Black Mamba In Memoriam: 8 โมเมนต์แห่งชีวิตของ Kobe Bryant

Writer : kantapetch

: 27 มกราคม 2563

โลกเพิ่งสูญเสียตำนานนักยัดห่วง NBA วัย 41 “โคบี ไบรอันต์” อย่างไม่มีวันกลับจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตกที่คาลาบาซาส ลอสแองเจลิส เมื่อเช้าวันนี้ (26 มกราคม ตามเวลาสหรัฐฯ) โดยตามรายงาน นอกจากโคบี นักบินและผู้โดยสารทุกคนล้วนเสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ “จิอันน่า” ลูกสาววัย 13 ของเขาเอง

เราจึงตื่นมาพบคำอาลัยเต็มนิวส์ฟีด เพราะถึงไม่ใช่แฟนบาส ทุกคนก็ต้องรู้จักโคบีไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะในฐานะนักกีฬาระดับโลก, ซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอล หรือเซเลบริตี้ที่ปรากฏตัวเป็นประจำในหน้าสื่อ แคมเปญ โฆษณา ภาพยนตร์ หรือเกม

ส่วนสำหรับแฟนบาส โดยเฉพาะเป็นแฟน LA Lakers โคบี ไบรอันต์ ก็เป็นยิ่งกว่า ‘สุดยอด’ นักบาสเกตบอล เขายังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นครู เป็นความสุข หรือหลายคนอาจมองเขาเป็นเพื่อนที่โตมาพร้อมกันแม้ไม่รู้จักกันจริงๆ เลยด้วยซ้ำ

Mango Zero ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ และขอแสดงความขอบคุณโคบี ไบรอันต์ ที่เคยมอบความสนุกจากการชมบาสเกตบอลให้กับเรา ด้วยการรวบรวม 8 โมเมนต์แห่งชีวิตของโคบี ไบรอันต์ (เพราะเลข 8 คือหมายเลขแรกของเขาในสีเสื้อ Lakers) เพื่อรำลึกถึงทุกความงดงามที่โคบีทิ้งไว้ในสนามบาส จากวันแรกจนถึงวันลา

และเพื่อบอกว่า นี่คือการสูญเสียที่น่าเสียดายที่สุดครั้งหนึ่งในวงการกีฬา

ไม่ว่าจะผ่านไปนานไหร่ เขาจะยังเป็น “Black Mamba” ที่อยู่ในใจพวกเราตลอดไป – ด้วยรักและเคารพ

 

1997: คว้าแชมป์ สแลมดังค์ คอนเทสต์ ในวัยเพียง 18

 

จริงๆ แววซูเปอร์สตาร์ของโคบี ไบรอันต์ เฉิดฉายตั้งแต่สมัยนักเรียนแล้ว แต่มันยิ่งแจ่มชัดขึ้นในการแข่งขัน ‘สแลมดังค์ คอนเทสต์’ ของสัปดาห์แข่งบาสเกตบอลรวมดาราที่ Gund Arena ใน Cleveland

 

คบีในวัยแค่ 18 วิ่งเข้าจู่โจมแป้นด้วยความเร็ว กระโดดขึ้นเสียดฟ้า ควงลูกบาสลอดระหว่างขา แล้วยัดมันลงไปในห่วงอย่างทรงพลัง จนเอาชนะคู่ต่อสู้อย่าง Michael Finley และ Chris Carr ได้อย่างสวยงาม

 

และบางที เราอาจนับมันเป็นดังค์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาลเลยก็ได้

 

 

2000-2002: คว้าแชมป์ NBA 3 สมัยซ้อน (Three-Peat)

 

แม้จะอยู่ในทีมที่มีกำแพงเหล็กอย่าง แชคิล โอนีล เป็นเซนเตอร์ แต่ทั้งโคบีและแชคกลับไม่สามารถพา LA Lakers ไปถึงฝั่งฝันได้สักที ตกรอบเพลย์ออฟรอบหลังๆ ติดกันทุกปี สาเหตุหนึ่งเพราะเขาและแชคไม่ลงรอยกันทั้งในและนอกสนาม

 

กระทั่งทีมได้ ฟิล แจ็คสัน กุนซือมือฉมังจากชิคาโก บูลส์ มาเป็นแม่ทัพ และปรับจูนให้แชคกับโคบีเล่นร่วมกันได้ ความสำเร็จก็ถั่งโถมโหมใส่ทีมจากลอสแองเจลิสทันทีในปี 2000 แถมไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่เป็นแชมป์ถึงสามสมัยซ้อน (Three-Peat) สถาปนาตัวเองเป็นทีมแห่งยุคสมัยอย่างไร้ใครครหา

 

และเป็นการเริ่มต้นช่วงเวลาทองของโคบี ไบรอันต์ อย่างเป็นทางการ

 

 

2006: ทำ 81 แต้มในเกมเดียว สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์

 

เปิดปี 2006 ได้เพียง 22 วัน โคบีก็ยึดปีนั้นเป็นของตัวเอง ด้วยการระเบิดฟอร์มโหด กระหน่ำไปถึง 81 แต้มในเกมที่ Lakers คว่ำ Toronto Raptors ด้วยสกอร์ 122-104 จนทำให้เขากลายเป็นเจ้าของสถิติทำสกอร์มากที่สุดในเกมเดียวเป็นอันดับ 2 ของ NBA ทันที เป็นรองเพียง วิลท์ แชมเบอร์เลน ที่ทำไป 100 แต้มเป๊ะๆ ในเกมที่ Philadelphia Warriors (Golden State Warriors ในปัจจุบัน) เอาชนะ New York Knicks 169-147 เมื่อปี 62 เท่านั้น

 

โดยคะแนนส่วนใหญ่จาก 81 คะแนนของโคบี มาจากลูก 3 คะแนน ซึ่งเขายิงลงไปซ่วบในห่วงได้ถึง 7 ครั้งจากความพยายาม 13 ครั้ง คิดเป็น 21 คะแนน – แม่นราวกับจับวางชัดๆ

 

2008: คว้าเหรียญทองโอลิมปิกกับทีมชาติสหรัฐฯ

 

มีนักบาสสัญชาติอเมริกันหลายคนที่เปรี้ยงสุดๆ ยามลงสนามในฤดูกาลปกติของ NBA แต่กลับแป้กซะงั้นเมื่อต้งสวมเสื้อทีมชาติสหรัฐฯ ลงวาดลวดลายในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

 

แต่ไม่ใช่กับโคบี ไบรอันต์ เพราะเจ้าของฉายา Black Mamba ยอดเยี่ยมเสมอไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร

 

โอลิมปิก 2008 ที่จีน โคบี-ในฐานะกัปตันทีมมะกัน ทำไปถึง 13 แต้ม กับ 2 แอสซิสต์ในควอเตอร์ที่ 4 ของแมตช์ชิงเหรียญทอง ส่งให้ทีมบาสเกตบอลชายสหรัฐฯ กุมชัยชนะเหนือทีมชาติสเปน ด้วยสกอร์ 118-107 คว้าเหรียญทองกลับมาอยู่ในแดนลุงแซมอีกครั้ง หลังเสียมันให้ทีมชาติอาร์เจนติน่า ในโอลิมปิก 2004

 

และในโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน เขาก็คว้าเหรียญทองได้อีกครั้ง ด้วยการชนะสเปนเหมือนเดิมในรอบชิงชนะเลิศ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์เมื่อเขาลงเล่นเคียงข้าง ‘คิง’ เลอบรอน เจมส์

 

 

2008: MVP ประจำฤดูกาลของ NBA ครั้งแรก

 

ถึงจะโชว์ฟอร์มเด่นจนกลายเป็นซุปตาร์ประจำลีคมาตั้งแต่เข้ายุค 2000 แถมยังติดทีมออลสตาร์ไม่รู้กี่ครั้ง แต่กว่าโคบี ไบรอันต์ จะคว้าตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า หรือ MVP ในฤดูกาลปกติ (Regular Season) ก็ต้องรอจนถึงปี 2008 รางวัลอันเกียรติที่สุดยอดนักบาส NBA ต้องได้รับนี้ถึงจะวนมาหาเขา ซึ่งก็เป็นครั้งเดียวที่โคบีทำได้

 

ส่วนคนที่ได้รางวัลนี้มากที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็น Kareem Abdul-Jabbar รุ่นพี่ในทีม Lakers นั่นเองที่คว้าไปถึง 6 ครั้งตลอดอาชีพ

 

 

2009: คว้าแชมป์ NBA กับเลเกอร์สโดยปราศจาก แชคิล โอนีล

 

หลังคว้าแชมป์ NBA ได้สามสมัยติด ในปี 2000-2002 Lakers ก็ต้องรอจนถึงปี 2009 กว่าจะได้แชมป์ครั้งต่อไป หนึ่งในหลายๆ สาเหตุคือการย้ายทีมของแชคิล โอนีล ผู้เป็นดั่งหินผาของทีม

 

โคบี ไบรอันต์ จึงกลายเป็นเดอะแบกเต็มตัว หน้าที่เดียวของเขาคือตั้งหน้าตั้งตาโชว์ฟอร์มให้ดีที่สุดเพื่อพาทีมกลับไปสู่จุดที่ควรอยู่อีกครั้ง และเขาก็ทำสำเร็จในปี 2009 เมื่อยิงได้ 30 แต้ม 6 รีบาวด์ และ 5 แอสซิสต์ พา LA Lakers ปราบ Orlando Magic ในเกมสุดท้ายของรอบไฟนอลด้วยสกอร์ 99-86 คว้าแชมป์ NBA ได้สักทีนับตั้งแต่ไม่มีแชคีล โอนีล

 

และกลบเสียงวิจารณ์ว่าทีมคงไปไม่รอดถ้าปราศจากแชคซะเงียบกริ๊บ

 

 

2014: ทำแต้มรวมใน NBA แซงไมเคิล จอร์แดน

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่าไมเคิล จอร์แดน คือนักบาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยัดห่วง ชนิดที่เรียกว่า ยากสุดๆ ที่จะหาใครมาเทียบได้ แต่ถ้าจะต้องหาใครที่ยิ่งใหญ่ใกล้เคียง MJ23 จริงๆ แค่สักคน นึกเร็วๆ ยังไงก็ต้องมีชื่อโคบี ไบรอันต์ อยู่ในลิสต์

 

แฟนบาสหลายคนคงส่ายหน้า เพราะเชื่อว่าโคบียังห่างไกลจอร์แดนอีกหลายขุมไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม

 

แต่ถ้าเอาสถิติมากาง อย่างน้อยๆ ก็มีสถิติการทำแต้มที่บ่งบอกว่าโคบีไม่ได้ด้อยกว่าจอร์แดนเลย หรือจริงๆ คือเหนือกว่าด้วยซ้ำ! เพราะทันทีที่เจ้า Black Mamba ชูตลูกโทษสองลูกลงห่วงในเกมแห่งชัยชนะของ LA Lakers ต่อ Minnesota Timberwolves ด้วยสกอร์ 100-94 เขาก็กลายเป็นนักบาสที่ทำแต้มสูงที่สุดใน NBA เป็นอันดับ 3 แซงหน้าไมเคิล จอร์แดน เจ้าของตำแหน่งเดิมทันที

 

และโคบีก็ยึดตำแหน่งนี้นานร่วม 5 ปี ก่อนจะเสียมันให้เลอบรอน เจมส์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเขาสิ้นใจ

 

 

 

2016: ทำ 60 แต้มในเกมสุดท้าย จบตำนานอย่างยิ่งใหญ่

 

ถึงหัวใจจะยังแข็งแกร่งและพร้อมสู้ต่อ แต่ร่างกายกลับตะโกนต่อต้านว่า “ถึงเวลาแล้วโคบี” เจ้าของเบอร์ 24 แห่ง Lakers จึงตัดสินใจยุติเส้นทางอาชีพแม่นห่วง ลงในปี 2016

 

โดยแมตช์สุดท้ายของเขาเกิดขึ้นในสนามเหย้าสเตเปิล เซ็นเตอร์ มีคู่ต่อกรเป็น Utah Jazz ซึ่งโคบีก็จบตำนานตัวเองอย่างสวยหรู เมื่อถูกเปลี่ยนตัวออกในควอเตอร์ที่ 4 ขณะเหลือเวลา 4.1 วินาที ด้วยคะแนนสูงถึง 60 รีบาวน์ 4 และแอสซิสต์อีก 1

 

ก่อนจะกล่าวสปีชสุดประทับใจท้ายเกม..สปีชที่จบด้วยคำที่แฟนบาสหลายคนลงความเห็นว่า เศร้าที่สุดคำหนึ่งในประวัติศาสตร์ NBA

 

“Mamba Out”

 

TAG : kobe bryant
Writer Profile : kantapetch
หมาผู้พยายามน่ารักเท่าโลก
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
ตอบ 7 ข้อสงสัยบอลนัด ‘ไทย' v.s. 'ออสเตรเลีย’ 


ตอบ 7 ข้อสงสัยบอลนัด ‘ไทย' v.s. 'ออสเตรเลีย’ 


[Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด

[Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save