ถ้าเมาคลีล่าสัตว์ป่าในเมืองไทย เมาคลีจะโดนข้อหาอะไรบ้าง?

Writer : icediry

: 6 กุมภาพันธ์ 2561

Wildlife-Conservation-and-Protection-Act-in-thailand

ช่วงนี้มีข่าวหนาหูเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้เรานึกถึงบทเพลงนี้ “เมาคลีล่าสัตว์ เมาคลีล่าสัตว์ ฆ่าแชคาน ฆ่าแชคาน …” ที่มาจากการ์ตูนหรือนิยายของเมาคลี แน่นอนว่าในชีวิตจริงคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่หากทำตามบทเพลงนี้

ยิ่งสมัยนี้ในชีวิตจริงคงไม่มีใคร แบกปืนเข้าป่าไปล่าสัตว์หรอกจริงไหม? (คงไม่มีหรอกเนาะ) ถ้าสมมติเป็นเมาคลีล่ะ?  จู่ๆ เข้ามามาล่าสัตว์ป่าในเมืองไทย คงจนเจอพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลยล่ะ! งั้นเรามาดูกันซะหน่อย ถ้าเมาคลีตั้งใจกับไม่ตั้งใจไปล่า เมาคลีจะโดนอะไรบ้างนะ

wildlife-conservation-and-protection-act-in-thailand2

สัตว์ป่าสงวนในไทยมีอะไรบ้าง ?

ก่อนอื่นเรามารู้กันก่อนว่า สัตว์ป่าสงวนในเมืองไทยมีทั้งหมด 15 ชนิด

  • นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 
  • แรด
  • กระซู่ 
  • กูปรีหรือโคไพร 
  • ควายป่า 
  • ละองหรือละมั่ง 
  • สมันหรือเนื้อสมัน 
  • เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ 
  • กวางผา 
  • นกแต้วแร้วท้องดำ 
  • นกกระเรียน 
  • แมวลายหินอ่อน 
  • สมเสร็จ 
  • เก้งหม้อ 
  • พะยูนหรือหมูน้ำ

wildlife-conservation-and-protection-act-in-thailand3

สัตว์ป่าคุ้มครอง

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่แบ่งได้เป็น 7 ประเภท

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 201 ชนิด
  • นก จำนวน 952 ชนิด
  • สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 91 ชนิด
  • สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 12 ชนิด
  • ปลา จำนวน 14 ชนิด
  • แมลง จำนวน 13 ชนิด
  • สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ จำนวน 13 ชนิด

หรือหลักๆ จะเป็นพวกสัตว์ป่าที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อย่างเช่น ช้างป่า , ชะนี , ไก่ฟ้า , นกขุนทอง , เสือดาว , เสือโคร่ง , หมีดำ ฯลฯ

wildlife-conservation-and-protection-act-in-thailand1

โทษของเมาคลี ถ้าตั้งใจล่าสัตว์ 

เรามาดูที่โทษของเมาคลีถ้าตั้งใจเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์กันก่อนดีกว่าค่ะ ก่อนอื่นต้องบอกว่า สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองนี้ ถือเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามเพาะพันธุ์ หรือห้ามเอาไปขายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับอนุญาตเท่านั้นนะคะ

  • มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๒๖
  • มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และโดยต้องขออนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

แน่นอนว่าใครฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามกฎหมายแน่นอน

  • จะถูกจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
  • หรือทั้งจำทั้งปรับ

wildlife-conservation-and-protection-act-in-thailand4

ถ้าเมาคลีไม่ได้ตั้งใจล่าสัตว์

แต่ถ้าเมาคลีเกิดหลงเข้าไปในป่า แล้วเจอสัตว์จะเข้ามาทำร้าย เลยเผลอฆ่าสัตว์ไป ในกรณีนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นการป้องกันตัวเองนะคะ ทำให้ไม่ต้องได้รับโทษ แต่ว่าต้องไม่นำซากสัตว์ที่ตายแล้วกลับไปนะ แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ เพราะซากสัตว์เหล่านั้นต้องตกเป็นของแผ่นดินค่ะ

ในมุมมองของผู้เขียน ถ้าดูจากบทลงโทษของกฎหมายแล้ว ค่อนข้างจะเบาหวิวมากๆ เลยค่ะ แถมมีโอกาสที่ผู้กระทำผิดอาจจะกลับมาทำผิดได้อีกเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ในการเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เมาคลีแอบทำตัวเนียนๆ ไปกางเต้นท์ แต่จริงๆแล้วอาจจะไปล่าสัตว์ก็เป็นได้…

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dnp.go.th

Writer Profile : icediry
ชอบสะสมแมวปลอม รักแมวจริง และมีไอทีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save