7 ขั้นตอนดริปกาแฟ - ทำเองก็ได้ ง่ายนิดเดียว!

Writer : JINGJING

: 7 มิถุนายน 2562

ลองจินตนาการถึงเสียงนกร้อง แดดอ่อนๆ ยามเช้า และกลิ่นหอมของกาแฟ ที่ค่อยๆ ปลุกเราจากความหลับใหล แล้วมันจะดีสักแค่ไหนถ้าได้ชงกาแฟร้อนสักแก้วให้ตัวเองหรือคนที่เรารัก ด้วยกาแฟที่เราบรรจงคัดสรร และความพิถีพิถันของการชงในทุกขั้นตอน ยิ่งโดยเฉพาะคอกาแฟที่ต้องการดื่มดำกับกาแฟดริปยามเช้า พร้อมกับหนังสือดีๆ สักเล่ม เพื่อปลุกฝันปั้นแรงบันดาลใจ 

แทนที่จะต้องไปยืนรอคิวกาแฟในร้านตอนเช้า ลองเปลี่ยนมาใช้เวลากับตัวเราเอง ด้วยการตื่นเช้าขึ้นอีกนิด มาละเมียดละไมกับการชงกาแฟ นอกจากจะพบว่าไม่ได้ยากเกินไปอย่างที่คิด คุณยังจะได้พบแรงบันดาลใจดีๆ ผ่านการดริปกาแฟ ที่ค่อยๆ ไหลลงสู่ถ้วยทีละหยาดหยด ความภูมิใจกับกาแฟแก้วแรกที่คุณชงด้วยตัวเองในทุกๆ วัน เปรียบเสมือนรางวัลแห่งความพยายามและความตั้งใจ

ยิ่งได้เห็นรอยยิ้มของคนที่คุณรัก ผ่านกาแฟแก้วแรกที่คุณชงให้เขาในทุกๆ วัน บอกได้เลยว่ากาแฟยิ่งอร่อย ก็เพราะใจที่ใส่ลงไปนี่ล่ะ ไม่มีอะไรยากเกินลงมือ มาเริ่มต้นวันดีๆ ด้วย 7 ขั้นตอนดริปกาแฟที่ใครๆ ก็ทำได้ ง่ายนิดเดียว…เชื่อสิ!       

เตรียมอุปกรณ์!  

  • ดริปเปอร์ (Dripper): มีหลากรูปแบบ ทั้งแบบที่ทำจากเซรามิค แก้ว สแตนเลส พลาสติก และยางซิลิโคน โดยส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ทรง ได้แก่ ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู (Trapezoid Shape) ทรงตะกร้า (Basket Shape) และทรงกรวย (Cone Shape) ที่พบเห็นได้บ่อย และยกมาเป็นตัวอย่างในครั้งนี้
  • เหยือกรองน้ำกาแฟ (Carafe): อาจใช้ทรงแก้วแบบอื่นๆ ที่มีปากแก้วกว้างพอ ที่จะรองรับดริปเปอร์ด้านบน ก็เป็นอันใช้ได้
  • กระดาษกรอง (Filter Paper): เลือกทรงกระดาษกรองให้เหมาะกับทรงของดริปเปอร์ กระดาษกรองมีทั้งแบบฟอกขาว และแบบไม่ฟอก (กระดาษสีน้ำตาล) แนะนำให้ใช้แบบฟอกขาว เพราะกลิ่นกระดาษน้อยกว่า
  • กาน้ำร้อนสำหรับดริปกาแฟ (Drip Kettle): ควรเลือกแบบที่จับถนัดมือ และควบคุมสายน้ำที่ไหลออกมาได้ดี โดยมากปากมักจะโค้งงอเป็นทรงเรียวเล็ก ปัจจุบันมักมาพร้อมแท่นต้มน้ำและเทอร์โมมิเตอร์ในตัว
  • เครื่องบดเมล็ดกาแฟ (Coffee Grinder): มีทั้งแบบเครื่องบดอัตโนมัติ หรือแบบมือหมุน (Hand Grinder)
  • ตาชั่งกาแฟ (Scale): ปัจจุบันมักมาพร้อมกับนาฬิกาจับเวลาในตัว
  • นาฬิกาจับเวลา (Timer): กรณีตาชั่งกาแฟไม่มีนาฬิกาจับเวลาในตัว
  • น้ำชงกาแฟ (Water): น้ำใส สะอาด ปราศจากกลิ่น ไม่มีตะกอน และไม่มีคลอรีน
  • เมล็ดกาแฟ (Coffee Bean): เมล็ดกาแฟคั่วอ่อนถึงกลาง หรือกาแฟคั่วสำหรับกาแฟฟิลเตอร์ (Filter Coffee)
  • ช้อนคนกาแฟ (Coffee Spoon): เป็นอุปกรณ์เสริม (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

สัดส่วนของกาแฟต่อน้ำ (Brewing Ratio)

สัดส่วนของกาแฟต่อน้ำที่ใช้ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ กาแฟ 1 กรัม ต่อน้ำ 15 กรัม ถ้าอยากได้รสชาติที่บางกว่านี้อาจจะเป็น 1:16 หรือ 1:17 ก็ได้ หรือถ้าอยากได้รสชาติที่เข้มข้นกว่านี้ อาจปรับสัดส่วนได้ถึง 1:12 ในที่นี้เราจะใช้สัดส่วน 1:15 โดยใช้กาแฟ 20 กรัม และน้ำ 300 กรัม

ขั้นตอนที่ 1 ต้มน้ำ

เริ่มจากการต้มน้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสม Sang Ho Park เจ้าของตำแหน่ง UK Brewers Cup Champion ปี 2013 แนะนำให้ใช้น้ำอุณหภูมิ 92 – 95 องศาเซลเซียส สำหรับกาแฟคั่วอ่อน ส่วนกาแฟที่คั่วเข้มขึ้นมาหน่อย แนะนำที่อุณหภูมิระหว่าง 85 – 89 องศาเซลเซียส

ขั้นตอนที่ 2 บดกาแฟ

ในระหว่างที่รอน้ำเดือดในอุณหภูมิที่ต้องการ ให้บดเมล็ดกาแฟ ในระดับความละเอียดประมาณน้ำตาลทรายหยาบ เมื่อบดแล้วอย่าเพิ่งเทออกมาพักไว้ เพื่อไม่ให้กลิ่นหอมของกาแฟหายไปอย่างรวดเร็ว และไม่ให้กาแฟดูดกลิ่นข้างนอกเข้าไป

ขั้นตอนที่ 3 เตรียมกระดาษกรอง

นำกระดาษกรองทรงกรวยมาพับขอบ และพับตรงปลายมุมกระดาษย้อนกลับมาอีกด้านเป็นมุมสามเหลี่ยม เพื่อเป็นการล็อกมุมกระดาษด้านล่าง

จากนั้นรีดกระดาษเบาๆ ตรงข้ามกับที่รีดเป็นแนวเดิมไว้แล้ว เพื่อให้คลายตัวออกรับกับทรงของดริปเปอร์ จากนั้นวางกระดาษกรองลงในดริปเปอร์ แล้วนำดริปเปอร์วางบนโถรองน้ำกาแฟ

ขั้นตอนที่ 4 ล้างกระดาษกรอง

เมื่อน้ำต้มเสร็จพอดี ให้วนน้ำร้อนล้างกระดาษ เพื่อเป็นการล้างกลิ่นกระดาษ และเป็นการอุ่นดริปเปอร์และโถรองน้ำกาแฟไปในตัว เมื่อน้ำไหลลงสู่โถด้านล่างหมดแล้ว ให้เทน้ำจากโถทิ้งไป แล้วนำดริปเปอร์วางบนโถรองน้ำกาแฟอีกครั้ง

จากนั้นวางบนตาชั่ง แล้วกดตาชั่งให้อ่านเป็น 0 กรัม (g) หรือ มิลลิลิตร (ml) แล้วเทผงกาแฟที่บดได้ลงไป พยายามปรับให้ผิวหน้าของผงกาแฟเป็นระนาบเดียวกัน เช็คดูอีกครั้งว่าได้ปริมาณที่ต้องการหรือไม่ (ในที่นี้เราต้องการ 20 กรัม)

ขั้นตอนที่ 5 เทน้ำรอบแรก – บลูม (Bloom)

กดตาชั่งให้อ่านเป็น 0 กรัมอีกครั้ง เริ่มเทน้ำรอบแรกในปริมาณสองเท่าของผงกาแฟ พร้อมกดเวลาเริ่มจับเวลาไปพร้อมๆ กัน (ในที่นี้คือน้ำ 40 กรัม) รอเวลาประมาณ 30 วินาที

ขั้นตอนนี้จะเรียกว่า ‘Bloom’ เป็นปฏิกิริยาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาอย่างรวดเร็วเมื่อน้ำสัมผัสกับกาแฟบด กาแฟจะพองตัวขึ้นมา เทคนิคสำคัญคือต้องมั่นใจว่าน้ำสัมผัสกับกาแฟทุกส่วน และไม่เทออกด้านข้าง

ขั้นตอนที่ 6 วนน้ำที่เหลือลงบนกาแฟ

 

จากนั้นค่อยๆ วนน้ำที่เหลือลงไปช้าๆ (ในที่นี้คือ น้ำปริมาณ 260 กรัม) เทคนิคสำคัญคือการวนด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอตลอดการชงกาแฟ และต้องมั่นใจว่าน้ำโดนผงกาแฟตลอด พยายามไม่วนออกด้านข้าง

เพราะน้ำอาจจะไหลผ่านกระดาษกรองด้านข้างโดยที่ไม่สัมผัสกาแฟโดยตรง ซึ่งอาจทำให้กาแฟสกัดได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้ควรจะจบการเทน้ำให้เสร็จภายในระหว่างนาทีที่ 2.00 ถึง 2.30

และน้ำกาแฟควรจะไหลลงสู่โถด้านล่าง ภายในระหว่างนาทีที่ 2.30 ถึง 3.00 อย่างไรก็ตามหากใช้ปริมาณกาแฟที่มากหรือน้อยกว่านี้ ระยะเวลาก็มากน้อยผันแปรตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามการเทน้ำมีหลายเทคนิคด้วยกัน ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 7 ปรับตามความชอบ

เมื่อน้ำกาแฟไหลลงสู่โถด้านล่างหมดแล้ว ให้ยกดริปเปอร์ด้านบนออก จากนั้นนำช้อนคนน้ำกาแฟในโถให้เข้ากัน ถ้าไม่มีช้อน ก็เหวี่ยงน้ำกาแฟในโถให้เข้ากันก็ได้ แนะนำว่าพักกาแฟให้อุณหภูมิลงสักนิด

จากนั้นลองชิมดูว่าชอบรสชาติที่ได้หรือไม่ หากพบว่ากาแฟรสชาติจางไป อาจลองปรับน้ำให้อุณหภูมิสูงขึ้น หรือปรับที่ระดับการบดให้ละเอียดขึ้น และหากกาแฟมีรสที่เข้มเกินไป ก็ลองปรับในทางกลับกัน

ทั้งนี้ในการปรับแต่ละครั้ง แนะนำให้ทดลองปรับครั้งละหนึ่งตัวแปร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และจะทำให้ปรับรสชาติได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามตัวแปรมีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ระดับการบดกาแฟ ]ลักษณะการเทน้ำ ไปจนถึงสัดส่วนของกาแฟต่อน้ำที่ใช้ เป็นต้น

ขอให้สนุกกับการดริปกาแฟในทุกๆ ที่ ชงออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง มาเล่าให้ฟังกันบ้างนะ ไปกินกาแฟก่อนล่ะ 🙂

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการชงกาแฟก็คือเมล็ดกาแฟ -> เมล็ดกาแฟอาราบิก้า

Writer Profile : JINGJING
"เจ้าของร้านกาแฟ ผู้รักการอ่าน และรักงานเขียน รวมถึงรักการเล่นเปียโน"
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save