ตู้เอทีเอ็มสวยด้วยมือเรา...พาไปดูตู้เอทีเอ็ม KBank ลายสุดคิวต์ ฝีมือนิสิตจุฬา

Writer : kantapetch

: 6 มกราคม 2563

ตู้เอทีเอ็มสวยด้วยมือเรา…พาไปดูตู้เอทีเอ็ม KBank ลายสุดคิวต์ ฝีมือนิสิตจุฬา

 

บอกลาตู้กดเงินแบบเดิมๆ ไปก่อน เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคุณคือตู้เอทีเอ็มลายสุดคิวต์ของกสิกรไทย ฝีมือการออกแบบของนิสิตจุฬา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

 

ภายใต้โครงการ CU NEX ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของจุฬาฯ กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อตอบโจทย์ทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิต ทั้งในและนอกห้องเรียนส่งเสริมให้ชาวจุฬาฯ พัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด และได้รับการเรียนรู้อย่างรอบด้านตามความถนัด ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่เป้าหมายของการเป็น ‘Digital Lifestyle University’

 

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากนิสิต เพื่อให้นิสิตรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ และภูมิใจในผลงานของตัวเองจริงๆ จึงเกิดเป็นการประกวดออกแบบลายตู้เอทีเอ็ม Kbank 12 จุดรอบจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โดยมีโจทย์ที่ไม่ซับซ้อน คือลายต้องสื่อถึงความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และ Kbank สะท้อนเป้าหมายและความสำเร็จของโครงการ CU NEX และสื่อถึงไลฟ์สไตล์ของชาวจุฬาฯ ได้อย่างกลมกลืน

 

เพราะถึงแม้จะมี CU NEX มาเป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของนิสิตจุฬาง่ายขึ้น แต่ตู้เอทีเอ็มก็ยังต้องมี เพราะเมืองไทยปัจจุบัน เพิ่งเริ่มก้าวเข้าสู่สังคม Cashlessจำนวนผู้ใช้ในจุฬา แม้จะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ความต้องการใช้เงินสดก็ยังมีอยู่ ตู้เอทีเอ็มจึงยังต้องมี นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ถึงมีโครงการนี้เกิดขึ้น

 

ยังมีรายละเอียดอีกเยอะเกี่ยวกับตัวโครงการและผลงาน กว่าจะกลายเป็นลายน่ารักๆ บนตู้เอทีเอ็มนี้ มันผ่านการคิดและทำมาตั้งแต่ต้นปี Mango Zero อยากชวนทุกคนมารู้ไปพร้อมกันว่าโครงการดีๆ อย่างนี้มีที่มาที่ไปยังไง

 

ซึ่งเรื่องนี้ ก็คงไม่มีเล่าให้เรารู้ได้ดีกว่าคุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และนางสาวชนิดาภา สว่างวโรรส นิสิตเจ้าของรางวัลชนะเลิศ และเจ้าของลายน่ารักๆ บนตู้

 

คุยกับคุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

Q: แนวคิดของโครงการ เริ่มต้นขึ้นมายังไงครับ

 

จริงๆ เรา (กสิกรไทย) ร่วมมือกับจุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2561 ในการทำแอปพลิเคลชั่นที่ให้นิสิตได้ใช้ชีวิตในมหาลัยร่วมไปกับแอปพลิเคชั่นนี้ เช่นการชำระค่าเล่าเรียน การดูห้องเรียน การเข้าห้องสมุด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเริ่มทำไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

 

หลังจากนั้นเราก็คิดว่า น่าจะมีโครงการที่ให้นิสิตในรั้วมหาลัยรู้ว่า วิชาชีพที่เขาเรียน เวลาที่ทำงานจริง มันจะเอาไปใช้ยังไง เลยเกิดเป็นโครงการประกวดออกแบบตู้เอทีเอ็มในมหาลัย เราอยากให้คนของจุฬาฯ มีส่วนร่วมในการคิดว่า เขาอยากเห็นตู้เอทีเอ็มในลักษณะไหน เราให้เขาได้ออกแบบและทำเองเลย

 

น้องนิสิตที่ได้รับคัดเลือก น้องต้องมาดูวัสดุที่ใช้ สีที่ใช้ ดูคุณภาพ สีที่ทำมาในคอม พอมาเป็นตู้จริงมันมีข้อผิดพลาดไหม เพี้ยนไหม ต้องมาแก้ตรงหน้างานอีกที มันเลยจะเป็นลูปที่ทำให้น้องๆ เขาเห็นว่า ในชีวิตจริง หลังจากดีไซน์เสร็จแล้ว มันถูกเอาไปใช้ยังไง ก็จะมีทั้งที่ทำแล้วใช้ได้เลย หรือทำแล้วยังต้องเอากลับไปแก้ มันเลยจะไม่เหมือนทำงานส่งอาจารย์ หรือแค่ทำเปเปอร์ในวิชาเรียน และเขาจะภูมิใจด้วยว่านี่คือโครงการที่ฉันทำเอง

 

Q: เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ชนะ มีอะไรบ้างครับ

 

หลักๆ มี 4 ข้อค่ะ

1.สะท้อนภาพลักษณ์ CU NEX ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และกสิกรไทย

2.สามารถนำไปผลิตและใช้งานได้จริง มีความเหมาะสมกับการติดตั้งในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เพราะตู้เอทีเอ็มมีทั้งในร่ม นอกร่ม ต้องใช้ได้ในทุกโลเคชั่น

3.มีความคิดสร้างสรรค์

4.มีความสวยงาม โดดเด่น เป็นที่จดจำ และกลมกลืนกับสถานที่

โดยคนที่ตัดสินคือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งกสิกรไทยและจุฬาฯ

 

Q: ซึ่งโครงการก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะส่งเสริมคนรุ่นใหม่ของ Kbank ด้วยใช่หรือเปล่า

 

ถ้าตาม Strategy ของเราคือการ Empower everybody life and business ฉะนั้นถ้าเกิดเป็นอะไรที่เราสามารถผลักดันหรือช่วยให้ใครก็ตามมีช่องทางทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นมากขึ้น เราก็พร้อมจะทำค่ะ

 

คุยกับนางสาวชนิดาภา สว่างวโรรส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 สาขาออกแบบอุตสาหกรรม

 

Q: รู้ข่าวของโครงการนี้จากทางไหน

ตอนนั้นเรียนวิชากราฟิกดีไซน์ อาจารย์ก็เอาโครงการนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน คนที่เรียนทุกคนก็เลยต้องทำ เห็นโครงการครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันเป็นโครงการที่ใหญ่ ตู้มันอยู่ทั่วมหาลัยเลย

 

โจทย์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของเด็กจุฬาที่ CU Nex จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ตอนแรกก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำยังไง จุฬามีจุดเด่นอะไรที่บ้างที่จะเป็นลายบนตู้ได้ จนผ่านไปอาทิตย์นึงถึงจะคิดออก เห็นจุฬาเป็นมหาลัยที่ร่มรื่น ปกคลุมด้วยต้นจามจุรี เลยได้เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจ แล้วเราเป็นคนชอบวาดรูป การจะสื่อถึงไลฟ์สไตล์ก็ต้องสื่อผ่านคน เลยวาดเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มไม้ของต้นจามจุรีค่ะ

 

ใช้เวลาพัฒนาคอนเซปต์ประมาณอาทิตย์นึง จนได้โครงแบบ พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวันส่งงาน ก็ประมาณ 3-4 อาทิตย์ค่ะ (Q: ทำไปประมาณกี่ดราฟต์) มันต้องทำ 3 ตู้หลัก ตู้ติดผนัง ตู้เดี่ยว แล้วก็ตู้ที่เป็นโคฟเวอร์อยู่ตรงข้างนอก ทำ 3 แบบ ก็ 3 ดราฟต์นี่แหละค่ะ มีแก้บ้างนิดหน่อย

 

 

Q: ชอบอะไรในงานตัวเองที่สุด

 

พอผ่านการคัดเลือกแล้ว ก็ได้มาพัฒนาแบบ เลยต้องทำทุกตู้ ซึ่งแต่ละตู้จะมีกิมมิคไม่เหมือนกัน ตัวละครจะต่างกัน เช่นที่คณะวิศวะก็จะใส่เสื้อช็อป หรือคณะทันตะ ตัวละครก็จะใส่เสื้อกาวน์ เหมือนเป็นอีสเตอร์เอ้กให้คนไปตามเก็บ ว่ามันต่างกันนะ ไม่ได้เป็นแพทเทิร์น ต้องทำทีละตู้เลยค่ะ (หัวเราะ)

 

Q: ตู้ไหนที่ออกแบบแล้วชอบที่สุด

 

อืม (คิดนาน) เอาจริงๆ ก็ชอบทุกตู้ แต่ชอบที่สุดคือตู้ตรงคณะวิศวกรรมนี่แหละค่ะ เพราะว่าทำหลังสุด และก็ชอบตัวละครที่วาดบนตู้ อย่างที่บอกว่ามันต่างกัน ซึ่งตู้นี้อยู่ตรงโรงอาหารกับตึก 3 ตัวละครจะใส่เสื้อช็อป ดูก็รู้เลยว่าเป็นเด็กวิศวะ

Q: ความยากล่ะ ต้องแก้เยอะไหม

 

หนูต้องวาดลงกระดาษก่อน แล้วค่อยอิมพอร์ตเข้าคอม เลยต้องตรวจเช็คให้ดีว่าไม่มีจุดผิดพลาด เพราะตอนทำบนหน้าจอกับปรินต์จริงมันอาจจะไม่เหมือนกัน ต้องตรวจเช็คให้ดีๆ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมาเจอก่อนเรียน พอมาทำตรงนี้เลยรู้ว่า การทำงานสเกลใหญ่มันเป็นอย่างนี้นี่เอง (Q: ทำให้คิดว่า เรียนจบแล้วอยากทำอาชีพสายนี้เลยหรือเปล่า)” ก็ดีนะคะ (หัวเราะ)

 

 

Q: ทุกวันนี้พอเห็นตู้เอทีเอ็มที่มีลายที่เราออกแบบอยู่ทั่วมหาลัยเลย เขินบ้างไหม

 

ก็ไม่ขนาดนั้น คือก็มีชื่อเราอยู่ แต่ก็พยายามทำให้เล็กที่สุด (หัวเราะ) แต่เวลาเดินผ่าน ก็จะคอยดูแลงานตัวเอง คอยเช็คว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า (Q: จนเราชนะไปแล้วก็ยังเช็คอยู่เหรอ) ใช่ค่ะ อย่างคนมากดตังค์เขาก็คงดูผ่านๆ แต่เราจะดูว่า มีสติกเกอร์ลอกไหม หรือมีตรงไหนที่ทำพลาดไปหรือเปล่า

Q: รู้สึกยังไงที่ KBank มีโครงการที่ให้นิสิตนักศึกษาอย่างเราได้มีพื้นที่ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่เป็นประโยชน์อย่างนี้

 

โครงการนี้มันให้อะไรหลายอย่างกับเรา แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เงินรางวัลอย่างเดียว เงินใช้แป๊บเดียวก็หมด แต่สิ่งที่จะติดตัวไปคือประสบการณ์ เราจะรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ากับเราประมาณนึงเลย ทำงานในคณะก็ไม่เคยปรินต์ใหญ่ขนาดนี้ ไม่เคยทำงานที่เป็น 3D ขนาดนี้ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่เราได้จริงๆ

TAG :
Writer Profile : kantapetch
หมาผู้พยายามน่ารักเท่าโลก
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
Smile again : เที่ยวเมืองไทยการ์ดไม่ตก

Smile again : เที่ยวเมืองไทยการ์ดไม่ตก


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save