category ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม กับเบื้องหลังผลงานคอนเสิร์ต ที่ทำมาทั้งชีวิต และบทเรียนที่ได้รับ

Writer : Taey Ch

: 31 สิงหาคม 2560

daat-day-Yuthana-Boonorm-08

งาน DAAT day 2017 ที่ผ่านมา เราได้รับฟังเนื้อหาดีๆ จากคนในวงการดิจิทัล ทั้งด้านมีเดีย ด้านเทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดด้านครีเอทีฟ แต่นอกเหนือจากเรื่องดิจิทัลแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง Speaker ที่เมื่อขึ้นเวทีมาก็ออกตัวก่อนเลยว่า “สิ่งที่ผมพูดจะเป็นอนาล็อคมากๆ เลยนะครับ” และคนๆ นั้นก็คือป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อมนั่นเอง

daat-day-Yuthana-Boonorm-10

ในเวทีนี้ป๋าเต็ดมาเล่าเบื้องหลังก่อนจะเกิดผลงานคอนเสิร์ตต่างๆ ที่ป๋าเคยทำมาทั้งชีวิต ซึ่งเมื่อฟังจบคนฟังจะพบว่าจริงๆ แล้ว วิธีการคิดงานในแบบอนาล็อคและดิจิทัล มันไม่ได้หนีห่างกันเลย เราต่างคิดงานบนพื้นฐานเดียวกัน นั่นก็คือมนุษย์ หรือคนที่เสพสิ่งที่เรานำเสนอไปนั่นเอง

ก่อนจะเล่า ป๋าเต็ดบอกพวกเราว่า “แต่ละงานที่คิดที่ทำมา เริ่มจากศูนย์เสมอ ไม่เคยทำงานโดยใช้สูตรหรือทำงานซ้ำเดิม..เพราะขี้ลืม (ป๋าเต็ดพูดติดตลก) แต่เมื่อป๋าเต็ดได้ลองย้อนกลับไปก็พบว่าทุกงานมันมีสูตรบางอย่างที่พ้องกันอยู่”

 

1. จุดเริ่มต้นเส้นทางอีเวนต์ครั้งแรก (อายุ 6-7 ขวบ)

daat-day-Yuthana-Boonorm-01

งานแรกที่ป๋าเต็ดได้ทำก็คือการติดตามพ่อที่ทำอาชีพขับรถใน “หนังขายยา”

  • หนังขายยา* คือรถที่จะขับไปตามพื้นที่ต่างๆ และขนอุปกรณ์สำหรับการฉายหนังกลางแปลง เรียกง่ายๆ ว่าหนังกลางแปลงเคลื่อนที่นั่นเอง แต่ความพิเศษคือจะมีการหยุดฉายหนังเป็นช่วงๆ เพื่อออกมาขายยา ซึ่งสำหรับพ่อป๋าเต็ด คือการขายยาหม่องตราถ้วยทอง

จาก ‘หนังขายยา’ เลยทำให้ป๋าเต็ดได้เรียนรู้ว่า เวลาไปจัดหนังกลางแปลงแต่ละหมู่บ้านจะขำไปกับมุกต่างๆ กัน บางหมู่บ้านอาจขำกับเรื่องนี้ บางหมู่บ้านอาจขำกับอีกเรื่อง ซึ่งก็สามารถแทนหมู่บ้านต่างๆ เป็นเหมือนกลุ่มเป้าหมายที่มีนิสัย หรือพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป

..เริ่มเห็นภาพตามแล้วใช่ไหม ว่าแนวคิดทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานเดียวกันเลย ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นอนาล็อคหรือดิจิทัล 🙂

 

2. Hotwave Music Awards 

daat-day-Yuthana-Boonorm-02

เมื่อ 20 ปีก่อนการประกวดวงดนตรีต่างกับในสมัยนี้มาก ในเทศกาลประกวดจะมีเวที, มีใบสมัคร, มีคนมาสมัคร แล้วก็มีกรรมการตัดสิน นั่นคือครบกระบวนการจัดการประกวด

แต่ป๋าเต็ดก็เกิดคำถามกับตัวเอง ว่าแล้วทำไมเราจะต้องเชียร์วงที่เราไม่รู้จักด้วย? คนที่มาเชียร์วงประกวดก็มีแต่คนรู้จักเท่านั้น เหมือนจัดมาดูกันเอง แล้วจะทำยังไงให้มีคนมาดูเพิ่มขึ้นล่ะ?

หลังจากเกิดคำถามขึ้น ป๋าก็ได้ไปดูการแข่งฟุตบอลในงานจตุรมิตรสามัคคี เป็นงานที่ประกอบด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบ, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ป๋าเต็ดพบว่าถึงตัวเองจะเรียนจบไปนานแล้ว แต่เลือดโรงเรียนยังอยู่และยังอยากเชียร์ให้ทีมโรงเรียนที่ตัวเองจบมาชนะ ไม่ต่างกับที่เราเชียร์ทีมแมนยู หรือลิเวอร์พูลเลย

‘Hotwave Music Awards’ จึงเป็นการประกวดที่มีไอเดียว่า

  • วงแต่ละวงต้องเป็นสมาชิกที่เรียนอยู่สถาบันเดียวกัน
  • และถ้าใส่เครื่องแบบโรงเรียนตัวเองมาประกวดได้จะน่ารักมาก
  • ทำให้การประกวด Hotwave มีบรรยากาศคึกคัก มีแฟนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องจากโรงเรียนเดียวกันมาเชียร์ เกิดเป็นการประกวดดนตรีที่แหวกออกมาในยุคนั้น

 

3. Fat Festival

daat-day-Yuthana-Boonorm-03

หลังลาออกจาก Hotwave มา ป๋าเต็ดก็ได้ตั้งคลื่นวิทยุของตัวเองในชื่อ Fat Radio คลื่นสำหรับคอเพลงอินดี้ และถือเป็นการปฏิวัติคลื่นวิทยุของไทยในสมัยนั้นเลย แต่ปัญหาก็คือช่วงแรกๆ คลื่นยังขาดทุนอยู่ จนป๋าเต็ดคิดว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เราอาจเจ๊งได้ ขณะเดียวกันป๋าเต็ดก็มั่นใจว่าคลื่นเรามีคนฟังอยู่แน่ๆ แต่ไม่สามารถหาตัวเลขที่ชัดเจนไปบอกกับเอเจนซี่ที่สนับสนุนได้

‘Fat Festival’ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นคำตอบและข้อพิสูจน์ว่าคนที่ฟัง Fat Radio มีอยู่จริงๆ เพราะเมื่องานเริ่มผู้คนก็หลั่งไหลกันเข้ามาในงาน เกิดการจับจ่ายซื้อซีดีและของที่ระลึกจากศิลปินที่เขาติดตาม ซึ่งเอเจนซี่ก็ได้รับเชิญให้มาในงานเช่นกัน และได้เห็นภาพเดียวกับป๋าเต็ดว่าคนฟังนั้นมีอยู่เยอะจริงๆ

groove-riders

โดยสถานที่จัด Fat Festival ครั้งแรกคือโกดังยาสูบเก่า ที่ไม่ติดรถไฟฟ้าอะไรเลย ถือว่าคนที่มานี่ต้องตั้งใจมาจริงๆ งานเล็กๆ ครั้งนี้มีผลต่อวงการเพลงมากๆ วงดนตรีอินดี้เฉพาะกลุ่มก็เติบโตจากเทศกาลนี้จนกลายเป็นวงยอดนิยม เช่นวง Groove Riders เป็นต้น

 

4. Big Mountain

daat-day-Yuthana-Boonorm-04

Big Mountain จริงๆ แล้วเกิดจากที่ป๋าเต็ดอยากจัดคอนเสิร์ตให้กับ ‘ลุลา’ ศิลปินที่ยังหน้าใหม่ในสมัยนั้น ขณะที่เทศกาลดนตรีอาจจะเฟื่องฟู มีการจัดหลากหลายงาน แต่ทุกๆ งานกลับมีไลน์อัพศิลปินที่เหมือนๆ กันหมด แล้วจะทำยังไงให้ศิลปินใหม่ๆ ได้ขึ้นเวทีบ้าง?

ป๋าเต็ดเลยคิดเทศกาลดนตรีขึ้นมา โดยมีเงื่อนไขว่า ‘จะต้องมีศิลปินมากขึ้น’ จึงเกิดเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาดังนี้

  • เมื่อศิลปินที่รวมมามีเยอะขึ้น ก็ต้องมีหลายเวที
  • เมื่อมีหลายเวที จะให้เสียงแต่ละวงไม่ตีกัน ก็ต้องจัดในสถานที่กว้างขึ้น
  • แต่กรุงเทพไม่มีสถานที่ที่ใหญ่ขนาดนั้น จึงต้องมองหาสถานที่ที่คนกรุงเทพ (ที่คิดว่าเป็น target) เดินทางไปได้ในระยะ 2 ชั่วโมง
  • จึงเหลือออกมาเป็นจังหวัดต่างๆ และสุดท้ายตกลงที่ ‘เขาใหญ่’
  • และงานก็จัดออกมาแบบที่ป๋าเต็ดต้องอุทานว่า ‘มันใหญ่มาก’ นี่จึงเป็นที่มาของชื่องานนี้

แต่ถามว่าจนถึงทุกวันนี้ป๋าเต็ดได้จัดคอนเสิร์ตให้ลุลาหรือยัง..คำตอบก็คือ ‘ยังจ้า’ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นต้นกำเนิดของเฟสติวัลในตำนานของไทยเลย

 

5. คอนเสิร์ต พาราด็อกซ์ ผงาดง้ำค้ำโลก โดดไม่รู้ล้ม

daat-day-Yuthana-Boonorm-05

ป๋าเต็ดได้โจทย์มาว่าต้องจัดคอนเสิร์ต โดยมีเวลาเตรียมงานแค่ 1 เดือนเท่านั้น เพราะศิลปินที่ตกลงกันไว้ไม่สามารถขึ้นเล่นได้แล้ว และสถานที่ก็จองไปแล้ว ถ้ายกเลิกก็จะเสียเงินค่ามัดจำเป็นล้านบาท จึงมี 2 ทางเลือกว่าจะยอมเสียเงินจำนวนนั้นไป หรือจะดิ้นรนจัดคอนเสิร์ตขึ้นมาให้ได้..ซึ่งป๋าเต็ดเลือกอย่างหลัง

ศิลปินที่ป๋าเต็ดนึกถึงคือ Paradox เพราะฐานแฟนที่เหนียวแน่น และการแสดงของวงที่เอ็นเตอร์เทนแฟนเพลงได้อยู่หมัด และยังสนิทสนมกันดีน่าจะร่วมงานได้ง่ายและเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุดในข้อจำกัดนี้ แต่ถ้ายึดตามสไตล์ของวง บัตรจะต้องไม่แพง (900 บาท) ของที่ระลึกจะต้องมาเต็ม (กางเกงในสกรีนคำว่าพาราด็อกซ์) วันขายบัตรที่ตึกแกรมมี่ มีสิทธิพิเศษให้คนซื้อสามารถได้เจอกับศิลปินตัวเป็นๆ..ปรากฏว่าบัตรขายไปกว่าครึ่งตั้งแต่วันแรก

แต่ถึงจะโล่งใจแล้วว่าไม่ขาดทุนแน่ๆ แต่อีกความท้าทายก็คือป๋าเต็ดต้องตกแต่งเวทีด้วยงบที่จำกัดมากๆ ระหว่างหาไอเดียได้ตามไปดูโชว์ของวง และพบว่าวงนี้แจกตุ๊กตาเป่าลมให้กับแฟนๆ เยอะมาก ซึ่งศิลปินก็บอกว่า ‘มันถูกมากเลยพี่ ตัวละ 25 บาทเท่านั้น’..จึงเกิดเป็นไอเดียการจัดเวทีที่แปลก อยู่ในงบ และออกมาสวยที่สุดเวทีหนึ่งเลย (จนถึงทุกวันนี้หลายๆ คนก็ยังจดจำกันได้) ซึ่งก็คือเวทีที่ประดับด้วยตุ๊กตาเป่าลมนั่นเอง

 

“POSSIBILITY within the CONTEXT”

daat-day-Yuthana-Boonorm-06

หลังจากที่คิดว่าตัวเองเริ่มงานจากศูนย์และไม่มีสูตรมาโดยตลอด เมื่อป๋าเต็ดได้มีโอกาสคุยกับคุณด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค ก็เกิดความคิดใหม่..’จริงๆ แล้วทุกงานที่เราทำมันมีสูตรอะไรบางอย่างนี่หว่า’

ป๋าย้อนคิดว่าทุกงานที่ทำออกมา มีกระบวนการคิดที่ง่ายที่สุดและใช้เป็นประจำ คือการเข้าใจบริบทก่อน แล้วหาความเป็นไปได้ในงานนั้นๆ

  • เห็นข้อจำกัดว่าต้องจัดคอนเสิร์ตใน 1 เดือน > มองหาความเป็นไปได้
  • อยากจัดคอนเสิร์ตให้ศิลปินหน้าใหม่ > มองหาความเป็นไปได้
  • อยากเห็นจำนวนที่ชัดเจนของคนฟังคลื่นวิทยุ > มองหาความเป็นไปได้
  • อยากจัดเวทีประกวดที่ใครๆ ก็มาเชียร์กันได้ > มองหาความเป็นไปได้

 

หรือจะแปลเป็นภาษาคนในวงการเอเจนซี่ก็คือ เราต้องโฟกัสกับบริบท หรือบรีฟที่ได้มาเยอะๆ แล้วเมื่อเราโฟกัสมันมากพอ ความเป็นไปได้มันจะเกิดขึ้นเอง

 

Bangkok Idol Festival: Guide Book [Tossa Girl]

5 เหตุผลทำไมแฟนเพลงถึงรัก Coldplay



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save