สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ ‘สปท’ มีมติเป็นเอกฉันท์ 144 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบให้ผ่าน ‘แผนควบคุมสื่อออนไลน์เพื่อลดความรุนแรงทางสังคม’ ส่วนเหตุผลหลักที่มีการนำเสนอให้ออกแผนมาควบคุมการใช้สื่อออนไลน์ก็เพราะช่องทางออนไลน์กระจายข่าวได้เร็วและไว แต่หากไม่มีการควบคุมอาจเกิดความวุ่นวายในภายหลัง เลยต้องออกกฎหมายมาควบคุม สำหรับรายละเอียดของแผนการควบคุมการใช้สื่อออนไลน์นั้นแบ่งออกเป็นวาระหลักสองประเด็นคือวาระเร่งด่วน และการปฏิรูประยะยาว เพื่อปลูกฝังแนวคิดการใช้สื่อออนไลน์ที่ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดของแผนควบคุมสื่อออนไลน์นี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่คือการสรุปแบบสั้นๆ ง่ายๆ เอาที่เป็นสาระสำคัญมาย่ออีกทีนึงตามนี้เลย 1. สแกนลายนิ้วมือ ใบหน้า และบัตรประชาชนก่อนซื้อซิม : สำหรับคนที่ใช้ซิมมือถือแบบเติมเงินนั้นหากแผนนี้ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายเวลาที่ซื้อซิมจะต้องสแกนใบหน้า สแกนนิ้ว และลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยบัตรประชาชนเพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด โดยใน ‘รายงานเรื่องผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย’ ระบุเหตุผลของการลงทะเบียนอย่างละเอียดว่าเป็นมาตรการทางจิตวิทยาให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์เกิดความยับยั้งชั่งใจในการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม 2.จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ : อธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ สปท. ต้องการที่จะมีศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลการใช้มือถือที่เป็นของรัฐบาล จากเดิมผู้ให้บริการเครือข่ายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้าด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ สปท. บอกว่าที่ต้องเสนอแผนนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือสืบสวนทางคดีที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางออนไลน์ โดยเจ้าภาพในการสร้างศูนย์ฯ นี้ก็คือ กสทช. 3. เสนอให้สร้างโซเชียลมีเดียของรัฐบาล : รัฐบาลมีแผนจะสร้างสื่อออนไลน์มาใช้เองในประเทศเพื่อจะง่ายต่อการควบคุมในแง่ของกฎหมาย รวมถึงป้องกันการกระทำผิด และการควบคุมรายได้ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งปัจจุบันการพยายามเก็บภาษีเฟสบุ๊ค และยูทูบ นั้นเป็นประเด็นที่รอข้อสรุปอยู่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร 4. สื่อออนไลน์ต่างประเทศจะต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับ กสทช. : สปท. เสนอว่าควรมีการจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ให้บริการในไทย (เช่นเฟสบุ๊ค. ทวิตเตอร์, ยูทูบ) ต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับ กสทช. และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อการสืบสวนสอบสวนทางคดี รวมถึงการให้สื่อออนไลน์ต่างประเทศมาลงทะเบียนเพื่อเร่งรัดการจัดเก็บภาษีให้แก่ประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วย 5. จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการกระทำผิดบนออนไลน์ : เดิมที่รัฐบาลมีศูนย์เฝ้าระวังการกระทำผิดทางออนไลน์อยู่แล้ว แต่ในแผนของ สปท. เสนอว่าควรเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์เฝ้าระวังให้มากขึ้เช่นเพิ่มคนเฝ้าระวัง หาเทคโนโลยีในการตรวจจับใบหน้าผู้กระทำผิดบนออนไลน์ เรียกว่าอัปเกรดขึ้นนั่นแหละ 6. จัดพระสงฆ์ และนักบวชในศาสนาต่างๆ เป็นตัวแทนอบรมประชาชนเพื่อใช้สื่อออนไลน์อย่างมีคุณธรรม : อ่านถูกแล้วแหละ นี่คือหนึ่งในแผนปฏิรูปการใช้สื่อออนไลน์ระยะยาว ซึ่ง สปท. เสนอให้มีการอบรมจริยธรรม ศีลธรรม และคุณธรรม ในการใช้สื่อออนไลน์โดยจะดึงกระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักจุฬาราชมนตรี และองค์กรทางศาสนา มาร่วมในการให้ความรู้และอบรมการใช้สื่อออนไลน์โดยให้พระสงฆ์ หรือนักบวชในศาสนา ที่ผ่านการอบรมการใช้สื่อออนไลน์ มาเป็นผู้อบรมและเผยแพร่การใช้สื่อออนไลน์ที่เหมาะสม นี่คือแผนการควบคุมสื่อออนไลน์ที่ สปท. นำเสนอไปคราวๆ ซึ่งขั้นตอนต่อไปอยู่ที่ขั้นตอนการพิจารณาว่าจะผ่านเป็นกฎหมายได้อย่างไร และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาถึงความเหมาะสมเพราะบางข้อก็อาจจะกระทบสิทธิมนุษยชนต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ที่มา – รายงานเรื่องผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย