เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทเพื่อทรงสืบราชสันตติวงศ์ โดยพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” รัชกาลที่ 10 ซึ่งหลังจากเหตุการณ์อันเศร้าสลดใจของชาวไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ครม.-คสช.ประชุมวาระพิเศษ ’การมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่’ และมีมติแจ้งไปยัง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นครองราชสมบัติ สืบเป็นรัชกาลที่ 10 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงอยากชักชวนให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 กัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น. มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระนาม “วชิราลงกรณ” นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งถวาย มาจาก “วชิรญาณ” พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 เดือน กับ 18 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ ทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2513 ในปี พ.ศ. 2515 เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” ในปีเดียวกันนั้น ทรงได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519 ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2530 ครั้งถึง พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โ ดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช นอกจากนี้ ยังทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด โดยปัจจุบันทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด นับตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศลในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนา จึงมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อสมทบทุนเพื่อการกุศลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2555 เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เที่ยวบินพิเศษ TG 8866 นำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 113 คน ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น รายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคสมทบจากผู้มีจิตศรัทธาครั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อสมทบทุน มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) 16 สิงหาคม 2558 ทรงเป็นประธานเปิด-ปิดกิจกรรม Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมถวายพระพรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 ธันวาคม 2558 มีกิจกรรม ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และทรงนำขบวนพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชปณิธานที่จัดกิจกรรมจักรยานถวายพระเกียรติ และถวายความจงรักภักดีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มา – https://th.wikipedia.org hilight.kapook.com www.coj.go.th/ www.matichon.co.th/