category เก็บวัตถุดิบให้นานขึ้น ด้วยการกักตุนอาหารแค่ครั้งเดียว


: 25 มีนาคม 2563

จากสถานการณ์ Covid-19 ที่มีข่าวออกมาให้ได้ติดตามกันทุกวัน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ พื้นที่เสี่ยง ห้างร้านที่ไหนปิด-ที่ไหนเปิด หลายเรื่องก็เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมตัวเองให้พร้อมต่อทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

โดยเฉพาะการกักตุนเสบียงและเครื่องใช้ยามฉุกเฉินให้เพียงพอ เพื่อลดโอกาสที่ต้องออกจากบ้านไปหาซื้อของกินของใช้ทุกวัน ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายและติดเชื้อเองได้ง่าย 

แต่ถ้าจะให้สั่งเดลิเวอร์รี่ หรือทานแต่อาหารสำเร็จรูปเป็นเวลานาน ๆ ก็คงไม่สปาร์คจอยเท่าไหร่ Mangozero เลยอยากขอแนะนำวิธีการกักตุนวัตถุดิบประกอบอาหารให้อยู่ได้นานขึ้นด้วยตัวเอง โดยที่คุณไม่ต้องออกไปจ่ายตลาดบ่อย ๆ  หรือต้องต่อคิวยาวแสนยาวที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็อยู่บ้านทำอาหารมื้อโปรดทานได้เอง จะมีวิธีอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้ไปด้วยกันเลย

  • เนื้อสัตว์ (หมู/ไก่)

วิธีเก็บเนื้อสัตว์ ประเภทหมูหรือไก่นั้น หากคุณซื้อมาแบบเป็นชิ้นขนาดใหญ่ จะแช่ฟรีซทั้งชิ้น เวลาหยิบมาทานก็คงต้องใช้เวลารอละลายน้ำแข็งนานเกินไป เพราะงั้นให้ลองหั่นแบ่งเนื้อสัตว์ด้วยสัดส่วนที่พอดีทานในแต่ละมื้อ จากนั้นเก็บเนื้อใส่ถุงพลาสติก ถุงซิปล็อค หรือห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหารตามต้องการอย่างมิดชิด กดให้แน่น เพื่อให้ความเย็นกระจายทั่วถึง จากนั้นก็เก็บใส่กล่องแช่ช่องฟรีซได้เลย สะดวกหยิบใช้กว่าเยอะ

ข้อควรรู้

  • เมื่อนำเนื้อสัตว์ออกมาละลายแล้ว ควรทานให้หมดทั้งชิ้น ไม่แนะนำให้กลับไปแช่ใหม่ อาจจะเสียง่ายขึ้นนะ
  • ขณะแช่ช่องฟรีซ ควรเก็บเนื้อให้มิดชิด ไม่สัมผัสกับน้ำแข็งในฟรีซโดยตรง เพราะทำให้เนื้อแห้งและไม่สะอาด
  • หากเป็นเนื้อที่ผ่านการหมักมาแล้วบางส่วนผสม เช่น หมักโดยผสมแป้งหรือ baking soda ไม่ควรหมักก่อนแช่ฟรีซจ้า

 

  • ไข่ไก่สด

ไข่ไก่สดมาเจอหน้าร้อนแบบไทยสไตล์อย่างนี้ ควรเลือกเก็บในตู้เย็นจะดีกว่า โดยควรวางแบบด้านแหลมกว่าอยู่ล่าง ส่วนด้านป้านอยู่บน เพราะด้านป้านจะมีฟองอากาศอยู่ภายใน ช่วยทำให้ไข่แดงไม่แตกเร็ว จึงเก็บไข่ไว้ได้นานขึ้น

 

  • อาหารทะเลสด (กุ้ง/ปลาหมึก/ปลา)

ส่วนพวกอาหารทะเล ประเภทกุ้ง ปลา และปลาหมึก ก็สามารถเก็บไว้ได้นานเเหมือนกันนะ เริ่มจากล้างให้สะอาด ตัดหนวดกุ้งทิ้ง หากเป็นปลาหมึกจะหั่นเป็นชิ้นเล็ก หรือเก็บทั้งตัวก็ได้ เมื่อล้างจนสะอาดแล้ว ก็จัดการแบ่งเก็บเป็นห่อ ๆ ถุงพลาสติก ถุงซิปล็อค หรือห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหารตามปริมาณที่ต้องการใช้ในแต่ละมื้อเช่นกัน เพื่อให้ง่ายต่อการละลายน้ำแข็ง หากแช่ฟรีซตั้งแต่น้องปลา น้องกุ้ง น้องหมึกยังอยู่ในสภาพที่สด ก็จะช่วยคงความสดของน้องเอาไว้ได้

ข้อควรรู้

  • สำหรับเนื้อปลา หากเลือกซื้อแบบแช่แข็งมา เมื่อซื้อมาแล้วควรรีบแช่ต่อตั้งแต่เนื้อปลายังแข็งอยู่ทันที เพราะหากปล่อยไว้นานอาจมีผลต่อสภาพของเนื้อปลา
  • หากเก็บปลาไว้ในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิ -12c ถึง -18C จะสามารถเก็บได้นานถึง 6 เดือนเลยนะ

 

  • รากผักชี/กระเทียม/พริกไทย/เครื่องแกง

มาที่ฝั่งส่วนผสมเพิ่มความจัดจ้านให้ทุกครัวไทยกันบ้าง สำหรับกระเทียมและรากผักชี เราสามารถโขลกผสมกับพริกไทยเก็บไว้ใส่กล่องแช่แข็ง พร้อมใช้งานทุกเมื่อได้เลย หรือจะตักแบ่งเป็นถุงเล็ก ๆ เก็บไว้พอดีแต่ละมื้อเสิร์ฟก็ได้เช่นกัน 

ส่วนเครื่องแกงที่ตำแล้ว ก็ให้เก็บแบ่งใส่ถุงหรือกล่องเล็ก ๆ เป็นส่วนตามปริมาณที่ใช้ในแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน เช่น เครื่องแกง 300 กรัมต่อการปรุงเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม เป็นต้น

  • ต้นหอม/ผักชี/โหระพา/ผักบุ้ง/ถั่วฝักยาว

แก๊งนี้เป็นผักที่เหี่ยวง่าย ยิ่งถ้าทิ้งไว้ไม่ถึงวันโดยไม่แช่ตู้เย็นก็จะเหี่ยวได้ไวมากกก เคล็ดลับการเก็บรักษาคือหลังจากซื้อมาแล้ว ถ้ายังไม่ประกอบอาหารทันที ยังไม่ต้องล้างและหั่น แต่ให้เก็บทั้งต้นไว้ในขวดน้ำพลาสติก โดยตัดขวดน้ำออกเป็น 2 ส่วน ใส่ผักลงไป จากนั้นใช้ฝาครอบปิด ไม่ให้ความเย็นเจอผักโดยตรง ช่วยให้อยู่ได้นานขึ้นนะ

  • ใบกะเพรา

สำหรับผัดกะเพราเมนูโปรดทุกครัวเรือน วิธีการเก็บใบกะเพราะนั้นไม่ยากเลย เพียงนำใบกะเพราะไปลวก จากนั้นน็อคด้วยน้ำแข็งทันที บีบน้ำออก ปั้นเป็นก้อน ๆ เก็บใส่ถุงพลาสติก แช่ช่องฟรีซไว้ วิธีนี้สามารถเก็บใบกะเพราไว้ได้เป็นปีเลยนะ

  • มะนาว/เลมอน/หอมใหญ่/อะโวคาโด

ผักตระกูลเป็นลูก ๆ แบบนี้ ก็เก็บได้เหมือนกัน สามารถเก็บได้โดยการห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหารห่อแต่ละลูกไปเป็นเส้นยาว แล้วม้วนแน่น ๆ ให้เหมือนลูกอมท๊อฟฟี่ จากนั้นถุงซิปล็อค เก็บเข้าตู้เย็นได้เลย

  • ผักไฮโดรโปนิค/ผักสลัดอื่นๆ

สำหรับผักสลัด ผักที่มีโอกาสเสี่ยงจะเน่าเร็วที่สุด สามารถเก็บให้นานขึ้นได้ โดยการห่อด้วยกระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ หรือกระดาษอเนกประสงค์ที่ปกติเอาไว้ซับน้ำมันของทอด นำมาห่อผักสลัดไว้ เพื่อให้กระดาษดูดซับน้ำจากผักไว้  จากนั้นหาวิธีป้องกันอากาศเข้าไป โดยการห่อทับด้วยฟิล์มถนอมอาหาร หรือเก็บใส่กล่องถนอมอาหาร หรือจะใส่ถุงซิปล็อคแล้วดูดอากาศออกให้เหมือนถุงสุญญากาศก็ได้ตามสะดวกเลย

เก็บวัตถุดิบให้นานขึ้น ด้วยตู้เย็นคุณภาพดี จะได้มีอาหารไว้กินไปอีกนานนน -> ตู้เย็นคุณภาพ

Writer Profile : jazz.ordinaryday
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save