เคล็ด(ไม่)ลับ เลือก Planner แบบไหนที่ใช่คุณ


: 20 พฤศจิกายน 2562

ใกล้จะจบปีเข้าเต็มที เราอาจจะเห็นแพลนเนอร์และสมุดไดอารี่จำนวนมากของปีต่อไป ถูกจับนำมาวางบนแผงในร้านหนังสือหรือร้านเครื่องเขียนกันบ้างแล้ว บางคนก็เริ่มวางแผนซื้อแพลนเนอร์ (หรือกำลังเลือกลายอยู่) เผื่อไว้ว่าถ้าเริ่มปีใหม่ก็ต้องใช้เล่มนี้แหละ! แต่ที่จริงแล้วการเลือกแพลนเนอร์ไม่ได้มีแค่ความน่ารักเท่านั้น การสำรวจตัวเองว่าเป็นคนใช้งานแพลนเนอร์ยังไงก็สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยในการเลือกได้ด้วย แน่นอนว่าเราคงไม่อยากให้แพลนเนอร์ที่ซื้อมาถูกใช้เพียงแค่เดือนสองเดือนแล้ววางไว้จับฝุ่น (หลบตา) ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน ก็จะสามารถเลือกแพลนเนอร์ที่เหมาะกับการใช้งานของเราได้ เพราะงั้นเราไปดูกันเล้ย!

ขนาดเล็กใหญ่ พกพาหรือตั้งโต๊ะ

หากตัดปัจจัยเรื่องลวดลายสีสันของแพลนเนอร์ไปก่อน เราก็จะเหลือขนาดและรูปแบบการเย็บเล่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยแม้แต่นิดเดียว ควรนึกถึงวิธีการใช้งานของเราให้ดีก่อนเลือกซื้อแพลนเนอร์ในฝัน บางคนอาจจะชอบหน้ากระดาษใหญ่ๆ เพราะเขียนง่าย เห็นรายละเอียดชัด จดได้หลายอย่าง แต่คนที่ต้องการความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงก็ควรเลือกขนาดที่เล็ก พกพาในกระเป๋าได้อย่างขนาด A5 ลงไป หรือสำหรับมนุษย์ออฟฟิศที่ต้องอยู่หน้าจอตลอดเวลา ก็อาจจะชอบแบบปฏิทินตั้งโต๊ะที่สามารถหันไปมองได้สะดวก จดรายละเอียดคร่าวๆ ได้ ปัจจัยในเรื่องขนาดสามารถขึ้นอยู่กับอะไรก็ได้ (แม้กระทั่งโต๊ะของเยอะเกินไป เปิดแพลนเนอร์ใหญ่ไม่ได้ก็นับว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเช่นกัน) แต่ที่สำคัญคือรูปแบบของสมุดต้องทำให้เราอยากเขียนลงไป ซึ่งจะอยู่ในข้อต่อๆ ไปเลยค่ะ

 

ระบุวันหรือไม่ระบุวันดี

ข้อนี้เป็นข้อที่นับว่าเป็น deal breaker ของใครหลายๆ คน เป็นหนึ่งในปัจจัยของแพลนเนอร์ที่ดึงกลุ่มผู้ใช้ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือแพลนเนอร์ระบุวันกับแพลนเนอร์ไม่ระบุวัน สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใช้แพลนเนอร์ หรือรู้ว่าวันที่ตัวเองไม่แน่นอน แพลนเนอร์ไม่ระบุวันก็เป็นตัวเลือกที่ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องมีระเบียบในการเขียนมากนักเพราะสามารถระบุวัน / เดือน / ปีเองได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียดายหน้ากระดาษถ้าหากลืมเขียนมากนัก การใช้งานยืดหยุ่นได้เยอะ แต่แพลนเนอร์ระบุวันก็ใช่ว่าจะไม่ดี เพราะความเป็นระเบียบก็ทำให้จัดเก็บได้ง่าย เล่มหนึ่งแยกเป็นปีๆ ได้เลย สร้างความสับสนในการใช้น้อยกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งานของเราแล้วล่ะ

 

Daily, Weekly กับ Monthly ต่างกันยังไง?

ถึงแพลนเนอร์ระหว่าง daily (รายวัน) weekly (รายสัปดาห์) และ monthly (รายเดือน) จะมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัด แต่อย่าชะล่าใจไปว่ามันแทนกันได้ เพราะซื้อผิดชีวิตเปลี่ยนทันที!! ถามตัวเองอีกครั้งว่าเราชอบจดรายละเอียดในสเกลเล็กใหญ่แค่ไหน ถ้าทำโปรเจกต์ใหญ่ที่มีระยะเวลาหลายอาทิตย์ แพลนเนอร์แบบรายเดือนอาจจะมีประโยชน์มากกว่าเพราะสามารถวางระยะเวลางานได้ชัด แต่สำหรับนักเรียนที่ต้องการจดการบ้านหรือบทเรียนที่ต้องทบทวน แพลนเนอร์รายวันหรือรายอาทิตย์อาจจะตรงโจทย์การใช้งานกว่าเพราะสามารถเขียนจำนวนงานหรือสิ่งที่ต้องทำอย่างละเอียดในแต่ละวันได้ และอาจจะมีรายเดือนไว้เขียนวันที่ต้องส่งโปรเจกต์ใหญ่ๆ กันลืมอีกทีก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้สมุดแพลนเนอร์หลายเล่มก็มักจะมีปฏิทินแบบรายเดือนอยู่ก่อนหน้าไว้อยู่แล้ว เพื่อความสะดวกทั้งสโคปใหญ่เล็ก

Planner รายชั่วโมงหรือ to-do list ดี?

จากที่เราได้พูดถึงแพลนเนอร์รายวัน รายสัปดาห์ กับรายเดือนกันไปแล้ว แพลนเนอร์รายชั่วโมงบางเล่มถึงขั้นกับมีรายชั่วโมงเลยทีเดียว! ซึ่งปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับนิสัยและวิธีการใช้ชีวิตของเราล้วนๆ สำหรับคนที่ต้องการวางแผนเวลาในแต่ละวันอย่างคุ้มค่า หรือมีหลายสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน การใช้แพลนเนอร์รายชั่วโมงก็ทำให้เราเห็นภาพในสิ่งที่ต้องทำในวันนั้นได้ชัดเจน ฝึกความตรงต่อเวลาไปในตัวด้วย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการใช้รายชั่วโมงจะเหมาะกับทุกคน สำหรับบางคนที่รู้สึกกดดันหรือต้องการความยืดหยุ่นของเวลา การทำ to-do list แทนการวางแผนเป็นชั่วโมงๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กดดันน้อยกว่า เหมาะสำหรับคนที่มีแผนในแต่ละวันไม่แน่นอน เปลี่ยนไปมาง่าย

เลือกให้ตรงเป้าหมาย หรือทำขึ้นมาใหม่เอง

จากแพลนเนอร์รายละเอียดยิบย่อยไปจนถึงสมุดเปล่าแล้วเขียนตารางมันเอาเองเลย! ในปัจจุบันเรามีทางเลือกมากมายกับการเขียนแพลนเนอร์ หลายผู้ผลิตก็จัดทำแพลนเนอร์ในหลายๆ หมวดเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ที่มีหลากหลาย บ้างก็ทำมาเพื่อการเรียนการทบทวนโดยเฉพาะ บางเล่มก็ออกแบบมาเพื่อบันทึกรายรับรายจ่ายไปในตัว หรือจะสำหรับสายติสต์ที่ใช้ Hobonichi สมุดแพลนเนอร์รายวันเว้นที่ว่างเยอะๆ ให้วาดวันละรูปก็มี แต่สำหรับคนที่ยังไม่ถูกใจแบบไหนสักที การทำแพลนเนอร์ขึ้นมาเองจากสมุดเปล่าก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเราจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้ที่ไม่มีในสมุดแพลนเนอร์ทั่วไป

ถ้าเริ่มเขียนไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนดี Bullet Journal ก็เป็นระบบการเขียนวางแผนที่สามารถเป็นฐานให้กับการเขียนแพลนเนอร์ของเราเองได้ เพราะ Bullet Journal เป็นระบบการเขียนบันทึกเตือนความจำที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามผู้ใช้ พอเข้าสัปดาห์หรือเดือนต่อไปก็สามารถเพิ่ม ตัด หรือแก้ไขในส่วนที่อยากได้ตามใจชอบ

Analog หรือ Digital ดี?

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด การเขียนแพลนเนอร์ด้วยมือก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ทุกๆ คน อย่าลืมว่าเรามีสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนที่เราพกติดไปทุกที่ และสมาร์ทโฟนนี่แหละก็มีแอปพลิเคชั่นปฏิทินที่แทบจะมีทุกอย่างที่แพลนเนอร์มาตรฐานมี! ไม่ว่าจะเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็มีครบจบในที่เดียว ถึงความยืดหยุ่นในแง่ของการตกแต่งหรือตัวเลือกอื่นๆ จะน้อยกว่าแพลนเนอร์แบบอนาล็อก แต่จุดเด่นของแพลนเนอร์ดิจิทัลคือข้อมูลของเราจะถูกอัพเดทเข้าทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้อยู่ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและแผนงานต่างๆ ได้ทุกที่ บ้างก็สามารถใช้ร่วมกับคนอื่นเพื่อดูแผนงานของแต่ละคนได้อย่างละเอียดด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้แปลว่าแบบอนาล็อกหรือดิจิทัลจะมีอะไรดีมากน้อยไปกว่ากัน เพราะจุดเด่นและจุดประสงค์ของแพลนเนอร์แต่ละแบบก็ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแต่ละแบบ และไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น อย่างไรก็แล้วแต่ อย่าลืมว่าการใช้แพลนเนอร์นั้นคือการทำให้งานและแผนของเราเป็นประสิทธิภาพมากขึ้น อย่าให้การเขียนแพลนเนอร์ทำให้เราเสียเวลาไปมากกว่าเดิมนะ

เลือกซื้อแพลนเนอร์ได้ ที่นี่

Writer Profile : phanthirapuyou
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save