก พอมาถึงเรื่องบท เราก็มาดูว่าเรามีอะไรอยู่บ้างก็จะคิดถึงนักแสดงว่าเรามีใครที่จะเอามาเล่นเป็นนางเอก ลิสต์มาประมาณสองสามคน คาแร็คเตอร์เขาประมาณนี้เนื้อเรื่องทั้งหมดต้องมาสัมพันธ์กับสองคนนี้ มันก็เลยเป็นการคิดแบบคอนเซ็ปต์ เหมือนตอนเราออกแบบอาคารว่ามันเกิดคอนเซ็ปต์มาจากสิ่งแวดล้อม จากประวัติที่ตรงนั้นหรืออะไรอย่างนี้ พอมันตอบโจทย์หมดแก้ปัญหาทุกอย่างได้แล้วก็ใส่ครีเอทีฟลงไป ก็เป็นความสวยงามเป็นมุกตลกที่เราใส่เข้ามา มาถึงตอนนี้ได้อะไรจากการทำละครบ้าง? ละครถาปัตให้อะไรกับชีวิตมากที่สุด? น้องหมู : ทำให้อยากพยายามเป็นคนสื่อสารที่ดีขึ้นมากๆ เมื่อก่อนพูดไม่รู้เรื่อง แต่ว่าพอเรามาทำกำกับก็ต้องสื่อสารกับเพื่อนกันเองให้รู้เรื่อง และพอสื่อสารกันเองให้เสร็จปุ๊บมันต้องไปคุยกับคนอื่นด้วย หมายถึงว่าเราจะทำยังไงให้งานเรามันคุยกับคนดูรู้เรื่อง ทำให้ละเอียดอ่อนขึ้นมาก ละครให้ความใส่ใจ เราคุยกันในละครว่ามันน่าจะยกระดับอะไรบางอย่างคนดู ซึ่งก็อาจจะได้หรือไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยเราก็มีความตั้งใจที่ดี คนดูก็น่าจะได้รู้สึกอะไรบ้าง ก็ทำให้เราเป็นคนดีขึ้น พี่เซฟ : การเล่นละครเวทีมันคือการสื่อสารกับคนดู การที่เราเล่นไปเราต้องดูคนดูด้วยว่าเขาตอบอะไรกลับมา แม้แต่ตอนนี้ที่เป็นอาจารย์เนี่ย เราจะรู้ว่านักเรียนรู้สึกยังไง เราควรจะดุ ควรจะใจดี หรือเราควรจะเงียบ อันนี้มันเป็นศาสตร์เดียวกัน ในภาพรวมที่เห็นชัดๆ ก็คือคอนเนคชั่นหรือความสัมพันธ์ของพี่น้องรวมกัน หลายคนได้งานดีๆ ชักชวนกันไปทำงานจากการทำกิจกรรมละคร แล้วมันเป็นกิจกรรมที่ใหญ่เพราะฉะนั้นบางทีมันกลายเป็นวิชาชีพไปเลยนะ กลายเป็นว่าบางคนเป็นผู้รับเหมาที่รวยมากจากการที่รู้จักพี่ที่ทำละครมาด้วยกัน หรือบางคนได้ประสบการณ์เพื่อออกไปทำอย่างอื่นต่อ ไม่จำเป็นต้องออกไปแล้วทำการแสดงหรืออยู่ในวงการ พี่ป้อม : มันสร้างตัวตนเราอีกแบบนึง คือคนเรามันไม่ได้มีหน้าเดียว ถ้าชีวิตเหมือนลูกเต๋าละครคือหน้านึงเลย มันจะเป็นคาแร็คเตอร์ที่เราหมุนไปหมุนมาในชีวิตเรา บางวันเราก็เป็นสถาปนิก บางวันเราก็เป็นนักวิชาการ บางวันเราก็เป็นครูสอนป้องกันตัว วันไหนที่เราพลิกหน้าละครขึ้นมาใช้งาน มันได้ทันที ส่วนนึงมันเป็นคาแร็คเตอร์เป็นตัวตนเรา เป็นยี่ห้อเรา แต่อันนึงที่ได้แน่ๆ คือเรื่องคอนเนคชั่น แต่ก่อนเราดูพวกนี้ในทีวี ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลย ซูโม่ตู้, จิก ประภาส, ปัญญา, เฉลียง ชีวิตเราเคยดูพวกนี้ในทีวีมาตลอดไม่รู้เลยว่าโตมาปุ๊บจะได้นั่งคุยกับคนพวกนี้ แล้วคิดว่าละครจะให้อะไรกับคนดูบ้าง? น้องหมู : ตอนเราเป็นคนดูก็ได้รอยยิ้มกลับมา มันไม่ได้มีข้อคิดอะไรให้กลับไปนอนคิดขนาดนั้นเหมือนดูละครอักษรฯ หรือละครนิเทศที่จะมีเพลงติดหัวให้กลับมาร้องอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าตั้งใจดูเราว่าก็ได้อะไรแหละ เหมือนเห็นอีกมุมนึงที่คนอื่นอาจจะไม่คิด แล้วเราเอามาให้เขาเห็นแบบเสพง่ายๆ ซึ่งก่อนที่มันจะออกมาเป็นมุกบางอย่างที่คนดูเห็นแค่แป๊บเดียวจริงๆ เราคิดกันมาก่อนหน้านั้น แบบซ่อนตรงนี้ไว้ถ้าคนเก็บตรงนี้ได้นะมันจะอย่างงี้ๆๆๆ แต่ว่าคนก็จะไม่ได้ตั้งใจดูขนาดนั้นหรอก ก็จะขำๆ ไป พี่ป้อม : มันมีอยู่อย่างเดียวคือเราทำอะไรให้คนแฮปปี้มีความสุข และตอบสนองการครีเอทของเรา เราอยากทำอะไรสนุกๆ ที่มันเจ๋งๆ แปลกๆ พี่เซฟ : สิ่งที่ได้สะท้อนกลับมาจากคนที่มาดูนะ เป็นความสนุกที่เขาจดจำได้ เป็นช็อตเลยนะเพราะว่าสิ่งที่เสนอไปมันคือสิ่งที่เขาคาดไม่ถึงและมันเป็นความแปลกใหม่ของความตลก เขาจะจำซีนได้จนถึงทุกวันนี้ คนดูจะได้เจออะไรใน ‘แดจังกึม’ ละคอนถาปัดปีนี้บ้าง? น้องเจน : เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็เลยพยายามจับหาอะไรที่คนสมัยนี้เขาชอบกัน ซึ่งคนสมัยนี้ชอบกินอาหารเยอะ ชอบแชร์อาหารกันในโซเชียล ยิ่งอาหารเกาหลีด้วย เราก็เลยจับเสน่ห์ของอาหารเนี่ยแหละมาใส่ในละครเรา ให้มันมีความน่าดูมากขึ้น มีความแปลกใหม่ของเราที่จะใส่เทคนิคต่างๆ ในการสร้างสรรค์อาหารผสมกับละครและการเล่าเรื่อง ก็มาดูว่าด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกเราจะออกแบบซีนต่างๆ ให้ดีและสนุกไปกับอาหารออกมาเป็นแบบไหน น้องหมู : มาดูกันว่าจะทำอาหารบนเวทีได้ยังไง แมงโก้ : คือตอนดูนี่จะได้กินไปด้วยเหรอ? น้องหมู : ต้องลองมาดู เรื่องย่อ “แดจังกึม เปิดผนึก บันทึก นางใน” โชซอน, ประเทศเกาหลี, ศตวรรษที่ 15 ในห้องเครื่องซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นเครื่องปรุง นางในธรรมดาคนหนึ่งมีชีวิตเป็นประวัติศาสตร์ ชื่อของนางบันทึกไว้ในจดหมายเหตุของราชวงศ์โชซอนและจะอยู่คู่ชนชาติเกาหลีตราบนานเท่านาน ซอจังกึม นางในผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์อันโดดเด่น มีตำแหน่งซังกุงสูงสุดเป็นเป้าหมาย เส้นทางนี้แม้ไม่ราบเรียบแต่นางกลับไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค เพียรฝึกฝืมือการปรุงอาหารอย่างอดทน พร้อมแชกึมยองเพื่อนสนิทผู้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทว่าเมื่อการแข่งขันชิงตำแหน่งใกล้เข้ามาเพื่อนของ นางกลับเปลี่ยนไป หรือความฝันจะต้องแลกมาด้วยมิตรภาพ… รายละเอียดเพิ่มเติม วันที่แสดง 5-7 และ 13-14 มกราคม 2561 (ระยะเวลาแสดงประมาณ3ชั่วโมง) สถานที่ : หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มจำหน่ายบัตรวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ซื้อบัตรออนไลน์ https://www.tapadkarnlakorn.com บัตรราคา 260, 300, 360, 400 บาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของละครได้ที่ FB: ถาปัดการละคอน60 : archcuentertainment