ทำลายสถิติสูงสุดกันอีกครั้ง หลังจากกกพ. เคาะขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมที่เราต้องจ่ายจริงขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่จ่ายอยู่ 4 บาทต่อหน่วย โดยทางด้านกกพ. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุท่ีต้องปรับค่าเอฟทีขึ้นนั้นมาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้น และความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ข้อย่อยสรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้ ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลง จากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 2,100-2,500 ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมและทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด อีกทั้งในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG มีราคาแพงมากขึ้น ถ้าให้เทียบกันง่าย ๆ คือ Spot LNG มีราคาอยู่ที่ 25-50 USD/ล้านลูกบาศก์ฟุต กับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/ล้านลูกบาศก์ต่อฟุต ดังนั้นเมื่อเราใช้ Spot LNG ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจึงทำให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การผลิตก๊าซจากเมียนมามีแนวโน้มที่จะผลิตได้ลดลงจากเดิม ในการคาดการณ์ของกกพ. คิดว่าเมียนมาจะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังผลิตเดิม และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า Spot LNG มากกว่าเดิมที่ตั้งไว้ สถานการณ์ผู้ผลิต Spot LNG ชะลอการลงทุน สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงปลายปี 2564 หลังจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาดขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มมีการฟื้นตัวจากโควิด เริ่มหันมามีความต้องการใช้ Spot LNG มากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก จึงส่งผลกระทบในเรื่องราคาซื้อขายของ Spot LNG ในช่วง 2564 – 2566 สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากสงครามที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป จึงส่งผลให้ทางยุโรปก็ต้องการ Spot LNG มากขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนนี้เองก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา Spot LNG ในตลาดเอเชียมากขึ้น จาก 4 สาเหตุหลัก ๆ นี้เอง ส่งผลให้ทางกกพ. ต้องขึ้นค่าเอฟทีในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ตลอดถึงปี 2566 จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และเป็นการลดนำเข้า Spot LNG ที่ยังคงมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ