Playlist เพลงฮิตวัยเด็ก เพลงอะไร ทำไมร้องกันได้ทุกโรงเรียน?


: 10 มกราคม 2563

เชื่อว่าเด็กนักเรียนไทยที่เคยผ่านวัยประถมมา จะต้องเคยได้ยินเพลงเหล่านี้กันบ้าง เพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองเป็นสากล ที่ก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน แถมพล็อตเรื่องเพลงก็ฟังดูจะแปลกๆ แถมทั้งๆ ที่สมัยก่อนไม่มี social network ให้แชร์กันด้วยซ้ำ แต่ทำไมไปโรงเรียนไหน แม้จะอยู่ต่างเมือง ต่างภูมิภาค ห่างกันไกลแค่ไหน แต่ก็ร้องกันได้ทั่วประเทศ ถ้าได้ยินใครร้องคำแรกขึ้นมารับรองว่าไปต่อกันได้แน่นอน วันนี้เราจะมาย้อนความทรงจำ ชวนให้คิดถึงวัยเด็กด้วย Playlist เหล่านี้กัน

หมายเหตุ: เนื้อร้องและทำนอง อาจมีปรับเปลี่ยนตามภูมิภาคและยุคสมัย ของใครร้องยังไง แชร์กันมาได้เลยยย

“1 2 3 ปลาฉลามขึ้นบก 4 5 6 จิ้งจกยัดไส้ ไอ แอม เชอรี่ จั๊กจี้หัวใจ ไอ แอม ตกบันได เพราะไอหมาตัวนี้

สมัยเด็กเราก็มักจะสนุกอะไรด้วยอะไรง่ายๆ ได้ เช่นตัวอย่างของเพลงนี้ 1 2 3 ปลาฉลามขึ้นบนมักจะร้องประกอบการเล่นเกมกับเพื่อนไปด้วย วิธีง่ายๆ แค่นั่งรวมกันกับเพื่อน ชี้นิ้วนับเพื่อนไปตามจำนวนพยางค์ วนไปเรื่อยๆ พอร้องจบแล้วใครคือคนสุดท้ายที่ถูกชี้ ก็จะเป็นคนแพ้ โดนเพื่อนล้อนั่นเอง

เปาบุ้นจิ้นชอบกินไข่เต่า ส่วนจั่นเจาชอบกินโอเล่ เซเลอร์มูนตาเหล่ตกส้วมตาย

“เปาบุ้นจิ้น” นับเป็นซีรี่ส์ผดุงความยุติธรรม ที่ดังที่สุดเรื่องหนึ่งในยุค 90 ที่เชื่อว่าใครๆ ก็ต้องเคยรู้จักหรือเคยดูกันมาบ้าง ซึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นำมาฉายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 จากนั้นก็มี Rerun นำกลับมาฉายอีกเรื่อยๆ ทำให้ไม่ว่าเด็กรุ่นไหนต่างก็ทันซีรี่ส์เรื่องนี้กันทั้งนั้น

เพลงนี้มีที่มาชัดเจนว่าเป็นการแปลงเนื้อจากทำนองเพลงประกอบละครเรื่องเปาปุ้นจิ้นมา ซึ่งออริจินัลเวอร์ชั่นเป็นภาษาจีน พอมาเข้าฉายบ้านเรา ก็ดังจนเพลงละครติดหูกันทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วก็ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย จึงมีการแปลงเนื้อให้เกิดความตลกขบขันกันไป

นั่งรถไฟจะไปโคราช ตดดังป้าด ไปราชบุรี ตดอีกทีถึงบริษัท บริษัทป้ำๆ เป๋อๆ ขอเสนอนิยายเรื่องสั้น ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยุ่ ปู่ไปเที่ยว ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยุ่ ปู่ไปเที่ยว

ถ้ามีใครพูดซักคนพูดคำว่า “นั่งรถไฟจะไปโคราช” เมื่อไหร่ แน่นอนว่าเพลงนี้ก็อาจจะผุดขึ้นมาในหัวได้ในทันที เพลงนี้ดูจะมีอายุยาวนานที่สุด ร้องกันมาได้ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งเมื่อลองค้นหาข้อมูลดูแล้ว ก็ดูจะไม่ได้มีที่มาที่ไปอะไรชัดเจนว่าทำไมต้องไปโคราช (ถ้านั่งไปที่อื่น อาจจะไม่ได้ร้องต้องดังป้าดหรือเปล่า?)

แต่จากข้อสันนิษฐานในหลายๆ ที่ ก็คิดว่าเพลงนี้น่าจะสะท้อนเทคโนโลยีคมนาคมที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ก็คือ “รถไฟ” ซึ่งการสร้างทางรถไฟสายแรกที่ออกจากเมืองกรุงไปต่างจังหวัด ก็คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา (หรือโคราช) นั่นเอง เปิดทำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 

ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปภาคอีสานเป็นเรื่องสะดวกสบายขึ้น สถานีโคราช จึงเป็นสถานีที่ป็อปปูล่าที่สุดในยุคนั้น และด้วยความเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย จึงเกิดเป็นเนื้อเพลงที่ส่งต่อ และต่อเติมกันมารุ่นต่อรุ่นก็เป็นได้

แม่จ๋า ช่วยหนูด้วย หนูกินกล้วย อยู่บนหลังคา ตกลงมา ทายาหม่อง ยี่สิบกล่องก็ไม่หาย ไปหาหมอ หมอไม่อยู่ ไปหาปู่ ปู่กินเหล้า ไปหายาย ยายตำหมาก กระเด็นใส่ปาก ร้องไห้แงแง

เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เด็กหลายคนเก็บไว้ร้องแหย่เพื่อน เวลามีใครสักคนโดนแกล้ง หรืองอแงขึ้นมา จะต้องมีตัวจี๊ดซักคนในแก๊งร้องเพลงนี้แน่ๆ นับเป็นเพลงที่ร้องแล้วเห็นภาพที่สุด สะท้อนลักษณะโครงสร้างครอบครัวในยุคก่อนของคนไทย ที่ยังเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ อาศัยอยู่บ้านในระแวกเดียวกัน มีทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ทำให้พล็อตเรื่องของเด็กๆ พาเราไปเจอคุณปู่ คุณยายในเรื่อง (เป็นคุณยายในยุคที่ยังตำหมากอยู่ด้วย) แต่ถึงอย่างนั้นจนตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเข้าใจและไม่สามารถระบุที่มาของเนื้อหาได้ ว่าทำไมหนูต้องไปกินกล้วยบนหลังคา

.. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกรฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดาหมาน้อย หมาน้อยธรรมดา หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา

ถ้านับจากปี 2563 ก็นับว่าเป็นเพลงที่ส่งทอดกันมาครบ 59 ปีแล้ว นับจากวันที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ซึ่งถ้าพูดถึงที่มาที่ไปของเพลง หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า ทำนองเพลงนี้เป็นเพลงที่มีออกแผ่นขายจริงๆ นะ เป็นซิงเกิ้ลที่ขับร้องโดย “ศักดิ์ศรี ศรีอักษร” และโด่งดังมากในปี พ.ศ. 2504

เพลงนี้นับว่าสะท้อนระบบราชการไทยยุคนั้นได้ดี เพราะในปี พ.ศ.2504 นี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มดำเนิน “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 1 ฉบับที่ 1” ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยในเพลงสะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้าน ที่ไม่คุ้นชินกับการใช้ภาษาราชการที่สื่อสารโดยตรงมาจากส่วนกลาง

เพราะในยุคนั้น ชาวบ้านหรือแม้แต่ผู้นำท้องถิ่นเอง ก็มักเป็นคนที่คุ้นเคยกันในท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งมาจากเมืองหลวง จึงไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมาก เลยอาจจะตอบคำถามและอธิบายแนวทางที่มาจากส่วนกลางไปแบบผิดๆ ถูกๆ เช่น ผู้ใหญ่ลี คิดว่าสุกร คือ หมาน้อยนั่นเอง (แหม่…ตรงนี้ดูมีสาระขึ้นมาเลย)

แต่ว่าเนื้อร้องของเพลงจริงนั้น ไม่ได้ร้องตามนี้หรอกนะ คิดว่าเนื้อเพลงที่เราคุ้นหูน่าจะผิดเพี้ยนมาจากความเข้าใจของเด็กๆ นั่นเอง

ไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ ไปกินเกลือบ้านตาแป๊ะ ไปนอนเปาะแปะ ให้ตาแป๊ะเล่นนม ตาแป๊ะเป่าปี่ ชะนีนอนหลับ ตาแป๊ะตดดัง กะละมังวิ่งหนี

สมัยก่อนถ้าเด็กคนไหนกำลังเถียงกับเพื่อนอยู่ แล้วเผลอพูดคำว่า “ไม่เชื่อ” ขึ้นมา รับรองว่าบทสนทนา จะตัดเข้าเพลงนี้ทันทีแน่นอน ซึ่งเพื่อนอาจจะร้องด้วยฟีลลิ่งเยาะเย้ยนิดๆ ด้วย แถมดูจากพล็อตเรื่องแล้ว ในมุมมองของเด็กๆ ยุคนั้น ออกจะทำให้รู้สึกว่า ตาแป๊ะ ดูเป็นคนน่ากลัวไม่ใช่น้อย 

กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ไข่ 1 ใบ 2 บาท 50… 50 2 บาท  1ใบ ไข่ ผ้าไหม ไข่ กรรไกร

เพลงนี้เป็นเพลงประกอบเกมที่เล่นด้วยมือเปล่าอีกเพลง ซึ่งนับว่าเป็นเพลงที่โชว์เหนือใส่เพื่อนได้มากเลยทีเดียว ถ้าหากว่าใครเล่นได้เก่งๆ เพราะจะได้โชว์ประสิทธิภาพการแยกประสาทสัมผัส โชว์เชาว์ปัญญาของคนร้องด้วย เพราะเวลาร้องจะมีท่าทางประกอบไประหว่างที่ร้องเพลงด้วย เช่น ท่าชู 2 นิ้ว หมายถึง กรรไกร, ท่ากำมือ หมายถึง ไข่ และท่าแบมือ หมายถึง ผ้าไหม นั่นเอง

ยาหย่าย่ายีหยี่ยี่คุณแม่ซักผ้า คุณยายสระผม ลูกอมโบตัน ยาสีฟันคอลเกต สบู่วิเศษปั๊กกะเป่ายิงฉุบ

เกมเป่ายิงฉุบนั้นความจริงแล้ว เป็นเกมสากลที่เล่นกันแพร่หลายไปทั่วโลก แต่สำหรับเด็กไทย หัวใจครีเอทีฟนั้น จะให้เป่ากันไปจบๆ ก็คงง่ายไป เลยต้องมีเพลงและท่าทางประกอบเพิ่มเติมเข้ามาหน่อย ซึ่งพล็อตเรื่องก็ดูแล้ว น่าจะแต่งในยุคไล่เลี่ยกับผู้ใหญ่ลีเลย นั่นคือ ช่วง พ.ศ.2501-2510 เพราะเป็นช่วงที่บริษัท ลูกอมโบตัน ยาสีฟันคอลเกต และสบู่วิเศษ กำลังเป็นที่นิยมบริโภคกันทุกครัวเรือนนั่นเอง

แอปเปิ้ล (แปะแปะ)  สตอร์เบอร์รี่ (แปะแปะ)  เป๊ปซี่ ดีที่สุด ชุดชั้นในไม่ใส่วาโก้ โก้ไม่โก้ไม่ใส่สีแดงคุณแม่บอกว่า ที่โรงเรียนอยุธยา มีเจ้าหญิงแสนสวย มีเจ้าชายแสนหล่อ มีชีเปลือยหลอลี่ มีโรคเอดส์ติดต่อ ใครชนะได้เป็นเจ้าหญิง….”

เพลงประกอบกิจกรรมเป่ายิงฉุบเข้าจังหวะอีกเพลง ที่พล็อตเรื่องยาวไม่แพ้กัน แต่สามารถเล่นได้มากกว่า 2 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 5 คน เพราะจะมีการจัด Rank ผู้ชนะในเกมนี้ด้วย เช่น ชนะคนแรก ได้เป็น “เจ้าหญิง”, ชนะถัดมาจะได้เป็น “เจ้าชาย” “คุณนาย” และ “ชีเปลือย” ตามลำดับ และสำหรับตำแหน่งบ๊วยสุด จะต้อง “เป็นเอดส์” ซึ่งในสมัยนั้นนับเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเด็กๆ 

ส่วนที่มาที่ไปของเพลงก็อาจจะไม่ได้มีแน่ชัด แต่พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพลงที่เกิดขึ้นมาหลังจากช่วงปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงปีที่แบรนด์ชุดชั้นในวาโก้เปิดทำการในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าชุดชั้นในสตรีในรูปแบบระบบอุตสาหกรรมจริงจังเป็นครั้งแรกในไทย ทำให้แบรนด์วาโก้ในยุคนั้น เป็นที่พูดถึงมากที่สุดแล้ว จนมาอยู่ในเพลงเป่ายิงฉุบเพลงนี้นั่นเอง

มังกร มังกร มังกรทอง มีเงินมีทองตลอดปี ใครได้ลูกชายเป็นโชคดี มีสง่าราศี จี้จุดมังกรทอง… ”

เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่ใช้ร้องประกอบเกมตบแปะมือเป่ายิงฉุบ แต่คราวนี้จะเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ยืนต่อแถวกัน 2 ฝั่ง คล้ายๆ เกมงูกินหาง แต่เด็กๆ ก็จินตนาการกันไปว่าเป็น “มังกร” ซึ่งถ้าฝ่ายไหนเป่ายิงฉุบแพ้ คนแพ้จะต้องไปต่อแถวฝั่งทีมที่ชนะ เล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนฝั่งไหนแถวหมดก่อนก็เป็นฝ่ายแพ้ไปนั่นเอง 

แต่เนื้อเพลงนี้ก็มีหลายเวอร์ชั่น จากเวอร์ชั่นแรกที่เป็นไปตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนสมัยก่อน ที่เชื่อว่าได้ลูกชายแล้วจะทำความโชคดีมาให้ตระกูล แต่พอมาร้องในโรงเรียนไทย ก็มีการเปลี่ยนคำจากได้ลูกชาย เป็น ลูกสาว บ้างก็มี จะได้ไม่น้อยใจกัน แต่จะร้องว่า “มังกร มังกร มังกรทอง มีเงินมีทองตลอดปี ใครได้ลูกสาวก็โชคดี มีสง่าราศี จี้จุดมังกรทอง…”

 

ที่มา : baanlaesuan, setthasat, longtunman, osotspa, wacoal,

[Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด

[Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save