category [Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


: 15 พฤษภาคม 2563

ก่อนหน้านี้เรามักจะพูดถึงคำว่า Digital Disruption กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ดิจิตอลจะเข้ามาทำให้ไลฟ์สไตล์ชีวิตเราเปลี่ยนไป เราได้เห็นสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น ในรูปแบบที่เฉพาะตัวขึ้นเรื่อย ๆ  จนผู้คนเริ่มปรับตัวได้และคุ้นเคยกับการเติบโตของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

ขณะเดียวกันการมาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 นั้น ก็นับว่าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเสพย์ความบันเทิงไปกันในรูปแบบใหม่ 

ในเมื่อทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่ธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ก็ยังต้องดำเนินไป คอนเสิร์ตก็ยังต้องมี หนังก็ยังต้องดู กีฬาก็ยังต้องเชียร์ แต่จะทำอย่างไรถึงจะยังรับชมความบันเทิงได้ในเวลาวิกฤตเช่นนี้ 

วิธีการสร้างสื่อบันเทิงในมุมของผู้ผลิตและวิธีการในเสพย์ความบันเทิงในมุมผู้บริโภค ก็เป็นอันต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย นี่อาจเรียกได้ว่าเรากำลังย้ายจากยุค Digital disruption มาสู่ยุค Virus Disruption กันแล้วก็ได้ หลายสิ่งที่ดูเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย ตอนนี้ก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตแบบความปกติใหม่ หรือ New Normal กันไปแล้ว 

ในมุมของวงการกีฬาและความบันเทิง หลังจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง Mango Zero รวบรวมเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงภาพใหม่ในอนาคตในความเห็นของพวกเรา มาให้คิดตามกันต่อ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย 

กระแส Animal Crossing เกาะสวรรค์ที่พาเราหนีโควิด มากักตัวร่วมกันทั้งโลก

การแพร่กระจายของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติกันทั่วโลก ขณะที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ก็คงจะได้เห็นเพื่อนในไทม์ไลน์หลายคนมากักตัวร่วมกันบนเกาะ Animal Crossing แห่งนี้อย่างแพร่หลาย

เจ้าเกม Animal Crossing: New Horizons นี้เป็นเกมสุดน่ารักบนเครื่อง Nintendo Switch ที่ดังขนาดขนาดตลาดทั้งเครื่องทั้งเกม ทำเอายอดขาด Nintendo ในไตรมาสมกราคม – มีนาคม 63 เติบโตถึง 80% เยอะที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ก้าวกระโดดไปแตะที่ 16,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

จริง ๆ แล้ว Animal Crossing: New Horizons เป็น 1 ในภาคที่พัฒนามาจากเกม Animal Crossing เปิดตัวเมื่อปี 2001 เฉพาะในญี่ปุ่น เป็นเกมแนวจำลองการใช้ชีวิต ซึ่งมีจุดเด่นคือระยะเวลาของเกมจะอิงตามเวลาในโลกความเป็นจริง โดยในภาคนี้ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นตัวการ์ตูนที่อยู่บนเกาะเพียงลำพัง พร้อมกับสัตว์นานาชนิดที่มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ และมีหน้าที่สร้างสังคมขึ้นมาใหม่ เช่น การสร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัย

รวมถึงโหมดสุดฮิตที่เราสามารถแวะเวียนบินไปเยี่ยมเกาะของเพื่อน(ในชีวิตจริง) หรือเหล่าคนดีง เพื่อเที่ยวเล่นและทำกิจกรรมร่วมกันได้ ใต้บรรยากาศภายในเกมที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ได้ทำสิ่งที่เราไม่อาจได้ทำในช่วงนี้ร่วมกัน ได้หลีกหนีจากภาวะเครียด และความเหงาที่ต้องกักตัวอยู่บ้านในโลกความเป็นจริงได้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเกมนี้ถึงครองใจเกมเมอร์ทุกคนในช่วงนี้ไปได้

กลายเป็นเกมที่ฮิตติดตลาดในหลายประเทศ มีข่าวคนดังเล่นเกมนี้มาให้เห็นอยู่หลากหลาย ทั้งกระแสที่จีนแบน Animal Crossing จากเหตุการณ์โจชัว หว่องเข้ามาประท้วง Free Hong Kong ในเกม หรือฝั่งเกาหลีที่มีสาวชอนโซมี เล่นเกมนี้กับลิซ่า Blackpink ผ่านรายการเรียลลิตี้ของเธอ

รวมไปถึงฝั่งฮอลลีวู้ดเองก็มี Elijah Wood โฟรโดแห่งอภิมหาศึกชิงแหวนอย่าง The Lord of the Rings, Maisie Williams หรือ อาร์ยา สตาร์ค ซีรีส์ Game of Thrones หรือนักแสดงรุ่นเดอะอย่าง Danny Trejo ก็ติดเกมนี้กันงอมแงม ล่าสุด “Alexandria Ocasio-Cortez” ส.ส.สหรัฐฯ พรรคเดโมแครตก็ได้ใช้เกมนี้ในการเดินสายเยี่ยมเยือนประชาชนผ่านเกมในช่วงกักตัวแบบนี้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าเกม Animal Crossing อาจจะไม่ใช่ที่มีจุดเส้นชัยและตอนจบที่ชัดเจน สุดท้ายแล้วเมื่อการระบาดสิ้นสุดลง ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ เกมนี้ก็อาจจะหมดความนิยมลง แต่เมื่อใดที่ทุกคนรู้สึกอยากหลีกหนีความวุ่นวายระหว่างวันอีก เกาะสวรรค์แห่งนี้ก็จะยังคงเป็นที่พักพิงให้ได้ตลอดไป

การแสดงคอนเสิร์ตต่างประเทศต้องปรับตัวเมือเจอโควิด-19 

หลังจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้การแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลกต้องยกเลิกและกลับไปทบทวนถึงวิธีการจัดแสดงโชว์ในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น

‘Mads Langer’ นักดนตรีชื่อดังชาวเดนมาร์ก ก็เป็นหนึ่งคนที่คิดค้นการแสดงคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่  ๆ ในช่วงโควิด โดยการจัดคอนเสิร์ต ‘Drive-in concerts’ โดยให้ผู้ชมสามารถเข้าชมดนตรีโดยการขับรถเพื่อเข้าฟังดนตรีได้อย่างสบายใจ

นอกจากนั้นแล้วยังบอยแบนด์จากเกาหลี  ‘NCT DREAM’ จากค่าย SM Entertainment ได้จัดคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่โดยการ Live ให้ผู้ชมจากทั่วโลกได้เข้ามาชมผ่านแอปพลิเคชัน NAVER V LIVE  นอกจากนั้นแล้วยังใช้เทคโลโนยี AR เพื่อเพิ่มสีสันให้กับการแสดงคอนเสิร์ตอีกด้วย

คอนเสิร์ตนี้มีผู้ชมกว่า 107 ประเทศทั่วโลก (แน่นอนมีแฟนคลับจากไทยด้วย) พวกเขา Live ผ่าน NAVER V LIVE นอกจากจะมีการจัดบรรยากาศของคอนเสิร์ตให้อลังการเสมือนเป็นงานจริงๆ แล้ว ยังมีจอให้คนทางบ้านที่ชมอยู่ได้มีส่วนร่วมกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ หลังจากนี้ก็จะมีคอนเสิร์ตของ ทงบังชินกิ  และ SUPER JUNIOR

ต่อไปการชมคอนเสิร์ตหลังยุคโควิด คงเป็นอะไรที่ง่ายขึ้น แม้ความสนุกอาจจะได้ไม่เท่าเดิม ทว่าอาจจะมีลูกเล่นใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับคอนเสิร์ตมากที่สุดก็ได้ ต้องจับตาดู

อ้างอิง : Drive-in concertsNCT DREAM

สตรีมมิ่งคือของจริงแล้ว! เมื่อหนังจอเล็ก กลายเป็นสเป็กใหม่ของผู้ชมภาพยนตร์​ 

ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ที่สตรีมมิ่งเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทในโลกภาพยนตร์ คนในวงการจำนวนไม่น้อยออกอาการยี้ ดูแคลนว่าศักดิ์ศรีของมันยังไงก็ไม่เทียบเท่าหนังจอใหญ่ เวทีประกาศรางวัลหลายๆ แห่งก็เลือกที่จะปฏิเสธหนังเหล่านี้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเพียง ‘หนังจอเล็ก’

แต่เมื่อโควิดระบาดรุนแรงจนทำให้โรงหนังกลายเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างจงหนัก เรื่องขนาดจอก็ไม่สำคัญอีกแล้ว ตอนนี้ขอแค่ให้มีหนังดูก็พอจ้า

ถึงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น แต่การผงาดขึ้นมาครองตลาดภาพยตร์อย่างเต็มภาคภูมิของสตรีมมิ่ง ก็เรียกว่าเป็นความปกติใหม่ของวงการภาพยนตร์ได้แหละ เพราะมันทำให้ไม่ว่าจะฟากฝั่งไหนในอุตสาหกรรมนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับตัว

อย่างฝั่งผู้สร้าง ไม่ว่าจะสตูเล็กใหญ่คงต้องหันมาให้น้ำหนักกับการทำหนังลงสตรีมมิ่งมากขึ้น ส่วนฝั่งคนดู หลายคนก็คงเริ่มชินกับการนอนดูหนังที่บ้านแล้ว (ไม่ว่าจะดูในมือถือหรือเอาขึ้นจอทีวี) บางคนคิดถึงการดูหนังกับชาวแก๊ง Netflix เขาก็มีฟีเจอร์ Netflix Party ให้สามารถดูหนัง/ซีรีส์ไปพร้อมๆ กับเพื่อนได้ ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์คนละเครื่อง

ที่น่าห่วงคงเป็นธุรกิจโรงหนัง เพราะคงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำตามมาตรการ Social Distancing อย่างการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง จนทำให้รายได้หด และก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาจะไม่ใช่ ‘ทางเลือกหลัก’ ของนักดูหนังอีกต่อไป เป็นแค่ ‘อีกทางเลือกหนึ่ง’ สำหรับคนที่พร้อมรับความเสี่ยง เพราะอยากจะเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ดูหนังแบบครบทั้งภาพและเสียงจริงๆ

ความปกติใหม่ของโลกลูกหนัง ในโลกหลังโควิด 

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่แข่งเป็นทีม ข้างละ 11 คน เท่ากับว่าในสนามจะมีจำนวนประชากรอย่างน้อยๆ 22 ไม่รวมกรรมการ เจ้าหน้าที่สนาม สตาฟฟ์โค้ช ทีมถ่ายทอดสด หรือผู้ชม แน่นอนล่ะว่านี่คือการรวมตัวของผู้คนจำนวนไม่น้อย และมันก็เข้าข่ายความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 สุดๆ (บางเมืองก็มี Super Spreader อยู่ที่สนามฟุตบอลนี่แหละ)

กีฬาฟาดแข้งจึงหยุดแข่งไปตั้งแต่เจ้าไวรัสร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลแบบทันที ไม่ว่าจะเป็นการประกาศหั่นเงินเดือนนักเตะ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล เพื่อพยุงการเงินของทีม ตัวนักเตะเองก็ต้อง Work from home ฝึกซ้อมออนไลน์ ส่วนผู้ชมก็ได้แต่รออย่างมีความหวัง ว่าเกมกีฬาที่พวกเขารักจะกลับมาระเบิดศึกได้อีกครั้ง

แต่ถ้ากลับมาแข่งได้อีกครั้ง ก็แน่นอนว่า ต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด *อย่างเข้มงวด* หลายลีคที่ยังไม่ประกาศตัดจบจึงออกกฎระเบียบมารองรับ เพื่อทำให้พวกเขากลับมาแข่งได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล – และนี่คือตัวอย่างสิ่งที่จะเป็น New Normal ของโลกลูกหนัง หลังจากนี้

  • ตรวจอุณหภูมิร่างกายผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่ลงสนาม
  • แข่งแบบสนามปิด ไม่มีผู้ชมในสนาม และบางลีคก็ตัดสินใจใช้สนามกลาง ไม่มีเกมเหย้า-เยือน
  • นักเตะจะรวมกลุ่มฝึกซ้อมกันได้ไม่เกิน 5 คน
  • ช่วงแรกๆ ที่กลับมาแข่ง เนื่องจากความฟิตของนักเตะอาจจะยังไม่ถึงเกณฑ์ เลยอาจอนุญาตให้เปลี่ยนตัวได้ 5 คน
  • แต่จะเปลี่ยนตัวได้เพียง 3 ครั้ง เพื่อป้องกันการถ่วงเวลาในช่วงท้ายเกม
  • เมื่อทำประตูได้ ห้ามนักเตะดีใจกันเป็นหมู่คณะ
  • ห้ามถ่มน้ำลายลงบนพื้นสนาม
  • ไม่มีการจับมือกันก่อนเริ่มเกม
  • อาจพิจารณายกเว้นการใช้ VAR เนื่องจากห้องควบคุมมีขนาดเล็ก แต่จุเจ้าหน้าที่หลายคน
  • เพื่อสร้างบรรยากาศในสนามให้ยังคึกคักเหมือนเดิม หลายลีคอาจเปิดเสียงเชียร์แบบ ‘จำลอง’ ระหว่างเกมการแข่งขัน (อืมมมม นะ…)

เรื่องนอกสนามที่อาจเปลี่ยนไปก็น่าสนใจ เมื่อหลายทีมประสบปัญหาการเงินในช่วงนี้ ก็อาจทำให้การซื้อขายผู้เล่นในอนาคตอันใกล้ มีตัวเลขไม่มากเว่อร์เหมือนช่วงก่อนเกิดไวรัสระบาด

การซื้อนักเตะในระดับร้อยล้านปอนด์ อาจเป็นเรื่องที่สโมสรต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ ส่วนการถ่ายทอด น่าจะเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามากขึ้น เมื่อคนไม่สามารถไปดูสดที่สนามได้ ต้องพึ่งการถ่ายทอดสดสถานเดียว

ไอดอลที่คุณพบเจอได้…ทางออนไลน์ วัฒนธรรมที่ต้องปรับตัวเมื่อทุกคนต่างกลัวโรคระบาด 

แน่นอน-เมื่อโควิดมาเยือน อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Social Distancing แบบเต็มๆ จุกๆ คือศิลปินนักร้อง เมื่อพวกเขาไม่สามารถขึ้นเวทีไปเล่นคอนเสิร์ตได้ ไม่ว่าจะฮอลล์ใหญ่ๆ หรือร้านเล็กๆ เพราะล้วนเข้าข่ายการรวมตัวของคนในที่สาธารณะ

แต่ที่หนักกว่า เห็นจะเป็นศิลปินนักร้องที่มีชื่อเรียกแบบจำเพาะว่า ‘ไอดอล’

เพราะนอกจากจะไม่ได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเพื่อร้องเล่นเต้นตามปกติแล้ว พวกเธอยังอดพบปะแฟนคลับในอีเวนต์หรือกิจกรรมของแต่ละวง ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เป็นความต่างระหว่างพวกเธอกับศิลปินทั่วไป เมื่อธรรมชาติของไอดอล มักจะใกล้ชิดกับแฟนคลับ

มีกิจกรรมที่เอื้อให้เธอกับเอฟซีได้เจอหน้าค่าตา พูดคุย ถ่ายรูป จับมือ วงไอดอลเบอร์ใหญ่อย่าง BNK48 ถึงขนาดมีคอนเซปต์ว่า ‘Idol you can meet’ หรือ ‘ไอดอลที่คุณพบเจอได้’ เลยด้วยซ้ำ

แต่พอมีโควิดปุ๊บ มันก็เจอไม่ได้แล้วสิ (อย่างงานจับมือเนี่ย ก็แทบจะต้องงดเว้นไปยาวๆ เลย)

แล้วอย่างนี้สายสัมพันธ์ระหว่างไอดอลกับแฟนคลับจะมีปัญหาหรือเปล่า กลุ่มคนที่สนับสนุนพวกเธอจะรู้สึกห่างเหินกับคนที่พวกเขารักและเอาใจช่วยหรือเปล่า – มันก็คงจะมีความรู้สึกประมาณนี้ไม่มากก็น้อยแหละ

วัฒนธรรมไอดอลในยุคโควิดเลยต้องปรับตัว เมื่อโลกเรามีสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีอยู่ งั้นเราเปลี่ยนคอนเซปต์มาเป็น ‘ไอดอลที่คุณพบเจอได้ในโลกออนไลน์’ กันดีกว่า

อย่าง BNK48 ก็ตัดสินใจจัดงาน General Election หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่างานเลือกตั้ง ผ่านโปรแกรม ZOOM ทดแทนงานสุดแสนอลังการที่อิมแพ็คอารีน่า (อันนี้เราเขียนแยกเป็นอีกหัวข้อหนึ่งเลย ไปอ่านกันได้จ้า) รวมถึงให้เมมเบอร์ไลฟ์บ่อยขึ้นในช่องทางต่างๆ และทำคอนเทนต์ประเภทวิดีโอของตัวเองมากขึ้น เราเลยเห็นรายการนู่นนี่นั่น ผุดขึ้นมาในโซเชียลมีเดียของน้องคนนั้นคนนี้จนดูกันไม่หวาดไม่ไหวเลย

อีกหลายๆ วงที่ไม่ค่อยไลฟ์ ก็มีนโยบายที่ผลักดันให้เมมเบอร์ออกมาปรากฏหน้าผ่านระบบไลฟ์บ่อยขึ้น ไม่งั้นแฟนคลับคงเหงาแย่ที่ไม่ได้เห็นหน้าน้องๆ ในช่วงกักตัว

Sweat16 ก็มีกิจกรรม Private Birthday Meet ให้แฟนคลับซื้อตั๋วมา VDO CALL กับเมมเบอร์เจ้าของวันเกิดผ่าน LINE Application ภายในเวลา 20 วินาที

หรือ Black Dolls ก็เปิดโอกาสให้แฟนคลับรับประสบการณ์สุดพิเศษ ด้วยการให้เมมเบอร์โทรไปให้กำลังใจ โดยปราศจากค่าใช้จ่าย เพราะวงเชื่อว่าการให้กำลังใจในช่วงเวลาวิกฤตนี้ เป็นหน้าที่ของไอดอลอยู่แล้ว

หรือแม้แต่พี่สาวจากแดนปลาดิบอย่าง AKB48 ก็มีกิจกรรม “AKB48 Group Hndshake Event At Home” (Air Handshake Event) ให้แฟนๆ ใกล้ชิดกับไอดอลเสมือนมางานจับมือ ผ่านวิดีโอที่  48Group ทุกวงในประเทศญี่ปุ่นอัพโหลดขึ้นบนทวิตเตอร์ของออฟฟิเชียล เมื่อวันที่ 4-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้จะทดแทนการมาเจอกันแบบซึ่งๆ หน้าไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้ทั้งเมมเบอร์และแฟนคลับคลายความคิดถึงซึ่งกันและกันลงได้บ้าง เพื่อรอวันกลับไปเจอกันได้ปกติ ในวันที่ทุกอย่างเป็นใจ (โควิด ฉันเกลียดแก!)

General Election From Home อีเวนต์ออนไลน์ขนาดใหญ่ผ่าน Zoom ครั้งแรกในไทยและครั้งแรกของ BNK48 – CGM48

การมาถึงของโควิด – 19 ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงหยุดชะงัก และวงที่ได้รับผลกระทบและก็หาวิธีแก้ไขด้วยการจัดอีเวนต์ผ่านออนไลน์วงแรกของไทย  ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกของไทยที่ทดสอบถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom (ที่ปกติเราเอาไว้ใช้ในการประชุมกัน) ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาครั้งใหม่ของการจัดอีเวนต์ที่ไม่ใช่คอนเสิร์ตในไทย และการใช้ Zoom เพื่อจัดอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตก็กลายเป็นอีกทางเลือกทันที

งานนั้นคือ BNK48 9th Single Senbatsu General Election หรือเรียกกันตามภาษาในวงการคือ ‘งานเลือกตั้ง’ งานนี้อธิบายอย่างสั้นง่ายคือ งานที่ประกาศผลว่าสมาชิก BNK48 และ CGM48 คนไหนที่ได้รับความนิยมจากการโหวตมากที่สุด โดยมีอันดับตั้งแต่ 1 – 48

ปกติแล้วครั้งแรกงานจัดที่อิมแพ็คอารีน่าอย่างยิ่งใหญ่ แต่ครั้งนี้โควิดมา ปัญหาเกิด จัดงานไม่ได้ ทาง IAM ซึ่งเป็นต้นสังกัดของทั้งสองวงเลยใช้วิธีการจัดงานถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์ โดยโจทย์คือ

  • จะทำอย่างไรให้เมมเบอร์ทั้ง 66 คน ที่อยู่คนละแห่งมาอยู่ในที่เดียวกัน
  • เมมเบอร์ต้องสามารถสื่อสารกันได้ และคุยกับพิธีกรได้ตลอดจนจบงาน
  • มีผู้ชมจากทางบ้านนับหมื่นคนร่วมชมถ่ายทอดสด โดยงานต้องไม่ล่มกลางทาง

สำหรับช่องทางในการถ่ายทอดสดคือแอป AIS Play ส่วนโปรแกรมที่ช่วยให้ทั้ง 66 คนมารวมตัวกันได้ก็คือ Zoom บวกกับโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ในการช่วยควบคุมระบบการถ่ายถอดสดให้ราบรื่นจึงเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ในการถ่ายทอดสดครั้งนี้ โดยมีทีมงานที่อยู่เบื้องหลังการ Live เป็น MangoZero และ LiveTube ดูแล

อีเวนต์นี้จบลง ก็เป็นการส่งสัญญาณไปให้คนที่อยากจัดอีเวนต์ออนไลน์ว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีก็สามารถจัดอีเวนต์ออนไลน์ได้ แม้ว่าอารมณ์ร่วมของผู้ชมจะไม่เหมือนกับการมาชมสดๆ แต่อย่างน้อยก็ใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมให้คนได้เจอกับอีเวนต์ได้แล้ว นับเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เมืองไทยใช้การถ่ายทอดสดอีเวนต์ขนาดใหญ่ด้วยวิธีนี้

คาดว่าเราจะได้เห็นอีเวนต์ (ที่ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต) ใช้เทคโนโลยี Zoom หรือใกล้เคียงกับ Zoom ในการทำอีเวนต์หลังจากนี้อีกมากมายแน่นอน เพราะก็เริ่มมีหลายอีเวนต์ใหญ่อย่างเช่นงานเสวนา ที่เปลี่ยนจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์แล้ว และจะมากกว่านี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็จนกว่าเราจะมีวัคซีนนั่นแหละ

คอนเสิร์ตออนไลน์ผ่าน Zoom ครั้งแรกในไทยของ Whal and Dolph มิติใหม่ของการจัดคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ 

Zoom ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกหลักในการถ่ายทอดสดงานคอนเสิร์ตในไทยไปแล้ว ล่าสุดก็ ‘สแตมป์ อภิวัชร’ ที่เพิ่งมีงาน ‘Stamp แอบดู Birthday Live’ ไป

อย่างไรก็ตามวงแรกในไทยที่ใช้ Zoom เพื่อ ‘คอนเสิร์ต’ อย่างเต็มรูปแบบวงแรกก็คือ Whal and Dolph ซึ่งพวกเขาจัดงานคอนเสิร์ตในชื่อว่า ‘ Whal and Dolph Online Market Concert’  พวกเขาเป็นวงแรกของประเทศที่จัดสินใจทดลองทำคอนเสิร์ตออนไลน์ขึ้นมา โดยคอนเสิร์ตจัดอย่างเต็มรูปแบบ เสียงดี แสงมา บรรยากาศได้ แต่ไม่มีอย่างเดียวคือคนดู ที่มายืนเชียร์ ยืนร้องตามที่หน้าเวที

อย่างไรก็ตาม What The Duck และ H.U.I. บริษัทออกแบบคอนเสิร์ต ก็ไม่ได้ทำให้คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้แห้งไร้สีสันเหมือนเล่นให้กำแพงและทีมงานดู แต่พวกเขาติดตั้งจอจำนวนมากไว้เพื่อให้ศิลปินมองเห็นแฟนคลับที่เปิดกล้องผ่าน Zoom และดูพวกเขาเล่นคอนเสิร์ต

แถมยังมีกิจกรรมที่ทำให้แฟนคลับ และศิลปินสื่อสารกันผ่าน Zoom แบบ Real Time ได้ตลอดทั้งคอนเสิร์ตด้วยการเปิดไมค์คุย (แต่ไม่ได้เปิดตลอดโชว์นะ เดี๋ยวมีเสียงแม่ตะโกนให้ไปซื้อกับข้าว จากผู้ชมจอไหนสักจอจะฮากันเปล่าๆ)

ถือเป็นงานคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรกในไทยที่เป็นกรณีศึกษาให้ค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ได้ลองทำตาม และผลพวงจากการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ ทำให้บริษัทออแกไนซ์งานอีเวนต์ หรืองานคอนเสิร์ตมองเห็นโอกาสในการจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์

เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่าวงการบันเทิงจะซบเซาไปจนถึงไตรมาส 3 ยิ่งถ้าไม่มีอีเวนต์จัดได้ หรืออย่างช้ากว่านั้นก็อาจจะไปว่ากันใหม่ปีหน้าเลย ซึ่งเรื่องนี้คนที่ทำธุรกิจ ไม่ว่าจะฟังศิลปิน ค่ายเพลง หรือผู้จัดรอไม่ได้ การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์จึงกลายเป็นทางรอดใหม่ และเป็น ‘ความปกติ’ ใหม่ที่ผู้ชมคอนเสิร์ตเข้าใจ

เนื่องจากว่าทั้งงานของ ‘Whale and Dolph’ และ ‘สแตมป์’ บัตร 1,000 ใบขายดีและหมดอย่างไวมาก ถือเป็นความสดใสและทางรอดที่พอจะมองเห็นบ้างในช่วงเวลาที่มืดมนเช่นนี้

นี่แหละคือความปกติใหม่ของวงการคอนเสิร์ตไทยที่เกิดขึ้นไปแล้ว

กักตัวเป็นเหตุ สังเกตได้จาก TikTok อยู่บ้านก็ทำการแสดงได้

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ TikTok แอปพลิเคชันสำหรับสร้างและชมวิดีโอขนาดสั้นจากประเทศจีน บางคนอาจจะยังไม่เคยเล่น แต่คงเคยเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน จากคนที่ไม่เคยคิดจะโหลดแอป หลายคนก็กลายมาเป็นคนสร้างคอนเทนต์เองเลย

ส่วนดารา ศิลปิน และคนในวงการบันเทิงมากมายก็ไม่พลาดที่จะออกมาทำการแสดงจากบ้านให้แฟนคลับได้หายคิดถึง

TikTok เปิดให้ใช้งานครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ปัจจุบันมีผู้ใช้รายวัน (Daily Active User) ทั่วโลกกว่า 500 ล้านคนถือว่าเติบโตเร็วมากๆ เมื่อเทียบกับ Instagram ที่ใช้เวลา 6 ปี ในการมีผู้ใช้รายวัน  500 ล้านคน

ในเมืองไทยดินแดนแห่งความบันเทิง เสียงเพลงและความตลกก็ใช่ย่อย เชื่อหรือไม่ว่าช่วงที่ผ่านมา คนไทยเข้าใช้งาน Tiktok เฉลี่ยวันละ 12 ล้านครั้งเลยทีเดียว ทั้งที่เพิ่งจะเข้ามาเปิดตัวในไทยได้ไม่นาน 

สำหรับวิดีโอใน TikTok จะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งร้องเพลง เต้น ลิปซิงค์ ข่าว หรือเล่าเรื่อง แล้วแต่ผู้ใช้จะครีเอทกันขึ้นมา โดยในแอปฯ จะมีลูกเล่นทั้งเอฟเฟค ฟิลเตอร์ และเสียง ให้ได้สนุกกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเทรนด์ที่คนเล่นกันเยอะๆ จะขึ้นในหน้า Discover เทรนด์ฮิตๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น

  • #เจนนุ่นโบว์ #ซุปเปอร์วาเลนไทน์ เพลง SUPER วาเลนไทน์ ของวงซุปเปอร์วาเลนไทน์ ที่ผู้ใช้ต่างออกมาโชว์ท่าเต้นและความครีเอทิฟกันแบบไม่มีใครยอมใคร
  • #เมษาathome แฮชแท็กรวมกิจกรรมเมื่อต้องกักตัว คอนเทนต์สุดครีเอทิฟของเหล่าผู้ใช้ Tiktok
  • #FlipTheSwitch คอนเทนต์สลับร่างสุดฮา ที่ผู้ใช้สองคนจะแต่งตัวสลับกันในช่วงหลังของคลิป

TikTok กลายเป็นแอปที่ได้รับผลเชิงบวกจากช่วงโควิดระบาด ทำให้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ที่ครองใช้ผู้ใช้งานทั่วโลก ในไทยหากสังเกตจะพบว่าช่วงโควิด Influencer จากแพลตฟอร์มอื่น หรือคนดัง กระโดดเข้ามาสร้างคอนเทนต์ใน TikTok จนทำให้คอนเทนต์มีความหลากหลาย ขณะที่ TikTok เองก็ปรับตัวอย่างไวรับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะการสร้างคอนเทนต์ให้ความรู้ในช่วงโควิดออกมาอย่างทันท่วงที

เมื่อมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ก็ทำให้ล้างภาพ TikTok ที่จากเดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีแต่คนเต้นๆ โชว์ๆ ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ขนาดสั้นที่มีความหลากหลาย และสนุกมาก

วันนี้ TikTok กลายเป็นความปกติใหม่ในการเสพคอนเทนต์ออนไลน์ของคนยุคนี้ไปแล้วเรียบร้อย

ออกกองออนไลน์ อยู่ไกลกันก็ทำหนังได้ 

เมื่อการออกกองถ่ายทำภาพยนตร์ในช่วงโควิดนั้นเข้าข่ายความผิด เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเนื่องจากมีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก ค่ายหนัง โปรดักชั่นเฮาส์ หรือคนทำหนังหลายๆ เจ้าจึงต้อง ‘ออกกองฟรอมโฮม’ หันหน้ามาพึ่งโปรแกรมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์อย่าง ZOOM หรือ Google Meet ในการทำภาพยนตร์ ทั้งเพื่อการพาณิชย์และเพื่อเอามันส์

เช่น SALMON. LAB ที่ทำมิวสิควิดีโอเพลง Until we meet again ผ่านโปรแกรม Zoom ตั้งแต่เขียนบท วาด Storyboard แคสต์นักแสดง ส่งพรอพไปถึงบ้าน ซ้อมกองและถ่ายทำผ่าน Zoom รวมถึงการอัดเพลงแบบออนไลน์

The Ska x BNK48 ก็ส่งกล้องกับพรอพไปให้เมมเบอร์ BNK48 เพื่อให้น้องๆ ทำคอนเทนต์ด้วยตัวเองที่บ้าน

Sira Simmee (สิระ สิมมี) นักทำหนังรุ่นใหม่ ก็ถ่ายทำหนังสั้นเกี่ยวกับการอยู่บ้านช่วงโควิดผ่านออนไลน์ โดยเจ้าตัวทำหนังที่อธิบายวิธีการของตัวเองลงในเพจอีกที จนกลายเป็นไวรัล

หรือแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างนาดาวบางกอก ก็ทำหนังสั้น “กักตัว Stories” จำนวน 10 ตอน ถ่ายทำผ่าน VDO Call โดยมีนักแสดงในสังกัดนาดาว 19 คนแสดงนำ และมีปิง–เกรียงไกร วชิรธรรมพร เป็นโปรดิวเซอร์ของโปรเจคต์

นี่แค่ส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ถึงจะเผชิญโควิด แต่ชีวิตของนักทำหนังก็ยังดำเนินต่อได้ แม้จะไม่สะดวกสบาย แต่ก็นับเป็นความท้าทายที่น่าทดลอง

เมื่อเหล่านักร้องพร้อมใจกัน Live from Home 

เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อย เมื่อเหล่านักร้องพร้อมใจกัน Covers From Home หรือบันทึกการแสดงจากที่พัก เพราะโดยปกติแล้ว พวกเขามักจะอัดจากห้องสตูดิโอซึ่งคุณภาพเสียงดีและมีอุปกรณ์ครบ แต่เมื่อเกิดการกักตัวในช่วง Quarantine ทำให้หลายคนเปิดการแสดงของตัวเองจากที่บ้าน แม้คุณภาพเสียงอาจไม่ดี แต่เทียบกับการได้เห็นมุมห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นของศิลปินของเราสักนิด ก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว

โดยเหล่าศิลปินที่ทำการ Live from Home นั้น ก็มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จุดประสงค์ในการทำของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป เพื่อคลายเหงาให้กับแฟนๆ หรือเพื่อระดมทุนแล้วนำไปบริจาคให้กับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั่วโลกก็มี จะมีศิลปินคนไหนบ้าง ไปดูกัน

A Duck From Home

เมื่อเหล่าศิลปินในค่าย What the Duck ออกมาบอกเล่างานอดิเรกขณะกักตัวอยู่บ้านในแบบฉบับของตัวเอง มีทั้งทำกับข้าวโชว์ วิ่งเล่นกับสัตว์เลี้ยง ร้องเพลง ไปจนถึงควงปากกาให้ดู 5555555555 (อดขำไม่ได้จริงๆ ขออภัย) เรียกได้ว่าดูเพลินๆ แล้วอาจเอาเป็นไอเดียไว้ทำตามตอนอยู่บ้านเบื่อๆ ได้เหมือนกัน

Glass Animal

นักร้องนำวง Glass Animal อย่าง Dave Bayley นั้น นอกจากจะอวดโฉมห้องสตูดิโอส่วนตัวสีม่วงสดให้แฟนๆ ได้เห็นกันแล้ว ยังออก Quarantine Covers ถึง 3 เพลง ไม่ว่าจะเป็น Nirvana – Heart Shaped Box, Lana Del Rey – Young & Beautiful และ Bill Withers – Lean On Me

ความเรียลของของแต่ละวีดิโอคือเราได้จะได้ยินแม้แต่เสียงคลิกเม้าส์เพื่อใส่ซาวด์ หรือการตบมือเป็นสัญญาณว่าแอคชัน ที่ Dave ทำด้วยตัวเองเลยทีเดียว 

Kodaline

วงร็อคไอริชที่เข้าถึงผู้คนด้วยเพลงเกี่ยวกับความเป็นชีวิต มาในรูปแบบ Live Stream นอกจากจะเป็นการประกาศอัลบั้มใหม่แล้ว ยังแสดงถึงการเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กักตัวอยู่บ้าน หรือฮีโร่ที่ทำงานเพื่อทุกคนอยู่ข้างนอกอีกด้วย

นอกจากนี้ Mark มือกีตาร์ในวง ยังมีการออกมาประกาศว่าติดเชื้อโคโรน่าไวรัส แต่ท้ายที่สุดแล้วก็รักษาตัว จนสามารถเข้าร่วม Live Stream ได้

88Rising

88Rising ค่ายของเหล่านักร้องและแรพเปอร์วัยรุ่นเอเชียนานาชาติ จัด 88Rising presents: ASIA RISING FOREVER มิวสิกเฟสติวัลแบบออนไลน์ เพื่อรวบรวมเงินและบริจาคให้ Asian Americans Advancing Justice AAJC ที่เป็นองค์กรณ์ปกป้องสิทธิของชาวเอเชียนอมเริกัน

ในแต่ละsession ก็จะเป็นกิจกรรมแล้วแต่ความถนัดของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการ Dance Battle ระหว่าง Rich Brian กับ Kang Daniel หรือโชว์ทำอาหารโดน Niki และสำหรับชาวไทยนั้น ความพิเศษคือมี “ภูมิ วิภูริศ” ร่วม Live ด้วย!

นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมี Live Stream Concerts เกิดขึ้นอีกมากมายจนเรียกได้ว่าแทบทุกค่ำคืน มีทั้งเกิดจากตัวศิลปินเอง หรือยิ่งใหญ่ระดับเฟสติวัล งานเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า

หากเรายังต้อง Social Distancing กันต่อไปอีกพักใหญ่แล้ว วิธีการทำ Live Stream Concerts ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

Writer Profile : MangoZero Team
Blog : MangoZero Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save