17 ส.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ใช้เงินกู้ฯ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯซื้อวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 20,001,150 โดส เป็นเงินจำนวน 9.37 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าวัคซีนจำนวน 8,439 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการวงเงินประมาณ 933 ล้านบาท และครม.ยังเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส โดยให้กรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามกับไฟเซอร์ โดยจะนำเข้ามาในไตรมาส 4 ปี 2564 นอกจากนี้ครม. ยังเห็นชอบในการลงนามในร่าง In-kind Donation Agreement ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมัน กับ กระทรวงสาธารณสุขของไทย ซึ่งเป็นการรับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) ของบริษัท Regeneron จากเยอรมัน รวมถึงร่าง FORM OF AGREEMENT Tripartite Agreement ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นการรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จำกัด และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา รัฐบาลภูฏานมีความประสงค์จะมอบวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ผลิตโดย Statens Serum Institute ประเทศสวีเดน จำนวน 130,000-150,000 โดส แก่ประเทศไทย บนเงื่อนไขของการส่งมอบคืนในอนาคต ตามข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัท AstraZeneca จำกัด ส่วนประเทศเยอรมันมีความประสงค์บริจาค Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จำนวน 1,000-2,000 ชุด โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยประเทศไทยในฐานะผู้รับบริจาค ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนสำหรับยา แต่มีภาระในการรับมอบจาก Bundeswehrapotheke (Military pharmacy) Epe และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มีดังนี้ 1.บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม) 2. ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ที่มีสัญชาติไทย 3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศ เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 4.ผู้มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน Pfzer ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคต ที่มา bangkokbiznews