เมื่อการใส่หน้ากาก (จริงๆ) เข้าหากันในชีวิตประจำวันได้กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้การเลือกใช้หน้ากากอนามัย กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ วันนี้ค่าฝุ่นเยอะต้องใช้อันนี้ หรือหากจำเป็นต้องผ่านพื้นที่เสี่ยง ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้อีกอันหนึ่ง คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วอันไหนล่ะถึงจะเหมาะสมที่สุด? วันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับหน้ากากอนามัยแต่ละประเภทกัน หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหน้ากากทางการแพทย์ ก็เพราะสามารถป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ถึง 99% แต่เนื่องจากหน้ากากประเภทนี้มีความขาดแคลนบ้างในบางครั้ง หากเป็นไปได้ ก็ควรให้ทางการแพทย์ได้ใช้ก่อน และเลี่ยงไปใช้ประเภทอื่นแทน วิธีใช้ : นำด้านสีเขียวออกด้านหน้า โดยให้ขอบแข็งอยู่ด้านบน โอกาสในการใช้ : ส่วนใหญ่ใช้ในทางการแพทย์ อาทิ ตรวจคนไข้ แต่คนทั่วไปสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกัน กันอะไรได้บ้าง : กันสารคัดหลั่ง ป้องกันเกสรฝุ่นและดอกไม้ได้ขนาดเล็กสุดถึง 3 ไมครอน และหากใส่ 2 แผ่น จะกันได้มีประสิทธิภาพถึง 89.75% ระดับการหายใจคล่อง : 4/5 ราคา ชิ้นละ 2-5 บาท หน้ากากคาร์บอน มีคุณสมบัติเหมือนกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่จะเพิ่มชั้นคาร์บอนที่ช่วยกรองกลิ่นได้ดียิ่งขึ้น วิธีใช้ : นำด้านสีเทาเข้มออกด้านหน้า โดยให้ขอบแข็งอยู่ด้านบน โอกาสในการใช้ : ใช้ในชีวิตประจำวันในวันที่ต้องพบปะผู้คน หรือไปในสถานที่ที่ไม่พึงประสงค์ กันอะไรได้บ้าง : กรองเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 95% กรองฝุ่นละอองขนาด 3 ไมครอนได้ 66.37% และถ้าสวมใส่ 2 แผ่น จะกันได้ มีประสิทธิภาพถึง 89.75% ระดับการหายใจคล่อง : 3/5 ราคา : ชิ้นละ 3 – 5 บาท หน้ากาก N95 เมื่อมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ดูมีความเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกเล็กน้อย หน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้ากากทั่วไปๆ สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ได้ เพราะมีรูปแบบครอบปากและจมูกอย่างมิดชิด วิธีใช้ : นำด้านที่รองรับสันจมูกขึ้น บางแบรนด์อาจมีสายรัดด้านหลังเพื่อการปิดที่แน่นหนามากยิ่งขึ้น โอกาสในการใช้ : ใช้ในวันที่ไม่ต้องทำกิจกรรมหนักๆ หรือไปในสถานที่ที่มี PM2.5 สูง กันอะไรได้บ้าง : กันสารคัดหลั่ง เกสรฝุ่นและดอกไม้ PM2.5 และ PM10 ระดับการหายใจคล่อง : 2/5 ราคา : ชิ้นละประมาณ 60 บาทขึ้นไป หน้ากาก FFP1 มีรูปทรงคล้ายหน้ากาก N95 แต่นอกจากจะสามารถกันฝุ่น PM2.5 และ PM10 ได้แล้ว ยังสามารถกันสารเคมีได้อีกด้วย โดยสำหรับตัวนี้ บางรุ่นจะมีลิ้นระบายลมให้หายใจออก และช่วยในการระบายความร้อนและความชื้น จนบางคนอาจจะกลัว่าไม่สามารถกันไวรัสได้เพราะมีรูระบายอากาศเพิ่ม ก็มั่นใจได้เลยว่ากันได้แน่ เพราะยังมีชั้นอื่นๆ กรองไว้อยู่ วิธีใช้ : ใช้สายรัดแบบครอบหัวทั้งด้านบนและล่างเพื่อความกระชับ โอกาสในการใช้ :ใช้เมื่อต้องไปสถานที่ที่มีค่า PM2.5 สูง หรือมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมี กันอะไรได้บ้าง : กันสารคัดหลั่ง เกสรฝุ่นและดอกไม้ PM2.5 และ PM10 ระดับการหายใจคล่อง : 4/5 ราคา : เริ่มต้นที่ 70 บาท หน้ากากกันฝุ่นทั่วไป หรือ หน้ากากผ้า มีทั้งแบบผ้าฝ้ายและผลิตจากใย และแบบสังเคราะห์ซ้อนทบชั้นกัน มักใส่สบายและสามารถใส่ในชีวิตประจำวัน สามารถกรองฝุ่น ป้องกันเชื้อโรคจําพวกเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียและไวรัสขนาดเล็กได้ วิธีใช้ : นำด้านสีเข้มกว่าออกด้านหน้า โดยให้ขอบแข็งอยู่ด้านบน โอกาสในการใช้ : ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องพบปะคนจำนวนมาก หรือเพื่อกันฝุ่นละองงธรรมดา กันอะไรได้บ้าง : ฝุ่น และเชื้อโรคจําพวกเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ระดับการหายใจคล่อง : 4/5 ราคา : ชิ้นละ 2-5 บาท หน้ากากฟองน้ำ มีคุณสมบัติกรองฝุ่น และกรองอากาศ เหมือนกับหน้ากากผ้าทั่วไป แต่ให้สัมผัสที่นุ่มกว่าเนื่องจากผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอนสําหรับกรองอากาศ สามารถซักทําความสะอาดได้แห้งเร็ว พับเก็บไม่ยับสามารถคืนรูปเดิม ได้ไม่เสียทรง ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันสามารถกันฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก และเกสรดอกไม้ได้ กันอะไรได้บ้าง : กันฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก และเกสรดอกไม้ได้ ระดับการหายใจคล่อง : 5/5 ราคา : เริ่มต้นที่ 20 บาท ใส่หน้ากากอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากประเภทใดก็ตาม หากใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้การป้องกันไม่มีผล และจบด้วยการได้รับเชื้อหรือสารเคมีอยู่ดี ดังนั้นต้องใส่หน้ากากให้ถูกต้อง ดังนี้ รักษาความสะอาดของมือทั้งก่อนและหลังใส่หน้ากากอนามัย ใส่ให้ครอบคลุมทั้งปากและจมูก ไม่นำไปไว้ที่คาง หรือใส่แบบใต้จมูก(แบบคุณลุงข้างบ้านนะจ้ะ) ไม่จับหน้ากากระหว่างที่ใส่ เปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน หากพบเห็นว่าฉีกขาด หรือชำรุด ให้เปลี่ยนทันที ทิ้งอย่างถูกวิธีด้วยการทำลาย หรือรวมกันใส่ถุงแล้วทิ้งทีเดีย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หรือผู้อื่นนำไปใช้ต่อ ที่มา: LPCH