category คุยเรื่อง 'รถไฟไทย' กับแฟนพันธ์ุแท้รถไฟไทย 'วันวิสข์ เนียมปาน' ในมุมที่หลายคนอาจไม่รู้

Writer : Sam Ponsan

: 12 ตุลาคม 2561

เมื่อพูดถึงรถไฟไทย…ความคิดที่อยู่ในหัวของคุณนั้นคืออะไร ความเก่า ความคลาสสิค วิวสวยๆ ของสองข้างทาง ความเนิบช้า รถไฟไทยเทียบกับรถไฟเพื่อนบ้าน และอีกสารพัด แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราเคยคิดและเห็นเกี่ยวกับรถไฟไทย แต่เรามั่นใจว่ายังมีอีกหลายมุมที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้

เราเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับรถไฟไทยมากนัก แม้จะเคยนั่งรถไฟไปเที่ยวเชียงใหม่อยู่บ่อยๆ ในช่วงสมัยเรียน (ซึ่ง…มันก็เมื่อนานมาแล้ว) ทว่าเราก็ยังไม่ได้เข้าใจในเรื่องของรถไฟได้ดีเท่ากับ ‘แฮม – วันวิสข์ เนียมปาน’ แฟนพันธ์ุแท้รถไฟไทยและผู้ก่อตั้งเพจ ‘ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน’

แฮมนั่งรถไฟมาตั้งแต่จำความได้ เขาเคยบอกกับเราว่าเขามีตั๋วรถไฟที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่ยังเป็นตั๋วแข็ง และตั๋วกระดาษเป็นพันๆ ใบ เขาชื่นชอบรถไฟมาตั้งแต่ยังเด็กจนถึงวันนี้ก็เกือบ 30 ปีที่เขารู้จักกับรถไฟไทย ดังนั้นถ้าจะคุยเรื่องรถไฟไทยกับคนที่ Geek รถไฟขั้นสุดในทุกด้านก็ต้องเขานี่แหละ ตอนที่คุยกับเขาสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คืออยากจะขึ้นรถด่วนขบวนสุดท้าย (ชื่อเล่นของรถไฟสาย 51 ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่) แล้วไปเที่ยวเชียงใหม่เสียเดี๋ยวนี้เลย

และเรามั่นใจว่าถ้าคุณฟังเรื่องราวของรถไฟไทยและประสบการณ์ของแฮมกับรถไฟจบคุณก็อาจจะคิดเหมือนเรา

เริ่มนั่งรถไฟมาตั้งแต่จำความได้

แฮมเล่าว่าเขานั่งรถไฟมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปัจจุบัน คนแรกที่พาเขาขึ้นรถไฟคือคุณย่าที่พาแฮมไปตลาดที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟทุกวันเสาร์ ส่วนตอนที่ไปบ้านคุณยายที่พิจิตร แฮมก็นั่งรถไฟไป

และบ้านของยายก็ติดกับทางรถไฟ เวลารถไฟวิ่งมาเขาจะวิ่งไปรอดูรถไฟ เขาชื่นชอบรถไฟถึงขนาดที่รู้ว่าเสียงหัวรถจักรที่ได้ยินเป็นเสียงของรถไฟรุ่นอะไร ไม่โอตะคุด้านรถไฟจริงคงทำไม่ได้

เรียนรู้เรื่องรถไฟมาจากการอ่านและถาม

พอชื่นชอบเรื่องรถไฟมากๆ เข้า แฮมก็ไปอาศัยหาข้อมูลเรื่องรถไฟของไทยจากการอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติเนื่องจากในยุคแรกอินเทอร์เน็ตยังไม่มี แฮมอ่านข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟจนจำได้เกือบทั้งหมดอ่านจนจำได้ว่าเขียนว่าอะไรไว้บ้าง

ส่วนข้อมูลนอกจากหนังสือ เขาจะใช้วิธีถามจากคนที่ทำงานอยู่กับรถไฟจริงๆ ถึงสิ่งที่เขาสงสัย หรือฟังจากญาติๆ เล่าให้ฟังความชื่นชอบและหลงไหลในรถไฟของเขาทำให้เขากลายเป็น ‘สุดยอดแฟนพันธ์แท้รถไฟไทย’ และขยันเล่าเรื่องรถไฟไทยผ่านแฟนเพจ ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน

ล่ารถไฟเป็นงานอดิเรก

เมื่อโตขึ้นเขาเริ่มมีโอกาสได้ขึ้นรถไฟเอง และได้มีโอกาสตามถ่ายรูปรถไฟกับเพื่อนกลุ่มก๊วนคอเดียวกัน กิจกรรมที่ตามถ่ายรูปรถไฟของเขานั้นแฮมเรียกว่าคือการ ‘ล่ารถไฟ’ และหนึ่งในรถไฟที่เขาชอบไปล่า หรือติดตามถ่ายรูปในทุกครั้งก็คือการตามถ่ายรูปหัวรถจักรไอน้ำของไทย ซึ่งจะเปิดวิ่งในช่วงโอกาสพิเศษเท่านั้น โดยปีหนึ่งอาจจะมีแค่ครั้งเดียว ซึ่งเปิดให้บริการเป็นรถไฟท่องเที่ยว…แน่นอนว่าตั๋วเต็มอย่างไว

แฮมบอกว่าทุกครั้งที่เห็นรถไฟจักรไอน้ำวิ่งผ่านไปเขาใจสั่นด้วยความตื่นเต้นทุกครั้งรถจักรไอน้ำวิ่งผ่าน  “ตอนได้ยินเสียงฉึกฉัก ฉึกฉัก บอกเลย….ละสายตาไม่ได้” แฮมเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น  และถ้าเป็นไปได้เขาอยากให้ทุกคนมาลองนั่งรถจักรไอน้ำสักครั้งจะได้รู้จักรากเหง้าของรถไฟมากขึ้น และอาจจะรู้สึกหลงรถไฟมากยิ่งขึ้นเหมือนเขา

สเน่ห์ของการนั่งรถไฟคือระหว่างทาง

“การเดินทางด้วยรถไฟของเราคือการบำบัด เรารู้สึกรถไฟมันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ให้เรา บางทีเราเครียด เราไม่สบายใจเราไปนั่งรถไฟ ถึงปลายทางเราหาย
” แฮม เล่าถึงสิ่งที่เพื่อนรักของเขา ซึ่งก็คือรถไฟ

นอกจากนี้เขายังป็นคนที่ชอบนั่งรถไฟเที่ยวมากๆ เขาเคยนั่งรถไฟเที่ยวทั่วประเทสไทยทุกที่ที่รางรถไฟวิ่งผ่านเขาไปมาแล้วทั้งนั้น รวมไปถึงต่างประเทศด้วย สำหรับคนอื่นมองว่าการนั่งรถไฟไปเที่ยวนั้นคือเรื่องที่เสียเวลา ทว่าแฮม คิดต่างเขาบอกว่าการนั่งรถไฟให้เขาได้เห็นเรื่องราวระหว่างทางมากมายที่การเดินทางด้วยรถทัวร์ หรือเครื่องบินเทียบไม่ได้

ครั้งหนึ่งตอนที่เขานั่งรถไฟไปสิงค์โปร์ แฮม สามารถเขียนบันทึกการเดินทางกลับมาหนึ่งเรื่อง และเขาแบ่งปันเรื่องเล่านั้นให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วยเพื่อแบ่งปันแรงบันดาลใจกับการนั่งเดินทางด้วยรถไฟ

รถไฟไทยไม่ได้ช้าอย่างที่เข้าใจ

หนึ่งสิ่งที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถไฟคือรถไฟไทยช้า ไม่ตรงเวลาอย่างที่คนไทยครหา ทว่าในความเป็นจริงเรื่องความช้าของรถไฟหลายประเทศก็มีปัญหาที่คล้ายกันคือรถไฟดีเลย์เช่นมาเลเซีย แฮมเคยเจอดีเลย์ไป 40 นาที ส่วนประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษ หรือญี่ปุ่นก็เคยดีเลย์เหมือนกัน “ถ้ารถไฟอังกฤษไม่ช้า เถ้าไม่ช้า เจ. เค. โรว์ลิง คงเขียน ‘Harry Potter’ ไม่ได้” แฮมบอก

เส้นทางที่ชอบที่สุดคือสายเหนือและสายใต้

เส้นทางรถไฟในประเทศไทยที่แฮม แนะนำให้คนไทยที่อยากลองเดินทางด้วยรถไฟไปสัมผัสมีอยู่สองเส้นทางคือ

  • เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ : รถด่วนขบวนสุดท้ายที่จะออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตอน 4 ทุ่มตรง คือขบวนรถไฟ 51 ซึ่งไฮไลทืคือช่วงตั้งแต่เช้าตรู่ รถไฟจะเห็นแสงแรกที่ระหว่างทางแถวอุตรดิตถ์ ซึ่งสองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าเขา สลับกับวิวของหมู่บ้านกลางหุบเขา อากศหนาว หมอก และการรอดอุโมงค์รถไฟครบทั้ง 5 แห่ง ยิ่งถ้าไปช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือไปช่วงหน้าหนาวจะได้เห็นภาพรถไฟวิ่งทะลุหมอกสวยงามมากจนลืมไม่ลง
  • เส้นทางจากชุมพร – หาดใหญ่ : ความพิเศษของเส้นทางนี้นอกจากวิวแล้วก็คือของกิน โดยตลอดสองข้างทางจะมีแม่ค้าตามสถานีต่างๆ มาขายของ ทั้งข้าวเหนียวไก่ทอด ข้าวแกงกะทงเทพา  ข้าวยำ และอีกมากมาย แฮมบอกว่ามีเงินไปเท่าไหร่ เตรียมหมดไปกับของกินได้เลย

 

อนาคตของรถไฟไทยจะดีขึ้น

ส่วนหนึ่งในสิ่งที่คนไทยเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถไฟก็คือภาพที่รถไฟไทยจอดเทียบกับรถไฟ ETS (Electric Train Service) ของมาเลเซียแล้วมีคนบอกว่ารถไฟไทยล้าหลัง เพื่อนบ้านมีรถไฟความเร็วสูงแล้วเห็นไหม แต่แฮม ได้เล่าว่า รถไฟ ETS ของมาเลเซียที่เห็นนั้นเป็นรถไฟฟ้าจริงแต่ทั้งขบวนมี 6 ตู้เท่านั้น ที่สำคัญเร็วมากกว่ารถไฟไทยแค่ 20 กม./ชม. และวิ่งแค่บางเส้นทางไม่ได้วิ่งทั่วประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าเขามีการพัฒนาเรื่องรถไฟไปไกลกว่าบ้านเราแต่ยังไม่มาก

ส่วนรถไฟความเร็วสูงในเมืองไทยอย่างไรก็ต้องมี แฮมเชื่อมั่นเช่นนั้น แต่ตอนนี้รถไฟไทยอยู่ในระหว่างพัฒนาสิ่งพื้นฐานที่สำคัญซึ่งก็คือรางรถไฟที่จะถูกพัฒนาเป็นทางคู่ แน่นอนคนอาจจะสงสัยว่าแล้วอนาคตของรถไฟไทยจะเป็นรถไฟฟ้าหมดเลยไหม คำตอบคือไม่ และไม่มีที่ไหนในโลกใช้รถไฟระบบไฟฟ้าทั้งหมด ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศในฝั่งยุโรปก็ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าทั้งประเทศ ในบางพื้นที่ยังมีรถไฟแบบปกติอยู่ สองระบบต้องมีควบคู่กัน

ทางคู่กำลังจะเปลี่ยนรถไฟไทยไปอีกขั้น

ตอนนี้รถไฟกำลังพัฒนาเรื่อง ‘ทางคู่’ ซึ่งจะทำให้รถไฟของไทยมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น ข้อดีของรถไฟทางคู่แฮมได้สรุปให้เราฟังไว้ว่าอีกราวๆ 3 – 4 ปีทางรถไฟในประเทศไทยหลายแห่งจะพัฒนาเป็นทางคู่ ที่รถไฟสามารถวิ่งสวนกันได้เลยโดยไม่ต้องรอหลีกทำให้รถไฟใช้เวลาเดินทางน้อยลง และจะทำให้เราสามารถใช้รถไฟได้ดีมากยิ่งขึ้น

หากนึกภาพไม่ออกว่ารถไฟทางคู่ดีอย่างไร แฮม ชวนเรานึกถึงถนนแคบๆ ที่หากมีรถสวนกันสองคน ก็จะเกิดความติดขัด ชะลอหลบหลีกกันและกันทำให้เสียเวลา และเสียสุขภาพจิต แต่พอพัฒนาเป็นทางคู่ ก็กลายเป็นว่าแต่ละขบวนมีทางของตัวเอง ไม่ต้องหลบหลีกกันอีกต่อไป เลยทำให้การเดินทางไม่ชะงัก ยิ่งในเขตเมือง ทางคู่จะมีรั้วกั้น เพื่อไม่ให้โดนรถยนต์มาขวาง ถนนอาจถูกปรับเป็นสะพานหรืออุโมงค์เพื่อหลบหลีกรถไฟไปเลยจะได้คล่องตัว

 

 

 

 

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เบอร์ฉุกเฉิน เมมไว้ใช้เมื่อภัยมา


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save