ส่อง 8 จุดยืนที่น่าสนใจ จากผู้ว่ากทม.สุดแกร่งคนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

Writer : Hanachan

: 25 พฤษภาคม 2565

ส่อง 8 จุดยืนที่น่าสนใจ จากผู้ว่ากทม.สุดแกร่งคนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ 

‘จากบุรุษเดินถือถุงแกงธรรมดาสู่ท่านผู้ว่าคนที่ 17 ขะ ขะ แข็งแกร่งงงงง!’

ในที่สุดคนกรุงเทพฯ ก็ได้ผู้ว่าคนใหม่อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังจากกวาดคะแนนเสียงไปอย่างถล่มถลายในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำลายสถิติผู้ว่าที่มีคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนกว่า 1,386,215 ล้านเสียงประชาชน นำโด่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดลงคะแนน จากรัฐมนตรีสู่ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

การันตีความแข็งแกร่งที่ไม่ได้มีแค่ร่างกายเท่านั้น เพราะยังมีทั้งบุคลิกภาพที่ดูใจดี ทัศนคติสุดลึกล้ำ นโยบายที่ค่อนข้างทรงพลัง และการเริ่มต้นลงมือทำที่ทำให้ชัชชาติเป็นแคนดิเดตที่นำหน้าไปอีก 1 ขั้น คว้าใจประชาชนได้เป็นอย่างดี 

แถมผู้คนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกันดี กับภาพถือถุงแกงที่ถูกชาวเน็ตนำไปดัดแปลงจนกลายมีมอย่างสนุกสนาน ขึ้นชื่อได้ว่าเป็น ‘ตำนาน’ ที่ตามไปส่องภาพก็ครั้งก็ยังสามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ มาพร้อมกับประโยคสุดแซวคู่กาย “ข้าคือชะตาที่ไม่อาจเลี่ยง” ตามสไตล์ธานอส

และเนื่องในฉลองความสำเร็จ แฮปปี้เบิร์ดเดย์ย้อนหลังท่านผู้ว่า Mango Zero จะพาทุกคนมาส่อง 8 จุดยืนของ ‘ธานอสชัชชาติ’ ที่น่าสนใจ ทั้งด้านมุมมอง, นโยบาย, และประโยคที่วนเวียนอยู่ในโซเชียลช่วงที่ผ่านมา 

ถึงแม้ความแข็งแกร่งของเขาผู้นี้จะถูกเปรียบเทียบเป็นถึงตัวร้ายของพหุจักรวาล แต่มาดูกันว่าใน 8 จุดนี้ มีจุดไหนบ้างที่ประทับใจชาวแมงโก้!

เกิด เติบโต เรียนรู้

“มาร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ใช้ชีวิตและพบเจอปัญหาเช่นเดียวกัน ผมมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” 

จุดยืนจากคนกรุงเทพ ที่ได้พบและเห็นปัญหา ผ่านช่วงเวลาที่ได้เติบโตมา สะสมประสบการณ์ทั้งด้านวิศวกรรมโยธา อาจารย์ นักวิชาการ ไปจนถึงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงยังมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

และได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม จนถึงตอนนี้ ชัชชาติได้หยิบคำว่า ‘เมืองน่าอยู่’ มาใช้เป็นคีย์เวิร์ดที่เชื่องโยงถึงชุมชน ผู้คน พัฒนาเป็นนโยบายจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาจริงๆ 

ที่มา มติชน

ชัชชาติกับลังไม้ จุดยืนที่เข้าถึงง่าย ใกล้ใจผู้คน

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือเอกลักษณ์ของชัชชาติมักจะไม่ค่อยยืนบนเวทีใหญ่ๆ แต่จะยืนบนลังไม้สี่เหลี่ยมเวลาปราศัย เพื่อสร้างความใกล้ชิดที่เข้าถึงได้ง่ายกับผู้คน ให้ความรู้สึกที่เหมือนเรามานั่งฟังเพื่อน พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง 

ทำให้นี่เป็นจุดยืน(บนลังไม้)ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ 2 ด้าน คือ ในฐานะผู้นำที่ไม่ได้สูงเกินเอื้อมคว้า และในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่อยู่เคียงข้าง และพบเจอกับปัญหาเดียวกับคนกรุงเทพ

จนเกิดความรู้สึกใกล้ใจเป็นพิเศษ เพราะคนกรุงเทพขอเพียงผู้นำที่เข้าใจ มีนโนบายที่เป็นไปได้ และสุดท้ายคือต้องลงมือทำจริง 

ปัญหาที่มองเห็นได้ นโยบายรายเขต

จุดยืนต่อมาคือ การเริ่มต้นลงมือทำให้เห็น กับนโยบายรายเขต(District Policies) ที่ได้ข้อมูลมาจากอาสาสมัครและการลงพื้นที่พบปะผู้คน 50 เขตกรุงเทพฯ อัพเดทปัญหาออนไลน์ และสามารถเช็กแต่ละจุดบนแผนที่ได้ทางเว็บไซต์ เชื่อมโยงไปกับนโยบายทั้ง 9 ด้าน 9 ดี

ทำให้เราสามารถเห็นปัญหาที่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งนโยบายรายเขตนี้ จะเน้นแก้ไขที่ปัญหาใกล้ตัว รับฟังปัญหาจากผู้อยู่อาศัยโดยตรง โดยให้ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาเข้ามาได้ตลอดด้วย 

“จากการที่เราลงพื้นที่มานาน ทำให้เรารู้ปัญหาเลยว่าแต่ละเขตมีตรงไหนที่เป็นจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก ฟุตปาธไม่ดี จุดที่มีความไม่ปลอดภัย พวกนี้เรารวบรวมอยู่บนแผนที่ในเว็บไซต์ และสามารถนำนโยบายเข้าไปกำกับดูแลได้ทันที”

ที่มา The Standard 

สร้างสรรค์ดี 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง จะดีแค่ไหนถ้าชาวกรุงได้มีกิจกรรมไว้ทำตลอดทั้ง 12 เดือน ณ ตอนนี้ความคิดนี้คงไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะเป็นหนึ่งใน 214 นโยบายที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ดึงอัตลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุงเทพมาใช้อย่างสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวภายในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลดนตรีในสวน (มกราคม), เทศกาลฮาลาลหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เมษายน), Pride Month (มิถุนายน) หรือแม้แต่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ (กรกฎาคม) 

ตอบโจทย์สร้างสรรค์ดี เศรษฐกิจดี และเราอาจจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากการเปิดพื้นที่ทางดนตรี / การแสดง (สตรีทโชว์) ที่มีมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ปัญหาเส้นเลือดฝอย จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องแก้ไข 

“ระบบต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ คล้าย ๆ กับร่างกายคน มีระบบเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นหลัก อยู่ส่วนกลาง และมีเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย”

เป็นประโยคที่ถูกเขียนอยู่บนเว็บไซต์ของชัชชาติ เพื่อตอบว่านโยบายเส้นเลือดฝอยคืออะไร ซึ่งหลักการของนโยบายนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ที่ชวนตื่นเต้นเร้าใจ แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ว่า ชาวกรุงอย่างเรามีสวนสาธารณะหลักขนาดใหญ่ แต่สนามเด็กเล่น หรือลานกีฬาในชุมชนไม่ได้พัฒนา 

และมีอุโมงค์ยักษ์มูลค่าเป็นหมื่นล้าน แต่ท่อระบายน้ำตามชุมชนต่าง ๆ กลับอุดตัน ระบายไม่ได้ดี

ท้ายที่สุด ปัญหาที่เป็นเหมือนเส้นเลือดฝอยนี้  ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขให้ดี ก็จะมีผลกระทบถึงเส้นเลือดใหญ่ได้ จึงกลายเป็นจุดยืนของชัชชาติในการเริ่มต้นแก้ไข จากจุดเล็กๆ ใกล้ตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปถึงปัญหาใหญ่ โดยอาศัยความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจจริงเป็นสิ่งสำคัญ

ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ – ใส่ใจคนรุ่นหลัง

อีกหนึ่งจุดยืนคือ การก้าวไปพร้อม ‘คนรุ่นใหม่’ ผู้เป็นความหวัง แต่ก็ไม่ลืม ‘คนรุ่นหลัง’ ที่มีค่า มีความทรงจำและประสบการณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนโยบายของชัชชาติที่เราได้เห็น ได้อ่าน จึงมีมากถึงกว่า 200 นโยบาย ด้วยความแตกต่างทั้งเพศ วัย อาชีพ พื้นที่ที่หลากหลาย ชัชชาติเชื่อว่าการจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้ ต้องมีแผนการที่พร้อม

โดยมีนโยบายที่สนับสนุนคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะอย่าง การฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน ที่ช่วยให้แรงงานเข้าถึงงาน นายจ้างได้พนักงานตรงตามความสามารถ ผ่านศูนย์/โรงเรียนฝึกอาชีพกว่า 10 แห่ง

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายคลังปัญญาผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่ยังอยากทำงานหรือถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ที่มีคุณค่าสู่สังคม

“ผมพร้อมที่จะเป็นผู้นำแห่งความหวังสำหรับพวกเราทุกคน กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหวัง เรามีสิ่งสวยงาม มีพลังของคนรุ่นใหม่ เราต้องฟังเขา เอาเขามาเป็นส่วนร่วม ผมพร้อมที่จะพาพวกเราเดินไปด้วยกัน” 

ที่มา voicetv

อนาคต vs ปัจจุบัน ต้องก้าวไปพร้อมกันจะเกิดผล

สานต่อ 200 กว่านโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ทางช่อง AMARIN TV ไว้ว่า “มี 2 งาน งานหนึ่งคือการแก้ปัญหาประจำวันของประชาชน อีกงานหนึ่งคือการกำหนดยุทธศาสตร์ของเมืองในอนาคต” จากความร่วมมือของทั้งประชาชนที่จะช่วยบอกว่าสิ่งไหนคือปัญหาประจำวัน ปากท้อง รถติด น้ำท่วม แม้แต่จุดเสี่ยงอาชญากรรม 

และทั้งเป็นหน้าที่ของผู้ว่าในการมองไปถึงอนาคตว่า “อีก 10 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ จะเป็นอะไร?” กลายเป็นจุดยืนที่เขาอยากฝากให้นโยบายของปัจจุบัน และอนาคตต้องทำไปพร้อมๆ กันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพื่อกรุงเทพฯของชาวกรุงที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มา AMARIN TV

เดิมพันครั้งสุดท้าย กับสัจธรรมเตือนใจ “โลกขาดเราได้ อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญมากขนาดนั้น” 

“ผมอายุ 55 ปี จะ 60 แล้ว ถ้าแพ้เลือกตั้ง แสดงว่าประชาชนเขาบอกวาอย่าทำ แล้วจะฝืนทำต่อไปทำไม อย่าไปคิดว่าโลกขาดเราไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่อยากได้เรา เราก็ควรจะพอ มีอย่างอื่นอีกเยอะในชีวิตที่เราสามารถทำได้ อย่าไปคิดว่าโลกขาดเราไม่ได้”

ขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยจุดยืนแห่งสัจธรรม จากประโยคที่เป็นไวรัลในช่วงเลือกตั้ง ของการเดิมพันครั้งสุดท้ายในโลกการเมือง แต่ด้วยความสามารถและการสั่งสมประสบการณ์ที่ล้นเหลือ ทำให้เขาเป็นบุคลากรทางการเมือง ที่ผู้คนมองว่าจะเข้ามาช่วยเหลือประเทศได้อย่างทันท่วงที

และการทุ่มเทสุดกำลังของชัชชาติผ่านทุกจุดยืนในครั้งนี้ ก็ทำให้เขาได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย ขึ้นแท่นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนใหม่ ที่ได้รับโอกาสในการพัฒนาเมืองอย่างสุดความสามารถไปอีก 4 ปี ให้สมกับตำแหน่งตำนาน “บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” จากล้านเสียงของประชาชน

ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งผู้ว่ากทม.คนสำคัญแห่งปีอีกครั้งฮะะะ!

ที่มา Workpoint Today

 

อ่านนโยบายทั้งหมดเพิ่มเติม ได้ที่นี่ https://www.chadchart.com/policy 

Writer Profile : Hanachan
ฮานะจังมีความสุขกับการดูซีรีส์เกาหลีและท่องเที่ยวไปวันๆ Green tea lover / Japanese food forever ♡
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310

7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save