category 6 กับดักความคิด ทำให้เวลาในชีวิตไม่เคยพอ!

Writer : Patta.pond

: 25 พฤศจิกายน 2563

“ไม่มีเวลา” คำนี้ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ทั้งที่ก็รู้สึกว่าตัวเองใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่าแล้ว นั่นก็เพราะว่ามีเหตุการณ์หรือการเผลอมองสิ่งรอบข้างมากเกินไป ปัจจุบันจึงเกิดคำว่า “ความร่ำรวยทางเวลา” (Time Affluent) หมายถึงช่วงเวลาที่ว่างพอที่จะพักผ่อนได้จริงๆ โดยไม่ต้องเอางานมาทำ หรือคุยโทรศัพท์เรื่องอื่นๆ ไปด้วย

ทั้งที่ปัจจุบันมีเครื่องมือในการจัดการเวลามากมาย แต่สุดท้ายแล้วเราต่างก็พบว่ามีเวลา “ว่าง” น้อยกว่าในอดีต  นั่นเป็นเพราะความคิดที่เรามี และสิ่งที่เราทำเพื่อเผาผลาญเวลาได้เปลี่ยนไป

วันนี้ Mango Zero อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก  6 กับดักความคิดผิดๆ เกี่ยวกับเวลา ที่พรากเวลาอันมีค่าไปจากคุณก่อนกันเถอะ

กับดักที่ 1 เทคโนโลยีทำให้เวลากระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (Time Confetti)

ขณะที่กำลังตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เดี๋ยวก็มีเสียงอีเมลล์เด้ง หรือไลน์แก้งานดราฟต์ที่ 5 จากลูกค้า ระหว่างที่แก้งานอย่างฉับพลัน ก็มีแจ้งเตือนจากครอบครัวที่ต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนดังขึ้นมาอีก ทำให้สุดท้ายกลายเป็นทำไม่เสร็จเลยสักงาน

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราเสียเวลาไปโดยไม่รู้ตัว และกว่าจะกอบกู้สมาธิกลับมาได้ ก็ยากเย็นกว่าตอนที่โดนทำลายมากนัก เราเรียกงานยิบย่อยที่ใช้เวลาสั้นๆ ทำ แต่โดยรวมแล้วกินเวลาไปมากโขว่า “Time Confetti”  การต้องโต้ตอบกับงานเหล่านี้แบบฉับพลัน ทำให้เราใช้พลังงานมากกว่าปกติ สุดท้ายแล้วจึงรู้สึกเหนื่อย และไม่มีเวลามากกว่าเดิม

ลองเปลี่ยนเป็นการทำงานแบบ Proactive คือวางแผนไว้ล่วงหน้า และมุ่งทำงานเหล่านั้นให้เสร็จ

กับดักที่ 2 เราให้ความสนใจกับเงินมากเกินไป

“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” วลีไร้ที่มา แต่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยความเชื่อว่าจะเงินจะสามารถสร้างความสุขได้ จึงยอมแลกกับหลายอย่างเพื่อให้ได้มา ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ ชื่อเสียง หรือกระทั่งเวลา

จริงอยู่ที่ว่าเงินนั้นสร้างความสุขได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมด งานวิจัยที่เก็บข้อมูล 1.7 พันล้านคน จาก 165 ประเทศ พบว่า เมื่อผู้คนทำเงินได้ถึงประมาณ 65,000 ดอลลาห์ต่อปี เงินจะไม่สามารถสร้างความสุขได้อีกต่อไป แน่นอนว่าการมีเงินเป็นเครื่องป้องกันเราจากความเครียดได้อย่างแน่นอน เมื่อรถยนต์พัง หรือต้องเข้าโรงพยาบาล ตัวเลขในบัญชีก็พอให้เราอุ่นใจได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นจะกลายเป็นดี จริงไหม

การมุ่งหาเงินโดยไม่ซึมซับประสบการณ์สำคัญรอบข้าง จึงเป็นความเชื่อที่ผิด และทำให้เราเสียช่วงเวลาดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะสุดท้ายแล้วการไล่ล่าความร่ำรวย ก็จะทำให้เราไล่ล่าไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น

กับดักที่ 3 เราให้ค่าของเวลาน้อยเกินไป

เพราะธรรมเนียมการให้คุณค่ากับเงินตรามากเกินไป หลายคนป้องกันการสูญเสียเงินด้วยการใช้เวลาที่มากขึ้น เพื่อผลลัพธ์เท่าเดิม แต่ใช้เงินน้อยลง อย่างที่หลายคนเคยพูดว่า เงินซื้อเวลาได้นั่นเอง

ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะวัดคุณค่าของเวลา ส่วนใหญ่เราจะเลือกการประหยัดเงิน ด้วยการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่าเอาซะเลย นั่นเพราะเงินเป็นสิ่งที่ดูจับต้องได้มากกว่า ทำให้เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว คำว่าเสียเวลาที่ว่า มัน “เสีย” ไปเท่าไหร่

ตัวอย่าง่ายๆ หากคุณเดินทางด้วยเที่ยวบินต่อเนื่องในราคาที่ถูกลงเพียงเล็กน้อย นั่นแปลว่าคุณกำลังติดอยู่ในกับดักของข้อนี้ ลองนึกดูว่าประหยัดเงินได้ 5,000 บาทก็จริง แต่กินเวลาในทริปของคุณเพิ่มอีก 8 ชั่วโมง ซึ่งทำให้คุณอดใช้เวลาในการเที่ยว และเพลียจากการเดินทางมากขึ้น

แบบนี้แล้ว จะยอมเสียเงินเพิ่มหรือเปล่านะ

กับดักที่ 4 เพราะการยุ่งตลอดเวลา น่าภาคภูมิใจกว่าการมีเวลาว่าง

ยุคนี้เป็นยุคที่ชีวิตเราผูกติดอยู่กับงานมากกว่าช่วงไหนๆ การบอกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบงานเยอะเเยะ ฟังผิวเผินอาจฟังดูหมือนบ่น แต่ยอมรับมาเถอะว่าลึกๆ แล้วเราภาคภูมิใจ เพราะบ่งบอกว่าตัวเองมีหน้าที่และความสำคัญ หลายคนได้รับการประเมินที่ทำงานว่าทำงานดี เพียงเพราะทำตัวยุ่งตลอดเวลา ทั้งที่ผลลัพธ์ไม่มีอะไรเลย

นอกจากนั้น การรู้สึกไม่ปลอดภัยทางการเงิน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการทำงาน ยิ่งมีโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ของการแสดงถึงความชีวิตดี ยิ่งทำให้สถานะทางการเงินของแต่ละคนสั่นคลอน ทำให้ตัวเองเร่งหาเงินมากขึ้น จนกลายเป็นว่า เมื่อมีเวลาว่างและไม่ได้ทำอะไร จะรู้สึกผิดในทันที (เช่นการบ่นว่า เวลาที่เหลือนี่เอาไปทำงานหาเงินได้ตั้งเยอะเลยนะ!)

พฤติกรรมเหล่านี้ถูกสร้างสมมานานจนกลายเป็นความคุ้นชิน เมื่อการบ้างานเป็นสัญลักษณ์ของความโพรดัคทีฟ ทำให้เราต้องดูยุ่งตลอดเวลาอย่างช่วยไม่ได้

ซึ่งการ “ทำเป็น” ยุ่ง นั้น นอกจากจะไม่ได้ยุ่งจริงๆ แล้ว ยังเสียเวลาเกินความจำเป็นไปอย่างไม่น่าให้อภัยเลยล่ะ สู้เปลี่ยนเป็นการแบ่งเวลาเพื่อทำงาน แล้วว่างแบบจริงๆ จะดีกว่านะ

กับดักที่ 5 เราถือว่าการมีเวลาว่างนั้นน่าเบื่อ

แม้ใครๆ จะบอกว่าโลกในตอนนี้ช่างเป็นสังคมที่เท่าเทียมและค่อนข้างสงบสุข แต่เราก็ยังสรรหาสร้างช่วงเวลาแห่งความเครียดขึ้นมาได้เรื่อยๆ เสมอ เพราะมนุษย์นั้นขึ้นชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์แห่งการหาทำอยู่แล้ว

เทคโนโลยีอาจช่วยไม่ให้เราจมอยู่กับความคิดตัวเอง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ และการใช้เวลาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การพักผ่อนด้วยการการเล่นโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์ ก็ไม่ถือว่าเป็นการพักเท่าไหร่นัก เพราะสมองยังทำงานอยู่(อย่างหนักด้วย)

ความจริงแล้ว การพักผ่อนแบบไม่ทำอะไรเลย เป็นหนึ่งในการพักที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังเป็นการทำให้เราเป็นคนที่ร่ำรวยทางเวลา (Time Affluennt) ได้มากขึ้น และยังทำให้เราได้พักผ่อนอย่างแท้จริงอีกด้วย

กับดักที่ 6 : วันพรุ่งนี้มีเวลามากกว่าวันนี้เสมอ

“ไว้ค่อยทำพรุ่งนี้” อีกหนึ่งคำยอดฮิตที่ทุกคนในยุคสมัยนี้ชอบพูดกัน ทั้งที่พรุ่งนี้ก็มีเพียง 24 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่ทุกอย่างมักจะถูกผลักไปทำในวันรุ่งขึ้นทั้งหมด สุดท้ายก็ไม่มีเวลามากพอ และจะเลื่อนไปในวันถัดไปอีกอยู่ดี และไม่เพียงแต่จะเป็นวันพรุ่งนี้ทั้งนั้น หากมีเพื่อน หรือคนอื่นๆ มานัดวันล่วงหน้า เรามักจะรับปากเพราะคิดว่ามีเวลาว่างโดยเสมอ

โดยสถิติแล้ว สิ่งที่เป็นการคาดเดาได้แม่นยำมากที่สุดว่าอาทิตย์หน้าเราจะยุ่งหรือไม่ ให้ดูที่วันเดียวกันในอาทิตย์นี้ หากงานล้นมือ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาทิตย์หน้าจะไม่ต่างกัน วิธีแก้คืออย่าลืมทำตารางงานประจำวันเพื่อเช็คเวลา

และต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหนๆ เวลาจะเดินเท่าเดิม และมี 24 ชั่วโมงเท่ากับวันนี้เช่นเดียวกัน

โปรดระลึกไว้ว่า กับดักความคิดเรื่องเวลาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน คุณสมบัติหลักๆ ของสิ่งเหล่านี้คือ เป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่มีความสุข และขโมยช่วงเวลาที่คุณอาจจะเอาไปทำอย่างอื่นที่มีความสุขกว่าได้ และวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็คือการวางแผนล่วงหน้า ไม่ Reactive หรือโต้ตอบกับทุกสิ่งที่เข้ามา (เหล่าการแจ้งเตือนทั้งหลาย) โดยฉับพลัน และจัดเวลาเพื่อจัดการเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ เช่นการไล่ตอบไลน์ ตอบอีเมลล์ ช่วงแรกอาจจะยากและไม่ชิน แต่ไม่นานหลังจากนั้นจะทำได้แน่นอน

ที่มา: TED.com

TAG : time , time trap
Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save