category ไปค่ะพี่สุชาติ! : แชร์เทคนิคกดบัตรคอนเสิร์ต สำหรับมือสมัครเล่น (และไม่สมัครเล่น)

Writer : minn.una

: 24 เมษายน 2562

เวลาศิลปินที่เรารักบินมาจัดคอนเสิร์ตที่ไทยทั้งที นอกจากราคาค่าบัตรคอนเสิร์ตที่แพงจนแทบจะยกเงินเดือนทั้งเดือนให้เธอแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เหล่าสายดนตรีเคยเจอคงหนีไม่พ้นการมีเงินแล้วแต่ก็ซื้อไม่ได้ เพราะบัตรคอนเสิร์ตแต่ละใบเนี่ย กว่าจะกดได้มันยากเย็น!

ทีมงาน Mango Zero เข้าใจหัวอกพวกคุณ (เพราะเราก็เป็น TT) เราเลยได้ไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญในการกดบัตรคอนเสิร์ตจากหลายวงการ (โดยเฉพาะฝั่งเกาหลีที่เขาว่ากดยากนักหนา) พวกเขามีเทคนิคอะไรที่ทำให้ให้กดบัตรครั้งไหนๆ ก็ไม่มีนก รวมทั้งรวบรวมเอาจากประสบการณ์ตรง (ที่ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง) จากเราเองด้วยบางส่วนซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับเหล่านักกดบัตรมือสมัครเล่นหลายๆ คน อ่านจบแล้วก็ไปสู้ เอาบัตรคอนมาให้ได้ค่ะพี่สุชาติ!!

ทำความเข้าใจระบบกดบัตร

อย่างแรกเลยที่ต้องรู้ก็คือระบบกดบัตรที่เราจะกด เพราะแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีระบบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนั่นจะทำให้วิธีการกดจอง กดเลือกที่นั่ง และจ่ายเงินต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นศึกษาให้ดีก่อนกดนะจ๊ะ

นอกจากนี้อีกหนึ่งข้อที่ต้องสังเกตเลยก็คือระบบการจองเป็นแบบปกติหรือแบบเข้าคิว ตรงนี้จะมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยคือ

  • ถ้าเป็นระบบการจองแบบปกติ ทุกคนจะมารอให้ถึงเวลาพร้อมกัน และแย่งกันเข้าเว็บเพื่อไปกด ทำให้โอกาสเว็บล่มสูงมากกกกก
  • ถ้าเป็นระบบเข้าคิว จำกัดจำนวนคนเข้าไปกดบัตรเพื่อให้เว็บไม่ล่ม (เจอบ่อยใน Thai Ticket Major, Eventpop) เว็บจะเปิดให้ไปรอคิวได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มเปิดขายจริง คือถ้าเปิดขาย 10 โมงเช้า 9 โมงเช้าจะเริ่มเข้าไปรอคิวได้แล้วแหละ แต่ตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรีบไปรอตั้งแต่ 9 โมง สามารถเข้าไปรอก่อน 10 โมงได้ เพราะสุดท้ายระบบจะเรียกคิวโดยการสุ่มจากผู้เข้าคิวตอนเวลาเปิดขาย และถ้ายังไม่ถึงคิวก็ต้องรอไปก่อนจ้า

เมื่อรู้แล้วว่าสงครามครั้งนี้เราต้องไปสู้กับเว็บแบบไหน ก็อย่าลืมกดสมัครเว็บให้เรียบร้อยแล้วลองไปใช้เว็บให้คล่องกันก่อนนะ

เลือกอุปกรณ์ที่ถนัดมือ

สำหรับประสบการณ์ของเราที่ลองใช้อุปกรณ์กดบัตรคอนมาแล้วหลายแบบ รู้สึกว่าตัวอุปกรณ์มีผลต่อการกดบัตรอยู่บ้างในแง่ความเร็วของเครื่องในการเข้าแต่ละหน้าของเว็บ แต่ไม่ได้มีผลต่อการกดได้หรือไม่ได้มากขนาดนั้น ดังนั้นถ้าให้เลือกว่าจะกดด้วยอะไร คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ก็ให้เอาที่ถนัดและเหมาะมือดีกว่า (จากความเห็นผู้เคยตื่นมากดบัตรคอนเสิร์ตไอดอลเกาหลีวงหนึ่งตอน 10 โมงเป๊ะด้วยไอโฟนแล้วกดได้…)

อีกวิธีหนึ่งที่หลายคนทำก็คือถ้าเป็นระบบเข้าคิวของบางเว็บที่สามารถลงชื่อแอคเคาท์เดียวกันในหลายๆ อุปกรณ์ได้ก็คือ เปิดมันทั้งหมดนั่นแหละ มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต แล้วมารอดูว่าเครื่องไหนถึงคิวก่อนกันก็ใช้เครื่องนั้นกดไปเลย ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง (หรือวัดดวงกันแน่เนี่ย….)

หาเน็ตแรงๆ ให้อุ่นใจ

เน็ตแรงๆ มีผลต่อการได้หรือไม่ได้บัตรอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพอเป็นระบบสุ่มแล้ว ต่อให้มีเน็ต 300 Mbps ก็ไม่ได้แปลว่าจะกดได้อีกนั่นแหละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรมีเน็ตแรงๆ ไว้ให้อุ่นใจกันสักหน่อยก็ดี เช็ค Wifi บ้านไม่ให้มีหลุด หรือถ้าใช้เน็ตมือถือก็ควรมากกว่า 10 Mbps และระวังอย่าให้ความเร็วหมดไปก่อนนะ

เปิดนาฬิกาสากล นับถอยหลังเป็นวินาที

การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อเรามีคู่แข่งนับหมื่นนับแสนคน (นี่ยังไม่รวมคนที่ไม่ใช่แฟนเพลงแต่มากดไปอัพราคานะ – -‘) เพราะฉะนั้นถ้ากลัวว่านาฬิกาของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้จะไม่ต้อง ก็เปิดโลดเลยจ้า เว็บไซต์นาฬิกาโลก บอกกันเป็นวินาที เมื่อถึงเวลาเมื่อไหร่ พุ่งไปกดปุ่มรีเฟรชทันที!

ตรงนี้มีผู้เชี่ยวชาญแอบกระซิบมาด้วยว่าต้องใช้ความไวเข้าสู้ รีเฟรช เข้าเว็บ เลือกโซนและทำทุกอย่างให้ไปถึงหน้าจ่ายเงินให้ทันใน 1 นาที ยังไงก็ได้แน่นอน!

แนะนำเว็บนาฬิกาสากล www.clocktab.com/

บัตรยืนกดง่ายกว่าบัตรนั่ง

จากประสบการณ์ตรง ในกรณีที่เป็นคอนเสิร์ตเกาหลีที่มีบัตรหลายราคา คนมักจะลังเลว่าจะไปบัตรนั่งที่ราคาแพงที่สุด หรือบัตรยืนที่ราคาถูกลงมาหน่อยแต่ต้องยืนทั้ง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ผลคือถ้าเราเลือกกดบัตรยืนจะได้ง่ายกว่า นั่นก็เพราะว่าไม่ต้องมาห่วงตอนเลือกที่นั่ง (ที่เลือกไปแล้วอาจจะไปทับกับที่คนอื่นทำให้ยืนยันแล้วจ่ายเงินไม่ได้) บัตรยืนจะใช้แค่การใส่จำนวนบัตรที่อยากจองเข้าไป แล้วค่อยไปลุ้นกันทีเดียวว่าได้คิวดีแค่ไหนในตอนหลัง และที่สำคัญคือโซนยืนส่วนใหญ่จะเปิดให้คนเข้าชมได้มากกว่าโซนนั่งด้วย!

บัตรราคากลางๆ จะกดง่ายกว่า

หลายคนเลือกที่ไปให้สุดทาง นั่นทำให้เวลากดบัตรคอน โซนที่ได้รับความนิยมและมักจะกดก่อนก็คือโซนแพงสุด (ที่บางคอนคือแพงจริงงงง ไหนพวกเธอว่าไม่มีเงินกันแล้วไง!) และโซนถูกสุด (มากันหลายวง แต่อยากจะดูทุกวงก็ต้องบัตรถูกสุดไปนี่แหละนะ) โซนราคากลางๆ ที่เหลืออยู่จึงเป็นเป้าหมายที่ไม่เลว อาจจะไม่ได้กดง่ายขนาดนั้น แต่เมื่อเทียบกับ 2 โซนที่บอกไป ยังไงก็กดง่ายกว่าแน่นอน

แยกกันนั่งกับเพื่อนก็ได้นะ

ถ้าเป็นบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีแบบนั่ง เราจำเป็นต้องเลือกที่นั่งชัดเจน นั่นทำให้ถ้าเราอยากไปเป็นกลุ่มหลายคนก็จะต้องกดหลายที่นั่งติดกันให้ได้ (ซึ่งมันยาก!) และด้วยระบบกดบัตรคอนเสิร์ตบางเว็บที่ไม่ได้โชว์ที่ว่างแบบเรียลไทม์ การที่กดเลือกที่นั่งแบบ 3 ที่ติดกันก็อาจจะไปชนกับที่คนอื่นเขากำลังเลือกอยู่พอดี สุดท้ายก็เด้ง จบเห่ ไม่ได้ที่นั่งตรงนั้นไป หนทางที่เซฟที่สุดก็คือกระจายกำลังกดแยกกันแบบเดี่ยวๆ ไปเลย หรือแยกเป็นคู่ๆ ก็จะมีโอกาสได้มากกว่า

จ่ายเงินให้ทัน บางเว็บให้จ่ายภายใน 5 นาที!!

ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งก็คือการจ่ายเงินนี่แหละ หลังจากกดบัตรได้ตามที่หวังแล้ว เว็บจะนำเราไปถึงหน้าช่องทางการจ่ายเงิน ตรงนี้ถ้าเป็นเว็บอื่นที่ไม่ใช่ Thai Ticket Major ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการโอนเงินและกลับมาแจ้งโอนภายใน 2 ชั่วโมง (ซึ่งทันอยู่แล้วแหละ)

แต่ที่พีคกว่านั้นก็คือช่องทางยอดฮิตอย่างการจ่ายผ่านแอปโมบายแบงก์กิ้งอย่าง K-Plus ใน Thai Ticket Major ตรงนี้ต้องตั้งสติล้วนๆ เพราะทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก หลังจากที่เราใส่เบอร์โทรเรียบร้อยแล้ว รหัสการชำระเงินจะถูกส่งมาในแอป K-Plus เพื่อให้เรากดเข้าไปจ่ายเงิน

ตรงนี้เราเคยประสบปัญหารหัสการชำระเงินส่งมาช้า วิธีแก้ปัญหาในตอนนั้นคือการเข้าไปในแอป กดจ่ายบิล Thai Ticket Major และใส่เลขการจองของเราลงไป (ดูได้จากหน้าเว็บที่กดบัตรอยู่ตอนนั้น) และกดจ่ายเงินเลยก็ได้เหมือนกัน

พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องพึ่งไสยศาสตร์ หลายคนที่อาจจะเครียกหรือกดดันเกินไปสำหรับสงครามการกดบัตรที่กำลังจะมาถึง อีกหนึ่งสิ่งที่กำลังมาแรงและหลายคนบอกต่อก็คือ “เครื่องรางกดบัตรคอน” อย่างเทพเจ้าจิ้งจอก ศาลไคจูอินาริญี่ปุ่นที่เขาเคลมกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการกดบัตรคอนเสิร์ต หรือใครอยากจะไปไหว้พระขอพรกันเอาฤกษ์เอาชัยกันก่อนก็ได้เหมือนกัน ส่วนตัวเรายังไม่เคยลองมาก่อน แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อความสบายใจที่ใครอยากลองก็ไม่เสียหาย

ยังไงขอให้ทุกคนโชคดีกับสงครามกดบัตรคอนเสิร์ตที่จะมาถึง และขอให้บัตรอัพราคาใดๆ ไม่สามารถทำร้ายคุณได้จ้าาา

 

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save