วิธีบริหารเงิน ให้สิ้นเดือนไม่เหมือนสิ้นใจ

Writer : incwaran

: 1 ตุลาคม 2562

สิ้นเดือนทีไร ถ้าบริหารเงินไม่ดี เงินในบัญชีก็จะยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ เผลอๆ บางเดือนอาจจะมีติดลบ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเงินเดือนมากหรือน้อย ถ้าใช้สอยอย่างมีแบบแผนก็จะมีเงินใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนแบบสบายๆ ไม่ต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกต่อไป

มนุษย์เงินเดือนที่เห็นเพื่อนกินหรูอยู่สบายอย่าเพิ่งท้อใจ ถ้าเราบริหารการเงินอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถกินดีอยู่ดีในแบบของตัวเองได้

แบ่งเงินเป็นสัดส่วน

ถ้าได้เงินเดือนมาเท่าไหนแล้วใช้เท่านั้น รับรองว่าไม่มีเงินเก็บแน่นอน อันดับแรกเราต้องแบ่งเงินเป็นส่วนๆ ตามรายจ่ายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่นเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 60% เงินเพื่อการท่องเที่ยวและชอปปิง 20% เงินเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน 10% และเงินเก็บ 10% ซึ่งส่วนไหนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายรับและรายจ่าย บางคนอาจเหลือเงินไว้เก็บเยอะ หรืออาจจะมีเงินสำหรับการลงทุนด้วย สำหรับใครที่มีเป้าหมายในการเก็บเงิน อาจเริ่มต้นจากการหักส่วนที่เป็นเงินเก็บก่อน แล้วปรับการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสัดส่วนเงินที่เหลือใช้

ทำบันทึกรายรับรายจ่าย

การทำบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้เรามีระเบียบทางการเงินมากขึ้น เพียงแค่บันทึกไว้ว่าเราได้รายรับจากอะไร เท่าไหร่ ใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน นอกจากจะทำให้รู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไร มากแค่ไหน ยังเป็นการตรวจสอบเงินคงเหลือว่าตรงกับบัญชีรายรับรายจ่ายหรือไม่ ป้องกันเงินหายแบบไม่รู้ตัว

คำนวณรายจ่ายในแต่ละเดือน

จากการทำบันทึกรายรับรายจ่าย จะทำให้เราสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ โดยเฉพาะรายจ่ายคงที่ ที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้แล้ว เราจะสามารถประเมินได้ว่าเราควรเก็บเงินเท่าไหร่ และจะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงมากแค่ไหน 

รายรับเท่าไหน ใช้ชีวิตตามนั้น

รายรับและรายจ่ายของแต่ละคนไม่เท่ากัน นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถใช้ชีวิตตามใครได้ แม้แต่คนที่มีรายได้เท่ากัน ยังมีการใช้ชีวิตที่ต่างกันเนื่องจากรายจ่ายและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบต่างกัน ถ้าเรามีเงินจำกัดแต่กินบุฟเฟต์ทุกวันตั้งแต่ต้นเดือน สิ้นเดือนก็จะเหมือนสิ้นใจเพราะเงินไม่พอใช้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถซื้อของที่ต้องการได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทนและมีระเบียบวินัยในการใช้เงิน

ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

จากการคำนวณรายจ่ายและทำบันทึกรายรับรายจ่ายไประยะหนึ่งแล้ว เราจะเห็นจำนวนเงินที่ตัวเองใช้ในแต่ละวัน รวมถึงดูได้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง จากนั้นจึงมาคิดว่ารายจ่ายอะไรสามารถลดหรือตัดออกได้ ถ้าเป้าหมายของเราคือการเพิ่มสัดส่วนเงินเก็บ เราจะสามารถนำรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมาเพิ่มในส่วนนี้ได้ 

ฝากเงินกับแหล่งลงทุนทางการเงิน

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เงินงอกเงยคือการลงทุน แต่ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจจะนำเงินจำนวนมากไปลงทุน การฝากเงินกับสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันก็เป็นวิธีที่ปลอดภัย และได้ดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ก็มีให้เลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ในการใช้จ่าย แต่อย่างไรก็แม้การฝากเงินจะไม่มีความเสี่ยงเท่าการลงทุน แต่ก็ควรทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ       


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save