category คุยกับ เต๋อ-นวพล ถึงหนังอิสระเรื่องใหม่ ที่ถ้า Die Tomorrow ก็ไม่เสียดายแล้ว

Writer : Taey Ch

: 15 พฤศจิกายน 2560

คุยกับ เต๋อ-นวพล ถึงหนังอิสระเรื่องใหม่

ที่ถ้า Die Tomorrow ก็ไม่เสียดายแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้ว หนังยาวเรื่องแรกของเต๋อ-นวพล ได้เผยตัวออกมาแบบงงๆ สู่คอหนังเมืองไทย เพราะเส้นเรื่องที่แปลกใหม่และกระแสในยุคนั้นที่เรียกหนังแบบนี้ว่า ‘อินดี้’ มาถึงปีนี้ภาพยนตร์ยาวลำดับที่ห้าของเต๋อกำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์จอใหญ่อีกครั้ง

ถึงแม้จะผ่านการทำหนังใหญ่กับสตูดิโอไปแล้วอย่าง ‘ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ผ่านการกำกับหนังโฆษณามาอย่างโชกโชน เข้าสู่กระแสแมสและจับใจคนทั่วไปได้อย่างไม่ยาก แต่ในหนังเรื่องล่าสุด Die Tomorrow เขากลับเลือกให้หนังเรื่องนี้เป็นอิสระ และเลือกที่จะหาเงินทุนเอง

“สำหรับเราหนังเรื่องนี้แม่งอิสระที่สุดแล้วอะ มันอยู่ในสภาวะอิสระที่หนังเรื่องนึงจะทำได้” ถ้านี่คือความในใจของพี่เต๋อต่อหนังเรื่องนี้ เรามาดูกันว่าทำไมถ้า Die Tomorrow ก็ไม่เสียดายแล้ว

“ทุกๆ วันมีคนจากไป ย้อนกลับไปในวันนั้น 24 ชั่วโมงก่อนหน้าที่พวกเขาจะหายไป เพราะก่อนวันสุดท้ายของชีวิต มักเป็นวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง ไม่มีสัญญาณบอกเหตุ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ไม่เลือกบุคคล ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีคำร่ำลา ไม่มีการกลับมา”

จะเล่าเรื่องย่อให้คนเข้าใจ Die Tomorrow ยังไง?

จริงๆ เรื่องนี้จะไม่สามารถเล่าเป็นเส้นเรื่องได้ เพราะว่าหนังไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่มันจะเป็นคอนเซ็ปต์มากกว่า ถ้าง่ายที่สุดคือมันเป็นหนังหลายๆ ส่วนเกี่ยวกับความตาย แต่ถ้าเป็นพาร์ทของนักแสดงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนึ่งวันก่อนเกิดเหตุ ส่วนที่ไม่ใช่พาร์ทนักแสดงจะเป็นสารคดีสัมภาษณ์ ฟุตเทจเก่า บันทึกเสียง สถิติ อะไรแบบนี้

เหมือนมันเล่าเป็นคอนเซ็ปต์ได้คร่าวๆ มากกว่า ถ้าใช้คำง่ายกว่านั้นคือเหมือนเป็นอัลบั้มเพลงว่าด้วยความตาย ในหนึ่งอัลบั้มเรามี 12 เพลง ถามว่า 12 เพลงเนื้อหามันต่อกันไหม ก็ไม่ต่อกัน แต่มันจะเป็นมู้ดเดียวกัน หัวข้อเดียวกัน ในแต่ละตอนของนักแสดงถามว่าตัวละครรู้จักกันไหม ก็ไม่รู้จักกัน จบแล้วก็จบ แล้วก็ไม่ได้มีตัวเชื่อม ไม่ใช่ว่าคนนี้รู้จักกับทุกคนของทุกตอน ก็จะจบเป็นตอนๆ ไป เหมือนเป็นบุลเล็ต เป็นโน๊ตที่เราคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายอะไรอย่างนี้มากกว่า

พอดูตัวอย่างแล้วก็ยังเดาไม่ถูกว่าหนังจะออกมาเป็นแบบไหน?

ใช่ แต่ว่าเรารู้สึกมันเป็นการรักษาเซ้นส์นั้นไว้ด้วย คือจริงๆ ไม่ต้องรู้อะไรเลยอะ อย่างถ้าเราบอกว่าความตายมันเกิดขึ้นแบบไม่เลือกเวลา จริงๆ คุณก็ไม่ควรรู้อะไรก่อนเลย เพราะคุณจะไม่รู้ว่าตัวละครทั้งหมดนี้มันเกิดอะไรขึ้น ใครไปใครไม่ไป ตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้อะไรเลย..ซึ่งถูกแล้ว เพราะว่าถ้ารู้ก่อนก็รู้ก่อนปะวะ เดี๋ยวถ้าในหนังมันจะบอกมันก็จะบอกอะ เราก็เลยรู้สึกว่าเอาแค่นี้แหละ บางคนที่เขาคุ้นๆ กับวิธีการปกติ เขาก็จะแบบ ‘อะไรวะ แล้วกูไปดูดีมั้ยวะ’ อะไรแบบนี้

แต่เราก็คิดว่าหนังมันก็ไม่ได้กว้างขนาดนั้น มีทางเฉพาะของมันอยู่ และสำหรับเรามันไม่ใช่ทางที่เล็กขนาดนั้น เพราะมันก็ท้าทายคนดูประมาณนึง แต่ไม่ได้ยาก ถ้ายูจูนกับตัวอย่างนี้ติดยูก็เข้าไปดูได้ แต่ถ้ายูจูนไม่ได้ก็อาจจะไม่เหมาะ หรือรอวันพุธก็ได้มั้งอะไรแบบนี้ ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยงก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่าเราไม่ต้องการตัดหลอก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำเพื่อที่จะโกยทุกคนเข้ามา เราอยากให้คนเข้ามาดูอย่างที่มันเป็น อย่างน้อยเขาก็ได้ตัดสินใจเอง มันคนละฟีลลิ่งกับการที่แบบ ‘เชี่ยไม่เห็นเหมือนในตัวอย่างเลย’ แล้วเขาจะเซ็ง ซึ่งเราก็รู้ว่าหนังเรามีอะไรไม่มีอะไร เราก็เลยเอาแบบที่มันเป็นดีกว่า

พี่เต๋อได้แนวคิดมาจากอัลบั้มเพลง?

พอเราจะทำเป็นหนังก้อนเล็กๆ เราพยายามจะหาวิธีเชื่อมโยงมัน ซึ่งเราไม่อยากกลับไปแบบทุกคนมาเดินสวนกันในฉากนึงอะไรแบบนี้ หรือตัวนี้เป็นญาติตัวนั้น หรือทุกคนเกิดในห้องๆ นึงแต่คนละเวลากัน

เราเลยต้องหาวิธีการเล่าทางภาพยนตร์หรือโครงสร้างแบบอื่นๆ มาจับ แล้วเราฟังพวกอัลบั้มคอนเซ็วลอย่างอัลบั้มของวงพรู มันฟังต่อกันเป็นแทร็กๆ ก็จริง แต่ว่าพอฟังต่อๆ กัน เหมือนกลายเป็นสตอรี่เดียวกัน เราเลยรู้สึกชอบคอนเซ็ปต์นี้ ก็เลยลองเอามาทำกับหนังเรื่องนี้ดู ซึ่งก็ไม่รู้ว่าออกมาเละเทะรึเปล่านะ แต่สำหรับเรามันรู้สึกพอดี และคิดว่าคนดูจะตามไปได้ไม่ได้ยากมากมาย คือเขาไม่ต้องรู้อันนี้ก็ได้แต่ว่าขณะที่เขาดูเราว่ามันจะเป็นฟีลลิ่งคล้ายๆ กับเขากำลังฟังเพลงอัลบั้มนี้ 12 เพลง ทีเดียวจบ

พอดูจบจะได้ความรู้สึกเหมือนฟังเพลงอัลบั้มนึงที่จะสร้างมู้ดบางอย่าง?

สำหรับเราเรื่องนี้มันเหมือนเป็น portray บางอย่างมากกว่า เหมือนเป็นการเอาให้ดู แต่แล้วแต่คนดูเลยว่าเขาจะได้อะไรกลับไปจากมัน เหมือนเวลาน้องอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์อันนึง มันไม่ได้สรุปธีมให้หรอกว่าเหตุรถชนครั้งนี้สรุปว่าคนเราไม่ควรประมาทหรืออะไรก็ตาม มันเป็นแค่ fact และก็เป็นเหตุการณ์หนึ่ง ก็แค่นั้นเอง ใครจะได้อะไรจากมันอันนี้ก็แล้วแต่ หรือว่าใครมีประสบการณ์อะไรที่แตกต่างก็จะได้แตกต่างกัน ใครอยู่ในช่วงวัยไหน เด็กดูได้แบบนึง ผู้ใหญ่ดูได้แบบนึง

มันเลยคล้ายๆ เป็นแบบการเอามาให้ดูเฉยๆ หรือง่ายกว่านั้นก็มันคือนิทรรศการภาพถ่ายที่แต่ละภาพมันก็แล้วแต่คนว่าจะรู้สึกอะไร แต่จะนามธรรมน้อยกว่านั้นนะเพราะมันมีเนื้อเรื่อง ภาพมันเป็นแค่ภาพเลยแล้วแต่คนดูเลย แต่หนังเรื่องนี้มันมีเหตุการณ์หนึ่ง แต่มันไม่ได้ระบุว่าต้องคิดยังไงสักทีเดียว

ทำไมถึงเลือก ‘ความตาย’ มาเป็นธีมของหนัง?

อาจจะเป็นเรื่องที่เราคิดบ่อยๆ มั้ง หมายถึงว่าไม่ได้หมกมุ่นนะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เข้ามาในชีวิตเยอะขึ้นตามอายุ ช่วงยี่สิบปลายสามสิบต้นเงี้ยมันเจอบ่อยโดยอัตโนมัติ แม้ว่าเราจะไม่ต้องการจะรับรู้แต่มันก็จะมา คืองานศพใครสักคน อาจไม่ใช่เพื่อนสนิทก็ได้ อาจเป็นอาม่าเพื่อน หรือถ้าใกล้ตัวเลยบางทีแม่เราก็จะเป็นแบบ ‘เออถ้ามีอะไรโฉนดที่ดินอยู่ที่นี่นะ’ แบบอยู่ดีๆ ก็พูดขึ้นมา เขาก็คงอยู่ในวัยที่แก่ แต่คือเขาไม่ได้เป็นโรคอะไรนะ เขาก็แค่พูดขึ้นมาเฉยๆ

เราว่าเขาคงอ่านข่าวนู่นนี่นั่นมาบ้างอะไรอย่างนี้ ก็อยู่ในวัยที่เขาจะพูดถึงและอยู่ในวัยที่เราโตพอที่เขาจะเดินมาบอกเราว่า ‘มึงทำงาน มึงอย่าลืมของที่บ้านนะ’ ไม่ใช่เขาไปแล้วเราไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน   เราก็เลยรู้สึกว่ามันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ถึงแต่ก่อนเราอาจจะรู้สึกว่าความตายก็ต้องอายุห้าสิบอะ แต่สำหรับเรานะกลายเป็นว่าสามสิบนี่แหละคือรู้จักได้เลย แต่บางคนที่เขาอาจจะมีประสบการณ์กว่านั้น เขาอาจจะรู้จักมันตอน 17 ก็ได้ แปลว่าจริงๆ มันไม่ได้จำเป็นต้องคนแก่เท่านั้นที่จะคิดเรื่องความตาย ยิ่งเราโตขึ้น เราจะรู้สึกว่า 5 ขวบก็คิดเรื่องนี้ได้

จุดเริ่มต้นของ Die Tomorrow มาจากข่าวหนังสือพิมพ์?

ได้แรงบันดาลใจจากข่าว แต่ไม่ได้ทำก้อปปี้ข่าวนั้นนะ เราอาจจะอ่านข่าวนี้มาผสมกับข่าวนี้อะไรแบบนั้นมากกว่า มันไม่ได้ทำมาจากเหตุการณ์พาดหัวข่าว แต่เหมือนต้นทางของหนังเรื่องนี้คือเราชอบอ่านพาดหัวข่าว เราอ่านพาดหัวข่าวแล้วเราชอบคิดว่าวันก่อนหน้านั้นมันเกิดอะไรขึ้น

แต่ตอนแรกโครงเรื่องมันเป็นเแบบข่าวประหลาดเลยอะ นั่นคือดราฟต์หนึ่งของสคริปต์ซึ่งถูกพัฒนามาละ มีการตายแปลกๆ เยอะ แต่พอเรามานั่งทำแล้วเราค้นพบว่าเราอยากทำหนังที่มัน everyday life มากกว่า หมายถึงเป็นเรื่องแบบ คนดื่มกาแฟ คนไปทำงาน – คนมานัดสัมภาษณ์? – เอออะไรแบบนี้ คือเราคิดว่ายิ่งมันธรรมดาเท่าไหร่ มันยิ่งใกล้ตัวเราขึ้น หมายถึงถ้าเกิดเราทำข่าวประหลาดคนจะรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกับกู แล้วพอยิ่งแต่งมันจะยิ่งแปลก เราก็เลยแบบไม่เอาทิ้งไปเลย แล้วทำใหม่ พัฒนาใหม่ให้มันธรรมดาลง แต่ก็นั่นแหละยิ่งธรรมดาลงเท่าไหร่ก็ยิ่งใกล้ตัวและยากขึ้น เพราะว่ามันไม่ได้มีอะไรเป็นเหตุการณ์พิเศษ ก็เลยยากนิดนึง

เรื่องนี้พี่เต๋อไม่ได้ใช้ทุนสตูดิโอ?

ใช่ ก็ขอกระทรวงวัฒนธรรม แล้วก็หาสปอนเซอร์จากสินค้านู่นนี่ จริงๆ เรามีโปรเจกต์กับสตูดิโออันใหม่อยู่แล้ว แต่ว่าอยู่ในขั้นพัฒนาบทแล้วมันยังไม่เสร็จสักทีเดียว ก็ใช้เวลาประมาณนึงเราก็เลยกระโดดมาทำอันนี้ก่อนเพราะมันเร็วกว่า แล้วก็คิดว่าไอสิ่งที่ทำอาจจะเกรงใจพี่ๆ เขาพอเราจะทำหนังแบบนี้ เพราะถ้าอยู่ดีๆ จะเล่าเป็นอัลบั้มเพลงสิบสองเพลงซะอย่างนั้นมันอาจดูเป็นวิธีการพิศดารประมาณนึง ก็เหมือนเรารู้กันว่าปกติเขาทำงานกันแบบไหน แล้วเรื่องที่เรามีมันเป็นแบบไหน ซึ่งเราก็มีบทสคริปต์ที่มันเหมาะสมกับการทำสตูดิโออยู่แล้วก็จะพัฒนาอันนั้นไป แต่เรื่องนี้เรารู้สึกว่าอยากทำสุดไปเลย เปิดเบอร์ร้อยไปเลย ทำอะไรก็ทำ ก็เลยไม่กวนพี่ๆ ดีกว่า เลยเลือกจะทำเล็กๆ กันเอง

ช่วยเล่าขั้นตอนการหาทุนนิดนึง ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง?

ตอนแรกคือปีก่อนไปพิชชิ่งที่คานส์ อาจฟังดูดีนะแต่ว่าจริงๆ มันเป็นการไปพบคนที่อาจจะลงทุนกับเรา ซึ่งข้อเสียของโปรเจคต์เราคือมันเล็กเกินไป เพราะปกติเวลาเขาโคโปรดักชั่นอะไรพวกนั้นคือแบบ ‘เรามาลงเงิน 15 ล้านกันเถอะครับ’ มันยิ่งใหญ่มากและมันข้ามประเทศกัน ที่นั่นเลยเหมาะกับอะไรแบบนั้นมากกว่า ซึ่งเราก็โอเคไม่เป็นไร ก็ถือเป็นประสบการณ์จะได้รู้ว่าอ๋อ..เขาคุยกันแบบนี้นะ ก็เลยหยุดไป จนมาลงที่กระทรวงวัฒนธรรม เพราะทุกๆ ต้นปีเขาจะมีเปิดรับ proposal เพื่อจะให้ทุน เราก็เลยส่งเรื่องนี้และได้ตังจากตรงนี้มา พอก่อนจะเริ่มถ่ายก็เอาโปรเจกต์มาหาทุนอีกนิดหน่อยกับสปอนเซอร์สินค้าทั่วๆ ไป ก็ได้มาอีกนิดนึง แล้วก็ถ่ายเลย

อ๋อสรุปคือไม่ใช่ทุนจากคานส์?

ไม่ได้ๆ แต่ว่าไปพิชชิ่งมา ซึ่งบางทีคนเข้าใจว่าไปพิชชิ่งคือได้ตังนะ แต่จริงๆ มันคือการไปเจอคนมากกว่า ซึ่งก็โปรเจกต์เรามันเล็กไปนิดนึงอาจต้องคิดเป็นอะไรแบบ เช่นหนัง The Lobster ที่มีดาราจากฮอลลีวู้ดคนนี้ ผู้กำกับคนนี้ นักแสดงจากประเทศกรีกครับ ร่วมทุนฝรั่งเศส-อังกฤษ คือมันเยอะแต่มันหาทุนจากหลายเจ้า มันก็เลยกลายเป็นว่าแต่ละเจ้าเสี่ยงไม่เยอะมาก ก็เป็นวิธีการนึง ซึ่งมันก็เป็นอีกขั้นของคนทำหนังอิสระเมืองนอก คือเขาทำหนังตัวเองที่ใหญ่พอแล้วเข้าไปถึงเวทีโลกอย่างนั้นได้

ซึ่งก่อนเรื่อง The Lobster ยอร์โกส ลันติโมส (ผู้กำกับ) ก็คงทำหนังกรีกที่ทำกันเอง หรือหาทุนเล็กๆ กันเอง แต่พอถึงจุดนึงมันเหมือนเป็นขั้นต่อไปที่ต้องเริ่มร่วมทุนที่มีอเมริกาอะไรพวกนี้ด้วย ซึ่งขั้นต่อไปก็คือไปฮอลลีวูด ก็เป็นขั้นแบบนั้น ซึ่งเป็นคนละเกมกับที่เราเล่น อย่างนวพลทำหนังอินดี้ที่ทำเองเล็กๆ แต่มันยังมีอีกเส้นทางนึงที่คุณทำหนังเองเล็กๆ แต่คุณต้องผลักดันหนังไปให้ถึงคานส์ ซึ่งการจะไปให้ถึงคานส์มันไม่ใช่ว่าอัดใส่แผ่นซีดีส่งให้เขาก็ได้ มีคนอยากเข้าคานส์เป็นหมื่นเป็นแสน มันยากอะ คุณต้องไปให้ถึงเซลล์ขายหนังคนนี้ให้ได้ หรือค่ายจัดจำหน่ายที่ฝรั่งเศสคนนี้ให้ได้ แล้วก็เริ่มสร้างจากตรงนั้นแล้วพยายามดันไปให้ถึง

คำถามคือทำไมพวกเซลล์ต้องดันหนัง ก็เพราะว่าถ้าหนังที่เขาดันมันเข้าสายประกวดได้ หนังมันก็จะมีราคามากขึ้น ‘หนังใหม่บริษัทเราครับ competition คานส์ปีนี้ครับ’ ก็ทำให้ขายได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นพอหมดจากเรื่องนี้สำเร็จแล้ว คราวนี้มันจะเริ่มต้องเป็นอีกขั้นที่มันใหญ่ขึ้น ซึ่งนั่นเป็นคนละเกมกับเรา ถ้าเกิดเราเล่นเกมนั้นเราต้องทะเยอทะยานกว่านี้นิดนึง

เมื่อกี้พูดก็ฟังดูธุรกิ๊จ ธุรกิจ แต่เราว่าหนังไม่ว่าคุณอยู่เวย์ไหน มันธุรกิจหมดแหละ เพียงแต่คุณอยากเป็นธุรกิจแบบไหน คุณจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ เป็น SME แบบเรา หรือคุณจะเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ มันอยู่ที่ตัวเองเหมาะกับแบบไหน อยู่ที่หนังที่ตัวเองทำด้วยว่ามันเข้ากับคนที่ไหนได้บ้าง

เพราะเรารู้สึกว่าหนังที่เราทำมันเหมาะกับคนที่นี่ แต่เราอาจจะไม่ทะเยอทะยานเองนะ เราคิดว่าหนังที่เราทำมันคุยกับคนที่นี่ซะเยอะ หนังที่บางคนทำอาจจะคุยกับคนที่นี่และคนยุโรปได้ เขาก็อาจจะเหมาะไปเส้นทางนั้น บางคนอาจจะคอนเนคกับชาวไทยทั้งประเทศก็ต้องทำที่นี่ เพราะว่าสุดท้ายไปๆ มาๆ พอเราอยู่กับมันนานๆ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ต่างกันมากหรอกในแง่การดำรงชีพ เพราะบางคนทำสำเร็จก็ดีหน่อยบางคนก็สามารถไปกำกับหนังฮอลลีวู้ดขนาดเล็กได้ เช่น ยอร์โกส ลันติโมส ที่กำกับ The Lobster และมี The Killing of a Sacred Deer อันใหม่ที่เข้าคานส์อีกรอบนึง เรื่องต่อไปจะเป็นเอมม่า สโตนเล่นละนะ คือแม่งแทบจะประกาศโปรเจกต์พร้อมกันกับ The Killing of a Sacred Deer เลย ซึ่งก็อาจจะดูเป็นฮอลลีวูดขึ้นมา

ถ้ามีเรื่องที่เหมาะ พี่เต๋ออยากจะลองเป็นเวย์นั้นดูไหม?

เราแค่รู้สึกอยากลองเฉยๆ แต่เราอาจทะเยอทะยานน้อยไป เราแค่รู้สึกว่าเราอยากทำหนังที่เราอยากทำเฉยๆ เลยอะ แล้วแค่ทำแล้วมีคนดูแล้วก็สามารถประคับประคองสิ่งที่เราทำได้ เราอาจจะคิดเล็กมากจริงๆ ก็ได้ เพราะถ้าเกิดเราต้องไปพิชิตโลกแล้วเราทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ เราว่ามันก็เสียเวลาเหมือนกันนะ หมายถึงพอจุดนึงไอวงการนี้มันดันมีขึ้นมีลงจริงๆ นี่ดิ มันไม่ใช่ว่าคุณต้องวิ่งไปให้ถึงฮอลลีวูดแล้วทุกอย่างจะงดงาม เท่าที่อ่านสัมภาษณ์บางคนวิ่งไปถึงฮอลลีวูดแล้วพบว่า ‘ไอเชี่ย มันไม่ใช่กูเลยว่ะ กูกลับมาทำหนังบ้านกูดีกว่า’ ก็มีเยอะ แปลว่าการที่วิ่งไปตรงนั้นมันไม่ได้หมายถึงอะไรสักอย่าง มันไม่ได้หมายถึงว่าเราจะอยู่ไปได้ตลอดค้ำฟ้า หรืออะไรแบบนี้ โอเคคุณอาจจะมีชื่อเสียงที่เยอะขึ้น อาจจะหาทุนได้ง่ายขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ตลอดไป

เรารู้สึกว่าจริงๆ ชีวิตมันสั้นนะ เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น เราขอแบบทำที่เราโอเคดีกว่า แล้วที่เหลือถ้ามันทำแล้วจะนำไปสู่อะไรอะก็ให้มันไปของมันเพราะเราคาดเดาไม่ได้ และเรารู้สึกว่าเราคงทรมานถ้าเราทำหนังเพื่อจะไปพิชิตโลก หรือทำหนังเพื่อที่จะให้เทศกาลนั้นชอบ สมมติว่าทำยังไงเขาก็ไม่ชอบซะทีเราก็ต้องพยายามทำให้มันได้ ก็เหมือนทำงานลูกค้าแล้วอะเพราะเราทำหนังอินดี้เราไม่รู้จะทำแบบนี้ไปทำไม กลายเป็นว่ามึงทำหนังอินดี้ที่เสือกทำให้ลูกค้าด้วย เป็นหนังอินดี้ที่มึงเสือกสร้างลูกค้าขึ้นมาเองว่ะ เพราะว่าแม่งกรรมการเทศกาลนั้นต้องชอบหนังเราให้ได้

เราคิดว่าต้องทบทวนใหม่อีกทีนึง ว่าตกลงแล้วมันต้องทำอะไรและไม่ต้องทำอะไร ซึ่งสำหรับเราคือ หนังเรื่องนี้แม่งอิสระที่สุดแล้วอะ มันอยู่ในสภาวะอิสระที่หนังเรื่องนึงจะทำได้ หนึ่งคือไม่มีครีเอทีฟลิมิตอะไรทั้งนั้น ยกเว้นเป็นลิมิตจากเราเอง เช่นแบบเชี่ยนี่แม่งเซอร์ไปละว่ะ กูไม่เอาดีกว่า ไม่ตรงตีม สองคือเราไม่มีหนี้ หมายถึงเราไม่ใช้เงินเกินเราอยู่ในงบ เพราะฉะนั้นเราไม่เครียดกับการฉายเลยด้วยซ้ำนอกจากจะไปเสียเงินซื้อบูสต์ซะเยอะ ซึ่งไม่เอานะบูสต์ไปบูสต์มากูเป็นหนี้เพราะไอบูสต์นี่แหละ

แล้วก็พอมันเป็นสองเงื่อนไขนี้ เราเลยรู้สึกว่าเราทำอะไรก็ได้ ซึ่ง Die Tomorrow เราฉายก่อนส่งเทศกาล นึกออกปะ เราไม่ได้เป็นแบบ ‘เราไปเทศกาลมาปีนึงเพื่อค่อยกลับมาฉายไทย’ เราแบบ ‘เอาเลย หนังกูเหมาะกับที่นี่อะแหละ ช่างแม่ง’ เพราะการที่คุณฉายเวิลด์พรีเมียร์ที่ไทย มันทำให้คุณเสียสิทธิ์ของเทศกาลไปอีกหลายอันเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่เป็นไร ก็ฉายที่นี่แหละ กูอยากฉายละ เดี๋ยวหนังเก่า

รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทำแล้วสบายๆ เสร็จก่อนเวลา ไม่ได้เป็นแบบต้องฉายอาทิตย์หน้าแล้ว เราต้องตัดให้เสร็จ อย่างเรื่องอื่นจะมีความแบบนั้น อย่าง mary is happy , mary is happy ต้องฉายเทศกาลก่อน เพราะว่ามันเป็นสัญญากับเขาไว้ แล้วเหลือเวลาตัดประมาณเดือนครึ่งซึ่งแม่งเครียดมาก คือแบบหนังแม่งก็ยากแล้วก็ต้องรีบไรเงี้ย แล้วก็เสร็จเหมือนส่งกระดาษคำตอบตอนหมดเวลาอะ เสร็จละเว้ย ส่ง! แต่เรื่องนี้มันมีความแบบ อะ ทวนจนแบบส่งเหอะกูอยากออกไปกินข้าวแล้วอะไม่รู้จะนั่งไปทำไม

กลับมาเรื่องความตายนิดนึง พี่เต๋อคิดยังไงกับความตาย?

เรารู้สึกมันเป็นระบบอะ อันนี้จินตนาการล้วนๆ นะ เหมือนโลกนี้มันมีระบบที่เรามองไมเ่ห็นอยู่อะ เป็นระบบที่แรนดอมเอาคนออก แล้วก็มันก็แฟร์ดีมั้งเพราะว่าแม่งไม่เลือก เหมือนล็อตเตอรี่จริงๆ ไม่ได้สนว่ายูเป็นใคร ยูกำลังรวยรึเปล่า ชีวิตยูกำลังดีไหม หรือชีวิตยูกำลังแย่ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นกลไกนึงที่มีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วอะไรแบบนี้ แล้วก็คนมักจะแอบๆ ลืมมันไปนิดนึง เหมือนมีกฏสามข้อในการมีชีวิตอะ เป็นแบบเกิด ใช้ชีวิต แล้วตาย ซึ่งคนจะจำข้อหนึ่งกับสองแต่ไม่จำสาม แต่จริงๆ มันมีมาตั้งนานละมันใกล้ชิดกับคนมากๆ แต่เราพยายามมองข้ามไป ยิ่งเป็นครอบครัวคนจีน พูดเรื่องนี้ขึ้นมาแม่ก็ด่าลูกเดียวเลย จริงๆ มันเป็นหนึ่งในระบบและทุกคนก็ต้องเจอ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติเป็นกลไกของมันอยู่แล้วมั้ง แต่ว่าถ้าถึงเวลาจริงๆ เราก็บอกไม่ได้ว่าเราจะไม่เสียใจ เราอาจจะเสียใจก็ได้แต่เราก็คิดว่าถ้าเราเสียใจเราก็คงมูฟออนได้ไวหน่อยมั้ง เพราะเราก็ต้องยอมรับมันอยู่ดี

ถ้าพรุ่งนี้ตายจริงๆ พี่เต๋อแฮปปี้ไหมกับการที่หนูมาสัมภาษณ์อยู่ตอนนี้?

เราโอเคมากเลย เพราะเราแค่ยึดว่าวันนี้เราปวดหัวรึเปล่าอะ ถ้าวันนี้เราไม่ปวดหัวเราถือว่าโอเค ได้คุยกับน้องเราก็ไม่ได้มีปัญหา เราแฮปปี้ หนังก็เสร็จแล้ว เรื่องการงานคือตัดไปเลยเพราะรู้สึกว่าไม่มีปัญหาอะไร ได้ทำที่อยากทำแล้ว มีโปรเจกต์ข้างหน้าอยู่ แต่ไม่ทำก็ไม่เป็นไร อาจจะแบบเสียดายนิดหน่อยถ้าแบบไม่ได้รู้ก่อนแล้วไปเลย แบบเสียดายจังไม่ได้ลาดีๆ บางคนสมมติถ้ามีเวลาอาจพูดอะไรได้เยอะหน่อย เพราะเขาดีกับเรามาก เช่นพ่อแม่ เพื่อน อะไรแบบนี้ แล้วก็อาจจะเสียดายที่ไม่ได้ไปขอโทษบางคนที่เราทำไม่ดีกับเขาไว้ ซึ่งการขอโทษคนมันใช้เวลาเหมือนกันนะในการที่จะรวบรวมความกล้า ก็เสียดายที่ไม่ได้มีเวลานานพอที่เราจะกล้าไปทำสิ่งนั้น

คาดหวังกับคนดูไหมว่าถ้าดูหนังแล้วจะมองเรื่องความตายมากขึ้น?

เอาแค่ตอนนี้เลยอะเราว่าคนก็คิดเยอะขึ้น แต่แล้วแต่คนนะว่าคิดเยอะคิดน้อย ข้อดีของการทำหนังคือมันเป็นสปอตไลท์ประมาณนึงอะ ด้วยความเป็นภาพยนตร์คนมันสนใจเยอะแล้วพอคนสนใจหนังเรื่องนี้เยอะ มันก็ทำให้เขาคิดถึงประเด็นที่หนังพูด อย่างน้อยก็ย้ำนิดนึงว่าเออ Die Tomorrow ว่ะ ก็ไม่รู้เขาอาจจะคิดกับมันห้านาทีแล้วเลิกก็ได้ แต่ก็คงช่วยป็อปอัพขึ้นมาได้นิดนึง แต่อย่างที่ว่าเราไม่ได้คาดหวังอะไรว่าดูแล้วจะยังไง คืออาจจะเข้าใจมันมากขึ้นก็ดี ดูแล้วอาจจะกลัวมันมากขึ้นก็ได้ หรือดูแล้วอาจจะรู้สึกอะไรก็ได้แต่รู้สึกว่ามันมีอยู่แค่นั้นก็พอแล้ว

  • Die Tomorrow เข้าฉายวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560
  • จองตั๋วล่วงหน้าได้แล้วที่โรงภาพยนตร์ดังต่อไปนี้
    • เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์
    • เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พระราม 9
    • เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว
    • เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่
    • เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา
    • เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล ขอนแก่น
    • เอส เอฟ ซีเนม่า แหลมทอง บางแสน

คลิกจองเลย/ จบ.

 

[9/10] รีวิว Die Tomorrow หนังของพี่เต๋อที่แค่จบพาร์ทแรกก็อยากลุกกลับบ้านแล้ว

[9/10] รีวิว Die Tomorrow หนังของพี่เต๋อที่แค่จบพาร์ทแรกก็อยากลุกกลับบ้านแล้ว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save