คู่มือการแยกขยะ (ฉบับมือใหม่)

Writer : mindgo

: 15 กุมภาพันธ์ 2563

ปัญหาขยะเกิดจากการที่เราไม่ได้จัดการกับมันอย่างถูกต้อง ทั้งปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาขยะพลาสติกต่างเป็นปัญหาระดับโลก ทุกคนคงเคยเห็นจุดทิ้งขยะตามข้างทางหรือตามสถานที่ต่างๆ กันมาบ้าง ที่มีทั้งถังรวมและถังแยก แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่แยกขยะเพราะไม่มีเวลา ไม่รู้จะเริ่มยังไง หรืออาจจะคิดว่าถึงทิ้งไปสุดท้ายก็รวมกันอยู่ดี

เพราะในประเทศไทยก็ยังไม่ได้ปลูกฝังนิสัยการแยกขยะและยังไม่มีวิธีการจัดการกับขยะอย่างครบวงจร บางคนถึงยังได้ตั้งคำถามมากมาย วันนี้เราเลยอยากให้ทุกคนมาร่วมเริ่มต้นการแยกขยะตั้งแต่เริ่มทำความเข้าใจง่ายๆ ในแบบฉบับมือใหม่ พร้อมเกร็ดความรู้เบื้องต้นที่จะทำให้ทุกปัญหาการแยกขยะของคุณมีทางออก ไปเช็กกันเลยดีกว่า!

 

แยกไม่ได้ ก็ลดแทนแล้วกัน

หากคุณมีชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างเร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะแยกขยะจริงๆ อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่จะทำเพื่อช่วยโลกได้ก็คือ “การลดขยะ” นั่นเอง หากเรารู้จักใช้สิ่งของให้คุ้มค่าก็จะไม่เกิดการใช้แบบสิ้นเปลือง และไม่เกิดขยะเพิ่มขึ้นอีกด้วย เราเลยนำหลักการ 5R ง่ายๆ มาให้ทำตามเพื่อลดขยะกัน!

  • Reduce : ลดการใช้กันซักนิด

ลดการใช้สิ่งของที่จะกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ และพยายามรับพลาสติกที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียวให้น้อยที่สุด ไม่รับถุงซ้อนกันหลายใบ ลดการใช้โฟม หรือแก้วกระดาษ

  • Recycle : ต่อชีวิตเป็นของใหม่

พยายามใช้ของทุกชิ้นให้คุ้มค่า สิ่งไหนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าการทิ้งไปเปล่าๆ ให้เป็นขยะ เช่น พวกแก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก และอลูมิเนียมต่างๆ ที่สามาถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ต่อไป

  • Reuse : ใช้แล้ว ใช้ซ้ำ

ใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด ของบางอย่างไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อใช้เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นควรใช้ให้คุ้มกับอายุการใช้งานให้ได้มากที่สุด เช่น ใช้ถุงผ้าซ้ำ นำขวดน้ำพลาสติกกลับมาเป็นขวดใส่น้ำยาปรับผ้านุ้มต่อได้ ใช้กระดาษให้ครบทั้งสองด้าน นำเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือทำเป็นผ้าเช็ดโต๊ะ นำขวดแยมมาล้างแล้วใส่ของอย่างอื่น

  • Refill : นำกลับมาเติมอีก

ใข้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นแบบเติมได้ เพื่อลดปัญหาขยะจำพวกบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะได้ไม่มีบรรจุภัณฑ์ทิ้งมากเกินจำเป็น เช่น แชมพูหรือสบู่แบบเติม

  • Repair : ติดปีกอัปเกรด ซ่อมของให้เหมือนใหม่

เพื่อยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ อะไรที่ซ่อมได้ก็ซ่อมใช้ก่อน ไม่ใช่ชำรุดนิดหน่อยแล้วทิ้ง เพราะนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรแล้วยังเป็นการสร้างขยะเพิ่มให้โลกอีกด้วย รวมทั้งควรเลือกผลิตภัฑฑ์แข็งแรงทนทาน จะได้มีอายุการใช้งานที่นาานขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย เช่น เครื่องไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานและได้มาตรฐานเป็นต้น หรือหากเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านพังลองซ่อมก่อนที่คิดจะซื้อใหม่

ถ้าไม่มีถังแยก แยกใส่ถุงก่อนนำไปทิ้ง

ปัญหาการจัดการขยะที่เห็นได้ทั่วไปคือ ในหลายที่ไม่ว่าจะเป็นตามฟุตบาทข้างทางหรือตามชุมชนต่างๆ ยังมีถังขยะเพียงใบเดียวที่ทิ้งรวมกัน ทำให้คนไม่่ได้ตระหนักถึงปัญหาการแยกขยะ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการได้ง่ายๆ ด้วยการแยกขยะใส่ถุงตั้งแต่ต้นทางหรือในบ้านของเราเอง เพื่อความเป็นระเบียบและความสะดวกมากขึ้นในการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไป โดยแยกเป็นแต่ละประเภท ดังนี้

  • ขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้

เป็นขยะจำพวกเศษอาหาร ผัก ผลไม้ ก่อนจะนำไปทิ้งควรจัดการแยกใส่กล่องใสหรือภาชนะที่สามารถปิดได้ เพื่อป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการย่อยสลายของเศษอาหาร หลังจากนั้นก็นำเศษขยะเหล่านี้ไปใช้เป็นปุ๋ย

  • ขยะรีไซเคิล

มี 4 ชนิดหลักๆ คือ กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะหรืออโลหะ ก่อนจะนำทุกอย่างแยกทิ้งควรเช็ดล้างทำความสะอาจให้ดี เพื่อลดกลิ่นหรือคราบปนเปื้อนที่ตกค้างอยู่ จากนั้นหาถุงใบใหญ่ๆ มาแยกใส่ขยะแต่ละประเภทแล้วมัดรวมกัน และนำไปทิ้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้รถขนขยะนำไปขยะขายต่อ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์

  • ขยะทั่วไปที่ย่อยสลายได้ยาก

เป็นขยะจำพวก เศษผ้า เศษหนัง หรือซองบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซองผงซักฟอก ซองขนม ที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ จะสามารถทิ้งใส่ถุงรวมกันได้เลย แต่ถ้าจะแยกเพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แต่ละอย่างแล้ว ก็สามารถแยกประเภทไปขายต่อได้

  • ขยะอันตราย

เป็นขยะที่มีสารเคมีหรือสารปนเปื้อนที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่ายไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ หรือขวดสารเคมีต่างๆ นอกจากจะเป็นขยะที่จำเป็นต้องแยกออกจากขยะประเภทอื่นแล้ว ยังควรแยกชนิดของขยะอันตรายแต่ละประเภทอีกครั้งก่อนทิ้งด้วย เพื่อจะได้ไม่ปะปนกันและยากในการกำจัด ที่สำคัญคือต้องหาถุงที่มีความทนทานและแข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี

หลักสูตรการแยกขยะแบบรวบรัด

ขยะมีทั้งหมด 4 ถัง 4 สี แต่ละสีไว้ใส่ขยะแตกต่างกันไป เพื่อทำให้ง่ายแต่การนำไปรีไซเคิล หรือนำสิ่งที่เป็นขยะจริงๆ ไปกำจัดทิ้ง สามารถแบ่งประเภทขยะได้ ดังนี้

  • ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก (สีเขียว)

พวกขยะที่ย่อยสลายได้ ของที่เน่าเสียได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ ที่สามารถย่อยสลายได้ ถ้าใครมีฟาร์มปลูกพืชก็อาจนำไปทำปุ๋ย นำขยะเหล่านี้ไปผลิตเป็นพลังงานแทน

  • ขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน)

ย่อยสลายยาก เพราะต้องผ่านกระบวนการมากมาย จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำไปรีไซเคิล เช่น โฟม ถุงพลาสติกใช้แล้ว ถุงขนม อย่างถุงขนมหนึ่งชิ้นจะมีส่วนประกอบของพลาสติกหลายประเภท จึงทำให้นำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลพร้อมกันไม่ได้

  • ขยะรีไซเคิล (สีเหลือง)

เป็นขบะแห้งและเป็นขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ และโลหะ ก่อนทิ้งควรล้างและเช็ดทำความให้สะอาดก่อน เพื่อที่ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

  • ขยะอันตราย (สีแดง)

เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีสารเคมีปนเปื้อน ภาชนะใส่น้ำมันเครื่องและพวกแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟ และพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ควรแยกและมัดรวมใส่ถุงให้ดี ไม่ให้รั่วไหล จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและบุคลากรที่จัดการกับขยะต่อ

 

ถ้าสับสนกับสีแนะนำว่าให้ดูที่ “สัญลักษณ์” ด้วยจะง่ายที่สุด รับรองงานนี้ไม่พลาดแน่นอน และเมื่อขยะที่แยกเดินทางมาถึงสถานีขนถ่ายขยะ เจ้าหน้าที่จะทำการแยกอีกครั้ง เพื่อนำไปฝังกลบที่บ่อฝังกลบ มีเพียงบางประเภทที่จะนำเข้าเตาเผา และเข้าโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งหากเราแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะช่วยให้ขั้นตอนการจัดการขยะง่ายขึ้น และขยะที่ฝังกลบก็จะมีจำนวนลดลงอีกด้วย

ให้ฉันแยกแล้วได้อะไร

ใครที่แยกขยะอยู่ ทำดีแล้วและจงทำต่อไป ส่วนใครที่ไม่รู้ว่าเราจะแยกขยะไปทำไมกัน? ก็เพราะมันข้อดีในการช่วยโลกและเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่

  • ช่วยลดปริมาณขยะ

เมื่อมีการแยกขยะอย่างถูกวิธีปริมาณของขยะที่จะต้องทิ้งจริงๆ จะมีปริมาณลดลง และส่วนที่ถูกแยกออกมาสามารถนำไปทำประโยชน์ให้ต่อได้ เช่น การแยกเศษอาหารเพื่อไปทำปุ๋ยใช้ในการทำฟาร์มต่อ

  • ช่วยประหยัดงบประมาณที่ใช้ในการกำจัดขยะ

เมื่อขยะมีจำนวนน้อยลง งบประมาณที่ต้องใช้ในการกำจัดขยะก็จะลดลง รวมถึงการใช้แรงงานจากบุคลากรที่กำจัดขยะน้อยลงอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำงบที่เหลือไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์ได้อีก

  • ช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร

การนำขวดพลาสติก หรือกระดาษกลับมารีไซเคิลใหม่นอกจากจะช่วยลดขยะได้ แล้วยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ให้กับการซื้อขายขยะอีกด้วย

  • ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษต่อโลก

ช่วยป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม ทั้งการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างถูกวิธียังทำให้ลดปัญหาขยะล้นโลกอีกด้วย

 

การแยกขยะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก และทำให้ติดเป็นนิสัย เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะแล้ว ยังช่วยลดภาระให้คนเก็บขยะได้อีกด้วย แถมยังทำให้การจัดการกับขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาขยะพลาสติกก็เช่นเดียวกัน ทั้งการเรียนรู้ที่จะนำกลับมารีไซเคิลใหม่ การใช้ซ้ำ และการจัดการกับขยะพลาสติกให้ถูกต้อง ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการแยกขยะที่ควรทำ เพื่อลดการทิ้งขยะที่ไม่จำเป็นให้น้อยลงนั่นเอง

ที่มา : Mahidol, The Bangkok Insight, PLUS

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save