เทคนิคบริหารงานอย่างไร ให้ได้ใจพนักงานในช่วงวิกฤตโควิด-19


: 24 เมษายน 2563

แน่นอนว่า ณ เวลานี้ แทบไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 วิกฤตในครั้งนี้นับเป็นบททดสอบที่ท้าทายความสามารถผู้บริหารทุกธุรกิจว่าจะสามารถดูแลกิจการและบรรเทาจิตใจพนักงานได้ให้รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ได้หรือไม่

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทยได้ริเริ่มโปรเจค “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารและธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อยให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ตอนนี้

โดยในเฟสแรกที่เปิดตัวไปแล้วก็ได้มี “เถ้าแก่ใจดี” เข้าร่วมโครงการ ในช่วงนำร่อง 2 ราย ได้แก่ คุณสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะธานี และคุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป

ซึ่งเป็นเครือโรงแรมขนาดใหญ่ในภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 แต่ทั้ง 2 โรงแรมก็ยังดูแลพนักงานและพร้อมฝ่าฝันวิกฤตครั้งนี้ โดยไม่มีการเลิกจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน 

ทั้ง 2 ท่านได้มาร่วมแชร์มุมมองและแง่คิดในการบริหารงานให้ได้ใจพนักงานในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ในฐานะของ “เถ้าแก่” ผู้บริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่รายได้หลักหายวับไปในพริบตาเมื่อไวรัสระบาดไปทั่วโลก จะมีมุมมองไหนที่น่าสนใจบ้าง Mangozero ขอสรุปมาให้ได้อ่านกัน

“ทุกวิกฤต มีโอกาส”

ในทุก ๆ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศ เรามักจะได้เห็นธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น ปัญหาที่เจออาจกลายเป็นหนทางสู่ความล้มเหลวหรือความสำเร็จก็ได้ ขอเพียงแค่คุณปรับมุมมองต่อวิกฤตใหม่

วิกฤตในครั้งนี้ก็จะถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ได้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สร้างไอเดียทางธุรกิจและบริการที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้เสมอ

“ลูกจ้างคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด”

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้วนั้น หัวใจหลักที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ก็คือ คุณภาพของงานบริการ ฉะนั้นแล้วพนักงานภายในโรงแรม ก็นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

ในสถานการณ์ปกติพนักงานต่างก็ให้บริการอย่างเต็มที่ เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ให้ลูกค้าตัดสินใจกลับมาพักที่โรงแรมอีก ก็ยิ่งช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ

ในยามเจอวิกฤตก็ควรฝ่าฟันไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งยามพนักงานลำบาก คอยประคับประคองให้เขาอยู่ได้ เมื่อวันที่โรงแรมกลับมาเปิดอีกครั้ง พนักงานทุกคนก็จะกระตือรือร้น มุ่งมั่นและยิ่งรักในองค์กรมากขึ้น 

“ความปลอดภัยและสุขภาพทุกคนเป็นที่หนึ่ง”

จากข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าแทบไม่มีใครไม่กังวลว่าตัวเองจะมีโอกาสติดเชื้อหรือไม่ แล้วถ้าป่วยขึ้นมาก็อาจจะยุ่งยากไปถึงครอบครัวหรือชุมชนที่พักอาศัยอยู่ร่วมกันอีก การดูแลเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงานทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ยังจำเป็นต้องเดินทางมาทำงานอยู่ บริษัทควรดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงานและป้องกันความปลอดภัยในโรงแรมให้เป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคนมาทำงานได้อย่างอุ่นใจไร้กังวล ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“บริหารด้วยใจแลกใจ”

นอกจากมุมมองของ 2 เถ้าแก่ใจดีแล้ว ยังมีผลการสำรวจจากงาน Facebook Live  “รวมพลังผู้นำเข้มแข็ง by Slingshot Group” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้นำองค์กรกว่า 30 องค์กรชั้นนำในไทย มาแลกเปลี่ยนมุมมองบทบาทของผู้นำในการพาองค์กรให้ผ่านช่วงที่ยากที่สุดนี้ พบว่า “การสื่อสาร” เป็นทักษะของผู้นำที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นที่สำคัญที่สุดในภาวะวิกฤตถึง 52%

ซึ่งสิ่งที่เถ้าแก่ควรทำในช่วงโควิด-19 ก็คือ “การแสดงความจริงใจ”  ด้วยการลุกขึ้นมาเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์จริงที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่อย่างตรงไปตรงมา

บริหารแบบใช้ “ใจแลกใจ” จับเข่าคุยกับทุกคนในบริษัท เปิดโอกาสให้พนักงานแลกเปลี่ยน ซักถามข้อข้องใจ ด้วยการตอบคำถามพวกเขาอย่างจริงใจ และพยายามช่วยกันหาช่องทางให้อยู่รอด โดยที่พนักงานยังอยู่ได้และบริษัทก็ไปรอด  เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม ให้ทุกคนพร้อมร่วมแรงร่วมใจสู้ต่อด้วยกัน

“กู้วิกฤตศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นในองค์กร”

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เถ้าแก่ทุกคนต้องรับมือ อีกวิกฤตที่ควรระวัง เพราะถ้าหากเกิดขึ้นแล้วจะกู้สถานการณ์ได้ยากไม่แพ้กัน ก็คือ “วิกฤตศรัทธา”

การสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานเป็นอีกวิธีที่จะทำให้ทุกคนรับรู้ว่า “คุณยังสู้” เพื่อให้พนักงานยังมีแรงใจ เดินหน้าร่วมทางกับคุณต่อไปอย่างเต็มที่

ซึ่งวิธีที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ก็คือ การเข้าใจปัญหาของพนักงานและยื่นมือเข้าช่วยเหลือเท่าที่สามารถจะช่วยได้ แน่นอนว่าปัญหาในภาวะนี้ ก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่แม้ธุรกิจจะหยุดชะงักไป รายรับทุกคนอาจไม่ดีเท่าเดิม แต่รายจ่ายและภาระกลับเพิ่มขึ้น

ในโปรเจค “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ของธนาคารกสิกรไทย ก็ได้มีนโยบายช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อยให้สามารถอยู่รอดได้ด้วยการลดดอกเบี้ยให้กับธุรกิจ เพื่อช่วยให้พนักงานมีงานทำ มีรายได้ พร้อมช่วยลดภาระหนี้ต่าง ๆ ผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ 

ซึ่งทางธนาคารตกลงกับเถ้าแก่แต่ละธุรกิจด้วยเงื่อนไขแบ่งภาระรับผิดชอบกันคนละครึ่ง เช่น พนักงานเงินเดือน 10,000 บาท ธนาคารลดดอกเบี้ยให้เถ้าแก่ 5 พันบาท แล้วให้เถ้าแก่เอาก้อนนี้ไปจ่ายพนักงาน และเมื่อรวมกับอีกครึ่งที่เถ้าแก่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ก็จะทำให้พนักงานได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ก็จะสามารถช่วยพนักงานให้มีรายได้เลี้ยงปากท้องผ่านไปได้ 

ซึ่งก็เป็นโครงการดีๆ ที่ธนาคารกสิกรไทยได้ทำขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาฤทธิ์ไข้จากโควิด-19 ให้แก่ทั้งเถ้าแก่และลูกจ้างได้ จวบจนกว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไป Mangozero เองก็ขอเป็นกำลังใจให้เถ้าแก่, พนักงานและคุณผู้อ่านทุกคนสู้ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ผ่านภาวะนี้ไปอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน

 

 

 

 

TAG :
Writer Profile : jazz.ordinaryday
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[Covid-19 Phenomena] 12 New Normal ในมุมเศรษฐกิจ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save