จริงหรือไม่ที่เขาว่า เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนแบ่งลิขสิทธิ์หายาก หลายคนสงสัยว่าการทำเพลงหนึ่งเพลงกับเพื่อน ต้องแบ่งค่าลิขสิทธิ์กันยังไง ใครต้องจ่ายอย่างไรบ้าง วันนี้ Mango Zero มีคำตอบ แล้วจะได้ไม่ต้องเลิกคุยกับเพื่อนทั้งอำเภอเพื่อค่าลิขสิทธิ์ตัวเดียวอีกต่อไป โดยส่วนใหญ่แล้ว เพลงทุกเพลงมักมีลิขสิทธิ์ หากไม่ใช่ของค่ายที่นักร้องสังกัดอยู่ ก็เป็นของศิลปินที่แต่งเนื้อร้อง ทำนองด้วยตัวเอง ดังนั้นนำการเพลงไปใช้ไม่ว่าจะเป็นแบบรวมกันสั้นๆ หรือใช้แค่เอาทำนอง หรือเนื้อร้องต่างก็ถือว่าเป็นผิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น สำหรับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก็มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน และตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์คิด ลิขสิทธิ์เพลงแบ่งเป็นประเภทใดบ้าง เพลงหนึ่งเพลงแยกได้เป็นหลายสิทธิ์ หากมีคนหลายคนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่มีข้อผูกมัดต่อกัน หากเป็นคนแต่งเนื้อร้องทำนองเพลง ถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อร้องทำนองเพลง หากเป็นคนเรียบเรียงประสานเพลง ถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเรียบเรียงประสานเพลง หากเป็นคนร้องเพลง ถือว่าเป็นเจ้าของสิทธินักแสดง (การขับร้องเพลง) หากเป็นเจ้าของค่ายเพลง ผู้จัดทำซีดี วีซีดีเพลงนั้น ถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียงหรืองานโสตวัสดุ(ซีดีเพลง วีซีดี ดีวีดีคาราโอเกะ) ถ้าเราร่วมกันร้องเพลงกับเพื่อน ใครจะได้ค่าลิขสิทธิ์ อัตราส่วนเท่าไหร่ เมื่อคนสองคนทำเพลงร่วมกัน เจ้าของลิขสิทธิ์มักขึ้นอยู่กับสัดส่วนตามที่ทั้งสองฝ่ายกำหนด และต้องดูว่าหลักฐานในการลงทุนคืออะไร หากเป็นเสียงร้อง ถือเป็นการลงทุนด้วยแรงนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในกรณีอื่นๆ ดังนี้ หากเป็นสัญญาจ้างให้แต่งเพลง ลิขสิทธิ์ถือเป็นเจ้าของบริษัท โดยกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นสัญญาหนังสือ หากนักแต่งเพลง ถือเป็นพนักงานของบริษัทที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน และได้แต่งเพลงให้กับบริษัท โดยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ กรณีนี้ลิขสิทธิ์เนื้อร้องและทำนอง จะเป็นของผู้แต่งตามกฎหมาย แต่บริษัทสามารถนำเพลงดังกล่าวไปจัดจำหน่ายหรือแสดงคอนเสิร์ตได้ และเมื่อมีการผลิตซีดี วีซีดี เจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายก็คือบริษัทนั่นเอง หากบริษัท ไปว่าจ้างคนอื่นให้แต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงให้ เพื่อให้ศิลปินในสังกัดร้อง โดยทำเป็นสัญญาว่าจ้างกับนักแต่งเพลง กรณีนี้ถือเป็นการแต่งเพลงภายใต้สัญญาว่าจ้าง ดังนั้นบริษัทจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อร้องและทำนองเพลงตามกฎหมาย หากทำสัญญาโอนงานลิขสิทธิ์ให้กับบริษัท แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาการโอนไว้ ลิขสิทธิ์ในงานแต่งจะกลับมาเป็นของผู้แต่งเพลงเมื่อครบกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญาโอน หากผู้แต่งเพลง ทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงกับบริษัท ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนดเรื่องการซื้อขายไว้ (มีเพียงกรณีการอนุญาตกับการโอนงานลิขสิทธิ์เท่านั้น) ในเคสนี้ต้องพิจารณาเนื้อหาของสัญญาว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้งานเพลงหรือโอนลิขสิทธิ์เพลง ต้องมีการทำสัญญาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไหม การจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะทำเป็นสัญญาอะไร เช่น หากเป็นสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ สามารถตกลงกันได้ปากเปล่าเลย แต่ถ้าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ก็ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปรียบเทียบสัญญาลิขสิทธิ์ได้ ที่นี่ ที่มา ipthailand,คู่มือลิขสิทธิ์เพลง