สรุป 5 สิ่งใหม่ของ 'KBank' ที่จะเกิดขึ้นกับภารกิจเปลี่ยนธนาคารเดิมๆ ให้เป็น 'ธนาคารยุคใหม่'

Writer : Sam Ponsan

: 4 กุมภาพันธ์ 2562

ธนาคารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัลสูงมาก เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกค้ามากขึ้นตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ธนาคารในโลกยุคใหม่หากคิดจะเป็นแค่เป็นที่ฝากถอนเงินอย่างเดียว สุดท้ายไม่พ้นคงโดน digital disruption

แต่ KBank คือธนาคารที่ปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาตลอดเพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยเป็น ‘ธนาคารยุคใหม่’ ที่อยู่บนโลกดิจิทัล และเติบโตอย่างแข็งแรงโดยใช้ดาต้าที่มีอยู่เพื่อทำให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากที่สุดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงธนาคารเองก็สามารถนำดาต้าไปสร้างความเติบโตทางธุรกิจทุกภาคส่วนได้มากขึ้น นั่นจึงเป็นภารกิจใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างประสิทธิภาพในการทำงานของธนาคารให้มีพลังมากที่สุดในยุคที่ธนาคารอยู่ในมือทุกคน

อะไรที่เป็นภารกิจใหม่ หรือเป็นสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของวงการธนาคารไทย รวมไปถึงธนาคารกสิกรไทย นี่คือสรุปสาระสำคัญจากงาน A Year of i เราจะได้เห็นว่าธนาคารกสิกรไทย ไปไกลกว่านิยามของธนาคารแบบเดิมมากแค่ไหนในปีนี้และต่อๆ ไป

ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญให้ประเทศ
– ‘ปรีดี ดาวฉาย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย 

เริ่มที่หัวข้อแรกปรีดี ดาวฉายกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาเล่าถึงเรื่องการพัฒนาโครงสร้างทางการเงินพื้นฐาน โดยสรุปว่าทุกวันนี้การทำธุรกรรมบนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย รวมถึงธนาคารอื่นๆ จึงต้องร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงินของประเทศให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยตอนนี้สิ่งที่ธนาคารไทยกำลังจะทำคือผลักดันให้ภายใน 2 ปีคนไทยจะได้รับบริการทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยจะเข้าร่วมในการพัฒนาช่องทางต่างๆ ด้วยได้แก่

  • การต่อยอดพัฒนาพร้อมเพย์จากการให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ สู่การให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 ทำให้ผู้ชำระเงินที่มีแอปโมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกที่ สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้การจ่ายเงินง่ายมาก
  • เข้าร่วมพัฒนา Thailand Blockchain Community Initiative ซึ่งระบบนี้จะนำมาใช้ในการให้บริการด้านหนังสือค้ำประกันโดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร รวมถึงกลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วมด้วย ระบบนี้จะช่วยให้ขั้นตอนในการทำธุรกรรมง่ายขึ้น ตรวจสอบได้ และมีโอกาสเติบโตของธุรกรรมอย่างก้าวกระโดด
  • เข้ารวมโครงการ National Digital ID โดยจากนี้ไปลูกค้าจะสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงบริการของธนาคารโดยไม่ต้องไปที่สาขาก็ทำได้ เช่นการขอสินเชื่อ, การเปิดบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์
  • เตรียมพัฒนาโปรเจกต์เอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) หรือเครื่องเอทีเอ็มที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน และสามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกธนาคาร ทำให้ธนาคารลดต้นทุนในการจัดการต่างๆ ได้

ใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์ลูกค้าและพัฒนาระบบภายใน
– ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

หนึ่งในสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทย ทำมาอย่างยาวนานคือการเก็บดาต้าของลูกค้าจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นบิ๊กดาต้า ซึ่งบิ๊กดาต้าเหล่านี้ก็ถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาการบริการให้ลูกค้าในระดับที่ว่าสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเป็นรายคนได้ ประโยชน์ของการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าเป็นรายคน และการใช้บิ๊กดาต้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง นี่คือบทสรุปที่ได้จาก ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

  • KBank เข้าไปดูแลลูกค้าที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้นในแง่ของการทำธรุกรรมทางการเงิน ที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไร้รอยต่อ ไม่ติดขัด พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมในอนาคต เช่น ใช้ใบหน้าเพื่อยืนยันการเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา, ใชการอนุมัติการโอนเงินด้วยเสียง ไปจนถึงการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือสมาร์ทโฟนอีกเลย
  • สามารถเจาะจงความต้องการของลูกค้าและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน การรู้จักลูกค้ามากขึ้นผ่านบิ๊กดาต้า ทำให้สามารถนำเสนอบริการที่ลูกค้าต้องการจริงๆ รวมถึงสามารถขยายฐานไปยังลูกค้ารายใหญ่ได้ และสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ อย่างเช่นพ่อค้า แม่ค้า หรืออาชีพอิสระ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ธนาคารเก็บไว้แทน และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์จะช่วยลดการใช้เอกสาร เพื่อการให้บริการที่กระชับมากขึ้นแล้วใช้การเก็บข้อมูลสำคัญไว้แทนเพื่อนำมาประมวลผลในการให้บริการ การลดการใช้เอกสารนั้นจะยิ่งทำให้ลดภาระการยื่นเอกสารของลูกค้าในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงลดต้นทุนการจัดการเอกสารของธนาคารด้วย ส่วนข้อมูลของลูกค้าที่เก็บไว้นั้นจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
  • ใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ โดยข้อมูลของลูกค้าที่ถูกนำมาวิเคราะห์จะถูกกรองตัวตนออกไปและทุกอย่างเป็นความลับ
  • ธนาคารจะปรับโครงสร้างภายใน โดยไม่ปลดใครออก แต่จะมีการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรโดยผสานคนเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร 3 ด้านคือกลุ่มงานบริการและการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคล, กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่เน้นเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ และสุดท้ายกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่นำเสนอนวัตกรรมเพื่อให้ลูกค้าได้เลือก

ปรับธุรกิจเพื่อเข้าสู่โลกยุค ‘เศรษฐกิจผสานมิติ’
– ‘พิพิธ เอนกนิธิ’ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย 

ในยุคที่สงครามการค้า การพัฒนาของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกเกิดขึ้นได้ตลอด ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถ้าไม่ปรับตัวอาจจะล้มหายตายจากไปได้ โดยที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก ซึ่งนี่คือยุคของเศรษฐกิจผสานมิติ‘ 

พิพิธ เอนกนิธิกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จึงเล่าเรื่องการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจธนาคารอยู่รอด และช่วยผลักดันธุรกิจไทยให้เติบโตไปด้วยกัน โดยแผนในการปรับตัวของธนาคารกสิกรไทยที่จะทำก็คือ

  • ช่วยผลักดันธุรกิจไทยให้แสวงหาโอกาสไปยังต่างประเทศด้วยวิธีการต่างๆ เนื่องจากในอนาคตตลาดของภูมิภาคจะเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) จะมีบทบาทสูง ซึ่งอนาคตจีดีพีของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเติบโตรวม 28.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทย 41 เท่าตัว นั่นทำให้ต้องโฟกัสที่ตลาดนี้ให้มากขึ้น
  • มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และแสวงหาพันธมิตรในการลงทุนทั้งด้านฟินเทค สตาร์ทอัพ ลงทุนข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับธนาคาร โดยตอนนี้สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยทำอยู่คือ KVsion บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และลงทุนในฟินเทค และสตาร์อัพ เม็ดเงินที่ลงทุนไปคือ 8,000 ล้านบาท ผ่านการตั้ง Innovation Lab ใน 5 ประเทศคือไทย, อิสราเอล, เวียดนาม, จีน และอินโดนีเซีย
  • เชื่อมโยงลูกค้า คู่ค้า และธนาคารเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีที่ธนาคารมีเพื่อทำให้การทำธุรกรรม หรือการเข้าถึงบริการของธนาคารทำได้ง่ายขึ้น โดยโปรเจกต์ใหญ่ที่พัฒนาคือสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาคโดยเริ่มต้นที่การสร้างแอปกระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวสปป. ลาว ที่เวียงจันทน์ ก่อนเพื่อนำร่อง จากนั้นก็จะพัฒนาต่อไปยังที่อื่น

เดินหน้าสร้างรายได้ด้วยบิ๊กดาต้าที่มี
– ‘พัชร สมะลาภา’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันในวงการธนาคารไทยเยอะมาก รวมไปถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทำให้ธนาคารต้องหาวิธีขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แผนในปีนี้ของธนาคารกสิกรไทยก็คือการตั้งเป้าการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธนาคาร โดยผู้นำภารกิจนี้คือ ‘พัชร สมะลาภากรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และนี่คือสิ่งที่สรุปได้

  • เดินหน้าหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยใช้แพลตฟอร์ม K PLUS เชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า K PLUS เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และเลือกที่จะเป็นลูกค้าของ KBank
  • เดินหน้าทำธุรกิจใหม่ๆ โดยหารายได้จากช่องทางใหม่ โดยปีนี้ตั้งใจที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นที่ลูกค้ารายย่อย และเลือกนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าที่วิเคราะห์ผ่านบิ๊กดาต้า ว่ามีความต้องการสินเชื่อจริงๆ และมีกำลังในการผ่อนชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอไปทางช่องทางออนไลน์ และยังเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยว่าลูกค้าสามารถชำระเงินคืนได้ในช่วงไหนเพื่อความสะดวกของลูกค้า
  • บริหารต้นทุนของธนาคารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยนำสินทรัพย์ที่ธนาคารมีมาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น

ทุ่มทุน 5,000 ล้านบาทพัฒนา KBTG เป็นบริษัทไอทีเบอร์หนึ่ง
– ‘เรืองโรจน์ พูนผล’ ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป 

KBTG คือบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย โดยโปรดักค์หลักของธนาคารกสิกรไทยก็คือ K PLUS ซึ่งหลังจากนี้ไปธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนพัฒนานวัตกรรมทางการเงินโดยนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และบุคลากรคุณภาพมาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน ไม่ได้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป้าหมายคือการสร้างธนาคารอัจฉริยะที่แท้จริง

ซึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากรให้ไปถึงเป้าโดยใช้งบ 5,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายที่เรืองโรจน์ พูนผลประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกกับเราได้แก่

  • ส่งมอบการบริการแก่ลูกค้าที่ด้วยบริการที่ฉลาด รู้ใจ และปรับตามรูปแบบไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และพนักงานทำงานร่วมกัน
  • เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาลงต้นทุน และเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อว่า นวัตกรรมที่ดีต้องสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน
  • รวมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการธนาคารบนมือถือให้ดียิ่งขึ้น และพัฒนา KBTG ให้กลายเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีโลกมาสู่ประเทศไทยภายในปี 2562

 

 

 

 

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

7 วงอินดี้เกาหลีน่าฟัง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save